สูตรสร้างมูลค่าเพิ่ม 15 เท่า KORKOK กระเป๋าจากเสื่อจันทบูร เปลี่ยนสินค้าหลักพัน เป็นหลายหมื่นบาท

TEXT : สุรางรัก

PHOTO : KORKOK

Main Idea

  • KORKOK (กอกก) คือ แบรนด์กระเป๋าจากเสื่อจันทบูร ที่นำไอเดียสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่เข้าไปต่อยอดสินค้าภูมิปัญญาของจ.จันทบุรี

 

  • จากผืนเสื่อราคา 1,500 บาท สามารถผลิตเป็นกระเป๋าได้ 2-3 ใบ ขายใบละ 7,500 บาท รวมมูลค่าแล้วกว่าสองหมื่นบาท ชุมชนเองก็มีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย

 

     ประเทศไทยเรามีสินค้าจากภูมิปัญญามากมายที่ควรค่ารักษาไว้ แต่ปัญหาหนึ่งของสินค้าจากชุมชนเหล่านั้น ก็คือ ขายได้ราคาต่ำ ไม่สมกับคุณค่าของงานที่ทำ แต่หากถูกนำมาต่อยอดอย่างถูกวิธีด้วยการรู้คุณค่า เสริมด้วยไอเดียคนรุ่นใหม่เข้าไป จากสินค้าพื้นบ้านที่เห็นกันจนชินตา ก็อาจสร้างมูลค่าขึ้นมาได้เป็นหลายสิบเท่า ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

     เหมือนเช่น อิสระ ชูภักดี เจ้าของแบรนด์ KORKOK (กอกก) ที่นำคุณค่าจากงานหัตถกรรมเสื่อจันทบูรมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการผลิตเป็นกระเป๋าแฟชั่นที่ไม่เหมือนใคร จากเสื่อผืนละพันกว่าบาท แปลงร่างเป็นกระเป๋าใบละเกือบหมื่น เขาทำได้ยังไงไปดูสูตรลับที่ว่ากัน

เข้าไปเรียนรู้ ให้รู้จริง

     “อย่างแรกเราต้องเอาตัวเองเข้าไปเรียนรู้จริงให้รู้จักลึกซึ้งก่อน ดังนั้นปีแรกเราก็เข้าไปคลุกคลีกับชาวบ้านก่อนเลย ตอนนั้นยังไม่ได้มีภาพในหัวเลยว่าจะทำอะไร มีแค่ความตั้งใจว่าอยากทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าคนรุ่นใหม่ก็สามารถทำอาชีพอยู่ในชุมชนเลี้ยงตัวเองได้ พอเข้าไปรู้จักเราก็เริ่มมองเห็นวงจรการทำงานของชาวบ้านว่าเขาแค่ทอออกมาเป็นผืนให้เสร็จ จากนั้นก็นำมาแปรรูปเป็นเสื่อ ที่รองจาน รองแก้วบ้าง และก็วางขายหน้าศูนย์ รอนักท่องเที่ยวมาซื้อ เลยมีความรู้สึกอยากปรับ Material หรือออกแบบให้ทันสมัยขึ้น

     “เราอยากเปลี่ยนความคิดของคนว่าเสื่อไม่ได้ล้าสมัยนะ เพื่อขยายตลาดออกไปให้กว้างขึ้น โดยเริ่มจากพัฒนาตัววัตถุดิบก่อนให้ตอบโจทย์ตลาด ให้ชาวบ้านลองจับคู่สีใหม่ๆ ทอลวดลายใหม่ๆ ชาวบ้านได้พัฒนาตัวเองและปรับตัวด้วย จากนั้นก็ทดลองนำมาออกแบบ ซึ่งตัวเราเองก็ไม่ได้จบดีไซน์เนอร์มาโดยตรง แต่มีความชอบ ก็พยายามทดลองดูว่าจะปรับภาพลักษณ์ใหม่ออกมายังไงได้บ้าง จะต้องใช้วัสดุอะไรมาผสม เช่น ผ้า หรือหนัง ก็ต้องทดลองทำออกมาก่อน ในส่วนของการเข้าหาชุมชนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่อยู่ดีๆ เราจะเข้าไปหาเขาได้เลย แรกๆ บางบ้านปิดประตูใส่เราเลย เขาว่าทำแบบเดิมก็ขายได้อยู่แล้ว ก็ต้องใช้เวลา อาศัยความจริงใจ อ่อนน้อมถ่อมตน และสม่ำเสมอ”

นำคุณค่า ด้วย Story

     “อีกสิ่งที่เราทำตั้งแต่เริ่มแรก คือ พยายามสื่อสารเล่าถึงสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ อยากให้ทุกคนได้มีความรู้สึกร่วมไปด้วย อย่างน้อยก็ได้ทำให้คนอื่นได้เห็นด้วยว่ากว่าจะมาเป็นเสื่อหนึ่งผืนได้ต้องผ่านความยากลำบากยังไงบ้าง ซึ่งในทุกๆ กระบวนการผลิต ไม่ใช่แค่คนคนเดียวทำ แต่ต้องมีการกระจายงาน แบ่งงานกันว่าบ้านนี้ทำขั้นตอนนี้ บ้านนั้นทำขั้นตอนนั้น อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าขั้นตอนมันยุ่งยาก แต่ค่าแรงที่ได้น้อยเกินไป พอมาถึงตัวกระเป๋า เราก็สื่อสารให้คนเข้าใจว่า ทำไมถึงทำออกมาทรงนี้ แต่ละรุ่นได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร เราไม่ได้แค่เอาเสื่อมาแปรรูปเป็นกระเป๋าแล้วขาย เราไม่ได้ขายแค่เสื่อ แต่ขายทุกอย่างที่เป็นกลิ่นอายของจันทบุรีด้วย นี่ถือว่าจบงานของเราชิ้นหนึ่งแล้ว ถามว่าทำไมต้องเริ่มจากกระเป๋าก่อน เพราะเราคิดว่าเป็นสิ่งที่คนน่าจะใช้งานบ่อย และติดตัวมากที่สุด ทำให้ช่วยสื่อสารให้เราได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเรามองว่าการอนุรักษ์ที่ดีที่สุด คือ การที่เรานำกลับมาใช้ได้อย่างมีคุณค่า”

 

จงนำแฟชั่น อย่าตามแฟชั่น

     “สำหรับการตลาด เราคิดว่าต้องมีจุดขายชัดเจนถึงจะอยู่ในตลาดได้ ด้วยความที่ไม่ได้เรียนดีไซน์เนอร์มา ถ้าอิงกับกระแฟชั่น เราก็ไม่แตกต่าง ดังนั้นเราต้องไม่ยึดตามกระแส แต่ต้องเป็นผู้นำแฟชั่น เพราะจะทำให้เราไม่ต้องมีกรอบว่าต้องเอาอะไรมาอิง เช่น ปีนี้เทรนด์สีนั้นมาแรงนะ เราต้องทำสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนให้คนเห็น ซึ่งพอทำได้ก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในตัวเอง อย่างเสื่อผืนหนึ่งปกติชาวบ้านขายได้ผืนละ 1,000-1,500 ขนาด 90x200 ซม. เอามาทำกระเป๋าได้ 3 ใบ ถ้าใบใหญ่เราขายใบละ 7,500 บาท 3 ใบก็สองหมื่นกว่าบาท ขายได้เพิ่มสิบกว่าเท่าเลย ชาวบ้านก็ได้รายได้เพิ่มขึ้นจากพันห้า เราก็ให้เขาเพิ่มเป็นผืนละสองพัน แลกกับที่เขาต้องมาใส่ใจรายละเอียดงานเพิ่มขึ้นให้กับเรา และด้วยความที่เราทำได้น้อย ต้องใช้เวลาทำนาน กรณีที่ไม่ได้ฝากวางหน้าร้านที่ไหน เราจะขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก หากลูกค้าสนใจก็ให้สั่งล่วงหน้า 1 เดือน เพราะเราต้องใช้เวลาให้ชาวบ้านทอเสื่อขึ้นมาใหม่ 2 อาทิตย์ เอาไปเย็บเป็นกระเป๋าอีก 2 อาทิตย์ ซึ่งลูกค้าค่อนข้างแฮปปี้ เพราะเขาสามารถแจ้งได้ว่าอยากได้โทนสีประมาณไหน เลยออกมาเหมือนงานพรีเมียมที่ผลิตขึ้นมาใหม่ให้ลูกค้าเฉพาะแต่ละคนไปเลย”

