นคร แขฉายแสง จากแรงบันดาลใจในปรัชญาอิคิไก สู่ CATUP โดมแมวอัปไซเคิล

TEXT : Ratchanee P.

PHOTO: สุนันท์ ล้อสมทรัพย์


     หลายคนเริ่มต้นธุรกิจด้วย Passion ทำในสิ่งที่รัก ด้วยหวังว่าจะเป็นแรงผลักดันให้ก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ และประสบความสำเร็จ แต่ในความเป็นจริงแล้วลำพังแค่ Passion อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เหมือนอย่างที่ นคร แขฉายแสง วิศวกรผู้รักในงานประดิษฐ์ และลองผิดลองถูกกับการปลุกปั้นชิ้นงานต่างๆ เพื่อหวังเติบโตทางธุรกิจพบเจอมาแล้ว แต่ทว่าในวันหนึ่งเมื่อเขาเข้าใจปรัชญาอิคิไกอย่างลึกซึ้ง จึงเริ่มต้นทำธุรกิจอีกครั้งด้วยความมั่นใจ และคาดหวังว่าจะความยื่งยืนในวิถีอิคิไก

เริ่มต้นจากสิ่งที่รัก ค้นหาสิ่งที่โลกต้องการ

     อิคิไก (Ikigai) เป็นแนวคิดที่ว่าด้วยเรื่องของการใช้ชีวิตให้สมดุลและมีคุณค่าของคนญี่ปุ่น โดยอิคิแปลว่าชีวิต และไกแปลว่าคุณค่าทางจิตใจ 

      นคร อธิบายต่อว่าเป็นปรัชญาที่เรียบง่าย ซึ่งจะช่วยให้เราค้นพบตัวเองและสามารถมีความสุขสงบจากสิ่งรอบตัวได้

     “เราอยากตื่นเช้าขึ้นมาทำงานด้วยความสุข มีความรู้สึกอยากไปทำงาน แต่เราขาดเรื่องพวกนี้ไป และพยายามค้นหาสิ่งที่จะมาเติมเต็ม พอผมอายุ 40 เริ่มมองหาการทำธุรกิจที่ยั่งยืน สามารถที่จะหารายได้ได้ตลอด ทำได้จนถึงเกษียณ อย่างเช่น กีฬากอล์ฟ เป็นกีฬาที่คนอายุมากแล้วก็ยังสามารถเป็นโปรได้แข่งขันได้ คนชอบขี่จักรยานเพื่อออกกำลังกายเปิดร้านขายจักรยาน มองว่าคนเหล่านี้น่าอิจฉา ผมพยายามหาคำตอบที่จะมาตกผลึก แต่ขณะเดียวก็สนใจชอบศึกษาปรัชญาอิคิไก มีโอกาสมาเจอชาร์จวงกลมที่อธิบายปรัชญานี้แบบเข้าใจง่ายๆ ก็เลยปิ๊งขึ้นมาว่า อิคิไกสามารถที่จะช่วยคิดธุรกิจขึ้นมาได้ โดยจะต้องเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ได้”

     นคร อธิบายเพิ่มเติมว่า วงกลมที่ว่าคือวงกลมแห่งความสมดุล ประกอบไปด้วย 1.สิ่งที่เรารัก 2.สิ่งที่เราทำได้ดี 3.สิ่งที่เราทำแล้วได้รับสิ่งตอบแทน 4.สิ่งที่โลกต้องการ ซึ่งวงกลมที่ตัดกันจะออกมาเป็น 4 หลักการสำคัญคือ

     1.Passion แรงบันดาลใจ (สิ่งที่เรารัก + สิ่งที่เราทำได้ดี)

     2.Profession ความเชี่ยวชาญ (สิ่งที่เราทำได้ดี + สิ่งที่เราทำแล้วได้รับสิ่งตอบแทน)

     3.Vocation ทักษะ (สิ่งที่โลกต้องการ + สิ่งที่เราทำแล้วได้รับสิ่งตอบแทน)

     4.Mission หน้าที่ (สิ่งที่เรารัก + สิ่งที่โลกต้องการ)

