บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

TEXT : Neung Cch.

Photo: Banban Nannan library and guest home

     “เป็นความตั้งใจนะ การทำห้องสมุดแบบเดิมๆ อยู่ไม่ได้แล้ว เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ” ชโลมใจ ชยพันธนาการ หรือ ครูต้อม อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขายคือมีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย

     ผ่านลม ผ่านฝน ผ่านหนาว มา 11 ปี เสน่ห์ของที่พักเงียบสงบแห่งนี้ยังได้รับการตอบรับอย่างดีจากหนอนหนังสือไม่ใช่แค่ในสยามเท่านั้น กลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวจากยุโรปโดยเฉพาะชาวฝรั่งเศสอีกด้วย

     การต่อยอดสิ่งที่รักให้เป็นธุรกิจได้ยาวนานกว่าทศวรรษต้องทำยังไง?

     ลองไปดูไอเดียและประสบการณ์จาก ครูต้อม เจ้าของที่พักๆ บ้านๆ น่านๆ ที่สามารถต่อยอดจากสิ่งที่รักซึ่งไม่ได้มีเพียงที่พักและห้องสมุดเท่านั้น

ทัศนคติ กำหนด ธุรกิจ

     แม้จะไม่ใช่นักธุรกิจในสายเลือดแต่ในความคิดครูต้อมนั้นเธอมองว่า ธุรกิจจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นกับทัศนคติของเจ้าของกิจการ ยกตัวอย่างในการรออกแบบที่พักของบ้านๆ น่านๆ นั้นเธอมีคอนเซปต์ชัดเจนว่าต้องเป็นที่พักที่ก่อสร้างจากไม้ ที่มีบรรยากาศร่มรื่นมีหนังสือให้ได้นั่งอ่านพร้อมกลิ่นหอมของกาแฟ

     “ต้องการให้ธุรกิจเป็นแบบไหนเราเป็นคนเลือกได้ว่าอยากให้แมสหรือเน้นเฉพาะกลุ่ม หรือรสนิยม ความลุ่มลึกของตัวเรา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีผลและจะเป็นตัวบอกว่าจะต้องดำเนินธุรกิจอย่างไร อย่างครูชอบบ้านไม้บรรยากาศแบบมีหนังสือให้อ่าน เราเลือกทำในสิ่งที่เราชอบ ถ้ามีใครชอบในสิ่งที่เราทำเหมือนกันเขาก็คงเลือกมาพักที่เรา”

     ครูต้อมเล่าว่าการสร้างที่พักที่มีห้องสมุดนั้นเป็นความตั้งใจตั้งแต่แรก เพราะตัวเธอชอบอ่านหนังสือ เลยอยากทำให้พี่พักแห่งนี้เป็นห้องสมุด

     “เราไม่อยากได้หนังสือธรรมมะ หนังสือ how to ซึ่งมีกันเยอะหาอ่านได้ทั่วไป อีกอย่างพื้นที่เรามีจำกัด ไม่อยากให้หนังสือเหมือนท้องตลาด เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาอ่านฟรี ถ้าจะยืมไปอ่านต้องเป็นสมาชิก จะคิดค่าสมาชิกเฉพาะคนที่เรียนจบม. 6 ไปแล้ว ค่าสมาชิก 100 บาทตลอดชีพ”

ต่อยอดเพิ่มกิจกรรม เพิ่มมูลค่าจากสิ่งที่มี

     ด้วยพื้นเพที่เป็นครูสายกิจกรรม เมื่อมาทำธุรกิจครูต้อมจึงเกิดไอเดียมากมายที่จะต่อยอดจากสิ่งที่ชอบคือ หนังสือ เช่น การจัดเทศกาล ‘Nan Poesie’ ที่เธอได้ร่วมมือกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียนที่คร่ำหวอดในวงการสื่อมวลชน เชิญศิลปินมาอ่านบทกวี มีการเล่นดนตรี แสดงภาพวาด วงเสวนา นอกจากนี้ยังมีการจัดค่ายวรรณกรรม เชิญนักเขียนมาเป็นวิทยากร งานฉายหนัง การให้เช่าสถานที่เป็นที่ทำเวิร์กชอปกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำดอกไม้ ฯลฯ

     หรือล่าสุดก็ได้ร่วมมืออีกครั้งกับเพื่อนรู้ใจอย่าง วรพจน์ ผุดโปรเจ็กต์ library song เปิดโอกาสให้เด็กๆ หรือคนที่ไม่มีพื้นที่หรือมีเวทีได้มาปล่อยของ ที่ได้รับการตอบรับอย่างดี มีคนสนใจเยอะมากแต่ส่วนมากเป็นโรงเรียนในเมือง อยากจะทำให้ทุกคนมีโอกาสเท่าๆ กัน จึงขอยุติโปรเจ็กต์นี้ไปก่อนเมื่อต้นปี 2567 หลังจากทำได้ประมาณ 3 เดือน

     “เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรก การทำห้องสมุดแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว ความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ อีกเหตุผลหนึ่งที่จัดกิจกรรมคือ อยากให้คนต่างจังหวัดมีโอกาสเหมือนคนในเมืองใหญ่ที่เข้าถึงกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้”

เตรียมส่งต่อกิจการ

     การทำที่พักที่มีห้องสมุดนอกจากจะเป็นจุดขายแล้ว ยังเป็นการสแกนกลุ่มลูกค้าให้ครูต้อม ซึ่งทุกวันนี้ไม่ใช่มีเฉพาะคนไทยเท่านั้น ยังได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติจำนวนมมาก

     “ชาวฝรั่งเศสมาพักเป็นอันดับ 1 เลย ถามว่าทำไมเขาถึงเลือกที่นี่ เขาเจอคำว่า library เห็นภาพบ้านไม้ ต้นไม้ เขาชอบแบบนี้”  

     อย่างไรก็ดีครูต้อมบอกว่า การทำธุรกิจของเธอนั้นมีจุดอ่อนคือ การทำบัญชี ทำให้รายได้ไม่ได้เติบโตเท่าที่ควร

     “เราแค่อยากมีเพื่อน มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ ถ้าจะเป็นธุรกิจทำเงินต้องทำมากกว่านี้ ต้องเป็นพลังงานคนหนุ่มสาว ครูต้อมอายุขนาดนี้ ทำอยู่คนเดียว 11 ปีที่ผ่านมาก็เป็นความพอใจนะ คำว่าสำเร็จวัดจากคนรู้จักเรา มาแล้วชอบ แต่รายได้ เราไม่ได้ทำบัญชี ถ้าทำก็คงจะโอเคทุกด้าน”

     เมื่อถามถึงเป้าหมายของ บ้านๆ น่านๆ ครูต้อมเผยถึงความในใจที่ยังไม่เคยบอกใครว่า

     “วางมือตัวเองให้เป็นผู้บริหารอย่างเดียว (ยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน) อย่างเร็วก็ 3 ปี อย่างช้าก็ 5 ปี ถ้าน้องชายกลับมาถ้าเขาหรือลูกหลานจะทำต่อก็โอเค ถ้าคอนเซปต์เขาที่มาทำไม่แย้งกันมาก มันน่าจะเติบโตแข็งแรงได้ แต่ถ้าวันหนึ่งไม่ใช่ของเราก็แล้วแต่เขา” ครูต้อม กล่าวทิ้งท้าย

บ้านๆ น่านๆ

https://www.facebook.com/BanbanNannan

โทร 089 859 5898

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน

SME ไทยจะอยู่รอดได้อย่างไรท่ามกลางสงครามการค้า

การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 125% โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้จุดชนวนสงครามการค้ารอบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้น SME ไทยจึงกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ...แล้วเราจะอยู่รอดได้อย่างไร