คิดให้ต่างสร้างธุรกิจให้เกิด แบบ Khao-Sō-I ร้านข้าวซอยสไตล์ญี่ปุ่นที่คนยอมต่อคิวซื้อ

TEXT : จีราวัฒน์ คงแก้ว

Photo: Khao-Sō-I

Main Idea

  • “ข้าวโซอิ”  (Khao-Sō-i) ร้านข้าวซอยเชียงใหม่สไตล์ญี่ปุ่นที่คนยอมต่อคิวซื้อ จากร้านเล็กๆ ใช้เวลาเพียง 2 ปี ขยายอาณาจักรใหญ่โต จนกำลังจะบุกเข้าสู่เมืองหลวงในเร็วๆ นี้

   

     ชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีทางลัด แค่มีความฝันและคิดนอกกรอบ...อาจไม่ใช่คำตอบ สำหรับ “วิน ศรีนวกุล” ผู้ให้กำเนิด “ข้าวโซอิ”  (Khao-Sō-i) ร้านข้าวซอยเชียงใหม่สไตล์ญี่ปุ่นที่คนยอมต่อคิวซื้อ โดยใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี ขยับจากร้านเล็กๆ มาเป็นอาณาจักรข้าวโซอิวิลเลจ พร้อมสยายปีกสู่เมืองหลวงเป็นที่เรียบร้อย เขาเชื่อว่า ความสำเร็จไม่ได้เกิดจากแค่ความฝัน แต่ต้องหมั่นลงมือทำ และเรียนรู้อยู่เสมอ

             

              ก่อนจะมาเป็นข้าวซอยหลักร้อยที่คนยอมต่อคิวซื้อ

     “ผมอยากทำข้าวซอยให้มีคุณค่า และยกระดับมันขึ้นมาให้มากที่สุด อยากทำให้ข้าวซอยกลายเป็นที่รู้จักในระดับโลกเช่นเดียวกับราเมงของญี่ปุ่น”

     นี่คือ จุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจที่ทำให้ “วิน ศรีนวกุล” ผู้ก่อตั้ง “ข้าวโซอิ”  (Khao-Sō-i) ลุกมาปฏิวัติร้านข้าวซอยในเมืองเชียงใหม่ให้กลายเป็นร้านสไตล์ญี่ปุ่น ที่แตกต่างและโดดเด่นทั้งรสชาติ บรรยากาศ และการบริการ ดึงดูดผู้คนทั่วสารทิศให้อยากแวะเวียนไปลองลิ้ม  

     วิน ไม่ได้มีแค่ความคิดที่มุ่งมั่น แต่เขายังมี “ทักษะ” (Skill) ซึ่งเรียนรู้จากการทำงานที่หลากหลาย มีความตั้งใจ จริงจัง ไม่เกี่ยงงาน เลยสั่งสมเป็นองค์ความรู้ติดตัวมาตั้งแต่เล็ก เช่น เป็นซูชิเชฟในวัยเพียง 17 ปี เมื่อครั้งครอบครัวส่งไปใช้ชีวิตตัวคนเดียวที่อเมริกา กระทั่งงานเด็กเสิร์ฟ ขับรถเดลิเวอรี่ให้กับร้านอาหารไทย ก็ทำมาหมดแล้ว

     หลังเรียนจบทางด้านการเงินจาก สหรัฐอเมริกา เขากลับมาเมืองไทย ได้ช่วยธุรกิจครอบครัวที่ทำโรงแรมเล็กๆ ในเชียงใหม่อยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนตัดสินใจเข้าเมืองกรุงไปหาเส้นทางของตัวเอง โดยทำงานอยู่บริษัทด้านโลจิสติกส์ประมาณ 6 ปี

     หลังถูกท้าทายจากผู้เป็นพ่อ และชี้ทางให้เห็นว่าการทำธุรกิจสนุกกว่าชีวิตมนุษย์เงินเดือนแค่ไหน เขาเลยตัดสินใจเดินตามความฝันของตัวเองอีกครั้ง โดยลองมาแล้วหลายธุรกิจ จนถึงเอเยนซีทัวร์และอสังหาริมทรัพย์ ก่อนถูกชักชวนจากภรรยา ผู้ชอบทำอาหารและครอบครัวเคยเปิดร้านข้าวซอยในเชียงใหม่มาก่อน ให้มาทำร้านอาหารด้วยกัน  

     “เขาเป็นคนแรกที่ทำข้าวซอยให้ผมกิน ผมชิมไปก็อร่อยดีนะ แต่ไม่แตกต่าง มันเหมือนๆ กับร้านอื่น จึงต้องมาช่วยกันคิดว่า แล้วจะทำอย่างไรให้มันไม่เหมือน”