     “อิคิไกมันอยู่ในใจมาตลอดเวลาอยู่แล้ว เรามาทบทวนตกผลึก เรามีบทเรียนจากสิ่งที่เคยทำมาแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เพราะว่ายังขาดบางอย่างอยู่ วงกลมยังไม่ครบ เรารู้ถึงสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราทำได้ดี แต่ยังหาสิ่งที่โลกต้องการไม่เจอ ที่นี่ในช่วงที่กำลังรีเสิร์ชหาว่าจะทำธุรกิจอะไรดี  มีโอกาสไปเดินงานแฟร์เกี่ยวกับ Sustainability มีบริษัทใหญ่ๆ มาออกบูธมากมาย เราเลยมีความคิดว่าถ้าทำสินค้าที่เกี่ยวกับรักษ์โลกความยั่งยืน แล้วมีนวัตกรรมเข้าไปใส่น่าจะมีคนซื้อ เพราะนั่นคือสิ่งที่โลกต้องการ แล้วเป็นสิ่งที่สามารถสร้างรายได้ได้”

     นคร จึงมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าอัปไซเคิล เลือกที่จะทำโดมแมวเพราะว่ารักแมว เป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุขทุกวัน และใช้ความถนัดที่มีพัฒนาเครื่องจักรขึ้นมาได้ในราคาถูก ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะสามารถแข่งขันได้แน่ๆ  

     “ผมเคยสร้างหุ่นยนต์ตัดหญ้า ใช้งานได้ แต่จะขายใคร คนไทยมีแรงงานราคาถูกอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องของโลกต้องการหรือเปล่า ที่ผ่านมาเรายังไปไม่ถึงจุดนั้น เรามีแต่ Passion มีความเชี่ยวชาญความถนัด แต่ตลาดไม่ได้ใหญ่พอที่จะทำรายได้ให้กับเราได้”

สุขแบบช้าๆ ไม่เร่งรีบ

     “เราเป็นมีคนมีลูกบ้าอยู่แล้ว ถ้าไม่ทำโดมแมว ก็เล่นอย่างอื่นเพราะงานอดิเรกคือชอบประดิษฐ์ทดลอง ฉะนั้นก็ไม่ได้คิดในแง่ความเสี่ยงว่าลงทุนไปแล้ว ถ้าขายไม่ได้จะทำยังไง อีกอย่างจริงๆ มีความเชื่อด้วยว่า ถ้าเราทำในสิ่งที่รักไปเรื่อยๆ มันไม่หมดแรงหรอก”

     ด้วยความตั้งใจนคร จึงลงมือพัฒนาสินค้าโดมแมว และปากกาอัปไซเคิลจากฝาขวดพลาสติก โดยรับซื้อเฉพาะฝาขวดจากคนในชุมชนกิโลกรัมละ 20 บาท ขณะที่หากขายขวดพลาสติกจะขายได้แค่กิโลกรัมละ 13 บาทเท่านั้น เพราะมองว่านี่เป็นการตอบแทนชุมชน และเมื่อพัฒนาสินค้าได้จำนวนหนึ่งแล้ว เขาเลือกที่จะไปออกงานสัตว์เลี้ยงเป็นครั้งแรก ซึ่งปรากฏว่าโดมแมวขายไม่ได้เลย แต่กลับขายปากกาได้ถึงหนึ่งหมื่นบาท

     “งาน 3 วัน ขายปากกาด้ามละ 100 บาท ได้ 10,000 บาท ตกใจมาก ส่วนโดมแมวตั้งราคาขายอยู่ที่ 1,500 บาท แต่ขายไม่ได้เลย จริงๆ คิดอยู่แล้วว่าโดมแมวอาจจะขายยาก ผมเลยทำปากกามาขายราคาในราคาถูกกว่าจะได้ตัดสินใจซื้อง่ายๆ ส่วนโดมแมววางไว้ว่าเป็นสินค้า Strategic ของแบรนด์ สามารถดึงดูดความสนใจได้มากกว่าปากกา ในวงการอัปไซเคิลจะทำสินค้าออกมาชิ้นเล็กๆ ชิ้นเดียว เช่น พวงกุญแจ ที่รองแก้ว แต่โดมแมวไม่เคยมีใครทำได้ในโลก เป็นสินค้านวัตกรรมแปลกใหม่ เพราะเราทำเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเอามาต่อกันให้เป็น 3D ด้วยรูปแบบเครื่องจักรที่ทำเอง ไม่ใช่ในลักษณะอุตสาหกรรม”

     นครบอกว่า ตอนนี้องค์กรใหญ่ๆ สั่งปากกาเป็นสินค้าพรีเมี่ยมไปแจกเป็นจำนวนมาก โดยเขาสามารถผลิตปากกาได้สัปดาห์ 400 ด้าม ดังนั้น ถ้าจะสั่งจำนวนมากๆ จะต้องสั่งล่วงหน้าเท่านั้น ซึ่งขณะนี้คิวรออยู่ที่ 1 เดือน เพราะที่ผ่านมาเขาทำทุกกระบวนการเพียงคนเดียว และเครื่องจักรที่พัฒนาขึ้นก็เป็นเครื่องจักรขนาดเล็ก โดยมีเหตุผลคืออยากจะใช้ชีวิตแบบยืดหยุ่น ช้าๆ มีความสุขในแบบอิคิไก มากกว่าการเร่งเติบโตทางธุรกิจ

     “ผมเป็นคุณพ่อต้องไปรับลูกที่โรงเรียนอนุบาล อยากใช้เวลาอยู่กับลูก อยากมีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตและการทำงาน เราไม่ได้มุ่งทำธุรกิจต้องรวยเลยรวยเร็ว แต่เราก็ยังยึดหลักอยู่อย่างคือทำแล้วมีความสุข ช้าๆ หลักของอิคิไกหนึ่งก็คือรู้สึกขอบคุณทุกอย่าง เช่น CallCenter ซึ่งมีวิธีมีหน้าที่แก้ปัญหาลูกค้า ต้องเจอลูกค้าด่าตลอดเวลา ถ้าคิดไม่บวกเลยจะมองว่าวันนี้โดนด่า 30 คน แต่ถ้ามองแบบอิคิไกจะบอกว่าวันนี้เราแก้ปัญหาให้คนได้ 30 คน”

     “ทุกวันนี้มีความสุข อยากตื่นมาทำงานทุกเช้าวันจันทร์ พอใจกับความช้า ผมขอแบบเล็กๆ ช้าๆ ไปก่อน มองแค่ว่าเราสามารถมีเวลาอยู่กับลูก มีเวลาในการประดิษฐ์ที่ชอบ และทำธุรกิจนี้ไปด้วยก็พอ”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

KICKIN' Thailand ธุรกิจก้านไม้หอมสุดลักชูฯ เริ่มต้นโดยเด็กมัธยมที่ปันกำไร 50% ช่วยเหลือสังคม

เพราะอายุไม่ใช่สิ่งที่จะบ่งบอกว่าควรเริ่มต้นธุรกิจตอนไหน กิ๊ก-อมรรัตน์ พรหมพิชิต เริ่มต้นทำธุรกิจครั้งแรกในวัย 13 ปี กับการพรีออร์เดอร์สินค้าจากเกาหลี จากนั้นใช้เงินต่อยอดสู่การเล่นหุ้นจนถึงการปั้นแบรนด์เครื่องหอมสุดลักชูรี่ “KICKIN' Thailand” ตอนที่เธออายุ 17 ปี

"Samarn craft" คราฟต์เบียร์ชาไทยรายแรกที่เตรียมตีตลาดจีน

Samarn Craft แบรนด์คราฟต์เบียร์ชาไทยกำลังจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการคราฟต์เบียร์ไทย ที่ไม่เพียงเป็นเบียร์ถูกกฎหมาย แต่ เจ็น-ชาญชัย รัศมี เจ้าของแบรนด์ Samarn craft ยังมีเป้าหมายที่จะพาคราฟต์เบียร์ชาไทยตัวนี้ไปตีตลาดจีน

D'Art Cafe & Coffee Lab คาเฟ่ในหอศิลป์ จ.นราธิวาส จุดเชื่อมโยงที่อยากให้ผู้คนได้ใกล้ชิดศิลปะ

ในวันนี้ร้านน้ำชา จ.นราธิวาส บางร้านเริ่มถูกดัดแปลงเป็นร้านกาแฟตามยุคสมัย คนรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนผ่านสถานที่รวมตัว D'Art Cafe & Coffee Lab จึงเกิดขึ้นในหอศิลป์ De' Lapae Art Space Narathiwat เพราะอยากจะให้ผู้คนได้ใกล้ชิดศิลปะ โดยมีคาเฟ่เป็นจุดเชื่อมโยง