เปิดตำรา มหานครโลหะ พลิกเงินแสนให้เป็นพันล้าน จากธุรกิจรับซื้อเศษโลหะ

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO: สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

Main Idea

  • เพราะเชื่อว่าโลกใบนี้ไม่มีขยะ มีแค่เพียงทรัพยากรที่วางไว้ผิดที่ผิดทางเท่านั้น

 

  • ทำให้ "เอส-ธนินท์รัฐ ธนเศรษฐ์โตกุล" ที่กำลังมองหาธุรกิจที่ยั่งยืน หลังจากได้ลองผิดลองถูกหลายธุรกิจ

 

  • ท้ายสุดเขาพบว่า ธุรกิจรับซื้อของเก่าคือธุรกิจที่มีความเป็นอมตะ

 

  • ได้เริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินหลักแสนพร้อมรถกระบะหนึ่งคันที่ปัจจุบันออกดอกออกผลทำรายได้ระดับพันล้านบาท

 

     “มันมีธุรกิจอะไรในโลกที่เป็นอมตะ ไม่มีวันตาย เราไม่อยากเปลี่ยนอาชีพบ่อย ๆ” นั่นคือคำถามที่ ธนินท์รัฐ ธนเศรษฐ์โตกุล ถามกับตัวเองหลังจากที่เขาล้มลุกคลุกคลานมาหลายธุรกิจ จนมาได้คำตอบว่าธุรกิจรับซื้อขยะน่าจะเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนตอบโจทย์รับกระแสเทรนด์รักษ์โลก

     จากคำตอบก็สู่การลงมือปฏิบัติที่เริ่มต้นด้วยเงิน 300,000 บาทกับรถกระบะ 1 คัน ผ่านไปสองทศวรรษ บริษัท มหานคร เมททอลสแครป จำกัด หรือที่ร้านรับซื้อของเก่าทั่วไปรู้จักกันดีเรียกกันคุ้นปากว่า มหานครโลหะ โกยรายได้ปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 3,700 ล้านบาท

ธุรกิจรับซื้อของเก่า ธุรกิจแห่งความยั่งยืน

     เพราะได้ลองทำธุรกิจมามากมายหลายอาชีพ ธุรกิจอะไรที่ว่าดีอยู่ในกระแส เช่น ร้านทำพวงกุญแจรูปตัวเอง หรือธุรกิจอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ที่ยุคหนึ่งเคยเฟื่องฟู ค่าบริการชั่วโมงละ 120 บาท เมื่อความนิยมน้อยลงค่าบริการก็ค่อย ๆ ตกลงเหลือชั่วโมงละ 60, 50, 30 จนกระทั่งชั่วโมงละ 10 บาท ท้ายสุดธนินท์รัฐ ตัดสินใจปิดกิจการไป พร้อมกับหันมาหยุดคิดว่าถ้าจะต้องทำธุรกิจอีกครั้งจะทำธุรกิจอะไรดี

      “มันมีธุรกิจอะไรในโลกที่เป็นอมตะ ไม่มีวันตาย ยั่งยืน เราไม่อยากเปลี่ยนอาชีพบ่อยๆ ก็คิดอยู่เป็นปีเหมือนกัน คำตอบก็มาได้ที่รับซื้อเศษขยะ ที่สามารถตอบโจทย์เทรนด์ของโลกในเรื่องสิ่งแวดล้อม และไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีคนเราก็ต้องบริโภคทุกวัน จึงมีขยะ มีบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย ธุรกิจตัวนี้จึงไม่มีวันตาย มีสินค้ามาให้ตลอดเวลา ยกตัวอย่างช่วงโควิด มีหลายธุรกิจต้องปิดตัวไป ทั้งโรงแรม ค้าปลีก ค้าส่ง เพราะติดล็อกดาวน์ แต่ธุรกิจร้านรับซื้อของเก่าตอนนั้นกลับทำกำไรมากถึง 3 เท่าตัว ซึ่งมาจากพัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้น 3-4 เท่า ทำให้ร้านรับซื้อของเก่า ได้รับซื้อขยะมากขึ้น ทำกำไรเพิ่มขึ้นด้วย” ประธานกรรมการ บริษัท มหานคร เมททอลสแครป กล่าวถึงเหตุผลที่ตัดสินใจลงหลักปักฐานกับธุรกิจรับซื้อของเก่าที่เริ่มต้นด้วยทุนสามแสนบาทกับรถกระบะหนึ่งคันและกลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้

เศษโลหะ กับโอกาสทางธุรกิจมูลค่าสูง

     ด้วยมุมมองที่เปิดกว้าง สิ่งของที่คนอื่นอาจดูไร้ค่า แต่สำหรับธนินท์รัฐ เขากลับมองต่างไป

     “ในโลกนี้ผมบอกเลยว่ามันไม่มีขยะ มีแค่ทรัพยากรที่เอาไว้ผิดที่ผิดทางเท่านั้น ตั้งแต่ผมทำธุรกิจรับซื้อของเก่ามาไม่เคยเห็นอะไรขายไม่ได้เลย ทุกอย่างขายได้หมดไม่ว่าจะเป็นเศษกระดาษ แก้ว พลาสติก โลหะ ขึ้นอยู่กับกระบวนการจัดการ ความเข้าใจในตัวสินค้า และความต้องการของลูกค้าที่ต้องการจะเอาสินค้าไปใช้ด้วย”

     แม้ทุกอย่างจะขายได้ แต่ในเบื้องต้น มหานครโลหะ เลือกที่จะรับซื้อโลหะมีค่า หรือ Non-ferrous metals คือโลหะที่ไม่มีเหล็กเป็นองค์ประกอบ (หรือมีเพียงเล็กน้อย) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทนต่อการกัดกร่อนได้มากกว่า เช่น อลูมิเนียม ทองแดง ทองเหลือง สแตนเลส แผนวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯเป็นหลัก เนื่องจากเป็นที่ต้องการในตลาดสูงและขายได้ราคาดี

     “เบื้องต้นผมมองสินค้าจำพวกกลุ่ม Non-ferrous metals เป็นอันดับแรก เพราะมองว่ามีโอกาสธุรกิจค่อนข้างสูง ซึ่งกลุ่มนี้มีปริมาณ 3 หมื่นตันต่อปี มูลค่าการซื้อขายสูงเป็นอันดับสอง รองจากเศษเหล็กมีปริมาณ 4.5 ล้านตันต่อปี แต่มีราคาขายที่ใกล้เคียงกัน และในอนาคตมีแพลนการรับซื้อสินค้ารีไซเคิลในกลุ่มอื่นๆเพิ่มเติมด้วย เช่น สินค้าพวกกลุ่มกระดาษ พลาสติก เศษแก้ว เป็นต้น”

เร็ว แพง เป๊ะ สูตรเงินล้านธุรกิจรับซื้อของเก่า

     นอกจากจะโฟกัสที่ตัวสินค้าที่มีมูลค่าสูงแล้ว มหานครโลหะ ยังมีคอนเซปต์ ในการทำธุรกิจแบ่งเป็น 2 ส่วน เริ่มต้นด้วย “เร็ว แพง เป๊ะ”

     เร็ว คือการให้บริการที่รวดเร็ว

     ยกตัวอย่าง การกำหนดมาตรฐานการบริการ ถ้าเป็นรถกระบะมาขายของต้องใช้เวลาไม่เกิน 30 นาทีในการเคลียร์สินค้าจนวางบิล ถ้าเป็นรถสิบล้อหนึ่งคันใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง

     แพง เรามีความต้องการให้ประชาชนเก็บขยะมาขาย โดยสิ่งที่จูงใจให้ประชาชนเก็บขยะมาขายก็คือ การให้ราคาที่ “แพง” เพราะบริษัทของผมเน้นที่ปริมาณการรับซื้อ ไม่เน้นกำไรต่อหน่วยที่มากนัก ดังคอนเซปต์ “กำไรน้อยคือกำไรมาก”

     “ร้านผมน่าจะเป็นยี่ปั๊วที่ซื้อสินค้ากลุ่ม Non-ferrous metals แพงที่สุดในประเทศในเวลานี้ด้วยซ้ำไป” ธนินท์รัฐ กล่าว

      เป๊ะ หมายถึง ความเที่ยงตรง ตาชั่งน้ำหนักต้องแม่นยำได้มาตรฐาน และเป็นระบบอัตโนมัติ

     ส่วนที่สอง เป็นในเรื่องของการพัฒนาธุรกิจ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ

     หนึ่ง คือ พันธมิตร คู่ค้า ปัจจุบันมหานครโลหะมีคู่ค้าอยู่ทั่วประเทศ 700 กว่าร้านค้า  ที่ครอบคลุมถึง 77 จังหวัด และรวมทั้งคู่ค้าในต่างประเทศด้วย

