Shared bookstore โมเดลธุรกิจฮิตในญี่ปุ่น ให้เช่าพื้นที่ฟุตเดียวทำร้านหนังสือจิ๋ว

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

Main Idea

  • แม้ญี่ปุ่นจะเป็นสังคมอุดมด้วยนักอ่าน แต่การเข้าสู่ยุคดิจิทัลทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านหนังสือพอสมควรเนื่องจากจำนวนร้านหนังสือเริ่มลดจำนวนลงเรื่อยๆ

 

  • อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์อันอ่อนไหวทางธุรกิจ การผุดขึ้นของร้านหนังสือโมเดลใหม่กลับกำลังเป็นที่น่าสนใจและกลายเป็นเทรนด์ที่ร้านหนังสือหลายแห่งเจริญรอยตามกัน

 

     โมเดลดังกล่าวเรียก “Shared bookstore” ที่เจ้าของร้านหนังสือจะแบ่งพื้นที่ภายในร้านทำเป็นชั้นติดผนังและกั้นเป็นช่องขนาดประมาณ 30 x 30 ซม. แต่ละช่องจะปล่อยให้ผู้สนใจนำหนังสือมือสอง หรือหนังสือที่ไม่ต้องการแล้วมาวางขาย ช่องเล็กๆ บนชั้นข้างผนังของร้านจะกลายเป็นร้านหนังสือขนาดจิ๋วที่ซ้อนในร้านหนังสือใหญ่อีกที่โดยที่ผู้เช่าไม่จำเป็นต้องมานั่งเฝ้าสินค้าแต่อย่างใด ทางร้านจะเป็นผู้ดำเนินการขายให้หากมีลูกค้าสนใจ

     เรียกว่าเป็นการฝากขายก็ว่าได้ ทั้งนี้ ราคาค่าเช่าพื้นที่ต่อช่องดังกล่าวเริ่มต้นที่ 1,500 เยนหรือราว 390 บาทต่อเดือน และทางร้านยังได้คอมมิสชั่นหรือค่าธรรมเนียมการขายจากผู้เช่าอีกทางหนึ่ง อัตราค่าคอมมิสชั่นขึ้นอยู่กับเงื่อนไข บางร้านคิดแค่ 50 เยนหรือประมาณ 13 บาทก็มี

     ร้านหนังสือสไตล์ Shared bookstore นี้เปิดบริการหลายแห่งแล้ว และมีผู้คนจำนวนไม่น้อยมาเช่าพื้นที่เพื่อระบายหนังสือเก่า หนึ่งในผู้บุกเบิกโมเดลนี้ชื่อมาซายูกิ วากิ เจ้าของร้าน “บุ๊คช้อป ทราเวลเลอร์” (Bookshop Traveler) ที่เปิดบริการในโตเกียวเมื่อปี 2018 จุดประสงค์เพื่อชิมลางธุรกิจร้านหนังสือ วากิกล่าวว่าสำหรับผู้ที่ต้องการเปิดร้านหนังสือแต่ไม่มั่นใจว่าธุรกิจจะไปรอดหรือไม่ สามารถเริ่มต้นด้วยการเปิดเป็นร้านขนาดจิ๋วเพื่อขายทีละน้อยก่อน

     ตัววากิเองเคยเป็นพนักงานบริษัทและมีความฝันอยากเป็นเจ้าของร้านหนังสือ แต่เขาพบว่าการบริหารจัดการร้านหนังสือโดยไม่มีความรู้หรือประสบการณ์นั้นเป็นเรื่องยาก เขาจึงนึกถึงโมเดล Shared bookstore ที่เจ้าของร้านเป็นคนกลางจัดสรรพื้นที่ให้คนที่ต้องการปล่อยหนังสือ รับค่าเช่าและค่าธรรมเนียมการขายจากเจ้าของหนังสือโดยที่เจ้าของพื้นที่ไม่ต้องเสี่ยงกับการสต็อกหนังสือ หรือกลัวว่าหนังสือที่สั่งเข้าร้านจะขายไม่ออก จากที่เปิดบริการ 8 ช่องให้เช่า ปัจจุบัน บุ๊คช้อป ทราเวลเลอร์มีพื้นที่ให้เช่าเพิ่มเป็น 73 ช่องและกำลังจะขยายเป็น 100 ช่อง ลูกค้าที่เช่ามีหลากหลาย รวมถึง คนทั่วไป นักเขียน และสื่อต่างๆ

     อีกร้านหนึ่งที่ได้รับความนิยม คือ “บุ๊ค แมนชั่น” (Book Mansion) ในโตเกียว โค นากานิชิ เจ้าของร้านเล่าว่าเขาทำงานที่ราคูเท็น หนึ่งในผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซแถวหน้าของญี่ปุ่น และได้ชักชวนน้องชายที่เป็นสถาปนิกมาลองทำร้านหนังสือมือสองแบบ unmanned store ที่เจ้าของสินค้าไม่ต้องมานั่งขายเอง

     ช่วงแรกของการทำธุรกิจ นากานิชิสามารถระดมทุนจากผู้สนใจได้ 5.75 ล้านเยน ทำให้สามารถลงทุนเช่าอาคารในย่านคิชิโจจิในโตเกียวเพื่อทำร้านหนังสือโมเดล shared bookstore กระทั่ง “บุ๊ค แมนชั่น” เปิดบริการครั้งแรกในเดือนกค. 2019 บนผนังพื้นที่ 30 ตารางเมตรถูกซอยเป็นช่องขนาดเล็กเพื่อให้ผู้สนใจเช่าพื้นที่เพื่อวางขายหนังสือ

     ผลตอบรับถือว่าดีทีเดียว มีผู้เช่ารวมแล้วราว 70 ราย หนึ่งในนั้นคือโซตะ ยามาอูชิ นักเรียนชั้นประถม 5 ผู้รักการอ่าน โซตะจ่ายค่าเช่าเพื่อเปิดร้านหนังสือขนาดจิ๋วชื่อ “มารุ:โซ” โดยเขาจะนำหนังสือที่เขาอ่านจบแล้วมาวางขาย นอกจากนั้น เขายังแปะรายชื่อหนังสือที่กำลังทะยอยอ่านให้จบเพื่อให้ลูกค้าทราบว่าหนังสือล้อตต่อไปที่จะวางขายมีเล่มไหนบ้าง          

     นอกจากเช่าแบบรายบุคคล ผู้เช่ายังสามารถเช่าแบบกลุ่มได้ด้วย เช่น ร้านที่ใช้ชื่อ “โกโตะ โชโบะ” ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 6 คน ชาย 3 หญิง 3 ที่ชมชอบหนังสือแนวฟิกชั่นหรือเรื่องเล่าเรื่องแต่งประเภทบันเทิงคดี สมาชิกกลุ่มโกโตะแต่ละคนจะคัดลือกหนังสือเล่มที่ตนในใจมาวางขายรวมกัน

     หลังให้บริการได้ 5 เดือน ก็มีร้านหนังสือโมเดลเดียวกับบุ๊ค แมนชั่นเปิดบริการหน้าสถานีรถไฟเจอาร์นิชิ-นิปโปริ โดยโซอิชิ ทาซากะ พนักงานบริษัทสถาปัตย์ฮาจิ สตูดิโอได้ขอร้องให้นากานิชิขยายบริการในย่านนี้ แต่นากานิชิแนะว่าให้ทำเองเลยเพราะการเปิดร้านหนังสือแบบนี้ไม่ซับซ้อนแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ ร้านหนังสือ Nishi-Nippori Book Apartment จึงเกิดขึ้นภายใต้การดูแลของบริษัทฮาจิ สตูดิโอ

     อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้เช่าชั้นหนังสือในร้าน Nishi-Nippori Book Apartment นอกจากคนทั่วไปยังประกอบด้วยกลุ่มนักเขียน นักประพันธ์ที่มีมากถึง 78 รายด้วยกัน นักเขียนเหล่านี้จะนำผลงานของตัวเองมานำเสนอบนชั้นของตัวเองเพื่อให้ลูกค้าหรือสำนักพิมพ์ได้เห็น

     ไม่เฉพาะในเมืองหลวงโตเกียว ร้านหนังสือรูปแบบ shared bookstore ยังได้รับความนิยมในต่างจังหวัดด้วย เช่นร้าน Itoshima no Kao ga Mieru Honya-san ในจังหวัดฟูกุโอกะที่เปิดบริการเมื่อเดือนกย.2021 มีพื้นที่ชั้นหนังสือให้เช่า 100 ช่อง ผู้เช่ามีทุกเพศทุกวัยตั้งแต่นักเรียน นักศึกษาไปจนถึงผู้สูงวัยอายุเกิน 70 ปี

     มากิ นากามูระ อดีตผู้บริการบริษัทโลจิสติกส์วัย 57 ปี และเรียวตะ โอโดะ อดีตพนักงานบริษัทเทรดดิ้งได้จับมือกันระดมทุนและเปิดร้านดังกล่าวขึ้นหลังจากที่นากามูระย้ายจากโตเกียวมาอยู่ฟูกุโอกะ โดยเธอได้แรงบันดาลใจจากร้านบุ๊ค แมนชั่น ด้านฮารุกิ อิโตะ อาจารย์มหาวิทยาลัยวัย 53 ปีก็เปิดร้านหนังสือรูปแบบนี้ชื่อ Honya-Ra Do ที่จังหวัดยามากูจิ เป็นร้านเล็ก ๆ ไม่กี่ตารางเมตรและมีชั้นให้เช่า 30 ช่องเท่านั้น 

     ผลสำรวจของบริษัทวิจัยอัลมีเดีย แอนด์ บังก้า นิวส์ระบุในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนร้านหนังสือในญี่ปุ่นลดลงต่อเนื่อง จนถึงเดือนพค. 2020 ลดเกือบครึ่งเหลือประมาณ 11,000 แห่งทั่วประเทศ สวนทางกับโมเดลร้านหนังสือ shared bookstore ที่จำนวนร้านเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มาอยู่ที่ 40 ร้านแล้ว

ที่มาhttps://mainichi.jp/english/articles/20220409/p2a/00m/0li/019000c

https://www.asahi.com/ajw/articles/14003407

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

SME เซ็ตธุรกิจยังไงให้โตในยุคโลกเดือด ฟังไกด์ไลน์จากผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์

ทุกวันนี้สภาพอากาศน่ากลัวขนาดไหน ต้องบอกว่าถึงขั้นที่ขึ้นเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ว่า ตอนนี้ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังย่างเข้าสู่ "ภาวะโลกเดือด"

Egg E Egg Egg ร้านอาหารจีน สูตรแต้จิ๋ว ขายวันละ 3 ชั่วโมง เตรียมส่งไม้ต่อรุ่นที่ 3

Egg E Egg Egg คือชื่อของร้านอาหารบรรยากาศที่บ้าน ตั้งชื่อตามเสียงไก่ขัน ขายเมนูง่ายๆ ผ่านกระบวนการปรุงแบบภัตตาคาร ขายแค่บรานซ์ (Branch) วันละ 3 ชั่วโมง

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย