เจาะเทคนิค ดลชัย บุณยะรัตเวช พลิกมรดกกว่าร้อยปี “บ้านยาหอม” สู่ธุรกิจร่วมสมัย สูตรที่ SME นำไปใช้ได้

Text: สุภาวดี ใหม่สุวรรณ์

Photo : เจษฏา ยอดสุรางค์

Main Idea

  • บ้านไม้สักเก่าอายุกว่าร้อยปี แถมปิดร้างมานานกว่า 20 ปี ได้รับการพลิกฟื้นขึ้นมาใหม่ภายใต้ชื่อ “บ้านยาหอม” โดยฝีมือของ ดลชัย บุณยะรัตเวช ทายาทของตระกูลรุ่นที่ 5 

 

  • หากเปรียบเป็นสินค้า มรดกความเก่าแก่ไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์และขาย “ความโบราณ” เสมอไป แต่สามารถคลี่คลายทำให้ “ร่วมสมัย เป็นสากล” เชื่อมต่อเข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้คนยุคปัจจุบัน ตลาดก็จะกว้างขึ้น เพียงแค่เข้าใจรากแท้ของมรดกไทยและพลิกมุมที่จะมอง 

     ครั้งหนึ่งบ้านไม้สักอายุกว่าร้อยปีบนถนนตะนาว ย่านเกาะรัตนโกสินทร์ เคยเป็นสถานที่ปรุงยาและคลินิกรักษาคนไข้ รวมทั้งจุดกำเนิดของยาหอมสุคนธโอสถ (ตราม้า) ที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 9 ปัจจุบันยาหอมตราม้าเหลือเพียงชื่อ เพราะวัตถุดิบนั้นหายาก ทำแล้วคุณภาพไม่เท่าเดิมสู้ไม่ทำดีกว่า จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับทายาทรุ่นที่ 5 อย่าง ดลชัย บุณยะรัตเวช เพราะไม่ได้เรียนจบหมอมา แต่นักสร้างแบรนด์คนเก่งก็เลือกที่จะต่อยอดธุรกิจของตระกูลตามแนวทางที่เขาถนัด โดยพลิกฟื้นบ้านที่ปิดร้างไว้เฉยๆ ราว 20 ปีให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งภายใต้ชื่อ “บ้านยาหอม” 

     ลูกหลานของบ้านหมอยาห้าแผ่นดินคนนี้เป็นต้นแบบของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่รู้จักเชื่อมโยงมรดกอันดีงามในอดีตเข้ากับไลฟ์สไตล์ยุคปัจจุบัน ดลชัยมีหลักคิดในการต่อยอดธุรกิจและสร้างแบรนด์อย่างไรให้ปัง ร่วมสมัยและดูสากล เราถอดความสำเร็จแบบคำต่อคำมาให้อ่านกันแล้ว

     1. โฟกัสว่าธุรกิจเราคือใครกันแน่ 

     เอสเอ็มอีไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ แต่สมบูรณ์แบบในแบบคุณ ขอเพียงซื่อสัตย์ จริงใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ อย่างผมเติบโตมาในครอบครัวที่บรรพบุรุษฝ่ายชายเป็นหมอหมดเลย ตั้งแต่คุณปู่ทวดเป็นหมอยาขายสมุนไพรอยู่คลองโอ่งอ่างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 รวมทั้งคุณปู่ของผม ขุนทรงสุขภาพ เป็นหมอแพทย์แผนไทย เป็นแพทย์เสือป่ารุ่นแรก ท่านเกิดปีม้า เลยตั้งชื่อยาหอมตราม้า บรรพบุรุษฝ่ายหญิงเป็นลูกขุนน้ำเจ้าพระยามาจากคลองบางหลวง เก่งเรื่องวัฒนธรรมไทย อาหารไทย ขนมไทย ส่วนตัวผมเติบโตมากับยาของคุณปู่ ส่วนอาหารการกิน มรดกทางภาษา ได้จากคุณทวดฝ่ายหญิง ในฐานะที่เราเป็นจุดรวมมรดกทั้งสองสาย จึงได้นำมาสร้างแบรนด์ “บ้านยาหอม”

     ถามว่าบ้านยาหอมเป็นร้านอาหารใช่ไหม?…ไม่ใช่ เป็นร้านนวดก็ไม่ใช่ เป็นคาเฟ่ก็ไม่ใช่ แต่เป็นทุกอย่างที่รวมวัฒนธรรมดีๆ ของบรรพบุรุษเข้าด้วยกัน ผมวางตำแหน่งที่นี่ว่าเป็น “บ้านแห่งความรื่นรมย์เพื่อคนรักสุขภาพ” จะเห็นว่าผมผสมผสานภูมิปัญญาเกี่ยวกับเรื่องแพทย์เข้ากับความรื่นรมย์ คุณไม่จำเป็นต้องป่วยก็มาที่นี่ได้ เอาแล็บท็อปมาทำงานที่คาเฟ่ได้ทั้งวัน นี่เป็นที่มาของ What you stand for ถ้าเรามี Legacy หรือมรดกที่ชัดเจน หรือมีอะไรที่เป็นรากเหง้า เราเอามาต่อยอดได้ คุณอย่าไปเหมือนใคร ขอเพียงคุณเป็น “ตัวจริง” ว่าคุณเป็นใคร เก่งตรงไหน ดึงออกมาให้เป็นจุดเด่น เอามาพูดให้ชัด ทำออกมาเป็นลมหายใจของคุณ

     2. รู้ว่าใครคือกลุ่มเป้าหมาย 

     กลุ่มเป้าหมายของผมเป็นคนเมืองที่ทันสมัย ไม่โบราณ ผมจำแนกกลุ่มเป้าหมายตาม Mindset ไม่ใช่อายุ กล่าวคือกลุ่มที่ 1 เป็นคนที่อยากได้รางวัลชีวิตดีๆ นอกเหนือไปจากกาแฟที่กิน กลุ่มที่ 2 เป็นคนที่โหยหาความทรงจำดีๆ ในอดีต ซึ่งในความคิดของผมวินเทจมันเท่ได้และมีเสน่ห์บางอย่าง กลุ่มที่ 3 เป็นคนที่อยากจะนัดเพื่อนมาทำงาน มามีตติ้งระดมสมอง ที่นี่ก็สามารถประเทืองปัญญาได้ กลุ่มที่ 4 เป็นคนที่ต้องการการดูแลร่างกายและจิตใจ ทุกวันนี้พวกเราทำงานหนัก เครียด ปวดหัวไมเกรน ที่นี่มีตัวช่วยเยอะ ตั้งแต่อาหารไปจนถึงกลิ่นอโรมาเธอราพี

     กลุ่มนักท่องเที่ยวก็มีเยอะ ผมเองก็ต้องการจะเป็นตัวแทนของการสืบสานมรดกไทยดีๆ แต่ผมไม่ได้เจาะนักท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะพวกเขามาแล้วก็ไป ผมคิดว่าคนไทยนี่แหละจะเป็นแฟนคลับที่ยั่งยืน คนที่มาแล้วก็จะกลับมาอีก เพราะรู้สึกว่าที่นี่เต็มเต็มเขา ผมเห็นลูกค้ามีความสุข ก็จะมีความสุขไปด้วย

3. สร้าง Identity หรือตัวตน

     ทำไมเราตั้งชื่อบ้านยาหอมซานทิส (Zantiis) มันมาจากคำว่าสันติ (Santi) ซานทิสเป็นสินค้าออแกนิกอโรมาตัวแรกที่ผมทำ จะเห็นว่าโลโก้ที่ผมออกแบบจะมีความขาว-ดำ ความโคโลเนียล การตกแต่งหรือสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา ผมว่า Signal เหล่านี้สำคัญ…ต้องชัด บ้านยาหอมก็ตกแต่งไม่เหมือนใคร ดูมีมรดกวัฒนธรรม มีความเป็นนักเดินทาง มีศิลปะในการใช้ชีวิต เพราะผมเป็นคนอย่างนี้ ชอบความทันสมัย แต่ก็ชื่นชอบในมรดกวัฒนธรรมด้วย เราก็สะท้อนบุคลิกและตัวตนของเราออกมา การใช้สีก็เช่นกัน เราใช้สีเหลืองร่วมกับสีเทา สีเหลืองแสดงความรื่นรมย์ สีเทาคือนักปราชญ์ นักปราชญ์แห่งสมุนไพร ถ้าใช้สีเทาอย่างเดียวก็เครียดไป สีเหลืองอย่างเดียวก็ร่าเริไป ก็ต้องผสมกันทั้ง Old กับ New  

4. ชัดเจนใน Message/Story

     หลังจากโฟกัสว่าคุณจะเป็นใครแล้ว ทุกอย่างที่ออกแบบต้องมีความหมายและตรงกับ Message ที่เราอยากจะสื่อ ตัวผมออกแบบทุกอย่างเองจากจิตวิญญาณของเรา เอสเอ็มอีที่ไม่ใช่นักสร้างแบรนด์ ก็ต้องถ่ายทอดตัวตนออกมาให้ชัด อย่างเราพยายามบอกตลอดว่าบ้านยาหอมไม่ใช่ร้านอาหาร ไม่ใช่ร้านขายยา แต่เป็นความครบวงจรที่เกี่ยวกับความรื่นรมย์ เป็นบ้านแห่งความสุขเพื่อสุขภาพ Tone & Manner ที่ผมออกแบบและดูแลสื่อสาร โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ต้องมีความชัดเจน เมื่อลูกค้ามาเที่ยวบ้านยาหอม แต่ละคนก็จะมีมุมที่ชื่นชมคนละแบบ เช่น อาหาร บรรยากาศ การนวด ฯลฯ เขาก็จะเป็นคนช่วยโปรโมตให้เราผ่าน Instagram, Facebook ของเขาอีกที ซึ่งการที่ลูกค้าตัวจริงพูดย่อมดีกว่าเราพูดเอง โดยที่เราไม่ต้องลงทุนซื้อสื่ออะไร 

5. ร่วมมือกับคนที่เก่ง/ผู้เชี่ยวชาญ

     หากเรากำลังวางตัวเป็นหมอยาเพื่อสุขภาพ ทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ตัวผมจบสถาปัตย์ จบโฆษณา ไม่ได้จบมาทางหมอเลย ฉะนั้นผมจะต้องมีพาร์ทเนอร์เป็นคุณหมอที่จบทางด้านแพทย์แผนไทยมาคอยคิดค้นดูแลสูตรของผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำมันหอมระเหยกลิ่นต่างๆ ที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาให้ไม่เหมือนใคร เช่น นำมะกรูดมาบวกกับเจอราเนียม นำตะไคร้มาบวกกับลาเวนเดอร์ มันจะออกมาเป็นกลิ่นของเอเซียที่เป็นสากล เพราะกลุ่มเป้าหมายของผมกว้าง ไม่จำกัดใช่เฉพาะคนรุ่นเก่าหรือคนไทยเท่านั้น 

6. สินค้าต้องมีคุณภาพ

     ถ้าคุณจะเป็นหมอยาห้าแผ่นดินที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมเกี่ยวกับสุขภาพ สินค้าของคุณต้องดีจริง อย่างอาหารผมเอาสูตรตำรับคลองบางหลวงของคุณทวดจริงๆ มาคลี่คลาย ร่วมกับสูตรของคลองโอ่งอ่างที่เน้นสมุนไพรเยอะๆ เช่น ไข่พะโล้ใส่อบเชยเยอะมาก ได้กลิ่นรสสมุนไพรที่เข้มข้น เพราะอาหารเป็นยา คาเฟ่เราก็แตกต่างจากคนอื่น มีทั้งกาแฟที่ใส่น้ำมะขาม ชายาหอม ชามะนาวต้มยำที่หากินที่อื่นไม่ได้ ที่สำคัญคือเรื่องกลิ่น บ้านนี้ทุกอย่างต้องเป็นกลิ่นหอม และกลิ่นหอมต้องมี Function และ Story เช่น แบรนด์ที่ผมต่อยอดมาจากยาหอมสุคนธโอสถ (ตราม้า) คือ “สุคนธะ” (Sukonta) เป็นผลิตภัณฑ์อโรมาที่เป็น Calming Herbology ผมก็สร้างเรื่องราวว่าเป็นศาสตร์แห่งสมุนไพรเพื่อความสงบของชีวิต แต่ละกลิ่นสามารถผ่อนคลายความเครียดให้กับคนยุคใหม่ได้ 

7. เชื่อมโยง เชื่อมใจพนักงาน (Employee Alignment)

     พนักงานของบ้านยาหอมและโรงงานที่ทำสินค้าทุกคนจะต้องเชื่อมโยงด้วยค่านิยมเดียวกัน ผมจะอบรมตั้งแต่วันแรกว่าเราต้องเป็นนักปราชญ์แห่งเรื่องสมุนไพร เพื่อช่วยดูแลความสุขทางด้านจิตใจของคน ฉะนั้นคุณจะใช้เคมีหรือของที่เป็นพิษไม่ได้ ถึงต้นทุนจะแพงก็ต้องยอม อย่างที่นี่เราใช้ Essential Oil แท้จากธรรมชาติ เป็น plant-based, soy wax เราใช้ของดีจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน FDA ที่สำคัญพนักงานทุกคนจะต้องเล่าเรื่องของแบรนด์ได้ อย่างผู้จัดการของบ้านยาหอมเขาถอดร่างผมมาเลย ทุกคนจะอิน พูดอย่างสบตาคนได้ ผมเชื่อว่าเวลาเราพูดความจริง เราจะสบตาคนได้อย่างไม่ต้องหลบตา แล้วพูดกี่ครั้งก็จะเหมือนเดิมทุกครั้ง 

8.เรียนถูกเรียนผิด ล้มแล้วต้องลุกให้เร็ว

     ตั้งแต่เปิดบ้านยาหอมมาได้ 3 ปี เราได้เรียนรู้ทุกวันว่าลูกค้าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เอสเอ็มอีเป็นองค์กรเล็ก อันไหนไม่ใช่ เช่น อาหารเมนูนี้อยากทำ ทำแล้วขายไม่ได้ ก็เปลี่ยนเลย กลิ่นนี้โดยส่วนตัวเราไม่ชอบ แต่กลับขายดี ก็ต้องเอาไว้ อย่างตอนแรกร้านกาแฟผมเป็นเอาท์ดอร์ตั้งอยู่ในสวน สุดท้ายไม่เวิร์ก เพราะมันร้อน คนชงกาแฟก็เหงื่อแตกทั้งวัน ก็ติดแอร์เลย หรือก่อนนี้คนกินข้าวจะไปเคาน์เตอร์กาแฟก็ต้องเดินไปออกประตูหลัก แล้วอ้อมไปร้านกาแฟ ตอนหลังผมตัดใจเจาะหน้าต่างเป็นประตูเชื่อมทางเดินถึงกัน ก็ตอบโจทย์หลายอย่าง พนักงานเองก็ไม่ต้องเดินไกลด้วย เรียกว่าล้มแล้วต้องรีบลุก เปลี่ยนให้ทัน เรียกว่า Resilience

บ้านยาหอมกับทิศทางธุรกิจในอนาคต

     อนาคตผมมองว่าบ้านยาหอมเป็นโมเดลอันหนึ่งที่เราสามารถยกไปอยู่ในที่ต่างๆ ได้เหมือนกับแฟรนไชส์ แต่เราต้องสร้างให้คนรับรู้ว่าบ้านยาหอมไม่ใช่ร้านขายยา ถ้าเป็นโมเดลร้านขายยา ขายเครื่องหอม ผมวางไว้แล้วเป็น BYH & co. Apothecary ที่จริงทุกแบรนด์ที่ผมทำจะอยู่ที่บ้านยาหอมหมดเลย ทั้งสุคนธะ (Sukonta) ซานทิส (Zantiis) ณดล เนเชอรัล เป็นผลิตภัณฑ์สปา และ Bangkok Treasures ของฝาก เช่น ผ้าพันคอ กระเป๋า ที่ผมออกแบบเองโดยนำอัตลักษณ์หรือเสน่ห์ความเป็นไทยมาทำให้ดูทันสมัยขึ้น เวลาจะขยายก็อาจจะแยกหรือเอาไปทั้งยวงคือคำว่าบ้านยาหอม ในฐานะนักสร้างแบรนด์เราวาง Portfolio เอาไว้แล้ว แต่เราไม่ได้รีบร้อน ค่อยเป็นค่อยไป โอกาสมีเมื่อไร เราก็จะเปิดรับมัน สำคัญที่พาร์ทเนอร์ต้องมีวิสัยทัศน์เดียวกัน 

     ความประทับใจในการต่อยอดธุรกิจของผมคือ ผมได้เปิดหูเปิดตา เรียนรู้โลกปัจจุบันและวิถีชีวิตของผู้คนยุคนี้มากขึ้น บางทีเราคิดว่าเรารู้แล้ว แต่ความจริงอาจจะไม่ใช่ ที่สำคัญสอนให้ผมมอง “ภาพสูง” เป็น หมายความว่าเรากำลังทำร้านอาหาร ร้านกาแฟ อย่ามองคู่แข่งที่เป็นร้านอาหารหรือร้านกาแฟ แต่เราต้องมองภาพสูงว่าชีวิตคนไปถึงไหนแล้ว ตัวเลือกของเขาคืออะไร แล้วจะเชื่อมต่อกับเขาได้อย่างไร ผมเชื่อว่าเราต้องมีความคิดบวก ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ เราต้องมีความเป็นเด็กตลอดเวลา กล้าคิด กล้าทดลอง กล้าแตกต่าง ทั้งยังสอนให้เรากลับมาที่โจทย์ ทำธุรกิจนี้เพื่ออะไร… หนึ่งอยากสร้างแบรนด์ไทยให้มีความเป็นสากล เหมือนเป็นตัวแทนประเทศชาติ สอง อยากต่อยอดของดีของบรรพบุรุษที่เราได้รับมา สาม อยากให้ธุรกิจบ้านยาหอมยั่งยืน เผื่อว่าวันหนึ่งผมจากโลกนี้ไปแล้ว โมเดลนี้ก็ยังอยู่ สุดท้าย อยากเป็นโอเอซิสให้กับคนเมืองอย่างพวกเรา เป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 ที่เขาสามารถใช้ชีวิตได้ทั้งวัน เราต้องอย่าลืมโจทย์”

บ้านยาหอม 

https://www.facebook.com/BAANYAHOMZANTIIS

โทรศัพท์ 095 764 2768

 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น