กฤษณาวารี ร้าน Specialty Coffee ผู้ให้กำเนิดกาแฟเทพทาโร ทางเลือกใหม่ที่คอกาแฟยอมรับ

TEXT / PHOTO : ชาญชัย หาสสุด

Main Idea

  • “กฤษณาวารี” คือ ร้านกาแฟที่เกิดจากความไม่ชอบกรุงเทพฯฯ จนมาพบรักเมืองเล็กตะกั่วป่า และกลายเป็นร้านกาแฟพิเศษร้านเดียวที่อยู่ในแผนที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

 

  • เป็นร้านกาแฟที่ต้องการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นผ่านกาแฟ และสามารถทำได้สำเร็จ จน “กาแฟเทพทาโร” ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย

 

     มีปัจจัยไม่กี่อย่างที่ทำให้คนเราต้องย้ายถิ่นฐาน ซึ่งส่วนมากมาจากเหตุผลด้านการงาน  ครอบครัวหรือการศึกษา  แต่การไม่ชอบเมืองที่ตัวเองอยู่ แล้วตัดสินใจหาที่ใหม่ปักหลักปักฐาน อาจจะดูเป็นเรื่องซับซ้อนเกินไปสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่สำหรับ โอ๊ต-ธนเดช อธิชาธีทัต ที่ตัดสินใจย้ายจากกรุงเทพฯ เลือกสร้างชีวิตที่ตะกั่วป่า ทำร้านกาแฟรสชาติดีชื่อ “กฤษณาวารี”

     “ผมเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ไม่ได้ชอบกรุงเทพฯ เบื่อ เลยพยายามหาทางออกมาให้ได้” โอ๊ตบอกอย่างนั้น ก่อนการพูดคุยจริงจังระหว่างเราจะเริ่มต้น

ตะกั่วป่า เมืองที่ใช่ แต่ไม่รู้จักกันมาก่อน

     “ตอนแรกเลยไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปไหน รู้แค่ว่าอยากหาที่เงียบๆ ในเมืองเล็กๆ มีอากาศเย็น ค่าครองชีพไม่สูง ใกล้สถานที่ท่องเที่ยว แต่ไม่ได้อยู่ในแหล่งท่องเที่ยว”  โอ๊ตเผยสเปคเมืองใหม่ ตอนที่ใจไม่อยากอยู่กรุงเทพฯ แล้ว 

     “มีคนเนะนำปาย ซึ่งตอนนั้นไม่รู้จักปายเลย เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติมว่าปายยังมีข้อจำกัดเรื่องการเดินทางจากเชียงใหม่ และต้องส่งผลไปถึงการจัดการวัตถุดิบด้วยแน่ๆ จึงคิดว่ายังไม่ใช่ แม้ว่าตอนนั้นมีร้านกาแฟที่ปล่อยเซ้งอยู่” เราเริ่มด้วยการเดินทางของโอ๊ต เพื่อการแสวงหาถิ่นฐานใหม่

     “ด้วยโจทย์เดิม เชียงรายโผล่มาเป็นตัวเลือกใหม่ แต่เหมือนเดิมการเดินทางจากเชียงใหม่ใช้เวลานานเกินไป ในขณะเดียวกัน ลำพูน คือ เมืองที่ตรงโจทย์ที่สุดในตอนนั้น ตัดสินใจกลับกรุงเทพฯ ทำงาน เก็บเงินพร้อมจะย้ายไปลำพูน ช่วงที่กำลังเตรียมตัว น้องคนหนึ่งชวนไปธุระที่นครฯ แล้วขอแวะหาแฟนที่พังงา เลยได้รู้จักตะกั่วป่าโดยบังเอิญ เริ่มรู้สึกว่าใช่เมืองที่ตามหา ช่วงโควิดกลับมาพังงาอีกรอบ เช่าบ้านไว้เดือนหนึ่ง แล้วสำรวจไปทุกที่ในพังงา เริ่มหลงรักตะกั่วป่า ทั้งในเรื่องที่ไม่ไกลเขาหลัก ใกล้ทะเล อากาศดี โดยเฉพาะช่วงฝนตก ฝนที่นี่สะอาดไม่เหมือนน้ำฝนที่กรุงเทพฯ  กลับกรุงเทพฯ ไปชั่งน้ำหนักอีกรอบระหว่างลำพูนกับพังงา สุดท้ายเลือกพังงาเพราะทะเล ตัดสินใจขนของย้ายลงมาตอนงานแต่งของน้องคนน้้น” โอ๊ตเล่าที่มาที่ไปของการเลือกตะกั่วป่า ไม่น่าเชื่อว่ามืองเล็กนี้จะชนะใจในที่สุด

ถ้าคุณ คือ ผู้ที่รอดตายจากสงคราม ทุกสายตาจะมองมาที่คุณ

     โอ๊ตเล่าต่อว่า ร้านที่เปิดตั้งใจให้เป็น Slow Bar ตั้งแต่แรก และตั้งใจใช้เป็น Manual Espresso ทั้งหมด เมื่อมาเจอวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของคนตะกั่วป่าที่ยังตามหลังกรุงเทพฯ อยู่ นั่นเป็นความท้าทายที่ตัวเองพร้อมสู้อยู่แล้ว

     “การเปิดร้านใหม่ในเมืองที่ถูกปิดกับวิถีชีวิตอีกแบบจากที่เคยพบมา หลายคนบอกว่ากาแฟแบบนี้คงไม่มีใครดื่มหรอก ซึ่งผมก็ไม่ได้ตกใจ เพราะเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน ตั้งแต่เปิดร้านขายข้าวไข่เจียวร้านแรกที่ถนนข้าวสาร จนสุดท้ายข้าวไข่เจียวกลายเป็นที่รู้จักและโด่งดังมากๆ ในยุคนั้น อย่างเรื่องกาแฟ ผมเชื่อว่าวัฒนธรรมการกิน มันมีเวลาในการเดินทางของมัน สิ่งที่เรานำเสนออาจจะใหม่มากในเมืองเล็กๆ ใช้ชีวิตช้าๆ แต่แราเชื่อว่า สุดท้ายต้องมีกลุ่มคนที่ต้องการแบบนี้แน่ๆ อยู่ที่ว่าเราทำให้เขามีความสุขได้ไหม ในที่สุดคนกลุ่มนี้แหละจะกลายเป็นลูกค้าประจำของเรา” โอ๊ตเล่าถึงเหตุการณ์ไม่คาดคิดในวันแรกที่เปิดร้าน

     “วันแรกที่เปิดร้าน จำได้ว่าตรงกับวันสารทจีน เฟอร์นิเจอร์ยังไม่พร้อมเลย อาศัยยืมโต๊ะจีนมา ได้ผ้าม่านสีฉูดฉาดที่สั่งซื้อมาเป็นผ้าปูโต๊ะ หวังให้สะกดลูกตาคนให้หันมามองบ้าง ช่วงบ่ายมีลูกค้ามาเต็มร้านเลย วันนั้นยังไม่ได้เอาเครื่องชงลงมาจากกรุงเทพฯ อาศัย Aram เครื่องเดียวสกัดกาแฟกับเครื่องบดไฟฟ้าอีกหนึ่งตัว เครื่องบดน็อค มีออร์เดอร์ค้างอยู่อีกหลายคิว ตัดสินใจประกาศขอโทษลูกค้า โชคดีที่ไม่มีใครโกรธ แถมมีน้องบางคนเอาเครื่องบดมาช่วย ทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการดื่มกาแฟระหว่างกันและกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน จนตอนนี้ผมเชื่อว่า หลายคนรู้จักกาแฟมากขึ้นและรู้ว่าราคาแค่ไหน ถึงจะได้ดื่มกาแฟคุณภาพดี”

     ผมฟังเรื่องราวของโอ๊ตเพลิน หลายช่วงของบทสนทนามีวิธีคิดบางอย่างสอดแทรกเอาไว้เสมอ

     “กาแฟทั้งหมดที่เราเสิร์ฟ ก็ต้องหวังให้เป็นกาแฟที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ต้องเชื่อในกาแฟของเราว่าต้องดีพอที่จะเสิร์ฟได้ นอกเหนือจากนั้นคนที่มาดื่มจะเป็นคนตัดสินเอง ยิ่งเป็น Slow Bar แล้ว เราต้องรู้ให้ได้ว่า เร็วที่สุด ดีที่สุด อยู่ตรงไหน”

     โอ๊ตเปรียบเทียบให้ผมเห็นภาพของการตัดสินใจมาเปิดร้านที่ตะกั่วป่าในวันที่ใครๆ ก็ไม่อยากทำธุรกิจ ในขณะที่บางคนกล้าที่จะสร้างโอกาสโดยปราศจากคู่แข่ง

      “ถ้าคุณเป็นคนที่รอดตายจากสมรภูมิสงคราม ทุกสายตาจะหันมามองมาที่คุณ”

เทพทาโร และเส้นทางของความคิดต่าง

     ผมค่อยๆ ยกแก้วจิบกาแฟเทพทาโรคั่วกลาง ที่โอ๊ตเพิ่งรินจากการดริปให้ แก้วนี้เป็นแก้วที่สองนับจากเราเริ่มคุยกัน เรื่องราวกำลังลื่นไหล หลายเหตุการณ์ถูกส่งผ่านจากคำบอกเล่าของผู้ขายหลังบาร์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายช่วงชีวิต ท้้งนักเขียน นักร้อง และจบท้ายที่หลังบาร์กาแฟตอนนี้

     “เรารู้สึกว่า การมาอาศัยเขาอยู่ อยากเป็นประโยชน์ให้กับเขา อยากเป็นความภูมิใจ พังงาไม่มีตัวตนเลยในโลกกาแฟของประเทศนี้ จึงคิดอยากทำกาแฟตะกั่วป่า ด้วยประสบการณ์ ความรู้ และคอนเนคชัน เราเชื่อว่าเราต้องทำได้ ตอนแรกคิดถึงแค่ผลไม้ มีไกด์ไลน์ไว้บ้างแล้ว เลยหาข้อมูลว่าที่นี่มีผลไม้อะไรบ้าง ที่มีเรื่องราวเฉพาะน่าสนใจ คุยกับหลายๆ คน จนได้ไอเดียในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเทพทาโรไม้หอมประจำจังหวัดกับกาแฟ

     “แต่ตอนนั้นยังนึกไม่ออกว่าต้นไม้จะเอามาโปรเซสกาแฟยังไง ดูเหมือนไม่มีทางเป็นไปได้ จนหลังโควิดปลายปี 2564 ได้รับเชิญไปออกบูธในงานเปิดหาดที่เขาหลัก โดยอยากให้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสมุนไพรในจังหวัด เลยกลับไปคิดเรื่องโปรเซสกาแฟกับไม้เทพทาโรต่อ จึงเริ่มหาคาแรคเตอร์ของรสชาติและกลิ่นจากทุกส่วนของเทพทาโร แล้วส่งต่อให้ช่างเปา จากแบรนด์กาแฟเลอตอโกล เพื่อโปรเซสให้ แต่ผลลัพธ์วันงานไม่เป็นอย่างที่คิด แทบไม่มีกลิ่น รส ของเทพทาโรเลย สุดท้ายเลยค้นพบว่า คาแรคเตอร์ที่พีคที่สุดของกาแฟเทพทาโรอยู่ประมาณหนึ่งเดือนหลังจากคั่ว”

     ผมนั่งฟังเรื่องราวการเกิดขึ้นของกาแฟเทพทาโรอย่างตั้งใจ การสร้างของอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้น มันไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด ทุกอย่างเกิดจากการวางแผน สร้างเส้นทางของมันขึ้นมา จากคนคนหนึ่งที่อยากทำกาแฟให้คนทั่วไปได้นึกถึงจังหวัดพังงา ไม้หอมประจำจังหวัดจึงถูกจับมาเป็นส่วนหนึ่งของการโปรเซสกาแฟ โดยช่างเปาและฟาร์มที่มีรางวัลระดับชาติการันตี แล้วส่งไม้ต่อให้รองแชมป์โลกในการแข่งขัน 2019 World Aeropress Championship เป็นบาริสต้าในวันนั้น เชื้อเชิญให้แขกร่วมงานระดับประเทศชิม วิธีการโปรโมตเหล่านี้ กลั่นกรองมาจากกระบวนการคิดของคนริเริ่ม จนเทพทาโรกลายเป็นกาแฟที่ใครมาพังงาต้องลิ้มลองสักครั้ง

     ภายใต้ชายคาของ กฤษณาวารี  ร้านกาแฟแค่คูหาเดียว ทำให้ผมได้ค้นพบว่า ความตั้งใจจริงของคนต่างถิ่นคนหนึ่งในการตอบแทนแผ่นดินอาศัย ยิ่งใหญ่ เห็นและรู้สึกได้ในโลกความจริงตรงหน้า

     “ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากอยู่และตายที่นี่”

     มันเป็นคำตอบส่งท้าย ที่ผมรู้สึกจุกในอก ตื้นตันแทนคนตะกั่วป่า ทั้งหมดไม่ใช่แค่เหตุผลของการค้นพบเมืองที่ใช่ แต่มันมีความรัก ความผูกพันอยู่ในนั้น

กฤษณาวารี

https://www.facebook.com/krisanawareecoffee

โทร. 086 303 9242

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น