MaxGrainta จากลูกบ้านักวิทยาศาสตร์ สู่ผู้คิดวิธีผลิตนมจากเมล็ดถั่วเจ้าแรกของโลก

TEXT : นิตยา สุเรียมมา

PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

     ว่ากันว่า การทำธุรกิจ ถ้าจะให้ประสบความสำเร็จ ได้ผลกำไรที่ดี ต้องมีการคิดคำนวณอย่างรอบคอบ ตั้งแต่ต้นทุน การผลิต การทำตลาด ไปจนวิธีการขายและการกำหนดราคา แต่สำหรับการค้นคว้าวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ เป้าหมายที่ต้องการ คือ ผลลัพธ์ที่ออกมาดีที่สุด ทุกอย่างจึงถูกคิดแบบที่สุด โดยไม่ได้คำนึงถึงต้นทุน ความยากในการผลิต และราคาที่ต้องจ่ายใดๆ ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักธุรกิจจึงต่างกันอย่างสุดขั้ว จากวิธีการคิดคนละรูปแบบ ถึงแม้เป้าหมายอยากจะผลิตสินค้าหรือผลงานที่ดีที่สุดออกมาก็ตาม

     จะมีบ้างไหม? ที่ทั้งสองอย่างจะเดินคู่กันไปได้อย่างลงตัว

     วันนี้เรามีเรื่องราวของ แมคเกรนต้า (MaxGrainta) แบรนด์นมถั่วแท้ๆ ที่ผลิตจากถั่วเต็มเมล็ดแบรนด์แรกของไทย หรืออาจเป็นแบรนด์แรกของโลกด้วยก็ว่าได้มาฝาก ที่เลือกใช้วิธีการผลิตแบบโฮมเมด แล้วนำมาทำในรูปแบบอุตสาหกรรม เป็นวิธีที่น้อยคนนักจะเลือกทำ เพราะทั้งสิ้นเปลืองเวลา ค่าใช้จ่าย แรงงานคน แต่ถ้าทำได้ นี่คือ ผลลัพธ์ที่สุดยอด โดยมีเจ้าของ คือ ดร.ลลนา นันทการณ์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ตัดโครโมโซมเพื่อสร้างดีเอ็นเอโพรบสำเร็จคนแรกของไทย ที่วันนี้เบนเข็มชีวิตเข้าสู่โลกธุรกิจแบบเต็มตัว เมื่อนักวิทยาศาสตร์ลงมือทำธุรกิจ จะแตกต่างจากเจ้าของธุรกิจทั่วไปยังไง ไปดูกัน

แรงงาน 1 คน เครื่องปั่น 4 ตัว ในหอพักสตรี

     “จริงๆ การทำธุรกิจ คือ การทำงานวิจัยอีกรูปแบบหนึ่ง ได้ค้นคว้า ทดลอง แต่เราสามารถควบคุมระบบการทำงานได้ด้วยตัวเอง และสามารถใช้ความรู้มาประยุกต์สุดขั้วโดยไม่ต้องอิงกับระบบองค์กร หรือขึ้นอยู่กับใคร”

     นี่คือ เหตุผลทำให้ ดร.ลลนา ผันตัวเข้าสู่เส้นทางสายธุรกิจ หลังจากแก้ไขปัญหาไม่ชอบธรรมในองค์กรวิทยาศาสตรทางการแพทย์สำเร็จ จึงตัดสินใจไม่ต่อสัญญา อาชีพนักธุรกิจจึงเป็นอาชีพสุดท้ายที่มีอิสรภาพ และมีโอกาสประยุกต์ความรู้วิทยาศาสตร์สู่สังคมโลกได้อย่างแท้จริง ที่สำคัญไม่เคยคิดจะได้เงินจากการเบียดเบียนชีวิตมนุษย์

     “เอาจริงๆ ตอนแรกไม่ได้คิดที่จะเป็นนักธุรกิจเลย เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน ตอนนั้นเป็นช่วง 1-2 เดือนสุดท้ายก่อนไม่ต่อสัญญาทำงาน ได้ฉลองความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาองค์กรด้วยการปั่นนมถั่วเอามาแจกเพื่อนๆ น้องๆ ได้ชิม อยู่มาวันหนึ่งอาจารย์รุ่นน้องมาขอซื้อ บอกอยากเอาไปให้คุณแม่ ขอซื้อทั้งกระติกได้ไหม ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร เลยขายไปกระติกละ 150 บาท (1 ลิตร) คิดแค่ค่าถั่วพอ เสร็จแล้วก็มานั่งมองเงินที่โต๊ะว่าเฮ้ย! มันขายได้จริงๆ เหรอ นี่ขนาดยังไม่ได้ทำวิจัยอะไรเลย ต่อจากนั้นก็เริ่มมีคนมาขอซื้อเรื่อยๆ เลยเริ่มพัฒนาสูตรขึ้นมา 4 สูตร ได้แก่ ข้าวโพด, เกาลัด, แมคคาเดเมีย และข้าวไรซ์เบอรี่ โดยใช้ถั่ว 7 ชนิดเป็นพื้นฐาน คนที่แพ้นมวัว เบื่ออาหาร หรือไม่ชอบกลิ่นถั่วเหลือง  ก็สามารถทานได้ ทำอยู่ในหอพักนั่นแหละ ซื้อเครื่องปั่นมา 4 เครื่อง ปั่นโถละสูตรไปเลย ช่วงเวลานั่นลูกค้าตั้งฉายาให้ว่า “แม่ค้ากิตติมศักดิ์” เพราะปั่นได้มากที่สุดคือ 20 กระติคต่อสัปดาห์ ลูกค้าจะสั่งเยอะกว่านี้ไม่ได้ ด้วยขนาดตู้เย็นที่ต้องแช่นม และพื้นที่ห้องเช่ามีจำกัด

     “จนวันหนึ่ง มีลูกค้าคนหนึ่งเดินทางมาหาจากจังหวัดสุรินทร์ บอกว่าคุณแม่เบื่ออาหารขั้นวิกฤต ทานอะไรไม่ได้มา 2 ปี เลยอยากได้นมถั่วของเราไปให้คุณแม่ได้ลองทาน แต่ด้วยความที่เราปั่นแบบสดๆ ทำแบบพาสเจอร์ไรส์ ต้องแช่เย็นตลอดเวลา เขาเลยซื้อกล่องโฟมใส่น้ำแข็งแช่กลับไปให้คุณแม่ ปรากฏว่าพอคุณแม่เขาได้ลองทาน ก็ชอบมากสามารถดื่มหมดแก้ว และพูดคำว่า “อร่อย” ซึ่งคุณแม่ไม่ได้พูดคำว่าอร่อยมาสองปี จากที่ทานอะไรไม่ได้เลย ลูกๆ ก็ดีใจกันมาก แต่จะให้เขาขับรถเดินทางมากรุงเทพซื้อแบบนี้ทุกครั้งคงเป็นไปไม่ได้ เราเลยบอกสูตรให้ไปทำเอง จาก Pain Point ที่เกิดขึ้น เลยจุดประกายให้เริ่มคิดว่าถ้าจะทำให้ผู้บริโภคต่างจังหวัด และทั่วโลกได้ทานด้วย เราต้องผลิตแบบสเตอริไลซ์ ในระบบของโรงงานผลิต เลยหยุดทำแบบเดิม และเริ่มหันมาศึกษาหาข้อมูลแบบจริงจัง” ดร.ลลนา กล่าวจุดเริ่มต้นให้ฟัง

รอยต่อจากหอพักสตรี สู่โรงงานผลิตส่งออก

     จากความตั้งใจที่อยากผลิตสินค้าไปให้ถึงมือผู้บริโภคได้สะดวกมากขึ้น ดร.ลลนา จึงคิดถึงรูปแบบการทำธุรกิจที่จริงจังขึ้นมา เนื่องจากไม่ได้มีทุนอยู่ในมือมากนัก จึงใช้วิธีนำผลิตภัณฑ์ไปพรีเซ็นต์ เพื่อหาผู้ร่วมทุน เพื่อนำมาจดทะเบียนบริษัท และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งเมื่อใครได้ทดลองชิม รู้ถึงสรรพคุณ และเห็นความตั้งใจจริง ก็ยากที่จะปฏิเสธ

     หลังจากหาทุนได้ ยังมีความยากที่เป็นโจทย์หินสำคัญรออยู่ คือ การแปลงกระบวนการผลิตจากโฮมเมดมาสู่รูปแบบอุตสาหกรรม ซึ่งขั้นตอน วิธีการนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำยังไงถึงจะอร่อย ใกล้เคียงกับสูตรแบบโฮมเมดดั้งเดิมได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องสามารถผลิตได้ในปริมาณมาก ตอบโจทย์การทำธุรกิจได้

     “ความยาก คือ เราต้องพยายามทำสเตอริไลซ์ ในรูปแบบการผลิตอุตสาหกรรม ให้มีรสชาติอร่อย คุณสมบัติคล้ายพาสเจอร์ไรส์ที่เป็นแบบโฮมเมดให้ได้มากที่สุด ด้วยความเข้มข้นของนมถั่วของเราที่ไม่ได้เป็นน้ำใสๆ แต่มีความข้นเป็นครีมมี่เหมือนซุปเลย ทำให้ผ่านระบบท่อที่ผลิตและบรรจุเหมือนนมอื่นๆ ไม่ได้ เลยต้องเปลี่ยนมาใช้เครื่องรีทอร์ท (เครื่องฆ่าเชื้อด้วยความร้อน และความดัน) ครั้งแรกโรงงานที่จังหวัดนครปฐมผลิตให้ โดยสูตรแรกที่ทำออกมาเราอยากให้เป็นเครื่องดื่มฟังก์ชั่นจึงมีการเติมสารเสริมอาหารที่มีประโยชน์เข้าไปด้วย เช่น คอลลาเจน เปปไทด์, เบต้ากลูแคน”

     “ด้วยความที่เราลงมือทำเองเกือบทุกอย่าง ตั้งแต่คิดค้นสูตร ทำการตลาด แพ็กส่งของ ไปจนถึงรับฟีดแบ็กจากลูกค้า ทำให้เจอ Pain Point เพิ่มอีกข้อ คือ มีลูกค้าผู้ป่วยมะเร็งหลายรายติดต่อบอกว่าเขาอยากได้สูตรที่มาจากธรรมชาติจริงๆ โดยไม่ต้องเติมสารเสริมอาหารอะไรลงไป เลยเป็นโจทย์ให้เรากลับมาคิด เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริง คือ เราอยากผลิตอาหารที่มีประโยชน์ ปราศจากสารเคมีให้ผู้บริโภคอยู่แล้ว แต่พอจะสั่งผลิตใหม่รอบสอง ด้วยความที่ล็อตแรก 6,000 ขวดกว่าจะขายหมดในช่วงระยะเวลาโควิดระบาด ทำให้ทิ้งเวลานาน โรงงานเลยผลิตให้ไม่ได้ เพราะติดการผลิตเจ้าใหญ่ด้วย ถ้าจะให้ผลิต ก็ต้องรออีกนาน เลยตัดสินใจเปลี่ยนโรงงาน ก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่ ขอ อย.ใหม่ ซึ่งหาโรงงานผลิตไม่ได้เลย จนได้รับความช่วยเหลือจาก อาจารย์ รศ.ดร. สุรพงษ์ พินิจกลาง ท่านช่วย แนะนำให้รู้จักกับเจ้าของโรงงานผลิตอาหารที่ใส่ใจคุณภาพ และสุขภาพของผู้บริโภค คือ คุณพานุศักดิ์ พลาวัสถ์พงษ์ (เดวิด เล้า ชิไว)  ซึ่งไม่ใช่แค่ช่วยยอมผลิตให้ แต่ยังช่วยเจียระไนสูตรให้ด้วย จนในที่สุดก็ได้สูตรธรรมชาติที่ลงตัว ใช้เวลากันอีก 8 เดือนกว่าจะได้สำเร็จออกมา เลยกลายเป็นพาร์ทเนอร์กันจนทุกวันนี้”

บด ต้ม ปั่น จากเมล็ดแท้ๆ เจ้าแรกของโลก

     ดร.ลลนา เล่าถึงความยากและความแตกต่างของการผลิตนมถั่วแมคเกรนต้า และนมถั่วทั่วไปว่า

     “ปกติแล้วถ้าเป็นการผลิตนมถั่วหรือนมธัญพืชทั่วไป จะใช้ถั่วที่ถูกทำเป็นผงหรือเป็นครีมถั่วเข้มข้นสำเร็จรูปที่บดมาแล้ว และเอามาต้มละลายกับน้ำ  นำเข้ากระบวนการผลิตผ่านท่อได้เลย แต่ของเรามีความข้นและเป็นครีมมี่สูงเหมือนกับซุป ที่สำคัญเราใช้กระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นเหมือนโฮมเมดเลย คือ นำเมล็ดถั่วมาบด ต้ม ปั่นจริง ทำให้ขั้นตอนยุ่งยากมากกว่า เสียเวลามากกว่า จึงหาโรงงานรับผลิตให้ยาก แต่คุณพานุศักดิ์ เจ้าของโรงงาน ได้ยอมรับผลิตให้ และถึงกับเอ่ยว่า ผมจะบ้ากับคุณ นี่จะเป็นนมถั่วแบรนด์แรกของโลกเลยที่ผลิตแบบนี้ เพราะไม่มีใครบ้าเอาถั่วเต็มเมล็ดมาบด ต้ม ปั่น มันเป็นความยากของโรงงานผลิต ต้องใช้เวลาที่นานกว่า ต้นทุนค่าแรงงาน ค่าไฟ และอื่นๆ ก็มากกว่า แต่ผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่ามากเป็นนมถั่วที่ไม่มีเลขวัตถุเจือปนอาหารเลย สูตรอร่อยจากความเป็นธรรมชาติจริงๆ ไม่แต่งกลิ่น ไม่ใส่สารคงตัว จนตอนนี้จดอนุสิทธิบัตรแล้ว”

     ปัจจุบันนมถั่วแบรนด์ แมคเกรนต้า ประกอบด้วยนม 3 ชนิด ได้แก่ นมถั่วอัลมอนด์, นมถั่วแมคคาเดเมีย และนมถั่วพิสตาชิโอ เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงาน ThaiFex 2023 ได้รับการตอบรับอย่างมากจากลูกค้าต่างประเทศในด้านรสชาติอร่อย ธรรมชาติที่เข้มข้น แต่ด้วยช่วงแรกผลิตออกมาในรูปแบบขวดแก้วยังไม่ตอบโจทย์เรื่องส่งออก แตกหักง่าย น้ำหนักเยอะ และต้นทุนค่อนข้างสูง ภายหลังจึงอยากปรับเข้าสู่ตลาด B2B เน้นขายปริมาณเยอะขึ้น

     “จากการที่เราเพิ่งกลับมาเริ่มต้นผลิตใหม่ ยอดขาย และจำนวนการผลิตยังไม่เยอะมาก ทำให้ต้นทุนเราค่อนข้างสูง ไม่ว่าค่าวัตถุดิบ การผลิต ไปจนถึงแพ็กเกจจิ้ง ตอนนี้เราเลยทดลองเข้าไปขายในกลุ่มลูกค้า B2B เช่น โรงแรม ร้านอาหาร โรงพยาบาล ฯลฯ ซึ่งมีปริมาณการใช้ทีละเยอะๆ มากกว่า โดยผลิตในรูปแบบถุงรีทอร์ทเพาช์ 1 ลิตร วิธีนี้จะทำให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่ถูกลง ซึ่งหากสามารถขายได้เยอะๆ สุดท้ายสินค้าก็จะถูกกระจายไปยังผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งการโฆษณา เพราะการโฆษณาเป็นการเพิ่มต้นทุน และสุดท้ายผู้บริโภค คือ ผู้แบกรับภาระ สู้นำต้นทุนมาเน้นคุณภาพของถั่ว และขบวนการผลิตดีกว่า ทำให้ผู้บริโภคได้รับประทานนมถั่วที่มีประโยชน์ดีต่อสุขภาพ ตอนนี้มีหลายธุรกิจให้ความสนใจค่อนข้างมาก ล่าสุดตอนนี้เราทดลองนำไปชงกับกาแฟ รสชาติออกมาได้ลงตัวเหมือนกับนมอื่นๆ สามารถวาดลาเต้อาร์ตได้ เขายินดีเลย เพราะนมของเรามีประโยชน์เยอะมาก เป็นการสร้างมูลค่าให้สินค้าเขาเพิ่มมากขึ้นด้วย สำหรับการไปออกงาน ThaiFex มีต่างชาติให้ความสนใจค่อนข้างมาก เขาไม่เคยเจอนมถั่วที่มีความครีมมี่และผลิตจากเมล็ดถั่วแท้ๆ แบบนี้ ตลาดส่งออกจึงเป็นเป้าหมายต่อไปของเรา ถ้าสามารถทำได้ ก็สามารถกระจายให้ผู้บริโภคทั่วโลกได้” ดร.ลลนา กล่าว


วิทยาศาสตร์ X ธุรกิจ

     จากการเป็นนักวิทยาศาสตร์ เมื่อต้องผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการ ดร.ลลนา เล่าถึงการปรับตัว ให้ฟังว่า

     “จริงๆ ต้องปรับตัวค่อนข้างมาก เพราะคนละขั้วกันเลย นักวิทยาศาสตร์จะคิดสุดขั้ว ลงมือทำ ทดลองเพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด แต่ไม่มีความเข้าใจมุมมองเชิงพาณิชย์ว่าเอามาผลิต มาขายได้จริงไหม ราคาสูงไปหรือเปล่า เจอนักการตลาดโดนปฏิเสธตลอด เพราะราคาต้นทุนสูงมากเกินไป โดนให้ไปทำราคามาใหม่ ขณะที่นักธุรกิจก็ไม่ได้คิดพัฒนาผลิตภัณฑ์สุดขั้วแบบนักวิทยาศาสตร์ เพราะนักธุรกิจเข้าใจหลักการของโครงสร้างราคา และการตลาด จึงอาจทำให้มองข้ามเรื่องสุขภาพผู้บริโภค ยิ่งถ้าต้องจ้างทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ คงไม่มีมนุษย์คนไหน ถ้าไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจเองแล้วจะคิดพัฒนาให้ดีที่สุด ฉะนั้นนักวิจัยควรเป็นเจ้าของธุรกิจตัวเอง นี่คือ ดีที่สุด ถ้าเราสามารถทำตรงนี้ได้สำเร็จ ก็จะเป็นเหมือนจิ๊กซอลให้กับนักวิทยาศาสตร์รุ่นน้องอีกหลายคนที่มีความสามารถ ว่าเขาเองก็ออกมาทำงานวิจัยของตัวเองและเป็นเจ้าของธุรกิจได้เช่นกัน เพราะการทำงานในระบบ บางครั้งก็มีสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้เองหมดทุกอย่าง ถ้าไม่มีปัญหาเกิดขึ้นในวันนั้นเราคงไม่ได้มาทำธุรกิจในวันนี้

     “อีกสิ่งที่ความเป็นนักวิทยาศาสตร์สอนเรา ก็คือ ความล้มเหลว เราชินกับความล้มเหลว ชินกับผลการทดลองที่ไม่สำเร็จมานักต่อนักแล้ว เราอดทนรอคอยผลลัพธ์ได้ ดังนั้นเมื่อมาทำธุรกิจ แล้วต้องเจอกับปัญหาอุปสรรค สิ่งนี้เป็นเหมือนภูมิคุ้มกันให้กับเราได้ ไม่ท้อแท้อะไรง่ายๆ ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ยากมาก และอีกสิ่งที่เป็นตัวช่วยสำคัญ คือ การฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ที่สอนให้เรามีสติปัญญา เข้าใจกลไกทำงานของจิต เลยทำให้เข้าใจคนอื่นและตัวเราเอง เราเริ่มศึกษาตั้งแต่ตอนเด็กแล้ว” ดร.ลลนา เล่าความแตกต่างนักธุรกิจและนักวิทยาศาสตร์ให้ฟัง

One Man Show รับจบทำเอง คนเดียวทุกตำแหน่ง

     จากระยะเวลากว่า 6 ปี จากนมถั่วปั่นกระติกแรกที่ขายได้ มาจนถึงแบรนด์นมถั่วเจ้าแรกของโลกที่มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว ที่กำลังจะกระจายไปทั่วประเทศ และขยายสู่ตลาดต่างประเทศในเวลาอีกไม่นานนี้ ด้วยความเป็น SME ที่ไม่ได้มีต้นทุนมากนัก จึงเป็นภาคบังคับให้ต้องเริ่มต้นและรับจบลงมือทำด้วยตัวเองเกือบจะทุกอย่าง ทุกตำแหน่ง ตั้งแต่ผู้บริหาร นักวิจัย นักการตลาด แอดมิน พนักงานแพ็กสินค้า ฯลฯ จนมาถึงวันนี้ได้ ก็คือ ความภูมิใจของชีวิต

     “ตั้งแต่ 6 ปีที่แล้วที่เริ่มต้นทำมาตั้งแต่นมถั่วโฮมเมด จนถึงสร้างแบรนด์ เราแทบจะรับทำเองเกือบทุกตำแหน่ง ยกเว้นบัญชีที่ตอนนี้มีจ้างเอาท์ซอส และกระบวนการผลิต แต่จริงๆ ที่ทำให้มาถึงทุกวันนี้ได้ เพราะเราได้รับโอกาสที่ดี ได้รู้จักผู้ใหญ่หลายท่านที่ให้การช่วยเหลือด้วย และทำเต็มที่กับทุกโอกาสที่มีเข้ามา”

     “จุดประสงค์การทำธุรกิจที่แท้จริง เรามองว่านี่อาจจะเป็นชิ้นงานสุดท้ายของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่ได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้ทำประโยชน์ให้กับสังคมเท่านั้นเอง เราอยากทำอาหารที่ดี เป็น Health Solution ให้กับผู้คน คนทั่วไปสามารถกินได้ ผู้ป่วย กลุ่ม NCDs หรือแม้เด็กที่แพ้นมวัวก็สามารถรับประทานได้ ลูกค้าของเราอายุน้อยสุด คือ 8 เดือน ที่แพ้นมวัว ไม่สามารถกินนมแม่ได้ เรามองว่า อาหาร คือ ชีวิต และอาหาร คือ วิทยาศาสตร์ ทุกอย่างล้วนเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น กินอะไรไม่ดีเข้าไป เซลล์ก็ไม่ดี กินดี เซลล์ก็ดี ร่างกายก็ดี”

     “ลองสังเกตดีๆ ตัว X ตรงชื่อแบรนด์ MaxGrainta เราพยายามออกแบบให้คล้ายกับโครโมโซม นมถั่วของเราก็ทำหน้าที่เหมือนน้ำเลี้ยงเซลล์ให้กับผู้คนได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ปราศจากเคมี ซึ่งถ้าเรายิ่งกระจายออกไปได้เท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยคนให้สุขภาพดีได้มากเท่านั้น เหมือนกับสโลแกนของบริษัท “Shining Science Healthier World คือ ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้โลกนี้มีสุขภาพที่ดีขึ้น” นักวิทยาศาสตร์เจ้าของนมถั่วแมคเกรนต้ากล่าวทิ้งท้ายเอาไว้

ข้อมูลติดต่อ

https://www.facebook.com/MaxGrainta

https://www.maxgrainta.com/

โทร. 098 919 2890

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำไมบันไดต้องมีแบรนด์? ฟังเฉลยจาก "ลายวิจิตร" ผู้คิดโซลูชั่นบันไดสำเร็จรูป พาธุรกิจโต 10 เท่า

โดยส่วนใหญ่ในธุรกิจ B2B การสร้างแบรนด์ อาจดูไม่ค่อยมีความจำเป็นมากเท่ากับ B2C ที่ขายปลีกโดยตรงถึงผู้บริโภค ยิ่งเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในงานต่างๆ ตัวอย่างเช่น บันได แต่แล้วทำไม? บันได ต้องมีแบรนด์ ไปดูกัน

คำสารภาพจากแม่ค้าประตูน้ำ ยอมออกจาก Comfort zone สู่โลกออนไลน์ เมื่อความสำเร็จเดิมใช้ไม่ได้อีกต่อไป

ช่วงนี้มักได้ยินเสียงบ่นของพ่อค้าแม่ค้าหนาหูว่า เศรษฐกิจไม่ดีและไม่ใช่เศรษฐกิจไม่ดีแบบธรรมดา แต่เป็นเศรษฐกิจที่แย่สุดๆ รับรู้ได้จากแม่ค้าหลายรายได้โพสต์คลิประบายความในใจจนกลายเป็นไวรัล

บ้านต้นไม้ร้อยหวัน โฮมสเตย์ที่อยากให้คนมาใช้ชีวิตเรียบง่าย กินของพื้นบ้านและนอนฟังสายน้ำ

บ้านพักแนวโฮมสเตย์รักษ์วิถีชุมชน ที่อยากชวนคนให้มาอยู่กับธรรมชาติอย่างเรียบง่าย กินของพื้นบ้านและนอนฟังสายน้ำ รับเฉพาะลูกค้าจองล่วงหน้าเท่านั้น