“อนุรักษ์ บุญลือ” ผู้บุกเบิกการปลูกอินทผลัมในอาเซียน สู่ธุรกิจครบวงจรเจ้าแรกของโลก

TEXT : จีราวัฒน์ คงแก้ว

PHOTO : เจษฏา ยอดสุรางค์

Main Idea

  • “๑๐๐๐พฤกษาฟาร์ม” คือ ธุรกิจอินทผลัมครบวงจรเจ้าแรกของโลกที่ทำตั้งแต่ฟาร์มปลูก ศูนย์การเรียนรู้ คาเฟ่ และผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยฝีมือคนไทย

 

  • วันนี้ SME Thailand จะชวนมาคุยกับเจ้าของฟาร์มอินทผลัม ซึ่งนอกจากครบวงจรแล้ว ยังเป็นเจ้าแรกในอาเซียนที่สามารถปลูกอินทผลัมได้อีกด้วย

 

     เมื่อ 15 ปีก่อน วิศวกรบริษัทมหาชนคนหนึ่งเกิดแนวคิดที่จะนำ “อินทผลัม” (Date palm) พืชเมืองร้อนดินแดนอาหรับ เข้ามาทดลองปลูกในประเทศไทย จ.กาญจนบุรี ณ วันที่อาเซียนปลูกไม่ได้ และไทยเราก็ไม่มีการปลูกในเชิงพาณิชย์มาก่อน ผ่านมา 1 ทศวรรษ “๑๐๐๐พฤกษาฟาร์ม” กลายเป็นธุรกิจอินทผลัมครบวงจรเจ้าแรกของโลกที่ทำตั้งแต่ฟาร์มปลูก ศูนย์การเรียนรู้ คาเฟ่ และผลิตภัณฑ์แปรรูป ทำตลาดผลสดและผลิตภัณฑ์แบรนด์ตัวเองจำหน่ายทั้งในไทย และส่งออก พร้อมสร้างเครือข่ายเกษตรกรให้เติบโตไปด้วยกัน

     SME Thailand คุยกับ อนุรักษ์ บุญลือ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินทผลัมภาคตะวันตก จำกัด ถึงการปลูกอินทผลัมในไทยจนกลายเป็นเจ้าแรกในอาเซียน พร้อมวิชันก้าวสู่เบอร์หนึ่งของโลกด้านผลสดที่ดีที่สุด

SME Thailand : ทำไมถึงเกิดแนวคิดที่อยากจะนำ “อินทผลัม” เข้ามาปลูกในประเทศไทย อะไรคือโอกาสที่ซ่อนอยู่

     อนุรักษ์  : ตอนนั้นผมอยากกลับไปทำอะไรที่บ้านเกิด จ.กาญจนบุรี ผมเองเป็นลูกชาวไร่ชาวนา จำได้ว่า แม่สอนตลอดให้ตั้งใจเรียน จะได้ไม่ต้องกลับมาทำนา มันลำบาก มันเหนื่อย มันจน ด้วยหน้าที่การงานทำให้ผมมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศบ่อย เลยได้เห็นว่า จริงๆ แล้วประเทศไทยต้องเป็นมหาอำนาจของโลกในเรื่องการผลิตอาหาร และอุตสาหกรรมเกษตรนี่แหล่ะ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศบ้านเราเหมาะสม

     แต่โจทย์ของผมคือ “ต้องสำเร็จเร็ว” นั่นคือต้องอยู่ได้ ไม่ใช่ล้มเหลวหรือล้มเลิกไปก่อน ผมถูกท้าทายด้วย การที่เรียนจบสูง กลับมาทำเกษตรคนรอบข้างจะคิดยังไง มีทางเดียวคือต้องสำเร็จ และสำเร็จเร็วด้วย ดังนั้นสิ่งที่ทำ 1.ต้องแปลก ต้องว้าว ไม่เหมือนใคร 2.ต้องขายได้และขายดี แล้วอยู่บนเทรนด์สุขภาพด้วย คือต้องเป็นพืชที่ทุกคนซื้อเพราะสุขภาพ เป็นซูเปอร์ฟู้ด และ 3.จะยั่งยืนได้จริงต้องแปรรูปได้ แล้วต่อยอดไปเป็นเกษตรอุตสาหกรรมได้

