Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Text : Nitya


      Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าและเครื่องประดับของอดีตสถาปนิกหญิงชาวสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา ที่แม้พบว่าป่วยเป็นโรคร้ายอย่างมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้สิ่งที่เข้ามาเป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตทำสิ่งดีๆ ให้กับตัวเอง หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น รับประทานอาหารออร์แกนิก เลือกข้าวของเครื่องใช้ปลอดภัยไร้สารเคมี

     จนวันหนึ่งใครจะคิดว่าการเลือกสรรสิ่งดีๆ เหล่านั้น จะกลายมาเป็นตัวจุดประกายต่อยอดการทำธุรกิจอย่างเสื้อผ้าและเครื่องประดับจากผ้าออร์แกนิก โดยมองว่าหากร่างกายได้รับการดูแลจากภายใน ได้รับอาหารที่ดีแล้ว ถ้าได้สวมใส่เสื้อผ้าที่ดี ไม่เป็นพิษต่อผิวหนัง ปราศจากอันตรายจากสารเคมีตกค้าง เป็นการดูแลอย่างดีจากภายนอกได้ด้วย ก็คงจะดีไม่น้อย

โอกาสที่มาพร้อมความเปลี่ยนแปลง

     คลาร่าเล่าว่า เธอตรวจพบมะเร็งระยะเริ่มต้นครั้งแรกในปี 2010 หลังจากที่เริ่มทำงานเป็นสถาปนิกได้เพียง 6 ปี จนทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักลง แต่แทนที่จะปล่อยให้การวินิจฉัยนั้นมาจำกัดตัวเอง เธอกลับมองว่ามันเป็นโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลง เธอตั้งใจดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีขึ้น เริ่มค้นคว้าหาวิธีดูแลตัวเองแบบธรรมชาติบำบัด ควบคู่กับการรักษาไปด้วย ตั้งแต่การเลือกรับประทานอาหารแบบปลอดภัย ไร้สารเคมี จนมาถึงการเลือกใช้เสื้อผ้า คลาร่าพบว่าประโยชน์ของผ้าออร์แกนิก ก็เหมือนกับการเลือกรับประทานอาหารออร์แกนิกที่สามารถส่งผลดีต่อสุขภาพได้เช่นกัน โดยเฉพาะกับผู้ที่มีปัญหาผิวหนัง

     จากการค้นพบใหม่นี้ คลาร่าเริ่มค้นคว้าหาข้อมูล และทุ่มเทเวลาให้กับการวิจัยและจัดหาผ้าออร์แกนิกและผ้าที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติอยู่หลายปี แม้มะเร็งจะกลับมาและทำให้เธอต้องผ่าตัดอีกครั้ง จนทำให้เกิดความล่าช้า และไม่ต่อเนื่องในการทำธุรกิจ แต่คลาร่าก็ไม่หยุดที่จะลงมือทำ กระทั่งวันหนึ่งจากความพยายามที่ทำมา ทำให้เธอได้พบกับมรดกอันล้ำค่าของเทคนิคการย้อมผ้าธรรมชาติแบบพื้นเมืองของประเทศอินโดนีเซีย

     คลาร่าลงพื้นที่ไปสำรวจด้วยตาตัวเอง เพื่อพบปะกับช่างฝีมือเหล่านั้นในชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่ง เพื่อดูตั้งแต่กระบวนการย้อมสี ไปจนถึงการเลือกนำวัตถุดิบจากต้นไม้ และพืชมาใช้ จนมั่นใจว่าปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมนุษย์ จนในปี 2017 จึงตัดสินใจเปิดตัวแบรนด์ “Nyana Nyana Eco Fashion” ขึ้นมา โดยมีเป้าหมาย คือ การผลิตแฟชั่นที่ดียิ่งขึ้น สำหรับทุกคนในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้สวมใส่ และโลก โดยคำว่า “Nyana” มาจากภาษาชวาของอินโดนีเซียแปลว่า “ความคาดหวัง”

จากนักออกแบบอาคาร สู่ดีไซน์เนอร์รักษ์โลก

     คลาร่าเคยให้สัมภาษณ์กับ aNERDgallery ไว้ว่าแม้การเปลี่ยนจากสถาปนิกมาเป็นอาชีพนักออกแบบแฟชั่นอาจดูเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่คนละสายงานกันเลย แต่สำหรับเธอแล้วมันกลับราบรื่นกว่าที่คิด เพราะทั้งสองอาชีพอยู่ในงานการออกแบบเหมือนกัน

