ดีปาษณะ กับไอเดียแตกไลน์สินค้า จากระดับความสุกของกล้วย สร้างมูลค่าเพิ่มจากศูนย์ สู่ 1,000%

TEXT : Nitta Su.

PHOTO : Jum. S

     

     พูดถึง ‘กล้วย’ ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นพืชวิเศษที่มีประโยชน์มากมาย ใช้ได้ตั้งแต่ราก ใบ ลำต้น หน่อ จนถึงผล เมื่อหมดอายุขัยยังสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยบำรุงดิน ปลูกต้นไม้ขึ้นมาได้อีก นี่คือ ประโยชน์ของกล้วยที่เรารับรู้ได้

     แต่รู้ไหมว่านอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว หากถูกนำมาแปรรูปดีๆ กล้วย เพียง 1 ลูก จากราคาไม่ถึงบาท ก็อาจทำเงินเพิ่มขึ้นมาได้หลายพันเปอร์เซ็นต์

     ไม่ได้ยกเมฆขึ้นมาลอยๆ แต่เรื่องนี้พิสูจน์ได้จริงแล้ว จากแบรนด์ที่มีชื่อว่า Dpasanaa (ดีปาษณะ) ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยแห่งเมืองแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม

เรื่องกล้วยๆ ที่ไม่ได้กล้วย

     ศุภลักษณ์ บัวโรย ประธาน​วิสาหกิจ​ชุมชน​บ้านสบายใจ​ เจ้าของแบรนด์ ดีปาษณะ เล่าให้ฟังว่า เดิมทีเปิดเป็นหน้าร้านขายสินค้าแปรรูปและผลผลิตทางการเกษตรจากชาวบ้านอยู่ที่ตลาดน้ำอัมพวา ใช้ชื่อร้านว่า “บ้านกล้วยอัมพวา” ต่อมาเมื่อเริ่มมีลูกค้าประจำมากขึ้น เมื่อไม่ได้ผลิตสินค้าด้วยตัวเอง ทำให้ควบคุมคุณภาพสินค้าได้ยาก จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นมาในชื่อ “บ้านสบายใจ” และใช้ชื่อแบรนด์สินค้าว่า “ดีปาษณะ” เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ และจดจำได้ง่ายขึ้น  โดยแปลว่า “ลมหายใจที่ดี” เพื่อต้องการผลิตอาหารที่ดีและปลอดภัยสู่ผู้บริโภค รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกร โดยเน้นขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก

     หลังจากตัดสินใจที่จะมาเป็นผู้ผลิต และสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา ศุภลักษณ์ได้ผลิตสินค้าแปรรูปจากกล้วยออกมามากมาย โดยใช้วิธีแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ออกมาให้เหมาะสมตามระดับความสุกของกล้วยที่รับซื้อเข้ามาในแต่ละวัน ถือเป็นการแก้ Pain Point ที่เหมือนยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว นอกจากได้แก้ปัญหาวัตถุดิบที่ไม่เหมือนกัน ยังเป็นการสร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้มีรสชาติดีเหมาะกับผลิตเป็นสินค้านั้นๆ รวมถึงสารอาหารที่ครบถ้วนด้วย

     “แต่ละครั้งเวลาเรารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร กล้วยที่ได้มาแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน บางทีมาดิบบ้าง ห่ามบ้าง สุกบ้าง แต่ก็เข้าใจได้ เพราะเป็นสินค้าธรรมชาติ เราเลยเกิดไอเดียว่าถ้างั้นลองแปรรูปสินค้าที่เหมาะกับระดับความสุกของกล้วยแต่ละลูกด้วยดีกว่า เพราะแต่ละช่วงก็มีจุดเด่นและสารอาหารที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นกล้วยดิบก็แปรรูปเป็นกล้วยผง, เริ่มห่ามขึ้นมาหน่อยก็เป็นกล้วยแว่น สุกขึ้นมาหน่อยก็ทำเป็นกล้วยเส้น ส่วนกล้วยสุกปกติก็เอาไปทำกล้วยอบ กล้วยตาก และถ้าสุกงอมมาก จากแต่ก่อนจะทิ้ง แต่ปัจจุบันเราได้ทดลองทำเป็นไซรัปกล้วยออกมา โดยสกัดเอามาเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำ สุดท้ายเปลือกกล้วยที่เหลือเป็น Waste เราก็นำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์จากกล้วย ทำให้นอกจากจะได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความสุกของวัตถุดิบในแต่ละช่วงแล้ว ยังเป็นการใช้ประโยชน์จากทุกส่วนได้อย่างคุ้มค่า แทบไม่เหลือ Waste ให้ทิ้ง”

นวัตกรรม คือ หัวใจสร้างความแตกต่าง

     อีกสิ่งที่ศุภลักษณ์ มองว่าจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ยั่งยืน คือ การให้ความสำคัญกับงานวิจัย โดยมีงานวิจัยเป็นของตัวเองออกมาหลายชิ้น เพื่อให้ได้สินค้านวัตกรรมใหม่ๆ สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง

     “เมื่อก่อนสินค้าของเราจะเป็นการรับซื้อมาและนำไปขายต่อ ตัวสินค้าที่ขายก็เหมือนที่คนอื่นทำกัน เช่น กล้วยตาก เรามองว่าถ้าทำแบบนั้นต่อไป เราคงไม่สามารถเติบโตได้มากกว่านี้ เลยหันมาให้ความสำคัญกับการทำผลงานวิจัยผลิตภัณฑ์ของตัวเองขึ้นมา เราเป็น SME ตัวเล็กๆ ไม่ได้มีทุนมากมาย แต่ใช้วิธีพยายามเข้าหาหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอคำปรึกษา รวมถึงขอทุนสนับสนุนด้านงานวิจัย โดยทำโปรเจกต์ไปนำเสนอ เราใช้วิธีนี้กับการทำผลิตภัณฑ์มาตลอด

     “การสร้างนวัตกรรม ทำให้เรามีความยั่งยืนในอนาคต เราสามารถสร้างมูลค่าเองได้ กำหนดราคาด้วยตัวเองได้ และสามารถหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เองได้ และความยั่งยืนด้วยการที่มีนวัตกรรมของเอง คนที่จะมาลอกเลียนแบบ หรือเป็นคู่แข่งก็น้อยกว่า โลกสมัยนี้ไม่ใช่แค่ เราขายของอยู่หน้าร้าน แล้วมีร้านข้างๆ ที่อาจขายเหมือนกันอยู่อีก 10 ร้าน แต่ในออนไลน์แค่เปิดตัวออกไป คุณอาจเจอร้านอีกกว่า 3,000 ร้านก็ได้ ที่พร้อมจะเป็นคู่แข่งหรือขายเหมือนคุณ”

เครื่องดื่มกล้วยผง สินค้าพระเอก สร้างการเติบโตกว่าพันเปอร์เซ็นต์

     โดยผลิตภัณฑ์ที่ถือว่าเป็นพระเอกของแบรนด์ ดีปาษณะ ก็คือ “เครื่องดื่มกล้วยผง” อีกหนึ่งงานวิจัยชิ้นสุดยอดของแบรนด์ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีพรีไบโอติกส์ เพื่อเป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์ดีในกระเพาะอาหาร ที่มีชื่อว่า “โพรไบโอติก” นอกจากนี้ยังสามารถละลายได้ดีกว่าแป้งกล้วย หรือผงกล้วยทั่วไปมากถึง 1.9 เท่า

     “ในตอนนั้นที่ทำขึ้นมา ยังไม่มีคำว่า เครื่องดื่มกล้วยผง เกิดขึ้นเลย มีแต่คำว่า “แป้งกล้วย” จึงทำให้เราสามารถขอทุนการวิจัยได้ สิ่งที่ทำให้เราต่างจากกล้วยผงทั่วไป คือ 1.เราสามารถพัฒนากล้วยผง โดยมีงานวิจัยเป็นของตัวเองเลย ไม่ได้ไปเอาเอกสารวิชาการต่างๆ มาอ้างอิง เรามีการนำกล้วยของเราในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ไปตรวจ พบว่ามีสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์ครบทั้งหมด โดยเราใช้วิธีการอบด้วยอุณหภูมิต่ำ ทำให้สามารถดึงความชื้นออกมาได้รวดเร็ว ทำให้สารอาหารแบบพรีไบโอติกส์ไม่ได้ถูกทำลายไป การเลือกระดับความสุกของกล้วยที่เหมาะสมก็ทำให้สามารถละลายได้ง่ายขึ้นกว่าผงกล้วยอื่นๆ ซึ่งตอนนั้นถือว่าโชคดี ที่เราได้รับการสนับสนุนสินค้าเชื่อ SME D Bank เข้ามาช่วยต่อยอดทุนเครื่องจักรแปรรูปพอดี ทำให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สินค้ามีคุณภาพดีขึ้น”

เปิดรับสมัครคู่แข่ง กระตุ้นสินค้าให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

     เหมือนทุกอย่างจะไปได้สวย แต่ศุภลักษณ์เล่าว่า แม้จะมีสินค้าที่ดีแล้วก็ตาม แต่หากไปผิดที่ ผิดเวลา ผลลัพธ์ที่ได้ ก็อาจไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร

     “ครั้งแรกที่ทำเครื่องดื่มกล้วยผงออกมาได้ เราคิดว่าไม่เหมือนใครแล้ว แต่ปัญหา คือ เราดันจับตลาดไม่ถูก ตอนนั้นเราทำการตลาดออฟไลน์เกือบทั้งหมด คือ มีงานไหนให้ไปออกบูธได้ ก็ไป เช่น งานโอทอป กลายเป็นสินค้าแทบขายไม่ได้เลย จนเคยคิดว่าเรามาถูกทางหรือเปล่า กระทั่งได้ไปออกงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ปรากฏว่าเป็นงานแรกๆ เลยที่เราขายสินค้าได้ดี เพราะลูกค้าเขาเข้าใจในสิ่งที่เราทำ เลยทำให้รู้ว่าจริงๆ สินค้าของเราไม่ได้เหมาะกับทุกตลาด ตอนนั้นเราเลยเปลี่ยนมาทำการตลาดออนไลน์ เพื่อสื่อสารกับลูกค้า ทำให้ปัจจุบันรายได้กว่า 90% สำหรับผงกล้วยทุกวันนี้มาจากออนไลน์ ที่เหลือคือ แวะมาซื้อที่หน้าร้าน แต่เขาก็รู้จักเราจากออนไลน์อยู่ดี

     “อีกวิธีที่เรานำมาใช้นอกจากการสื่อสารออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเครื่องดื่มกล้วยผง คือ อะไร ก็คือ ให้กลุ่มคนทั้งหมดเลยที่อยากรู้เรื่องกล้วยผงมาเรียนกับเรา และเราก็สอนเขา เพื่อให้เขาไปทดลองผลิต และบอกคนอื่นว่ากล้วยผง คือ อะไร ให้กระจายออกไปเป็นที่รู้จักมากขึ้น สุดท้ายใครจะขายได้ไม่ได้ ก็มาวัดกันที่คุณภาพอีกที ปัจจุบันเราทำเครื่องดื่มกล้วยผงมา 5 ปี ก็ยังไม่มีใครทำได้แบบเรา การมีคู่แข่งอาจจะน่ากลัว แต่ถ้าไม่มีเลย ก็เหมือนต้องสู้ด้วยตัวคนเดียว ไม่มีคนเปรียบเทียบ สมมติเราเป็นเจ้าตลาดคนเดียวเลย 100% รายได้เดือนละ 1 แสนบาท แต่ถ้ามีคู่แข่ง วงก็จะกว้างขึ้นจนกลายเป็น 1 ล้าน สมมติเราได้แค่ 30% ก็ยังได้ตั้ง 3 แสน เยอะกว่าทำคนเดียวอยู่ดี”

ให้ความสำคัญกับ Data

     นอกจากการนำผลงานวิจัยมาใช้เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจให้แตกต่าง การบริหารจัดการภายในองค์กร ก็ยังพยายามสร้างให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วย

     “ที่นี่เราจะมีการเก็บสถิติการทำงานทุกอย่าง จะมีน้องผู้ช่วยมาช่วยจดให้ว่าในเวลา 1 ชม. จะมีคนปอกกล้วยได้เท่าไหร่ ถ้ามาเฉลี่ย 1 นาทีจะปอกกล้วยได้เท่าไหร่ จากนั้นนำมาคำนวณเป็นต้นทุนในการผลิตเท่าไหร่ ที่สำคัญกว่านั้น คือ ทำให้เราสามารถจัดสรรคนได้ตรงกับงาน ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย เราสามารถรู้ได้ว่าพนักงานแต่ละคนใช้ระยะเวลาในการทำงานแต่ละอย่างอยู่ที่เท่าไหร่ งานไหนที่เขาสามารถทำได้ดีที่สุด ก็เอาไปอยู่ตรงนั้นเลย เราเปลี่ยนพนักงานบ่อยๆ ไม่ได้ แต่สามารถโยกให้ตรงกับความถนัดได้ นอกจากงานมีคุณภาพมากขึ้น เขาก็จะทำงานได้มีความสุขมากขึ้น”

บทสรุปของกล้วยนวัตกรรม

     ปัจจุบันจากการดำเนินธุรกิจโดยใช้นวัตกรรมเป็นธงนำมาตลอด ทำให้สินค้าแปรรูปกล้วยจากแบรนด์ ดีปาษณะ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากกล้วยธรรมดาทั่วไปได้หลายเท่าตัว ศุภลักษณ์ยกตัวอย่างให้ฟังดังนี้

     “ถามว่าจากกล้วยปกติที่ขายตามท้องตลาด พอเอามาทำนวัตกรรมมันเพิ่มมูลค่าเท่าไหร่ ถ้าลองเทียบกันกล้วยปกติ 1 ลูก ราคามาตรฐาน คือ 50 สต. นำมาผลิตเป็นกล้วยอบ เราสามารถขายได้ลูกละ 2 บาท ถ้าผลิตกล้วยเส้น จะขายได้ลูกละ 4 บาท แต่ถ้าเป็นกล้วยแว่นได้ลูกละ 5 บาท กล้วยผง ขายได้ลูกละ 10 บาท โตขึ้นมาประมาณ 1,900% แต่ท้ายสุดสินค้าใหม่ถ้าทำเป็นกล้วยอัดเม็ด (คล้ายนมอัดเม็ด) เราขายได้ กก.ละ 2,000 บาท หมายความว่ากล้วย 1 ลูกขายได้ 20 บาท/ลูก คิดเป็นเปอร์เซ็นต์การเติบโต คือ 3,900% เลยทีเดียว

     “ในช่วงปีแรกๆ ที่เริ่มต้นผลิตเรารับกล้วยเดือนละ 2 หมื่นลูก แต่ ณ ปัจจุบัน คือ 2 แสนลูกต่อเดือน ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกเราเติบโตเกือบ 100% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ปีหน้าเลยตั้งเป้าว่าจะขยายให้ได้ 3 แสนลูกต่อเดือน ปัจจุบันเรามีสมาชิกจดทะเบียน 20 คน ก็คือ 20 ครอบครัว แต่คนที่มาทำงานด้วยรวมเกษตรกรลูกสวน ก็ประมาณ 300 คน ที่มีรายได้จากเรา

     “ถ้าให้พูดจุดเด่นของตัวเอง เรามองว่าเราเป็นกลุ่มผู้แปรรูปกล้วยที่มีการวิจัยของตัวเองเยอะมาก เราอยากเป็น Export ด้านการทำผลิตภัณฑ์จากกล้วยเพื่อสุขภาพ จริงๆ เรามีลงทุนไปเยอะมาก มีที่ลงทุนทำไปแล้ว แต่ยังไม่ออกมาก็มี เช่น สารสกัดพรีไบโอติกส์จากกล้วย เรามีเตรียมทำรอเอาไว้แล้ว แต่ยังไม่ถึงเวลาแล้วปล่อยออกมา ต้องรอจังหวะที่ใช่ จังหวะที่เหมาะสม แต่เราไม่หยุดพัฒนาแน่นอน” ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจ กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้

https://www.facebook.com/baansabuyjai/

https://www.facebook.com/petchbsj

โทร.091 453 9595

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Tala Cocoa คาเฟ่โกโก้รถวินเทจ จุดเช็คอินสุดฮอตเมืองคอน ที่เริ่มต้นจากเก้าอี้ 8 ตัว

หากใครผ่านไปยังตัวเมืองนครศรีธรรมราช คงพอคุ้นหน้าคุ้นตากับคาเฟ่รถกระบะเก่าสีฟ้า ตกแต่งด้วยดวงไฟสีส้ม มีเจดีย์พระมหาธาตุเป็นฉากหลัง ชื่อว่า “Tala Cocoa” ถูกแชร์อยู่บนสื่อโซเชียลหลายช่องทาง อาทิ TikTok, Facebook, IG

ปฏิวัติธุรกิจโรงฟอกหนัง ปั้นแบรนด์ TACTUS หนังเฟอร์นิเจอร์พรีเมียม จับกลุ่ม niche ขายปลีกแบบไม่มีขั้นต่ำ

ในอดีตผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์หนังแท้ ที่คัดสรรวัตถุดิบพรีเมียม อาจสั่งซื้อหนังจากต่างประเทศ เพราะเชื่อว่าคุณภาพดีกว่า ทว่าบางครั้งหนังที่ซื้อจากต่างประเทศ ก็อาจถูกผลิตและส่งออกจากโรงฟอกในบ้านเราเอง  

Succession – ซีรีส์บทเรียนธุรกิจครอบครัว เลือดข้นกว่าน้ำ แต่เงินข้นกว่าเลือด

เลือดข้นกว่าน้ำ แต่เงินข้นกว่าเลือด" คำพูดที่สะท้อนความจริงอันโหดร้ายในซีรีส์ Succession ได้อย่างดี ที่พูดถึงการแย่งชิงอำนาจ ตำแหน่งภายในครอบครัวสามารถสร้างทั้