     ตอนนั้นผมเดินทางไปทำงานที่อาหรับ ได้รู้จักกับต้นอินทผลัม รู้สึกว่าเป็นพืชที่สวย ยิ่งพอศึกษาลึกลงไปก็พบว่า มันเป็นซูเปอร์ฟู้ดที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากด้วย ทั้งยังเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนมุสลิม จึงอยากนำพืชตัวนี้มาทดลองปลูกในไทยดู เมื่อประมาณ 15 ปีก่อน

SME Thailand : ในตอนนั้นนอกจากประเทศกลุ่มอาหรับ ในพื้นที่อื่นมีการปลูกอินทผลัมกันหรือไม่ สภาพตลาดและการแข่งขันเป็นอย่างไร

     อนุรักษ์  : ผมเคยคิดว่าอินโดนีเซีย มาเลเซีย น่าจะปลูกกันเยอะ เพราะเป็นประเทศที่มีการบริโภคอินทผลัมสูง แต่พอไปศึกษาจริงๆ กลับพบว่า มันไม่เคยมีสวนอินทผลัมในอาเซียนมาก่อนเลย ยิ่งทำให้ผมคิดว่า ตัวนี้แหล่ะ ใช่เลย แปลกใหม่แน่นอน และถ้าทำได้เราจะกลายเป็นเจ้าแรก

     โจทย์ต่อมา คือ ต้องมีตลาด ไม่ใช่รอตลาด ดังนั้นเราต้องหาตลาดควบคู่กันไปด้วย ซึ่งพอศึกษาไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าอินทผลัม มีตลาดที่ใหญ่มากในอาเซียน ในกลุ่มพี่น้องชาวมุสลิม เนื่องจากอินทผลัมกับมุสลิมแยกกันไม่ออก เป็นผลไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าประทานมาให้เขา ซึ่งอาเซียนมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก ผมยิ่งมองเห็นโอกาส จากการที่ไม่เคยมีสวนมาก่อน ไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่ตลาดใหญ่มาก มีการบริโภคมหาศาล ทั้งในไทยและอาเซียน

     พอมาเจาะเรื่องอินทผลัม ทำให้พบอีกว่า ที่จำหน่ายอยู่ในตลาด มีอยู่ 2 ชนิด คือแบบผลแห้งเหมือนที่เห็นกันทั่วไป และแบบผลสด ซึ่งมีขายอยู่ในโมเดิร์นเทรดตามฤดูกาลและราคาแพงมาก กิโลละเป็นพันบาทเลย ถามว่าทำไมผลสดไม่ค่อยเห็นกัน เพราะการที่ผลไม้สดในอาหรับ จะส่งขายไปทั่วโลกนั้นทำได้ยากมาก และการขนส่งก็ต้องขึ้นเครื่องเท่านั้น จึงนิยมขายเป็นผลแห้งเพราะง่ายต่อการขนส่งและเก็บรักษาได้นานกว่า ผมจึงเกิดไอเดียว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะพัฒนาแต่ผลสดนี่แหล่ะ เพราะผลแห้งมีเยอะอยู่แล้ว แล้วราคาก็ไม่ได้แพงด้วย แต่ผลสดแพง ถ้าเราทำได้ก็ขายในไทยและอาเซียน อาหรับเองก็คงไม่อยากมาแข่งกับเราหรอก เพราะค่าใช้จ่ายเขาสูงกว่าเรามาก

SME Thailand : ในเมื่อที่ผ่านมาอาเซียนเองก็ยังปลูกอินทผลัมไม่ได้ แล้วคุณอนุรักษ์ทำอย่างไรถึงทำให้กาญจนบุรีและแผ่นดินไทย สามารถปลูกพืชชนิดนี้ขึ้นมาได้

     อนุรักษ์  : เมื่อ 15 ปีก่อน ถามว่าผู้ปลูกอินทผลัมในเมืองไทยมีไหม ตอบว่ามี แต่ปลูกกันเล่นๆ ไม่ได้ทำในเชิงพาณิชย์ พอไม่มีใครทำก็ยิ่งทำให้ผมมุ่งมั่นมากขึ้น เริ่มจากเอาตัวเองไปฝังอยู่ในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอินทผลัมในอาหรับ โดยสมัครผ่านเว็บไซต์ของกลุ่มเขา เพื่อที่จะเรียนรู้ และหาความรู้เกี่ยวกับการปลูกอินทผลัม โดยเริ่มจากหาต้นพันธุ์มาทดลองปลูก ตอนนั้นความรู้เรายังน้อยมาก การนำเข้าต้นพันธุ์ก็ต้องมีวอลุ่ม โดยสมัยก่อนเขาจะซื้อขายหน่อกัน ซึ่งพอเราจะสั่งหน่อสองหน่อ ต้นทุนก็จะสูงมาก ผมเลยใช้วิธีซื้อผลสดนี่แหล่ะ แล้วเอาเมล็ดมาเพาะ ปรากฏว่า เพื่อนที่อยู่ในกลุ่มซึ่งเป็นเจ้าของสวน บอกเลยว่าอินทผลัมไม่ปลูกแบบเพาะเมล็ดกัน เพราะมันจะกลายพันธุ์ทุกต้น ตอนนั้นผมปลูกจนต้นโตแล้วและเริ่มมีดอกแล้วด้วยซ้ำ ปรากฏว่า ใช้ไม่ได้

     จากนั้นผมเลยต้องนำเข้าต้นแท้มา โดยให้เพื่อนช่วยส่งหน่ออินทผลัมมาให้ เลือกสายพันธุ์หลักเป็นสิบสายพันธุ์ เหมือนมาทดลองปลูกเพื่อศึกษา ติดอะไรก็ยิงคำถามเข้าไปในกลุ่ม ตอนหลังก็สั่งต้นแท้ที่เป็นต้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากแล็บของอาหรับมา จนปลูกได้สำเร็จ แต่ต้องใช้เวลานานถึง 3-4 ปีเลย ตอนนั้นผมยังทำงานประจำอยู่ วันจันทร์ทำงานที่กรุงเทพ ส่วนเสาร์ อาทิตย์ ก็มาเป็นชาวสวนอินทผลัมที่กาญจนบุรี

SME Thailand : ต้องใช้เวลานานขนาดนั้น แล้วทำไมถึงยังมุ่งมั่นที่จะทำอยู่ อะไรที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่าจะไปต่อได้

     อนุรักษ์  : มันเหมือนกับว่าพอยิ่งศึกษาลงไปผมก็ยิ่งหลงรัก และมีความสุขไปกับมัน ยิ่งเวลาต้นออกลูกก็ตื่นเต้น ผมตื่นเต้นตลอดเวลาที่เห็นพัฒนาการของเขา

     พอปลูกไปได้สักพัก เป็นช่วงที่เฟซบุ๊กเริ่มเข้ามาพอดี ผมเลยเปิดเพจใช้ชื่อว่า “๑๐๐๐พฤกษาฟาร์ม” โพสต์อะไรไปเรื่อยเปื่อย จนเริ่มมีคนรู้จักและสนใจว่า อินทผลัมปลูกในไทยได้ด้วยเหรอ จนมีสื่อเกษตร นำเรื่องราวของเราไปเผยแพร่ ทำให้เราเป็นที่รู้จักในมากขึ้น ตอนนั้นยังไม่ได้ทำเป็นธุรกิจ แต่ผมรู้แล้วว่า เราจะต้อง “มีตัวตน” เราต้องประกาศให้โลกรู้ว่า เราทำอะไรอยู่ เพราะไม่อย่างนั้นตลาดมันจะไม่มา  

     ระหว่างทำงานอยู่มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ ผมเห็นว่า อย่างญี่ปุ่น อเมริกา หรืออาหรับเอง เกษตรกรของเขาเป็นชนชั้นแนวหน้าทั้งนั้น ยิ่งตอกย้ำว่า ทำไมประเทศไทยมองเกษตรกรต่ำต้อยด้อยค่ามาก และทุกที่ของเขาจะมีป้ายฟาร์มเท่ๆ มีคาเฟ่เล็กๆ อยู่หน้าสวน เป็นเหมือนช็อปไว้นั่งพัก พูดคุยกันอะไรแบบนั้น เราเองเป็นเกษตรรุ่นใหม่เวลาเหนื่อยหรือจำเป็นต้องนั่งคิดงานใช้สมอง ก็ควรมีจุดที่จะได้พูดคุยสื่อสารกันเช่นกัน ผมจึงเปิดคาเฟ่ ในชื่อ “๑๐๐๐พฤกษา ฟาร์ม คาเฟ่” เพื่อเผยแพร่ตัวตนและเรื่องราวของเราออกไป

     การมีคาเฟ่ทำให้เรานำผลผลิตในฟาร์มมาขายได้เพื่อให้เกิดรายได้ทุกวัน แม้จะยังเล็กน้อยเพราะผลผลิตเรายังน้อยมาก นอกจากนี้ยังใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ โดยเปิดให้คนเข้าชมฟาร์มฟรี แต่สิ่งที่ได้คือได้ขายของที่คาเฟ่ไปด้วย พอคนเข้ามาดูเขาเริ่มอยากปลูกบ้าง เลยให้เราช่วยหาต้นพันธุ์ให้ เลยเกิดเป็นธุรกิจนำเข้าต้นพันธุ์อินทผาลัมตามมา

     ตอนนั้นคนมาดูงานที่เราเยอะมาก ผมมองว่าเพราะเรามีความรู้จริง รู้เยอะ ถ้าเรื่องอินทผาลัมเรียกว่าจบปริญญาเอกได้เลย ถึงขนาดสื่อเกษตรอินโดนีเซียก็ยังมา ผมมารู้ทีหลังว่า เขาพยายามปลูกอินทผลัมมาเป็นร้อยปีแล้ว แต่ไม่สำเร็จ ทำไมประเทศไทยซึ่งอยู่ในอาเซียนเหมือนกันถึงทำได้ พอสื่ออินโดเผยแพร่เรื่องราวของเราออกไป กลายเป็นว่ามีทัวร์จากอินโดเข้ามาเยอะมาก ทำให้เราสนุกไปเรื่อย รายได้จากคาเฟ่จากวันละหลักร้อย ขึ้นมาเป็นหลักพันและหลักหมื่น แล้วก็เริ่มมีกำไรจากการขายต้นพันธุ์ สุดท้ายผมตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อมาทำเต็มตัวเมื่อประมาณ 12 ปีก่อน

SME Thailand : จากฟาร์มที่เป็นศูนย์เรียนรู้ กลายมาเป็นผลผลิตในเชิงพาณิชย์ได้อย่างไร เราต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างไร

     อนุรักษ์  : พอเริ่มปลูกได้เราก็ค่อยขยายแปลงไปเรื่อยๆ จนได้ผลผลิตเยอะขึ้น ผมก็อยากสร้างชื่อว่า มีอินทผลัมผลสดในไทยแล้ว เลยติดต่อไปที่ กูร์เมต์ มาร์เก็ต ของเดอะมอลล์ ซึ่งเขานำเข้าผลสดจากต่างประเทศอยู่แล้ว พอฝ่ายจัดซื้อได้ชิมและฟังเรื่องราวของเรา ก็ตัดสินใจเซ็นสัญญากันทันที จากนั้นเขาก็ไม่ได้นำเข้าอีกเลย ในตอนนั้นเขาตั้งราคาขายเท่าสินค้านำเข้าด้วยซ้ำ มองว่า เพราะมันเป็นสิ่งใหม่ เป็นเจ้าแรก และเป็นครั้งแรกในการที่มีอินทผลัมในอาเซียน ซึ่งเป็นอะไรที่แตกต่างจากผลนอก และรสชาติของเราอร่อยกว่า เพราะสดกว่า ตอนนั้นเขาขึ้นป้ายเลยว่า อินทผลัมจากกาญจนบุรี

     ระหว่างที่เราได้ผลผลิต ก็มีเพื่อนเกษตรกรที่ทำมาด้วยกัน ภายใต้ “กลุ่มอินทผลัมภาคตะวันตก ( Wes Date Palm Group : WDP) ซึ่งมีสมาชิกอยู่ประมาณ 200 สวนทั่วประเทศ ก็เริ่มมีผลผลิตออกมาด้วยเช่นกัน เราจึงขยายตลาดไปสู่โมเดิร์นเทรดอื่นๆ จนปัจจุบันเฉพาะฟาร์มของผม มีปริมาณผลผลิตที่ประมาณ 60-70 ตันต่อปี  ส่วนในเครือข่ายของเรามีกำลังการผลิตรวมกันที่ประมาณ  500 ตันต่อปี

     จากนั้นก็เริ่มพัฒนาไปสู่สินค้าแปรรูปอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก คือ ในอาหรับไม่เคยมีการแปรรูปอินทผลัมเลย เขาไม่ค่อยเก่งเรื่องการแปรรูปอาหาร จะเน้นขายอะไรที่ง่ายๆ ตรงๆ มากกว่า เราจึงเป็นรายแรกของโลกที่มีการแปรรูปอินทผลัม แต่ที่มันแจ๋วกว่านั้นคือ เราแปรรูปจากอินทผลัมสายพันธุ์บาฮี (Barhi ) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ผลสดที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดในโลก แล้วก็ปลูกในแผ่นดินไทย แผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว โดยปัจจุบันเรามีแบรนด์ “อินวัน” (INONE) เป็นกลุ่มเครื่องดื่มอินทผลัม อาทิ น้ำอินทผลัมเข้มข้น อินทผลัมสกัดร้อยเปอร์เซ็นต์ อินทผลัมฟรีซดราย ไซรัป แยม โซดา เอเนอจี้ดริงค์ เป็นต้น และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เครื่องดื่ม อาทิ น้ำพริกอินทผลัมและไส้ขนม ในชื่อ “โอเอซิส” (Oasis) โชคร้ายที่โปรดักต์ของเราแต่งตัวเสร็จในช่วงโควิดพอดี ทำให้ต้องหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง จนตอนนี้ตลาดเริ่มกลับมาแล้ว โดยนอกจากไทย เรายังมีส่งไปที่ฮ่องกง มีตัวแทนจำหน่ายที่กัมพูชา บังกลาเทศ รวมถึงดูไบที่กำลังศึกษาอยู่ด้วย

SME Thailand : มองอนาคตของอินทผลัมจากแผ่นดินไทยอย่างไร ถ้าเกษตรกรไทยจะเข้ามาทำยังมีโอกาสมากแค่ไหน

