ถอดความคิด “ลี” - อายุ จือปา จากชายหนุ่มที่กินกาแฟไม่เป็น สู่ผู้ทำให้กาแฟไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

Main Idea

  • “AKHA AMA Coffeeคือ อีกหนึ่งแบรนด์กาแฟคุณภาพ ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องราวธุรกิจ แต่ยังเชื่อมโยงกับเรื่องราวชีวิตของผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนที่ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน

 

  • ชวนมาถอดความคิดของ “ลี” - อายุ จือปา” ชายหนุ่มชาวอาข่า หนึ่งในผู้ทำให้กาแฟไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกกัน

            

     หากเอ่ยชื่อ “ลี” - อายุ จือปา เชื่อว่าในแวดวงคนกาแฟ ทั้งคนปลูก โรงคั่ว บาริสต้า ไปจนถึงคอกาแฟต้องรู้จักเขาอย่างแน่นอน เพราะเส้นทางของ “AKHA AMA Coffee” (อาข่า อ่ามา) ไม่ใช่แค่ร้านกาแฟฮิปๆ บรรยากาศดี ถ่ายรูปสวย แต่ทุกองค์ประกอบที่เกิดขึ้นล้วนมีที่มาที่ไป เริ่มตั้งแต่เมล็ดกาแฟที่ใช้เสิร์ฟ ย้อนไปจนถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูก แหล่งชุมชนที่อยู่อาศัย ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างล้วนถูกหล่อหลอมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ คือ ตัวอย่างการทำธุรกิจที่น่าเอาเป็นแบบอย่าง ในกาแฟ 1 แก้วมีเรื่องราวดีๆ ซ่อนอยู่มากมาย ลองมาฟังวิธีคิดจากผู้ชายคนนี้กัน

Q : อยากให้พูดถึงองค์ประกอบการทำธุรกิจทุกวันนี้ เราต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

     ต้องเกริ่นให้ฟังก่อนว่า ผมเกิดและเติบโตขึ้นมาในครอบครัวชาติพันธุ์ อาข่า ที่จังหวัดเชียงราย เราอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ มีอาชีพปลูกกาแฟเป็นหลัก สมัยก่อนตอนเป็นเด็ก สิ่งที่ผมเรียนรู้ได้มากที่สุดจากพ่อกับแม่ คือ การใช้ชีวิตอยู่ในป่า ปีนต้นไม้ แต่วันหนึ่งที่ต้องย้ายเข้ามาบวชเรียนต่อในเมืองที่จังหวัดลำพูน เพราะพ่อกับแม่บอกว่าการศึกษา คือ สิ่งสำคัญ ถ้ามีโอกาสให้คว้าไว้ ในวันนั้นผมถึงได้รู้ว่าจริงๆ แล้วมีโลกที่กว้างกว่าที่ผมเคยรู้จักอยู่อีกมาก สิ่งสำคัญ คือ เราต้องรู้จักปรับตัว เปรียบเหมือนการทำธุรกิจทุกวันนี้เช่นกัน หากลองมองออกไปให้ดีๆ แวดล้อมตัวเรามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ทุกอย่างล้วนส่งผลมาสู่ตัวเรา การทำธุรกิจทุกวันนี้จึงต้องรู้จักปรับตัว

     ยกตัวอย่างในช่วงก่อนเริ่มต้นธุรกิจไม่กี่เดือน ปลายปี 2008 ตอนนั้นบ้านเราเกิดวิกฤตทางการเมือง มีการประท้วงปิดสนามบิน ทำให้ผมเริ่มเห็นว่ามันไม่ได้ส่งผลแค่ในเมืองหรือธุรกิจใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ในชุมชนเล็กๆ อย่างเรา ก็ได้รับผลกระทบเรื่องเศรษฐกิจไปด้วย หรือล่าสุดเมื่อไม่กี่ปีก่อน เราเพิ่งเจอปัญหาผลกาแฟแห้งตายคาต้น เชื้อราเข้าไปกิน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนอยู่รอบตัวเรา และส่งผลมาถึงเราทั้งนั้น

Q : แล้วเราควรเริ่มต้นจากอะไรก่อน

     มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งจากหนังสือชื่อ “โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล” แต่งโดย ริชาร์ด บาค แปลเป็นไทยความหมายประมาณว่า การจะลงมือทำอะไรก็ตาม หากมองด้วยความเข้าใจ คุณจะรู้เองว่าต้องไปต่อยังไง อย่างผมมาทำธุรกิจกาแฟ แต่ช่วงแรกผมยังกินกาแฟไม่เป็นด้วยซ้ำ เพียงแต่เรารู้ว่าชุมชนของเรามีการปลูกกาแฟกันเยอะมาก แต่ขายไม่ค่อยได้ราคา เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดความรู้ในวิธีการปลูก การโปรเซสที่ดี การคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีมาใช้ ซึ่งตัวผมเองเคยทำงานด้าน Social Enterprise กับองค์กรต่างชาติมาก่อน ก็มีความคิดว่าวันหนึ่งถ้าต้องกลับบ้าน จะทำอะไรให้ตัวเองอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้ ตอบโจทย์ความฝันของตัวเองที่มีด้วย

     ก่อนที่จะลงมือทำ ผมไม่ได้มองแค่ปัญหาด้านเดียวที่เกิดขึ้น แต่มองไปถึงองค์ประกอบรวมทั้งหมด อย่างปัญหาหนึ่งในชุมชนที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น คือ คนที่อยู่ในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเป็นเด็กและคนที่มีอายุหน่อย ส่วนคนหนุ่มคนสาวก็จะเข้ามาหางานทำในเมือง เพราะอยู่บ้านทำเกษตรก็ไม่ได้มีรายได้ที่ดี แต่ด้วยความที่ไม่ได้เรียนสูงมาก รุ่นผมมีแค่ไม่ถึง 5% ด้วยซ้ำที่ได้มีโอกาสได้เรียนต่อ ทำให้งานที่ทำถ้าไม่ไปอยู่ปั๊มน้ำมัน ก็ไปปอยู่ไซด์งานก่อสร้าง หรือร้านคาราโอเกะบ้าง ฉะนั้นการที่ผมจะกลับไปทำอะไรที่บ้านจึงไม่ใช่เรื่องง่าย มีแต่คนไม่เห็นด้วย

Q : คุณแก้ไขมันยังไง

     ผมกลับมาทบทวนในทุกสิ่งจากต้นทุนที่เรามีอยู่ ทั้งต้นทุนในท้องถิ่น เช่น เรามีสวนกาแฟอยู่แล้ว ต้นทุนองค์ความรู้ที่มี เราเป็นครอบครัวเกษตรกร เก่งในเรื่องการดูแลต้นไม้ได้ดีอยู่แล้ว จากแค่สองตัวอย่างนี้ ทำให้ผมมองว่าเราน่าจะพัฒนาเป็นโปรดักต์ขึ้นมาได้ เพื่อให้ชุมชนมีศักยภาพเลี้ยงตัวเองได้ ในที่สุดก็เกิดเป็นโมเดลธุรกิจโดยเราจะสร้างแบรนด์กาแฟชุมชนของเราขึ้นมาในชื่อ “AKHA AMA” เพื่อให้ทุกคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมช่วยกันหาโซลูชั่นและทำงานร่วมกัน ไม่ว่าเด็กวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่

     เราเริ่มต้นด้วยการให้ความรู้แก่เกษตรกรก่อน ทำยังไงให้ปลูกกาแฟได้ดีขึ้น ตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ จนถึงช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งตัวผมเองในตอนนั้นก็ไม่ได้มีทุนมาก แต่เราใช้วิธีนำเสนอโครงการเพื่อขอทุนมาทำ เป็นความโชคดีผมได้รับทุนจากครอบครัวๆ หนึ่งที่สวิตเซอร์แลนด์ เขาให้ทุนมาจัดตั้งธุรกิจในการซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจแบบ Social Enterprise คือ คุณต้องถามตัวเองก่อนว่า 1.รู้หรือยังว่าอยากทำอะไร 2.พอรู้แล้ว เราทราบไหมว่าควรจะไปทำกับใคร หรือต้องติดต่อใครบ้าง

Q : การที่คุณสามารถทำกาแฟให้ดีขึ้นได้ จริงๆ แล้วเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้สังคมได้จริงเหรอ หรือมีใครบ้างที่จะได้รับประโยชน์

     การที่เราเข้ามาพัฒนาตรงนี้ ไม่ใช่แค่ชุมชนของเราหรือคนต้นน้ำเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ เพราะเมื่อเกษตรกรมีความรู้มากขึ้น คนที่อยู่กลางน้ำ และปลายน้ำ เช่น โรงคั่ว หรือร้านกาแฟเอง เขารู้สึกว่ากาแฟไทยมีคุณภาพมากขึ้น ก็นำมาใช้กันมากขึ้น ผมเชื่อว่าวันนี้ไม่ว่าไปร้านไหน  99% เขาต้องมีกาแฟไทยอร่อยพร้อมเสิร์ฟให้เราอย่างแน่นอน ในส่วนของสิ่งแวดล้อม การปลูกกาแฟ ก็เหมือนเราได้เพิ่มพื้นที่ป่าให้เยอะขึ้น ได้ช่วยรักษาระบบนิเวศน์ให้ดีขึ้น เพราะเมล็ดกาแฟจะมีคุณภาพ ก็ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ที่เหมาะสม และด้วยหลักภูมิศาสตร์ บ้านเราปลูกกาแฟได้ไม่เยอะมากอยู่แล้วด้วย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น สิ่งที่เราจะแข่งขันได้ ก็คือ เรื่องคุณภาพ และความยั่งยืน

     การจะทำให้ Local ไปบวกกับ Global ได้ เราต้องทำทั้งสองอย่างควบคู่กับไป คือ ไม่ลืมรากของตัวเอง เราต้องรักษาอัตลักษณ์ที่อยู่ภายในชุมชน ความดีงามของท้องถิ่นเอาไว้ให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องมีคุณภาพ มีมาตรฐาน เพื่อให้สามารถเติบโตไปในระดับสากลได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องช่วยกันทั้งกระบวนการ ตั้งแต่คนต้นน้ำ จนถึงคนปลายน้ำ จนถึงแก้วกาแฟที่เสิร์ฟ ทุกอย่างต้องรวมอยู่ในนั้น

     ทุกวันนี้ผมไม่ได้ทำงานคนเดียว ในทีมงานของเราตอนนี้ผมอายุเยอะสุดแล้ว นอกนั้นอายุ 20-25 ปี คนเหล่านี้ คือ ผู้ขับเคลื่อนที่อยู่เบื้องหลังกาแฟอาข่า อ่ามา ซึ่งคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้เขาอยากมีบทบาท มีส่วนร่วม และมีความภูมิใจในตัวเอง ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญให้ชุมชน และวงการกาแฟไทยต่อไป

Q : อยากให้เล่าเรื่องประทับใจมากที่สุด 1 เรื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจมา

     เรื่องที่ประทับใจมากที่สุดจนถึงวันนี้ ก็คือ ครั้งหนึ่งเราเคยได้รับต้นกาแฟพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อมาเพาะปลูกเป็นส่วนกาแฟ จนมีอาชีพ จนมาวันหนึ่งเรากลับมีโอกาสได้ถวายกาแฟให้กับสมเด็จพระเทพฯ (สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) เป็นความรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจในสิ่งที่ได้ทำมา หรือแม้แต่การได้รับเลือกให้เป็นกาแฟที่นำไปใช้ในเวทีโลกหลายๆ ที่ เป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นว่าสิ่งที่เราพยายามทำมาและคิดว่าดี มันไม่ใช่แค่เรื่องที่คิดไปเอง แต่เป็นสิ่งที่คนอื่นก็รับรู้ได้

     เรียบเรียงจาก : งานสัมมนา “เพิ่มศักยภาพ SME ไทย ด้วยแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570)” กรุงเทพฯ

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Egg E Egg Egg ร้านอาหารจีน สูตรแต้จิ๋ว ขายวันละ 3 ชั่วโมง เตรียมส่งไม้ต่อรุ่นที่ 3

Egg E Egg Egg คือชื่อของร้านอาหารบรรยากาศที่บ้าน ตั้งชื่อตามเสียงไก่ขัน ขายเมนูง่ายๆ ผ่านกระบวนการปรุงแบบภัตตาคาร ขายแค่บรานซ์ (Branch) วันละ 3 ชั่วโมง

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