สร้างรสชาติคนรุ่นใหม่ แตกต่างทั้งบริการและบรรยากาศ

     ในวันที่คิดจะเปิดร้านข้าวซอย เขาเริ่มลงสำรวจตลาด จนพบว่าในเชียงใหม่ ไม่มีร้านข้าวซอยไหนเลยที่เป็นไซส์มาตรฐาน ไม่มีการต่อคิวซื้อ ไม่มีการแย่งกันกิน ขณะที่เด็กเชียงใหม่เองก็ไม่ค่อยนิยมกินข้าวซอยสักเท่าไร ต่างกับอาหารญี่ปุ่น ไม่ว่าจะร้านข้าวแกงกะหรี่ ร้านซูชิ หรือราเมง กลับมีคนรอต่อคิวซื้อ

     “ผมเริ่มจากไปนั่งกินมันทุกร้านที่คนต่อคิว จนเข้าใจว่า นี่แหละรสชาติของคนรุ่นใหม่ ที่ทำให้เขายอมต่อคิวและยังกลับมากินซ้ำอีก ผมเลยมาปรับปรุงสูตรน้ำข้าวซอยของเรา และทำเป็นเส้นสดแบบราเมง จนได้รสชาติที่ยืนหนึ่ง ลองเอาไปให้เชฟชิม ทุกคนต่างบอก เรื่องใหญ่แล้ว ผมเลยเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะขายข้าวซอยโดยทำให้มันดี ทั้งเส้นสด ทั้งการตกแต่งร้าน และการบริการ แล้วขายไปเลย 150 บาท ตอนนั้นแฟนผมกรี๊ดเลย เพราะเขาอยากขายแค่ 60-80 บาท  ผมจึงมาคิดว่าแล้วทำไมญี่ปุ่นถึงขายแพงได้ล่ะ ลองนึกถึงเมืองเล็กๆ อย่าง เกียวโต โอซาก้า คุณลุงคนหนึ่งอายุ 60 กว่าๆ วันหนึ่งทำหมูชาชูเพียงแค่ 3 กิโล ฉันจะขายแค่นี้ แต่หมู 3 กิโลของฉัน ต้องออกมาเพอร์เฟ็กต์ทุกวัน นี่คือคุณค่าที่เชฟคนนี้ใส่เข้าไป และทำให้คนยอมต่อคิวกินกัน แล้วเขาจะขายชามเท่าไหร่ก็ได้ แต่ขายหมดทุกวัน นี่แหล่ะต้นแบบของผม”

     นั่นคือ จุดเริ่มต้นที่ร้านข้าวซอยสไตล์ญี่ปุ่นถือกำเนิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่ โดยมีความเป็นญี่ปุ่นขนานแท้ ตั้งแต่หน้าตาอาหาร บรรยากาศร้าน เฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง สวนสไตล์เซ็น กระทั่งภาชนะเซรามิกใบแรก เขาก็ลงมือออกแบบและปั้นเองด้วยซ้ำ แม้แต่ชื่อร้านก็ยังมาจากการออกเสียงของคนญี่ปุ่น ที่อ่านคำ “Khao-Soi” ว่า “ข้าว-โซ-อิ” นั่นเอง

สร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบ “เนี้ยบ”

     หนึ่งในจุดเด่นของข้าวโซอิ คือ “การบริการ” แม้จะเป็นร้านสไตล์ญี่ปุ่น แต่ระบบการให้บริการของที่นี่ จะใช้มาตรฐานยูเอสเอ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เขาเรียนรู้มาตอนอยู่อเมริกานั่นเอง

     “ผมมองว่าระบบบริการของที่นั่นเขาดีมาก มันทำให้ลูกค้ารู้สึกได้ว่า ได้รับการดูแล ใส่ใจ หากยังเสิร์ฟไม่เต็มก็มีคนเข้าไปแนะนำเมนูตลอด ข้อดีของคนไทยคือเรามีเซอร์วิสมายด์ มีความนอบน้อมอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งนี้เราจะยังคงไว้ แต่เติมความกระฉับกระเฉง ความฉะฉาน และความมั่นใจเข้าไปด้วย อย่างถ้าช่วงไหนลูกค้าน้อย ผมจะใช้วิธีเอาพนักงานออก ไม่ปล่อยให้ไปยืนออกัน เพราะเวลาคนเราอยู่นิ่งๆ มันจะเหม่อ และเสียบุคลิก นี่เป็นดีเทลเล็กๆ ที่เราทำ”

     ข้าวโซอิเป็นร้านที่รับพนักงานโดยระบบการสอบ มีทั้งสอบปฏิบัติและข้อเขียน และยังมีการอบรมก่อนเข้าทำงาน ตลอดจนการเทรนนิ่งพนักงานอย่างสม่ำเสมอ โดยตีมของการทำงานจะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา แต่ถ้าถามถึง ณ ตอนนี้ เขาบอกว่า คนของโซอิ มีวัฒนธรรมการทำงานแบบ “เนี้ยบ”

     “คำว่าเนี้ยบนี้หมายถึง ทุกคนเนี้ยบในหน้าที่ของตัวเอง สมมุติคุณถูกให้โฟกัสกับงาน 3 อย่าง ทั้ง 3 อย่างนี้ของคุณจะต้องเนี้ยบ ถ้ายังไม่เนี้ยบก็จะทำให้เนี้ยบที่สุด โดยจะไม่ยอมให้งานที่คุณรับผิดชอบไม่เนี้ยบโดยเด็ดขาด ถามว่าการสร้างคนแบบนี้ช่วยอะไรกับธุรกิจ ผมว่ามันเป็นผลทางอ้อมมากกว่า คือลูกค้าเข้ามาแล้วได้รับบริการที่ดีเขาก็มีความสุข เมื่อมีความสุขก็อยากจะโพสต์ชื่นชมพนักงาน และอยากกลับมากินอีก ซึ่งส่งผลต่อยอดขายของเราไปด้วย”

เติบโตสู่อาณาจักร “ข้าวโซอิวิลเลจ” สยายปีกสู่เมืองหลวง

     ใครมีโอกาสแวะเวียนไปร้านข้าวโซอิในยุคเริ่มต้น ยังจดจำถึงภาพร้านอาหารเล็กๆ มีเพียงไม่กี่ที่นั่ง ผู้คนต่อคิวอยู่หน้าร้านมากกว่าคนนั่งทานในร้านด้วยซ้ำ กลับไปวันนี้ทุกอย่างอาจไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เมื่อพวกเขาตัดสินใจลงทุนซื้อที่ดินขนาด 168 ตารางวา ขยายจากร้านเล็กๆ ให้มีที่นั่งเพิ่มขึ้น และเพิ่มในส่วนของ “บ้านฮารุ” (HARU HOUSE) ซึ่งมาจากชื่อ “หฤทัย” ของภรรยา สามารถรองรับลูกค้าได้ถึง 90 ที่นั่ง เมื่อรวมกับร้านข้าวโซอิที่ต่อเติมใหม่ ก็คาดว่าจะรองรับลูกค้าได้ถึงประมาณ 130-140 คน ต่อรอบ

     สิ่งที่พวกเขากำลังสร้าง ไม่ใช่แค่การขยายพื้นที่ร้านอาหารเท่านั้น แต่คือการสร้างอาณาจักรที่ชื่อ “ข้าวโซอิวิลเลจ” (Khao-Sō-i Village) ซึ่งเป็นแฟลกชิปสโตร์ของข้าวโซอิ โดยปัจจุบันกำลังก่อสร้างเฟสที่ 3 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จที่นี่จะกลายเป็นหมุดหมายใหม่ของนักท่องเที่ยว ที่มีทั้งร้านอาหาร ขนมหวาน ร้านขายของที่ระลึก รวมถึงตึกสำนักงานของพวกเขาเองด้วย

     ขณะที่เร็วๆ นี้ ข้าวโซอิก็จะเปิดสาขาแรกนอกเชียงใหม่ ที่ซอยคอนแวนต์ ถนนสีลม ส่วนในอนาคตเมื่อมีความพร้อมก็จะขยายไปต่างประเทศด้วย

     “ความหวังสูงสุดคือ อยากขยายธุรกิจของเราไปในต่างประเทศ ผมอยากนำพาข้าวซอยไทยไปเวทีโลก ณ วันนั้นเราอาจจะไปด้วยตัวเอง หรือบางประเทศอาจจำเป็นต้องมีพาร์ทเนอร์ ซึ่งเราคงต้องเลือกพาร์ทเนอร์ที่มีประสบการณ์ ในการนำร้านอาหารต่างชาติเข้าไปเปิดในพื้นที่ของตัวเองด้วย การเติบโตของเรา ผมจะเปิดทุกออปชั่น โดยเป้าหมายของผมยังเหมือนเดิม แต่วิธีการอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอด” เขาบอก

ความสำเร็จไม่มีสูตร ไม่มีทางลัด อยากได้ต้องทำเอง

     เมื่อให้มองถึง คีย์ซัคเซส ของชายที่ชื่อ “วิน ศรีนวกุล” เขาบอกว่า สิ่งที่ทำให้เป็นเขาอย่างทุกวันนี้ได้ คือการโฟกัส และความตั้งใจในการทำงาน

     “ผมไม่ได้เก่งด้านใดด้านหนึ่ง แต่เป็นเหมือนเป็ด คือพอทำได้ทุกอย่าง ซึ่งทั้งหมดล้วนเกิดจากความตั้งใจ ความขยันและตั้งใจในทุกๆ งานที่ทำ พอตั้งใจและโฟกัสกับมันมากๆ เลยทำให้ผมมีสกิลติดตัวที่หลากหลายมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างผมเป็นเชฟ พอจ้างเชฟมาทำงาน เขาก็เชื่อถือในตัวผมเพราะลงมือทำให้เขาเห็น พอผมไปสร้างระบบบริการให้กับพนักงานเสิร์ฟที่เขาไม่เคยเจอมาก่อน และจะต้องเหนื่อยขึ้น แต่การที่ผมลงไปทำให้เขาดู ได้เห็นลูกค้าโพสต์ชื่นชม เขาก็เกิดความประทับใจและภูมิใจในอาชีพของตัวเอง ตอนนี้ผมมาทำแบ็คออฟฟิศ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายจัดซื้อ บัญชี หรือบริหาร เขาก็ให้ความเชื่อถือ เพราะเราทำให้เขาดู ทุกๆ สกิล ที่เกิดขึ้นในชีวิตผม ล้วนเกิดจากความตั้งใจและขยัน ซึ่งผมเชื่อว่า ทุกๆ ความตั้งใจและความขยันอาจไม่ได้การันตีความสำเร็จ แต่ทุกๆ ความสำเร็จ มักเกิดจากความตั้งใจและความขยันเสมอ” เขาบอกความเชื่อ

     เมื่อให้ฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ ในฐานะผู้ประกอบการรุ่นพี่ ที่ทำงานมาตั้งแต่เด็ก เป็นเจ้าของกิจการตั้งแต่วัยเพียง 20 ต้นๆ และประสบความสำเร็จได้ ในวัย 35 ปีในวันนี้ เขาบอกแค่ว่า

     “ผมไม่อยากให้แค่ฝันอย่างเดียว แต่ต้องหมั่นลงมือทำ และเรียนรู้อยู่เสมอ คนรุ่นใหม่อาจจะคิดว่าสิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จคือ มีความฝัน มองหาทางลัด ทำตามกระแส และคิดนอกกรอบ แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ 1. อย่าฝันอย่างเดียว 2. อย่ามองหาแต่ทางลัด แต่ต้องหมั่นเติมคุณค่าให้ตัวเองด้วย 3. อย่าเอาแต่ทำตามกระแส แต่ต้องรอบคอบ เพื่อสร้างความยั่งยืน และสุดท้ายสำคัญมาก 4. อย่าเอาแต่คิดนอกกรอบ แต่ควรมองหาความเป็นไปได้ด้วย” เขาย้ำในตอนท้าย

ข้าวโซอิ  (Khao-Sō-i)

ที่ตั้ง : ถนนเจริญราษฏร์ ตำบลฟ้าฮ่าม จังหวัดเชียงใหม่

FB : Khao-Sō-i ข้าวโซอิ

IG : khao.so.i

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ

SME อยากโตรับเทรนด์ ESG แม่ทัพกรุงศรีเอสเอ็มอี แนะ ลด-เพิ่ม-สร้าง โอกาสพลิกธุรกิจโตยั่งยืน

“ESG” คือตัวย่อของคำว่า Environment (สิ่งแวดล้อม)  Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ไม่เพียงองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ทว่าแม้แต่เอสเอ็มอี ก็สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

สูตรปั้นนวัตกรรมให้ยอดขายโต 8 เท่าในปีแรก จากแบรนด์น้ำมันนวด Suwan Spray

ถ้าอุปสรรคเปรียบเสมือนบันไดไปสู่ความสำเร็จ การทำนวัตกรรมก็เปรียบเสมือนบันไดอีกขั้นของ "ณฐมน ปิยะพงษ์-ยุ้ย" เจ้าของผลิตภัณฑ์ "Suwan Spray" แบรนด์น้ำมันนวดที่นำสูตรบรรพบุรุษกว่า 100 ปีมาต่อยอดด้วยการใช้นวัตกรรมสกัดสารแก้ปวดจากเบต้าไพนีนในมะกรูด จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศนักธุรกิจนวัตกรรมมาครองได้