     คลาร่าเล่าว่าเธอยังสามารถนำซอฟต์แวร์ที่คุ้นเคยมาใช้ซ้ำได้ดี เช่น โปรแกรม AutoCAD ทำให้สามารถนำทักษะมาใช้ในการสร้างเสื้อผ้าและลวดลายบาติกได้ แต่อย่างไรเธอก็ยังต้องเรียนเพิ่มอยู่ดีในการตัดเย็บ และทำแพทเทิร์น เพื่อพัฒนาทักษะและประสบการณ์จริงมากขึ้น รวมไปถึงวิธีจัดการธุรกิจ ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องออกแบบเสื้อผ้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการจัดหาวัสดุ จัดการการเงินของธุรกิจ ดูแลการผลิต และสร้างแบรนด์ตั้งแต่ต้นอีกด้วย

แข่งขันกันด้วยคุณภาพ

     คลาร่าเล่าว่าเสื้อผ้าและเครื่องประดับจาก Nyana Nyana Eco Fashion ไม่เพียงผ่านกรรมวิธีแบบธรรมชาติ แต่ยังได้รับการรับรองจากสถาบันชั้นนำระดับโลกหลายแห่ง อาทิ Global Organic Textile Standard (GOTS) ซึ่งรับรองว่าสิ่งทอได้รับการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบโดยใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด แต่กรณีของ Nyana Nyana Eco Fashion ไม่เพียงไม่ใช้สารเคมี แต่ยังทำจากสีธรรมชาติจากพืชอีกด้วย นอกจากนี้แบรนด์ยังเป็นสมาชิกของ Social Enterprise ของสิงคโปร์ (raiSE) ก็ยิ่งมอบความน่าเชื่อถือให้กับสินค้า รวมถึงช่วยให้เข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เช่น เงินทุนและเครือข่ายเพื่อช่วยให้ธุรกิจเติบโตและเพิ่มผลกระทบทางสังคมได้มากขึ้นด้วย

     โดยนอกจากใช้ผ้าและการย้อมจากธรรมชาติแล้ว แบรนด์ Nyana Nyana Eco Fashion ยังมีการนำของเสียที่เหลือจากสิ่งทอก่อนที่ผู้บริโภคจะนำไปใช้ เช่น เศษผ้า, ผ้าปลายม้วน, ผ้าสต็อกที่มีตำหนิมารีไซเคิล โดยใช้เทคนิคการย้อมและบาติกเพื่อให้ผ้าเหล่านี้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งด้วย นอกจากนี้ในแต่ละคอลเลคชั่นยังผลิตแค่ล็อตเล็กๆ เพื่อป้องกันการผลิตมากเกินไปด้วย

      สำหรับราคาสินค้าของ Nyana Nyana Eco Fashion นั้นเริ่มต้นที่ 49 ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็นราคาเดียวกับเกรดสินค้าระดับกลางส่วนใหญ่ (50-150 ดอลลาร์สิงคโปร์) มีบางสินค้าที่เป็นคอลเลคชั่นพิเศษทำร่วมกับนักออกแบบชาวสิงคโปร์ท่านอื่นๆ ก็จะมีราคาสูงขึ้น อาทิ การจับมือร่วมกับ Mandai Wildlife Group ผลิตเป็นเสื้อแคมป์ออกมาที่ราคา 105 เหรียญสิงคโปร์ และเสื้อกั๊กในราคา 99 เหรียญสิงคโปร์ ราคาเหล่านี้อาจดูสูงเกินไปสำหรับบางคน แต่คลาร่าให้เหตุผลว่าเมื่อพิจารณาจากผ้าออร์แกนิกที่ทำด้วยมือและได้รับการรับรองจากสถาบันชั้นนำ และกระบวนการย้อมสีธรรมชาติ จึงเชื่อวาผลิตภัณฑ์ของเธอสามารถทำราคาแข่งขันได้

     โดยความสำเร็จครั้งแรกของ Nyana Nyana Eco Fashion เกิดขึ้นในปี 2020 เมื่อแบรนด์ได้รับเลือกให้เข้าร่วมในการประกวดแบรนด์ และเริ่มขายปลีกที่ Design Orchard ซึ่งเป็นร้านค้าที่มีการนำเสนอเสื้อผ้าและสินค้าไลฟ์สไตล์จากนักออกแบบชาวสิงคโปร์หลายๆ แบรนด์มาวางจำหน่าย

จากแบรนด์คิดดี สู่ร้านค้าศูนย์รวมสินค้าเพื่อโลก

     จากการทำแบรนด์สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผู้สวมใส่ ในช่วงต้นปี 2024 Nyana Nyana Eco Fashion มีโอกาสจัดแสดงคอลเลคชั่นพิเศษที่ Design Orchard อีกครั้ง โดยได้รับพื้นที่จัดแสดงผลงานขนาดใหญ่ขึ้น ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า เมื่อทิศทางแบรนด์เติบโตขึ้น คลาร่าจึงตัดสินใจลงทุนกว่า 24,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ เปิดเป็นร้านค้าปลีกแห่งแรกของเธอขึ้นมา ในชื่อ “Something Sustainable” (SoSus) เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2024

     โดยนอกจากจะทำขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงผลิตภัณฑ์ของ Nyana Nyana Eco Fashion แล้ว คลาร่ายังตั้งใจใช้ SoSus นำเสนอแบรนด์ท้องถิ่นที่คัดสรรมาอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของธุรกิจด้วย ไปจนถึงยังจำหน่ายแบรนด์ระดับนานาชาติ เช่น Vino Supraja จากดูไบ ที่คิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย นอกจากนี้ แบรนด์ต่างๆ ยังมีโอกาสที่จะตั้งบูธแบบป๊อปอัปในร้านค้าได้ ในระยะเวลา 3-7 วัน เพื่อสลับสับเปลี่ยนให้มีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเปิดตัวทุกสัปดาห์

     “เราเข้าใจดีว่าเป็นเรื่องยากแค่ไหนสำหรับแบรนด์เล็กๆ ที่จะสร้างตัวตนแบบออฟไลน์ ดังนั้นเราจึงตัดสินใจที่จะแบ่งปันพื้นที่ผ่านการฝากขาย ร้านค้าแบบป๊อปอัป และเวิร์กช็อป เพื่อเป็นพื้นที่สื่อสารให้ลูกค้าได้รู้จักด้วย” คลาร่ากล่าว

     นอกจากวางจำหน่ายที่ SoSus แล้ว แบรนด์ Nyana Nyana Eco Fashion ยังมีจำหน่ายในช่องทางการขายปลีกอื่นๆ ด้วย รวมถึงขยายสาขาไปยังต่างประเทศอีก 2 เมือง ได้แก่ บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยคลาร่ามีเป้าหมายที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และสร้าง SoSus ให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับนักออกแบบในแต่ละท้องถิ่นที่ในหลายๆ ภูมิภาคของโลก และสำหรับแบรนด์ Nyana Nyana Eco Fashion นั้น คลาร่ามีเป้าหมายที่จะลดขยะสิ่งทอ โดยใช้วัสดุเหลือใช้ก่อนการบริโภคให้มากขึ้นที่ร้อยละ 60-80 และจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์ขึ้นอีกในแต่ละปี

และนี่คือ เรื่องราวทั้งหมดของอดีตสถาปนิกสาวนักสู้มะเร็ง ผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แต่เลือกที่จะกำหนดชีวิตตัวเอง และทำให้ดียิ่งขึ้นในทุกๆ วัน ทั้งเพื่อตัวเอง สิ่งแวดล้อม และเพื่อนร่วมโลก

ที่มา : - https://nyananyana.com/

           - https://vulcanpost.com/882043/nyana-nyana-eco-fashion-singapore-upcycling-textile-waste/

           - https://sg.linkedin.com/in/clara-simanjuntak-a937aa173

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน

SME ไทยจะอยู่รอดได้อย่างไรท่ามกลางสงครามการค้า

การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 125% โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้จุดชนวนสงครามการค้ารอบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้น SME ไทยจึงกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ...แล้วเราจะอยู่รอดได้อย่างไร