KEAPAZ ผู้บุกเบิกหนังจากพืชรายแรกของไทย ที่ Muji ซื้อไปทำสินค้าหลายหมื่นชิ้นต่อเดือน

TEXT : Nitta Su.

PHOTO : KEAPAZ

 Main Idea

  • “KEAPAZ(เคียพาส) คือ แบรนด์กระเป๋า – แผ่นหนังจากวัชพืช และพืชรายแรกๆ ที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย

 

  • ก่อตั้งแบรนด์ขึ้นมาเมื่อ 20 ปีก่อน ตั้งแต่ที่กระแสรักษ์โลก, การบริโภควีแกน หรือ Plant-based ยังไม่เป็นที่นิยมมากเท่าทุกวันนี้

 

  • ล่าสุด ได้รับความสนใจจากองค์กรและแบรนด์ดังต่างประเทศ อาทิ Muji มีการสั่งแผ่นหนังพืชไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้ามากกว่า 3 หมื่นชิ้นต่อเดือน

             

     ย้อนไปเมื่อ 20 ก่อน ในยุคที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักกับคำว่า Plant-based ไปจนถึงกระแสวีแกน หรือการงดบริโภคอาหารและสิ่งของที่มาจากสัตว์มากเท่ากับในทุกวันนี้ KEAPAZ (เคียพาส) แบรนด์กระเป๋า – แผ่นหนังจากวัชพืชได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างช้าๆ จากการคิดลองผิดลองถูกของ พลัฏฐ์ บุญพลอยเลิศ อดีตคนเคยล้มจากวิกฤตปี 2540 ด้วยการเป็นหนี้ก้อนโตกว่าสิบล้าน ยังไม่นับรวมทรัพย์สินอื่น แต่จากประสบการณ์การทำงานระดับหัวหน้าในบริษัทต่างชาติ ทำให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมองหาเทรนด์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน จนได้ไอเดียทดลองสร้างมูลค่าเพิ่มจาก “ต้นหญ้า” วัชพืชที่แทบไม่มีมูลค่า จนกลายเป็นผู้ผลิตหนังจากพืชและวัชพืชรายแรกๆ ของไทยที่ ณ วันนี้กลับได้รับความสนใจจากบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติ จนมียอดสั่งผลิตหลายหมื่นผืนต่อเดือน

ปักหมุดผู้ผลิตหนังจากพืชเมืองไทย

     พลัฏฐ์ เล่าว่าในยุคแรกที่เขาริเริ่มทำขึ้นมานั้น ยังไม่มีคำว่า “Vegan Leather” หนังมังสวิรัติ หรือหนังจากพืชเกิดขึ้นมาด้วยซ้ำ จนเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมากระแสรักษ์โลกมาแรง เริ่มมีการลดการบริโภคอาหารและใช้สินค้าจากสัตว์ลง เพราะเชื่อว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์ คือ หนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน จึงทำให้สินค้าของเขาเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

     “ตอนนั้นคำว่า “Vegan Leather” หนังจากพืช หนังมังสวิรัติ ยังไม่มีเกิดขึ้นเลย สินค้าที่เราทำตอนนั้นก็ใช้ชื่อเรียกตามวัตถุดิบที่นำมาทำ เช่น กระดาษใบไม้ ผ้าดอกไม้ ทำจากอะไรก็จะเรียกอย่างนั้น จนตอนหลังสักสิบกว่าปีก่อนต่างประเทศเขาเริ่มมีการนิยามคำขึ้นมา เราก็เลยลองนำมาปรับใช้ เพื่อเรียกให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยเอาคำว่าหนังมาใช้นำหน้า เช่น หนังใบไม้ หนังดอกไม้ เราเป็นเจ้าแรกๆ เลยนะในไทยที่ทำ จนตอนนี้เริ่มมีคนทำออกมาบ้าง แต่ก็ยังทำได้ไม่เหมือน

     “ความแตกต่างระหว่างหนังพืชของเรากับของต่างประเทศ ก็คือ ของเขาจะนำทุกอย่างมาปั่นรวมกันให้เป็นเนื้อเดียวกันไปเลย แต่ของเราจะพยายามคงรูปทรง รวมไปถึงลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของพืชชนิดนั้นๆ ไว้ด้วย เช่น ใบไม้ก็ใส่ไปทั้งใบ ดอกไม้ก็ใส่ไปทั้งดอก ทำให้แต่ละใบผลิตออกมาไม่เหมือนกันสักใบ ต้องใช้ความประณีต และระมัดระวังในการทำด้วย โดยหากลองเทียบสัดส่วนวัตถุดิบที่ใช้ หนังมังสวิรัติของต่างประเทศจะใส่พืชและพียูประมาณ 50 : 50 แต่ของเราใช้ส่วนผสมที่เป็นพืช วัชพืช มากถึง 70-80% เลยทีเดียว แต่ก็มีบางส่วนที่เราทำเลียนแบบให้ใกล้เคียงกับหนังจริง เช่น ใช้ขุยมะพร้าว, ใช้กากกาแฟมาทำ”

     หากนึกภาพไม่ออกว่าหนังพืชผลิตขึ้นมาได้ยังไง พลัฏฐ์เล่าว่าให้ลองนึกภาพการทำกระดาษสา ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน เพียงแต่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและซับซ้อนมากกว่า โดยปัจจุบันจะใช้แรงงานชาวบ้านในชุมชนที่อยู่ในจังหวัดลำพูนเป็นผู้ผลิตให้ ซึ่งขั้นตอน กระบวนการต่างๆ นั้นเขาทดลองลงมือทำ และเรียนรู้ด้วยตัวเอง เขาเรียนจบเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้มีห้องแล็บทดลอง อาศัยมาจากประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำ และการสังเกตด้วยตัวเองล้วนๆ เลย

แข็งแรง ทนทาน กันรอยขีดข่วนยิ่งกว่าหนังเทียม

      โดยหากเปรียบเทียบความแข็งแรงระหว่างหนังพืชของ KEAPAZ กับหนังเทียมทั่วไป พลัฏฐ์เล่าว่าอาจจะแข็งแรงและมีความยืดหยุ่นมากกว่าด้วยซ้ำ ถึงยังไม่เท่ากับหนังจริงก็ตาม

     “ถ้าเทียบความแข็งแรง ทนทาน ณ ตอนนี้ที่ทำได้ คือ เราเทียบกับหนังเทียมได้เลย อาจจะมากกว่านิดหน่อยด้วยซ้ำ อย่างหนังเทียมถ้ามีการขูดขีดก็จะสูญเสียความสวยงามไป จะถลอก แล้วก็มีรอยยับขาวๆ ทำให้ดูเก่า แต่ของเราขูดขีดแล้วยังไม่ค่อยเห็นร่องรอยอะไร ด้วยวัตถุดิบธรรมชาติที่ใช้ทำให้สามารถกลบเกลือนตำหนิที่เกิดขึ้นได้ ถึงจะยังแข็งแรงไม่เท่าหนังจริง เราก็พยายามพัฒนาอยู่ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยตอนนี้มีทดลองนำไปทำเป็นเสื้อแจ๊กเก็ต ทำรองเท้าบ้างแล้ว เพื่อดูความยืดหยุ่น”

     ปัจจุบันสินค้าของ KEAPAZ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ขายเป็นแผ่นวัสดุ 2.ผลิตเป็นกระเป๋า เพื่อนำไปขายในงานต่างๆ เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่าง และเข้าใจผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น โดยราคาหนังพืชต่อแผ่นอยู่ที่ประมาณ 150-300 บาท ขึ้นอยู่กับต้นทุนของวัตถุดิบที่ใช้ ส่วนกระเป๋าหนังพืชอยู่ที่ราคาใบละ 300-500 บาท

ทำดี จนไปเข้าตาแบรนด์ใหญ่

     นอกจากผู้ประกอบการในไทย ปัจจุบันลูกค้าหนังพืชของแบรนด์ KEAPAZ เริ่มได้รับความสนใจจากองค์กรต่างชาติเยอะขึ้น จนมีหลายแบรนด์ยักษ์ใหญ่เข้ามาติดต่อทำการค้าด้วย

     “จากกระแสรักษ์โลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเข้มข้นขึ้น ตอนนี้เราได้รับการติดต่อจากหลายแบรนด์ใหญ่ระดับโลกให้ช่วยผลิตวัตถุดิบให้ ล่าสุดตอนนี้มี 3 ราย คือ แบรนด์ Muji, JETRO องค์กรจากญี่ปุ่น ทำหน้าที่เป็นตัวกลางแสวงหาวัสดุใหม่ๆ ที่น่าสนใจให้กับผู้ผลิตสินค้าในญี่ปุ่น และ Yaki Group บริษัทญี่ปุ่นที่วางแพลนจะไปเปิดตลาดในอเมริกาปลายปีนี้ เข้ามาติดต่อขอให้ผลิตให้ เขาบอกว่างานของเราน่าสนใจ นอกจากช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ก็ยังเป็นแรงบันดาลใจสู่ความยั่งยืนให้คนอื่นได้ด้วย

     “อย่างตอนนี้เราตกลงผลิตให้ Muji แล้วเดือนละ 3 หมื่นแผ่น เพื่อนำไปผลิตหมวกและกระเป๋าสตรี ของรายอื่นยังอยู่ในช่วงเจรจาติดต่อ โดยรวมๆ กันแล้วคาดว่าจะสามารถเติบโตผลิตได้ถึงหลักแสนแผ่นต่อเดือนได้ ถ้าเป็นแบบนั้นเราก็จะสามารถช่วยแรงงานชาวบ้านได้อีกเยอะเลย อย่างตอนนี้เรามีแรงงานประจำที่ทำด้วยประมาณ 30 คน หากมีออร์เดอร์เข้ามาเพิ่ม เราสามารถเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยคนเลย นอกจาก 3 บริษัทที่เล่าไป ตอนนี้บริษัท Toyota Tsusho ในไทยก็ยังติดต่อเข้ามาอีก เขาสนใจอยากลองนำหนังพืชของเราไปทดลองทำเบาะรถมอเตอร์ไซต์ ถ้าได้ ก็เพิ่มการผลิตได้มากกว่านี้

     “ถ้าลองเปรียบเทียบภาพวันนี้กับ 20 ปีที่แล้ว จริงๆ เราเติบโตขึ้นมาถึง 500-600% เลยทีเดียว ซึ่งเราเชื่อว่ายังมีโอกาสอยู่อีกมาก หากเราสามารถทำได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่ลูกค้าต้องการได้ เพราะราคาหนังจากพืชในต่างประเทศที่ขายกันตอนนี้ตกแผ่นละ 800-900 บาท แต่ของเราแค่ 150-300 บาท ต่างกันไม่รู้กี่เท่า ฉะนั้นยังมีโอกาสแข่งขันได้อีกเยอะเลย” พลัฏฐ์ กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้

กว่าจะถึงวันนี้...

              “ตอนนั้นปี 2540 ผมทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลให้บริษัทต่างชาติแห่งหนึ่งในนิคมอมตะนคร ก็มีความคิดอยากหาซื้อที่ดินเพื่อสร้างทาวน์เฮ้าส์ขายราคาถูกให้กับลูกน้อง ดีกว่าเขาต้องไปจ่ายค่าเช่าบ้านทุกเดือน ตั้งใจจะทำประมาณ 50 หลัง และขึ้นโครงการไปแล้วกว่า 10 หลัง แต่พอเกิดวิกฤตแบงค์ไม่ปล่อยกู้ ทุกอย่างก็เลยพังไปหมด ผมแทบไม่เหลืออะไร ก็เลยลองกลับมาตั้งโจทย์กับตัวเองว่า เราจะทำอะไรได้บ้างที่ลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้มูลค่าสูงสุด เลยนึกไปถึง หญ้า วัชพืชที่มีอยู่ทั่วไป ก็ทดลองทำง่ายๆ เลย เอาหญ้ามาปั่นและปั้นขึ้นรูปขึ้นมา จำได้ตอนนั้นตั้งชื่อว่า “หญ้าปั้น” ลองทำเป็นกระถาง เป็นแพ็กเกจจิ้ง และเอาไปเสนอลูกค้าต่างชาติ เพราะตอนนั้นคนไทยยังไม่สนใจอะไรแบบนี้ ด้วยความแปลกและน่าสนใจจนในที่สุดเราก็ได้ออร์เดอร์แรกมา 7 หมื่นกว่าชิ้น จากแพ็กเกจจิ้งวัสดุธรรมชาติก็เริ่มต่อยอดขึ้นมาเรื่อยๆ ตามความต้องการของลูกค้า จนพัฒนากลายเป็นแผ่นหนังจากวัชพืชและพืชต่างๆ อย่างทุกวันนี้”

KEAPAZ

https://www.facebook.com/Keapaz.realbark/?locale=th_TH

โทร. 098 789 9819

     ลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้า รับฟรี! Gift Voucher มูลค่า 50 บาท ใช้เป็นส่วนลดซื้อสินค้าภายในงาน (จำนวนจำกัด) https://forms.gle/m383gFDjAo2vyH2K6
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Egg E Egg Egg ร้านอาหารจีน สูตรแต้จิ๋ว ขายวันละ 3 ชั่วโมง เตรียมส่งไม้ต่อรุ่นที่ 3

Egg E Egg Egg คือชื่อของร้านอาหารบรรยากาศที่บ้าน ตั้งชื่อตามเสียงไก่ขัน ขายเมนูง่ายๆ ผ่านกระบวนการปรุงแบบภัตตาคาร ขายแค่บรานซ์ (Branch) วันละ 3 ชั่วโมง

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