พัฒนาอย่างเข้าใจ

     “จริงๆ ก่อนหน้าที่จะเจอโควิด เราก็ใช้วิธีผลิตออกมาเผื่อไว้หลายใบก่อน 10-20 ใบ เพราะช่างช่วงแรกจะเป็นลักษณะต้องเอาจำนวน มีขั้นต่ำด้วย แต่พอเจอโควิดหลายรอบ ทำให้เรากลับมาทำความเข้าใจว่า จริงๆ แล้วเราไม่ควรทำอะไรเกินตัว และพอมาดูงานที่ทำจริงๆ ก็เป็นงานฝีมือ ใช้มือทำ ต้องใช้เวลา ไม่ว่าชาวบ้านทอเสื่อ หรือช่างตัดเย็บเองก็ตาม ดังนั้นเราเลยเปลี่ยนจากทำเผื่อเอาไว้เยอะๆ มาเป็นผลิตแค่รุ่นละ 4-5 ใบก่อน พอหมดแล้วก็ค่อยให้ลูกค้าสั่งทำขึ้นมาใหม่ พอคิดได้แบบนี้ก็เลยลงตัว มีความสุขด้วยกันทุกฝ่าย เราก็ไม่ต้องทำสต็อกเยอะ ช่างก็ไม่เครียด เพราะเขาก็ทำกันในครอบครัว ไม่ได้มีคนเยอะ ชาวบ้านเองก็ไม่เครียด รูปแบบเดิมที่เคยทำขาย เขาก็ยังทำได้ และมีของเราเป็นรายได้เพิ่มขึ้นมา นอกจากนี้เขายังภูมิใจกับตัวเองด้วยว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ ได้ผลิตกระเป๋าสวยๆ ออกมาให้คนอื่นได้ใช้กัน”

ไม่ลืมถิ่น

     “กอกก เจิดจรัส แต่ไม่ลืมถิ่น" นี่คือ จุดยืนของเรา เรามองว่าเราไม่สามารถเป็นต้นเดียวที่เติบโตขึ้นได้ แต่ต้องอยู่รวมกันเป็นกอ โดยเกิดจากรวบรวมคนทำงานส่วนต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน จุดประสงค์เรา คือ ปลูกกกให้ได้เกิดทั้งคนปลูก คนทอ คนทำ ทุกคนจะเกิดไปพร้อมกับเรา เราเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ทั้งทางธุรกิจและการพัฒนาชุมชน ตอนนี้เรามีชาวบ้านที่ทำงานด้วยประมาณ 10 คน 4 หลังคาเรือน แม้จะเป็นส่วนเล็กๆ แต่เชื่อว่าก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นบ้าง อย่างน้อยๆ ชุมชนก็ได้เห็นแนวทางการพัฒนาที่เป็นไปได้มากกว่าที่เขาทำกันมา ชาวบ้านรู้สึกภูมิใจในตัวเอง ได้เห็นคุณค่าในงานที่เขาทำ ซึ่งต่อไปอนาคตอาจไม่ใช่แค่กระเป๋า แต่เป็นอะไรก็ได้ที่เอาเสื่อจันทบูรไปใช้เป็นวัตถุดิบ เพื่อสร้างงานให้เกิดขึ้นมาได้”

Story of Brand

     “จุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามาสร้างแบรนด์กระเป๋าจากเสื่อจันทบูร เริ่มมาจากเพื่อนคนหนึ่ง เขามีพ่อแม่ที่ทำอาชีพทอเสื่ออยู่แล้ว ก็คุยให้ฟังว่าแม่ของเขาทอลายพิเศษแบบนี้ๆ ได้นะ วันหนึ่งถ้าหมดแม่เขาไปแล้วคงไม่มีใครทอได้แล้ว มาวันหนึ่งเราได้เห็นแม่เพื่อนกลับมาจากโรงพยาบาล คำพูดของเพื่อนในวันนั้นกลับดังก้องขึ้นมาอีกครั้ง  เป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากอนุรักษ์และสานต่อภูมิปัญญานี้ไว้ จึงเกิดเป็นที่มาของแบรนด์ "กอกก" โดยผลิตขึ้นมาจากกกสองน้ำที่ขึ้นอยู่ริมชายฝั่ง ทำให้ได้เส้นใยที่เหนียว แข็งแรงกว่ากกน้ำจืด ไม่ขึ้นราง่าย จึงได้รับความนิยมจากลูกค้าค่อนข้างมาก”

KORKOK

https://www.facebook.com/KORKOKCHAN

โทร. 085 199 2488

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย