ไม่ลดราคา ไม่ขายออนไลน์ ร้านหนังสือ Phan Ma Ba Trang คิดต่างสร้าง Soft Power สังคมนักอ่าน

TEXT / PHOTO : ชาญชัย หาสสุด

Main Idea

  • Phan Ma Ba Trang” ร้านหนังสืออิสระร้านเดียวในตรังที่ยังเปิดดำเนินกิจการอยู่ได้ เปิดเฉพาะศุกร์ เสาร์ อาทิตย์เท่านั้น

 

  • ร้านหนังสือที่ให้มูลค่าจากเนื้อหา ไม่ใช่สภาพหนังสือ ไม่ขายออนไลน์และไม่ลดราคา เพราะเชื่อว่า “คุณค่าอยู่ที่เนื้อหา ไม่ใช่ภาพลักษณ์”

 

1.

     อาหารการกิน เกาะแก่งและชายหาดเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวของจังหวัดตรังที่ยังขายได้อยู่ เห็นได้จากเกาะกระดานที่เพิ่งคว้าอันดับ 1 ของชายหาดดีที่สุดในโลกจาก World Beach Guide ส่งผลให้ทะเลตรังกลายเป็นจุดหมายน่าจับตามอง ในขณะที่เมืองตรังยังเป็นได้แค่เมืองกิน ทางผ่านของเหล่านักเดินทางอย่างเดิม แต่สำหรับนักเดินทางซุกซน สนใจรายละเอียดระหว่างทาง ร้านหนังสือ “Phan Ma Ba Trang” (พันธุ์หมาบ้า ตรัง) ในความร่มรื่นเขียวครึ้มของต้นไม้คงหลบไม่พ้นสายตา

     พี่ตุ้ม - อรัญญา ทองโอ เป็นนักบัญชีเมืองกรุงที่ต้องกลับบ้านด้วยเหตุผลของครอบครัว คือ คนที่สร้างร้านหนังสือนี้ให้มีชีวิตกลางเมืองผ่าน

     หากมองพื้นหลังที่เป็นนักบัญชีที่เราคุ้นตา ดูจะสวนทางกับบุคลิกของนักอ่านโดยสิ้นเชิง แต่เมื่อฟังลักษณะงาน ทำให้ผมเห็นภาพคนรักหนังสือในตัวพี่ตุ้มได้ชัดเจนขึ้น เพราะลักษณะงานจริงๆ เป็นการวางระบบบัญชี ต้องออกแบบ เขียนคู่มือ เรียบเรียงคำพูดในการสื่อสารกับผู้คนหลากหลาย ซึ่งหลายขั้นตอนสามารถใช้การอ่านช่วยได้ ไม่ได้ใช้แค่ทักษะทางบัญชี แต่ต้องอาศัยความเป็นศิลปะร่วมด้วย

     “แรกๆ ก็คิดอยากทำอะไรที่บ้าน ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นร้านหนังสือ แค่อยากให้เป็นพื้นที่ใช้ร่วมกันของกลุ่มเพื่อนและได้พบปะกันหลังเลิกงาน จนเพื่อนรุ่นพี่แนะนำให้เปิดร้านพันธุ์หมาบ้า ด้วยความที่ตัวเองเป็นแฟนสินค้าของแบรนด์นี้อยู่แล้ว เลยโทรไปคุยกับพี่ชาติ กอบจิตติ หลังจากที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน จนเกิดเป็นร้านพันธุ์หมาบ้า ตรัง ได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 21 พฤษภาคม 2559 ได้ทำต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน หนังสือในร้านส่วนหนึ่งเป็นตัวเองที่นำมาจากกรุงเทพฯ อีกส่วนหนึ่งได้มาจากพี่ๆ นักเขียนและเพื่อนฝูงกัน”

     เธอเล่าจุดเริ่มต้นของชื่อร้านและบอกต่อถึงจุดประสงค์ของการมีพื้นที่ตรงนี้

2.

     “แรงบันดาลใจจริงๆ อยากมีที่นั่งอ่านหนังสือ อยากมีเพื่อนๆ มานั่งคุยกัน การจัดสรรพื้นที่ร้านให้มีมุมสงบๆ กระจัดกระจายหน่อย เปิดแค่ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เพราะอยากอยู่ร้านเอง อยากให้ผู้คนมาใช้บางช่วงเวลากับร้านหนังสือ มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกันบ้าง”

     เหมือนพี่ตุ้มกำลังจะบอกว่า ช่องว่างระหว่างกันยังคงสำคัญกับทุกความสัมพันธ์เสมอ

     ชั้นหนังสือด้านหลังดึงสายตาและความคิดของผมให้จมลึกลงไปอีก ในสภาพสังคมปัจจุบันที่เราต่างใช้ชีวิตเร่งรีบขึ้น ในขณะที่คนมีสมาธิกับการอ่านกำลังใช้เวลาสั้นลงเรื่อยๆ น่าแปลกที่มีพื้นที่แบบนี้ซ่อนตัวอยู่ถึงปีที่ 7 แล้ว

