จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : จงปังนมสด

       

     จากคลิปการทำมินิโทสต์ พร้อมกับเสียงพูดที่บอกว่า

     “ถ้าหากตอนแรกๆ ยังไม่มีลูกค้า อย่าไปลดต้นทุนนะ ของอร่อยยังต้องให้อร่อย ขาดทุนช่างมันเดี๋ยวก็มีลูกค้าเอง การที่เราไปลดต้นทุนแล้วทำให้คุณภาพกระทบกระเทือน อันนั้นคือการฆ่าตัวตายช้าๆ”

     ไม่เพียงทำให้คลิปนี้เป็นไวรัลกว่า 2 ล้านวิว และยังเป็นสาเหตุทำให้เราอยากรู้จักกับเจ้าของคลิป จนทีมงาน SME Thailand Online ต้องต่อสายไปสัมภาษณ์เจ้าของคลิปคือ ณิชพน วิเชียร (ต้น) เจ้าของร้าน จงปังนมสด ที่บอกว่าเสียงในคลิปเป็นเสียงของเจ้าของร้าน “มนต์นมสด” ที่เป็นร้านที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำขนม ตัวเขาได้ขออนุญาตนำเสียงมาลงในการทำคลิป จนกลายเป็นไวรัล ที่เขาได้ไอเดียในการทำคลิปและวิธีทำคอนเทนต์ที่ทำให้ลูกค้าตามมาสั่งเมนูทันทีในวันรุ่งขึ้น

(จากซ้าย) ธโนทัย นาคคำจันทร์ (เต้) ณิชพน วิเชียร (ต้น)

บานาโทสต์ เมนูพลิกชีวิต

     ใครจะคิดว่าการชอบทานอาหารจะทำให้ ณิชพน ใช้เป็นต้นทุนในการสร้างธุรกิจของตนเอง หลังจากที่เขาเบื่อกับงานประจำการออกแบบกราฟฟิกจึงทิ้งเมืองหลวงกลับไปอยู่สุราษฎร์ธานี กระทั่งมีเพื่อนๆ มาเยี่ยมได้ชิมฝีมือการทำขนมของเขาติดใจรสชาติถึงกับเอ่ยปากชมว่าอร่อย นั่นนับว่ากลายเป็นเมนูเปลี่ยนชีวิตที่ดูไร้ค่าของเขาให้มีค่ามากขึ้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาได้เปิดร้าน จงปังสด กับหุ้นส่วน ธโนทัย นาคคำจันทร์ (เต้) เลือกเช่าเปิดร้านในกลางเมืองสุราษฎร์ธานี ที่เริ่มจากโต๊ะ 4 ตัว

     “คือจริงๆ ผมเริ่มจากศูนย์เลยก็ว่าได้ เราสองคนแค่เป็นคนชอบกิน แต่เราชอบถ่ายรูป ถ่ายคลิป ทำงานศิลปะ ผมจบดีไซน์ จบศิลปากร อีกคนจบครีเอทีฟคอนเทนต์ เอาความสามารถส่วนตัวผสมเรื่องของกิน มาออกแบบร้าน ช่วยทำการตลาดอย่างช่วงแรกลูกค้ายังไม่ค่อยรู้จักร้าน และเป็นร้านน้องใหม่ที่ต้องแข่งกับเจ้าเดิมที่เปิดมา 10-20 ปี ต้องสร้างแบรนด์ดิ้ง สร้างคอนเทนต์ให้ลูกค้าเห็นเรา ถ้าลูกค้าไม่มาหาเราก็ต้องเข้าหาลูกค้าให้เร็วและง่ายสุด เราก็เริ่มจากสร้างคอนเทนต์ในโซเชียล”

สีต้องเด่น คนขับรถผ่านต้องเห็นร้าน

     กลยุทธ์หนึ่งที่ต้นนำมาใช้ให้คนรู้จักร้านเขา ตั้งแต่การตั้งชื่อร้าน จงปังนมสด ที่มี 2 ความหมายคือ หมายถึงร้านที่เจาะจงเรื่องขนมปัง กับอีกหนึ่งความหมายคือ การมูขอให้ร้านปังๆ ที่สอดคล้องไปกับการออกแบบโลโก้ที่มีรูปพนมมืออยู่กับขนมปัง นำเสนอแบรนด์ดิ้งให้ร้านว่าเป็นร้านนมสไตล์คาเฟ่ รวมทั้งการใช้สีให้คนจำได้ โดยจะมีการตกแต่งร้านด้วยสีเหลือง ให้ร้านมีความโดดเด่น ดึงความสนใจลูกค้า แม้คนขับมอเตอร์ไซต์ผ่านต้องเห็นร้าน

แพ็กเก็จจิ้งต้องจึ้ง

     ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้ลูกค้าจำร้านได้ ทางเจ้าของร้าน จงปังนมสด ยังออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ อาทิ การใช้แก้วใส่มินิโทสต์

     “เราคิดว่าการใส่จาน ใส่ถ้วย มันดูทั่วไป แต่ถ้าทำเป็นแก้วสามารถใส่โลโก้แบรนด์ให้เห็นได้แล้ว ถ้าลูกค้าไม่อยากทานที่ร้านก็สามารถ take away แล้วแพ็กเกจจิ้งสามารถถ่ายรูปได้”

สร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า

     อีกหนึ่งเทคนิคที่ต้นกับเต้สองหุ้นส่วนที่ช่วยกันคิดคือ ใช้ตัวเองขับเคลื่อนลูกค้าด้วยการพลิกไอเดียทำคอนเทนต์ง่ายๆ แต่ได้ผลดีจนลูกค้าเห็นแล้วมาสั่งเมนูตามทันที

     “ช่วงแรกที่ร้านยังไม่ดังมาก ผมก็ทำท่ายกถ้วยใส่มินิโทสต์แล้วโพสต์ถ่ายให้เห็นแขนกับขนม ให้เห็นบรรยากาศร้าน เชื่อไหมลงปุ๊บ อีกวันลูกค้ามาเอารูปให้ดูแล้วบอกว่าเอาเมนูแบบนี้ค่ะ แล้วเขาถ่ายรูปแบบที่เราทำเลย มันได้ผลเลย รู้สึก success ได้ไอเดียหลายอย่าง ว่าเราสามารถขับเคลื่อนลูกค้าได้ สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เขา แค่เปลี่ยนวิธีการเล่า ทำให้เขาเห็น อย่างเช่นเวลามีเมนูใหม่ๆ ถ่ายคลิปให้ดูว่าต้องทานอย่างไรก็ได้โปรโมตเมนูไปในตัว”

     นอกจากนี้เจ้าของร้าน จงปังนมสด บอกถึงการสร้างคลิปที่เป็นไวรัลว่าต้องอาศัยการลองผิดลองถูก

     “ผมเคยทำคลิปแนวน่ารัก ขนมหวาน สดใส แต่ไม่ success ลองเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนเจอคลิปที่นำเสียงพูดถึง การทำงาน การใช้ชีวิต แล้วคนดูเยอะมากเป็นหมื่นๆ วิว ก็ค่อยๆ ปรับ และคิดว่าคลิปแนวนี้อาจจะเหมาะกับเรา โดยเฉพาะคลิปที่เป็นไวรัล คำพูดนั้นมาจาก เจ้าของ ร้านมนต์นมสด ซึ่งผมมองเขาเป็นไอดอล เป็นร้านแรกที่ไปทานแล้วสร้างแรงบันดาลใจให้ผมได้ คำที่เขาพูดผมรู้สึกว่ามันใช่มากๆ การทำร้านต้องมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ผมยึดถือเรื่องนี้ เวลาทำขนมร้านผมใส่ถุงมือทุกครั้ง แม้ลูกค้าจะไม่เห็นก็ตาม”

จาก 4 โต๊ะเป็น 14 โต๊ะใน 6 เดือน

     ผ่านไปเพียงครึ่งปีโต๊ะในร้านจงปังนมสดก็เริ่มที่จะไม่เพียงพอให้บริการลูกค้าที่มายืนรอคิวกัน ทำให้ทางร้านตัดสินใจปิดร้านหนึ่งเดือนเพื่อรีโนเวทร้านพร้อมกับเพิ่มจำนวนโต๊ะเป็น 14 โต๊ะพร้อมกับการตกแต่งร้านใหม่โดนลดโทนสีเหลืองให้เบาลงให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าที่มีหลากหลายตั้งแต่เด็กไปจนถึงกลุ่มครอบครัว

     “วางแผนการทำธุรกิจโดยคิดจาก Worst case เพราะเราไม่เคยผ่านประสบการณ์ธุรกิจด้านนี้มาก่อนเลย มองทุกอย่างเป็นกรณีเลวร้ายสุด ถ้าเกิดปัญหาจริงจะได้แก้ทันหรือไม่ให้หนักไป ต้องยอมรับว่าตอนเปิดร้านแรกๆ เราไม่มีการวางแผนเลย ขับรถไปซื้ออุปกรณ์ ตู้อบ จาน ชาม ฯลฯ ที่ กรุงเทพฯ ซื้อโดยที่เราไม่รู้ ไม่ได้คำนวณว่าต้องใช้ปริมาณเท่าไหร่ซื้อมาเยอะเกินไปกลายเป็นต้นทุน เหตุการณ์นั้นกลายเป็นประสบการณ์ให้เราวางแผนมากขึ้น”