     อนุรักษ์  : ปัจจุบันเรากำลังผลักดันให้อินทผลัมเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในไทย (origin) เพื่อที่จะส่งเข้าประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ และมีมูลค่ามหาศาลมาก โดยจีนไม่สามารถปลูกอินทผลัมเองได้ ด้วยสภาพอากาศที่ไม่เอื้อ ขณะที่ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฯลฯ ก็ปลูกไม่ได้เช่นกัน นั่นยิ่งทำให้ประเทศไทยโชคดี ที่ผ่านมาจีนนำเข้าทั้งผลแห้งและผลสดจากอาหรับ แต่เราได้เปรียบเพราะผลสดสามารถส่งเข้าจีนได้หลายช่องทางและใกล้กว่า ต้นทุนถูกกว่า ตอนนี้ไทยผลักดันให้อินทผลัมเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ส่งเข้าจีนได้แล้ว รอแค่ทางจีนพิจารณาอนุญาตเท่านั้น ซึ่งหากสามารถปลดล็อกตรงนี้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลกับเกษตรกรไทย

     เนื่องจากอินทผลัมสามารถปลูกได้ในพื้นที่แห้งแล้ง พื้นที่ทุรกันดาร แต่ต้องมีน้ำ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีเยอะมากในประเทศไทย โดยเฉพาะอีสานจะปลูกได้ดี ภาคกลางตั้งแต่ราชบุรีขึ้นไปดี ภาคเหนือจนถึงเชียงรายดี แต่ถ้าไกลกว่านั้นจะเย็นเกินไป ส่วนภาคใต้ไม่เหมาะเพราะเป็นร้อนชื้นที่ไม่มีหน้าหนาวเลย อินทผลัมไม่ชอบ ในขณะเดียวกันจีน และเพื่อนบ้านอาเซียนปลูกไม่ได้ด้วยอากาศที่ไม่เอื้อ ดังนั้นถ้าเราปลูกได้ แล้วสามารถส่งเข้าจีนได้ บอกเลยว่าแค่มณฑลเดียวของจีน เราปลูกกันทั้งประเทศก็ไม่พอแล้ว

     ตั้งแต่ผ่านช่วงโควิดมา ผมได้บทเรียนว่า สิ่งที่เราคิดมาตั้งแต่แรกนั้นถูกต้องแล้ว นั่นคือเราจะทำตลาดอินทผลัมผลสด จะเอาแค่ผลสดเท่านั้น โดยเราจะเป็นเบอร์หนึ่งในด้านอินทผลัมผลสดในโลกให้ได้ ถ้านึกถึงอินทผลัมผลสด ต้องประเทศไทยเท่านั้น นี่คือจุดที่เราจะพัฒนาต่อไป คือสายพันธุ์ผลสดที่ดีที่สุดในโลกต้องอยู่ในประเทศไทย โดยที่เราจะทำตลาดในจีนและอาเซียนเป็นหลัก

     สำหรับเกษตรกรที่จะเข้ามาทำอินทผลัม ผมเชื่อว่า ยังคงสดใสมาก เพียงแต่ขอให้ศึกษาให้จริง และทำต้นทุนให้ได้ ส่วนใครที่ทำงานประจำอยู่แล้วอยากออกมาเป็นเกษตรกร หนึ่งเลยคุณต้องมีจุดยืน จุดยืนต้องชัดเจน และต้องมีวินัยเหมือนตอนทำงานประจำ ส่วนใหญ่คนมาทำเกษตรหรือธุรกิจส่วนตัว มักคิดว่า ฉันทำเมื่อไหร่ก็ได้ วันนี้แดดร้อนไม่ไปแล้ว มันไม่ได้ วินัยต้องมาก่อน คุณเคยทำงานประจำอย่างไร ต้องเข้างานตรงเวลาอย่างไร ทำเกษตรก็เหมือนกัน แปดโมงเช้าคุณต้องเข้าสวนแล้ว ต้องคิดว่านี่คือออฟฟิศของเรา ต้นไม้คือสำนักงานของเรา และต้องหาตลาดให้ได้ ไม่ใช่อยากทำก็ทำตามใจฉัน แต่ต้องศึกษาลงลึกอย่างจริงจัง ดังนั้นจุดยืนต้องชัดเจน ต้องมีวินัย และมีตลาด ถึงจะประสบความสำเร็จได้

FB : ๑๐๐๐พฤกษาฟาร์ม

FB : INONE Drink

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น