     “ตัวเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือแนวกึ่งปรัชญา อ่านแล้วต้องจมไปกับหนังสือ บางครั้งรู้สึกเหมือนหนังสือกำลังอ่านเราในเวลาเดียวกัน พี่ไม่รู้ว่าเด็กรุ่นใหม่ใช้วิธีอ่านหนังสือเหมือนยุคเราหรือเปล่า ที่แน่ๆ อยากให้ทุกคนได้สัมผัสบรรยากาศแบบนั้น ใช้เวลาในการละเลียดหนังสือในพื้นที่ตรงนี้”

     พี่ตุ้มบอกว่า หนังสือในร้านไม่ได้มากมาย แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ขายและส่วนให้ยืมอ่าน ขั้นตอนให้ยืมมีเงื่อนไขไม่ซับซ้อน ชอบเล่มไหน แค่ส่งข้อความมาบอก หยิบไป แล้วค่อยคืนในสัปดาห์ถัดไป พร้อมส่งข้อความแจ้งกลับมา

     “อยากให้คนอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น ตอนนี้คนอ่านหนังสือน้อยลงมาก เมื่อเราเห็นคนหยิบหนังสือขึ้นมาดู ก็รู้สึกดีแล้ว โดยอัตโนมัติ ทั้งที่ยังไม่ได้ตังค์สักบาท” เสียงหัวเราะสดใสของพี่ตุ้ม ยิ่งทำให้ผมเชื่อในความจริงใจของคนรักหนังสือ

3.

     พี่ตุ้มบอกถึงการทำธุรกิจร้านหนังสือว่า

     “ทำร้านหนังสืออย่างเดียวยากที่จะอยู่ได้ มีวิธีดูแลให้มันเลี้ยงตัวเองได้ก็พอ ความสุข คือ กำไรที่มีค่ามากพออยู่แล้ว ที่นี่ใช้แนวคิดการทำธุรกิจเสมือนครอบครัวกับร้านข้างๆ พึ่งพาอาศัยกัน ให้น้องๆ ที่รู้จักมาใช้พื้นที่โซนครัวขายอาหารในร้าน ส่วนใครอยากดื่มกาแฟ ซื้อมานั่งดื่มได้จากร้านถัดไปที่รู้จักกัน เคล็ดลับอย่างหนึ่ง คือ ที่ร้านจะไม่ขายออนไลน์และไม่ลดราคาหนังสือ เพราะเชื่อว่าคุณค่าจริงๆ อยู่ที่เนื้อหามากกว่าภาพลักษณ์  คนขายไม่เคยลดราคา คนซื้อไม่เคยต่อรอง เพราะต่างให้คุณค่าของกันและกัน คนเขียน คนขาย จนถึงคนอ่าน หนังสือจึงยังขายได้ตลอด และร้านหนังสือจะยังคงอยู่กับพื้นที่กับผู้คนเสมอ”

     “นอกเหนือจากเวลาเปิดปกติของร้านแล้ว ยังเปิดให้ใช้พื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับหนังสือ ดนตรี ศิลปะ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มดูหนังอิสระ ที่ใช้พื้นที่ร่วมกันในการจัดฉายหนังอิสระเดือนละครั้ง ส่วนสำคัญ คือ อยากให้เป็นพื้นที่ส่วนรวมที่ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับผู้คนกับเมือง เป็นความภูมิใจเล็กๆ ที่ผู้คนพูดถึงร้านหนังสืออิสระหนึ่งเดียวในตรัรง เพราะเราเชื่อว่าร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เมืองมีชีวิต”

     ผมรู้สึกได้ถึงพลังอยากขับเคลื่อนให้เกิดสังคมการอ่านเชื่อมโยงไปยังพื้นที่สร้างสรรค์ของกลุ่มคนเล็กๆ ในจังหวัดตรัง แม้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามตามทฤษฎีการทำธุรกิจ แต่การดำรงอยู่ของร้านหนังสือกึ่งห้องสมุดร้านนี้ กำลังสร้าง Soft Power ให้นักเดินทางผ่านเมืองตรังต้องหันไปมองและลองเข้าไปเยี่ยมเยือนให้ได้สักครั้ง

Phan Ma Ba Trang

https://www.facebook.com/PhanMaBaTrang

กลุ่มดูหนังอิสระ ตรัง Backyard Trang Cinematic

https://www.facebook.com/BackyardTrangCinematic 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน