ทำไม SME ต้องทำมาตรฐานคาร์บอน ฟังผอ.สำนักงานฯ มาตรฐานแห่งชาติ แนะ รู้ให้ทันเกมธุรกิจยุคโลกเดือด

TEXT: จีราวัฒน์ คงแก้ว

PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

     ในวันที่ผลกระทบจากปัญหาก๊าซเรือนกระจก รุนแรงและหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นพันธกิจร่วมที่ทั้ง ภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่ระดับบุคคล ต้องกลับมาให้ความสำคัญ และร่วมมือกันกอบกู้โลก เช่นเดียวกับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม  ในฐานะหน่วยงานกำหนดมาตรฐานและกำกับดูแลหน่วยตรวจสอบด้านก๊าซเรือนกระจกแห่งชาติ พันธกิจในวันนี้ท้าทายไปอีกขั้น และมีโลกเป็นเดิมพัน

     สำหรับ “วีระศักดิ์ เพ้งหล้ง” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ (สก.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ย้ำชัดว่า  การจัดทำมาตรฐานคาร์บอนเครดิต เป็นก้าวสำคัญของเอสเอ็มอีไทย ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจทั้งในวันนี้และอนาคต

กำหนดมาตรฐาน วางแนวทางดูแลโลกและสิ่งแวดล้อม

     ในวันนี้มีหลายหน่วยงานที่กำลังขับเคลื่อนพันธกิจเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อม สำหรับสำนักงานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ในฐานะหน่วยงานกำหนดมาตรฐานและกำกับดูแลหน่วยตรวจสอบด้านก๊าซเรือนกระจกแห่งชาติ พวกเขาให้ความสำคัญต่อนโยบายการจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะเรื่องคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการลดและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ในวันนี้

     โดยดำเนินการภายใต้ 2 ภารกิจสำคัญ นั่นคือ 1.การกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) ด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีจำนวน 7 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างดำเนินการอีกจำนวนหนึ่ง และ 2.การกำกับดูแลหน่วยตรวจสอบด้านก๊าซเรือนกระจก โดยการรับรองระบบงานตามมาตรฐานสากล

     “หากพูดถึงก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาในแต่ละองค์กร  ทางสมอ.ได้ทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เรียกว่าเป็นISO อย่างหนึ่ง อย่างเช่น  ISO 14064 เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเพื่อจัดการคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร ซึ่งมาตรฐานเล่มแรกนี้ จะเป็นการรายงานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร โดยคิดจากกิจกรรมทั้งหมดในองค์กรนั้นๆ ตั้งแต่กระบวนการผลิต กระบวนการสนับสนุน การเดินทาง การขนส่ง เหล่านี้เป็นต้น

     "หรือ มาตรฐาน ISO 14067 ที่เป็นมาตรฐานการวัดปริมาณและการรายงานคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ ความหมายคือ ในการผลิตสินค้าหนึ่งชิ้นคุณปล่อยปริมาณคาร์บอนเท่าไหร่ โดยคิดตั้งแต่ต้นทางการได้วัตถุดิบมา การผลิต ไปจนถึงกระบวนการกำจัดผลิตภัณฑ์นั้นๆ  คำนวณออกมา แล้วติดไปที่ตัวสินค้านั้นๆ เลย และ  ISO 14064  เล่มสอง ที่เป็นคาร์บอนฟุตพรินต์ของโครงการโดยเฉพาะ เช่น โครงการนี้ทำแล้วสามารถลดปริมาณคาร์บอนลงได้เท่าไหร่ ช่วยดูดซับคาร์บอนได้เท่าไหร่ ซึ่งตัวนี้จะเป็น คาร์บอนเครดิต ที่สามารถเอาไปขายได้” เขาอธิบายให้เห็นภาพอย่างง่ายๆ

รับรองและกำกับดูแลผู้ตรวจสอบ ยกระดับความเชื่อถือได้

     อีกหนึ่งภารกิจของ สมอ.คือ การกำกับดูแลหน่วยตรวจสอบด้านก๊าซเรือนกระจก โดยการรับรองระบบงานตามมาตรฐานสากล ซึ่งปัจจุบันได้ให้การรับรองหน่วยตรวจสอบด้านก๊าซเรือนกระจกตามรูปแบบขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ไปแล้วจำนวน 11 ราย โดยครอบคลุมการตรวจสอบด้านก๊าซเรือนกระจกทั้งคาร์บอนฟุตพรินท์ และโครงการคาร์บอนเครดิต

     ซึ่งโครงการตรวจสอบก๊าซเรือนกระจกของสมอ.นั้น ได้รับการยอมรับร่วมระหว่างประเทศจาก องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการรับรองระบบงาน (International Accreditation Forum : IAF) ทำให้ผลการตรวจสอบก๊าซเรือนกระจกจากหน่วยตรวจสอบก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองจากสมอ. นั้นถือได้รับการยอมรับและเทียบเท่ากับผลการตรวจสอบในระดับสากล

     “เราทำหน้าที่รับรองหน่วยที่ทำหน้าที่ตรวจสอบด้านก๊าซเรือนกระจก ก็เหมือนผู้ตรวจสอบบัญชีนั่นแหละ แต่นี่คือบัญชีคาร์บอน เพราะฉะนั้นเรามีมาตรฐาน ผู้ประกอบการสามารถไปทำตามแนวทางมาตรฐาน แล้วได้ตัวรายงานออกมาซึ่งรายงานนั้นจะต้องมีคนมารับรอง ซึ่งผู้ตรวจสอบซึ่งเป็นหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และตรวจสอบก๊าซเรือนกระจก จะไปรับรองรายงานของคุณ จากนั้นรายงานนี้จะถูกส่งต่อไปที่ อบก. เขาจะออกใบรับรองเพื่อยืนยันว่าปริมาณคาร์บอนที่คุณปล่อยออกมาในกิจกรรมของคุณทั้งปีนั้นเป็นเท่าไหร่”

     ผอ.วีระศักดิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเอสเอ็มอีไทย เริ่มให้ความสนใจในมาตรฐานคาร์บอนเครดิตกันมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการคาร์บอนเครดิตที่เกี่ยวกับด้านพลังงานทดแทน เช่น โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) หรือระบบหลังคาโซล่าเซลล์  ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนด้านพลังงานของผู้ประกอบการ และลดก๊าซเรือนกระจกได้ นอกจากนี้ยังสามารถขายคาร์บอนเครดิตจากการดำเนินการมาตรฐานดังกล่าว เพื่อชดเชยให้ผู้ประกอบการอื่นได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สมอ.ไม่ได้ให้การรับรองเอสเอ็มอีที่ทำมาตรฐานโดยตรง แต่เป็นการให้การรับรองหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทวนสอบการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกทีหนึ่งนั่นเอง

“มาตรฐานคาร์บอนเครดิต” ตัวช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของ SME

     ผอ.สก. สะท้อนความคิดว่า การจัดการก๊าซเรือนกระจกจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือผู้ประกอบการรายเล็กอย่างเอสเอ็มอีก็ตาม โดยบางธุรกิจอาจมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแตกต่างกัน และมีความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจกแตกต่างกันเช่นเดียวกัน ดังนั้นการดำเนินการตามมาตรฐานคาร์บอนเครดิต จึงจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจในการซื้อขายเครดิตคาร์บอน ซึ่งสามารถเป็นแหล่งรายได้เสริมในการดำเนินกิจการ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างชื่อเสียงที่ดีในด้านความยั่งยืน และความรับผิดชอบทางสิ่งแวดล้อมให้แก่ภาคธุรกิจอีกด้วย

     “อย่างโรงงาน เวลาผลิตสินค้าออกมา เขาพยายามจะลดปริมาณคาร์บอนในกระบวนการของเขาให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าไม่ลด หนึ่งเลยหากคู่แข่งทำได้ดีกว่า เวลาผู้บริโภคจะเลือก เขาจะเลือกบริษัทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่นั่นยังไม่เท่าไร มองไปยังปลายทาง ถ้าคุณมีคู่ค้าในต่างประเทศ และคู่ค้าของคุณกำหนดมาเลยว่า คุณปล่อยคาร์บอนไปเท่าไหร่ คุณต้องชดเชยเท่านั้น นี่จะกลายเป็นเงื่อนไขซึ่งเป็นต้นทุนที่คุณสู้เขาไม่ได้ เพราะว่าต้นทุนทางคาร์บอนของคุณสูง ยิ่งคุณปล่อยมากเท่าไหร่ คุณก็จะต้องโดนชาร์จมากขึ้นเท่านั้น นี่เป็นกลไกของตลาด ซึ่งบ้านเราอาจยังไม่ได้บังคับโดยตรง แต่มีผลในอนาคตแน่นอน”

     ผอ.วีระศักดิ์ กล่าวย้ำว่า การทำมาตรฐานคาร์บอนเครดิต สามารถเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้เอสเอ็มอีไทย เป็นองค์กรที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพิจารณาลงทุนในพลังงานทดแทนและการใช้งานที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงการติดตามและรายงานผลลัพธ์ของมาตรฐานคาร์บอนเครดิต ดังนั้นเอสเอ็มอีจึงควรติดตามและศึกษาการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

     “ต่อไปเอสเอ็มอีจะอยู่เฉยไม่ได้แล้ว ด้วยกระแสผู้บริโภค และคู่แข่งทางการค้าของคุณ อย่างไรทุกคนต่างมุ่งไปในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น และการทำเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องมีต้นทุน ต้องมีการลงทุน เพียงแต่ต้นทุนพวกนี้ อนาคตมันคือเรื่องของการแข่งขันทางการค้า ซึ่งทิศทางธุรกิจต้องเป็นอย่างนี้ต่อไป โดยมิติด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไรก็อยู่ยาวแน่นอน”

ช่องทางติดต่อ

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

เว็บไซต์ : www.tisi.go.th

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ธุรกิจร้านหนังสือใกล้ตายจริงหรือ? ทำไม คณา คชา นักเขียนชื่อดัง จึงเปิดร้าน Page One สวนกระแสดิจิทัล

ในยุคที่โซเชียลมีเดีย และเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเบ่งบาน “หนังสือ” อาจกลายเป็นสื่อหนึ่งที่ถูกมองข้าม และไม่ได้รับความนิยมมากเหมือนเก่า จนหลายคนอาจพาลคิดว่าการเปิดร้านหนังสือในยุคนี้ ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนักในการทำธุรกิจ

ทำธุรกิจร้านของฝากยังไงให้ Success ถอดสูตร แก้ว ร้านของฝากชื่อดังเมืองกาญจน์ จากสินค้าของฝากสู่สินค้าส่งออก

ย้อนไปสมัย 20-30 ปีก่อน หากใครเดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรี ร้านของฝากขึ้นชื่อที่ต้องแวะก่อนกลับ ก็คือ “แก้วของฝาก” แต่ปัจจุบันด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ธุรกิจร้านของฝากอาจไม่ได้รับความนิยมมากเหมือนเก่า ทำยังไงถึงจะให้ธุรกิจไปต่อได้

SME เซ็ตธุรกิจยังไงให้โตในยุคโลกเดือด ฟังไกด์ไลน์จากผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์

ทุกวันนี้สภาพอากาศน่ากลัวขนาดไหน ต้องบอกว่าถึงขั้นที่ขึ้นเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ว่า ตอนนี้ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังย่างเข้าสู่ "ภาวะโลกเดือด"