     สอง คือ การลดต้นทุน บริษัทเน้นการใช้เทคโนโลยี เช่น โปรแกรมรับซื้อสินค้าอัตโนมัติ เมื่อวางสินค้าไปบนเครื่องชั่งน้ำหนัก ก็จะส่งข้อมูลพวกน้ำหนักสินค้าไปที่ออฟฟิศได้อัตโนมัติ หรือ เครื่องอัดกระป๋อง ผลิตได้วันละ 10-15 ตัน โดยในปีหน้าบริษัทมีกำหนดติดตั้งเครื่องจักรตัวใหม่ ซึ่งสามารถผลิตได้เพิ่มขึ้นวันละ 125 ตันต่อวัน

     สาม คือ ทีมงาน บุคลากรภายในของบริษัท ที่มีความเชี่ยวชาญและความทุ่มเทในการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งมีการพัฒนาทักษะตัวบุคคลในทุก ๆ ฝ่าย เพื่อยกระดับทุกการทำงานอย่างมีคุณภาพ

อยากได้กำไรต้อง “เข้าใจธุรกิจ”

     ธนินท์รัฐ เผยถึงการทำธุรกิจรับซื้อของเก่าว่า เป็นการทำธุรกิจที่จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย เพราะถ้าอยากมีกำไรก็ต้องศึกษาทำความเข้าใจธุรกิจตัวเองให้ดี

     “ตอนแรก ๆ ผมก็แค่ซื้อมาขายไป คิดแค่ทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอดไปวัน ๆ ช่วงหลังเริ่มมีการพัฒนาเรียนรู้เทคนิค เรียนรู้ความต้องการลูกค้า  เรียนรู้คุณสมบัติค่าเคมีของโลหะ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ” ยกตัวอย่าง แร่ซิลิกอนมีความต้องการในตลาดสูง เคยขึ้นมาตันละ 400 เหรียญจากตันละ 40 เหรียญ ฉะนั้นถ้ารู้ค่าเคมีแล้วจับสินค้าประเภทล้อแม็กซ์ที่มีส่วนผสมแร่ซิลิกอน 12% ขายได้ราคาสูงกว่าอะลูมิเนียมทั่วไปถึง 30% รวมทั้งต้องรู้จักเพิ่มมูลค่าสินค้า ถ้าขายทองแดงก็ต้องแยกทองแดงไม่ให้มีอย่างอื่นปน ยิ่งถ้าการันตีได้ว่าทองแดงคุณต้องได้ CU 97-99% ถ้าเราแยกขายได้ราคาสูงขึ้นทันที”

     การทำธุรกิจนี้ ธนินท์รัฐ ย้ำว่า นอกจากการเข้าใจสินค้าดีแล้ว การทำข้อมูลก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กั

     “สักแต่ว่าขยัน ทำงานหนักแต่ไม่รู้ตัวเองกำไรเท่าไหร่ หรือซื้อมาแล้วขาดทุนไหม หลังจากผมได้ไปเรียนกับอาจารย์ ภัทร เถื่อนศิริ CEO & Co-Founder ของเซลสุกิ ได้สอนเรื่อง ERP ทำให้เข้าใจการใช้ข้อมูล การจัดซื้อ จัดขาย เรื่องของการ แบ่งกลุ่มลูกค้าแบ่งกลุ่มสินค้าที่เด่น ๆ มีอะไรบ้าง เพื่อไปทำการตลาด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยให้จากยอดขายปี 2560 ประมาณ 38 ล้านบาท ค่อย ๆ เติบโตเป็นร้อยล้าน ปัจจุบันงบการเงินปี 2565 ยอดในเครือบริษัทผม 3,700 ล้านบาท”

ความลับของธุรกิจ ซื้อมา (ควรรีบ) ขายไป

     ถ้ามองผิวเผินเส้นกราฟธุรกิจมหานครโลหะ อาจจะดูพุ่งสูงชันขึ้นทุกปี แต่ในความเป็นจริง มีบางจังหวะที่บริษัทต้องสูญเสียเงินสูงถึง 5 ล้านบาท ภายใน 4-5 เดือนเท่านั้น สิ่งนี้จึงกลายเป็นบทเรียนสำคัญ ที่คอยย้ำเตือนแก่ธนินท์รัฐ มาจนถึงทุกวันนี้

     “ตอนนั้นเพิ่งทำธุรกิจได้ 7 ปี ช่วงที่จีนเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิก ช่วงนั้นสินค้ารีไซเคิลราคาสูงขึ้นทุกตัว อย่างเศษเหล็กจากกิโลกรัมละ 8 บาท ขยับไปที่ 21 บาท ทองแดงจาก 180 บาทขึ้นเป็น 320 บาท ทุกอย่างขึ้นหมด ผมก็เป็นผู้ประกอบการที่อยากได้กำไรมาก ผมก็เลยตุนสินค้าไว้ไม่ขาย พอจีนสร้างสนามรังนกเสร็จ ประเทศจีนปิดตลาด โรงงานปิดรับซื้อ 4-5 เดือน ตอนนั้นจำได้สูญเงินไป 5 ล้านบาททันที เป็นบทเรียนว่าร้านรับซื้อของเก่าเป็นธุรกิจซื้อมาขายไป ไม่ควรตุนสินค้าอาจเกิดภาวะขาดทุนได้”

เตรียมเปิด มหานครแฟรนไชส์ ต้นปี 67

     ในขณะที่โลกกำลังเดือดร้อนระอุ ธนินท์รัฐ มองว่าธุรกิจรับซื้อของเก่ายังเติบโตไปได้อีก เพราะสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมของคนยุคนี้ ที่ต่างตื่นตัวเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ดูได้จากกระแส Green Economy ของธุรกิจในประเทศ ต่างมีความต้องการลดคาร์บอนจากผลผลิตของบริษัทตัวเอง รวมไปถึงเรื่องของกฎระเบียบการค้าขายของโลกที่เกิดขึ้นมาใหม่ในทุก ๆ วัน อาทิเรื่อง CBAM, คาร์บอนเครดิต ยิ่งส่งผลให้ธุรกิจประเภทนี้ กลายเป็นที่ต้องการของตลาด

     และประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 บริษัทจะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์น้องใหม่ ภายใต้ชื่อว่า มหานครแฟรนไชส์ เพื่อเสนอทางเลือกให้ผู้ที่สนใจอยากทำธุรกิจ หรือเริ่มต้นธุรกิจร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งเป็นรูปแบบโมเดลผู้ค้ารายใหญ่(ยีี่ปั๊ว) ได้เข้ามาลงทุนกับบริษัท

     “เพราะทุกวันนี้หลายองค์กร ต้องการลดคาร์บอนของตัวเอง จึงจำเป็นต้องใช้สินค้ารีไซเคิลเข้ามาในการผลิตสินค้า ผมมองว่าธุรกิจรับซื้อของเก่ายังเติบโตไปได้อีก เพียงแต่ว่าในการทำธุรกิจอย่าเดินคนเดียวให้เดินไปกับเพื่อน ร่วมเดินทางไปเป็นทีม หากว่าเราทำคนเดียว เราเก่งแค่ไหน เราก็เก่งอยู่แค่นั้น แต่ถ้าเกิดมี พาร์ทเนอร์คู่ค้าที่ดี ช่วยกันจูงธุรกิจก็ไปได้ไกลแน่นอน” ธนินท์รัฐ กล่าวทิ้งท้าย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Succession – ซีรีส์บทเรียนธุรกิจครอบครัว เลือดข้นกว่าน้ำ แต่เงินข้นกว่าเลือด

เลือดข้นกว่าน้ำ แต่เงินข้นกว่าเลือด" คำพูดที่สะท้อนความจริงอันโหดร้ายในซีรีส์ Succession ได้อย่างดี ที่พูดถึงการแย่งชิงอำนาจ ตำแหน่งภายในครอบครัวสามารถสร้างทั้งความสำเร็จ และความขัดแย้ง การวางแผนหรือการจัดการที่ไม่ชัดเจน

ดีปาษณะ กับไอเดียแตกไลน์สินค้า จากระดับความสุกของกล้วย สร้างมูลค่าเพิ่มจากศูนย์ สู่ 1,000%

พูดถึง ‘กล้วย’ ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นพืชวิเศษที่มีประโยชน์มากมาย ใช้ได้ตั้งแต่ราก ใบ ลำต้น หน่อ จนถึงผล แต่รู้ไหมว่านอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว หากถูกนำมาแปรรูปดีๆ กล้วย เพียง 1 ลูก จากราคาไม่ถึงบาท ก็อาจทำเงินเพิ่มขึ้นมาได้หลายพันเปอร์เซ็นต์

คำมี สตูดิโอ ปั้นดิน กินพิซซ่า สร้างงานเซรามิกให้เป็นเวิร์กช็อปแห่งแรกของแพร่

‘คำมี สตูดิโอ’ สตูดิโอเซรามิกแห่งแรกของแพร่ที่มีเวิร์กช็อปให้ผู้สนใจ เปิดสอนเฉพาะเสาร์ อาทิตย์ และจันทร์เท่านั้น เป็นคราฟต์เซรามิกที่มีเอกลักษณ์เป็นงานไม่มีรูปแบบ ถนัดปั้นขด ทำแค่สิ่งที่ตัวเองถนัด เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน