Text: Neun Cch.
PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์
หากนึกถึงหน่วยงานสักหน่วยงานหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจคงหนีไม่พ้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตลอดระยะเวลา 102 ปีที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าถือเป็นเสาหลักสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจของประเทศไทย โดยมีบทบาทในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการตั้งแต่ขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจไปจนถึงการเลิกกิจการ นอกจากนี้ กรมฯ ยังทำหน้าที่เป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นภาพรวมของภาคธุรกิจไทย
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกรมฯ พบว่ามีนิติบุคคลจำนวนมากที่จดทะเบียนไว้มากกว่า 1.9 ล้านราย แต่มีเพียงประมาณ 9 แสนรายที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่รุนแรงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูง ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีแนวทางและเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถปรับตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ในโอกาสพิเศษเปิดศักราชปีใหม่ SME Thailand มีโอกาสัมภาษณ์ อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าถึงทิศทางของการทำธุรกิจและแนวทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล
4 ปัจจัยทำให้ธุรกิจรอดยุคดิจิทัล
เมื่อพิจารณาสถิติการจดทะเบียนที่มีผู้ประกอบการมาจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลใหม่กว่า 85,000 รายในปี 2566 และตัวเลขการจดทะเบียนก็เพิ่มขึ้นเป็น 9 หมื่นรายในปี 2567 นั้น จากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมานี้อธิบดีฯ ฉายภาพให้เห็นว่าส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการต้องการทำโปรเจ็กต์เพื่อรองรับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจก่อสร้างเมื่อจบโปรเจ็กต์ก็มีการยกเลิกธุรกิจ ในขณะที่ตัวเลขยังสะท้อนถึงการทำธุรกิจปัจจุบันเปลี่ยนไปธุรกิจไม่ปรับตัวตามยุคก็จะรอดยาก
ยกตัวอย่างปัจจุบันมีค้าธุรกิจออนไลน์ ฉะนั้นธุรกิจบางประเภทที่ล้าสมัยก็ไม่อาจแข่งขันได้ต้องปิดตัว นอกจากนี้ปัจจุบันธุรกิจยังมีธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย หากผู้ประกอบการต้องการให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน อธิบดีฯ แนะนำว่าผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับ 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่
ความสามารถในการปรับตัว: โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการต้องพร้อมปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเสมอ การนำเอาเครื่องมือดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ไม่เพียงช่วยลดต้นทุน แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อีกด้วย
ความเข้าใจลูกค้า: การรู้จักลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ การทำความเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า จะช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น
การใช้ข้อมูล: ในยุคดิจิทัล ข้อมูลเปรียบเสมือนทองคำ ผู้ประกอบการควรนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจ การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจคู่แข่งและวางแผนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลทางการฐานธุรกิจที่น่าจะใหญ่ที่สุดในประเทศ
ความยืดหยุ่น: ธุรกิจต้องพร้อมเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน"
ธุรกิจไหนควรไปต่อหรือพอแค่นี้ในปี 2568
จากการวิเคราะห์ข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจเชิงลึก เช่น จำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ ผลประกอบการ (กำไร-ขาดทุน) การเลิกประกอบกิจการพบว่าในปี 2568 ธุรกิจที่ถือว่าน่าจับตาและมีอนาคต 5 ประเภทได้แก่
1. ธุรกิจฟิตแอนด์เฟิร์มมาแรง
จากกระแสคนรักษ์สุขภาพยืนยันได้จากตัวเลขในปี 2566 ธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกายสร้างรายได้รวมกว่า 93,397.82 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ปี 2567 ธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกายเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีการเข้ามาจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 195 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะธุรกิจฟิตเนสและคลาสออกกำลังกายต่างๆ เช่น โยคะ พิลาทิส และการดำน้ำ ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น
2. ธุรกิจท่องเที่ยวบันเทิงกลับมาคึกคัก
จากจำนวนผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนใหม่กว่า 1,976 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 477 ราย สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจการแสดงและกิจกรรมบันเทิงต่างๆ กำลังได้รับความนิยมอย่างมากจากทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
3. ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
ความสนใจในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต ส่งผลธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดกว่า 1,033 ราย เพิ่มขึ้นถึง 21.53% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
4. ธุรกิจอีคอมเมิร์ซโตต่อเนื่อง
นอกจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซแล้วธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซก็เติบโตตามไปด้วย โดยเฉพาะธุรกิจผลิตกล่องกระดาษ ซึ่งมีการเติบโตสูงถึง 77% และธุรกิจคลังสินค้าและขนส่งที่รองรับการค้าข้ามประเทศ (Cross-Border e-Commerce) ก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการเติบโตสูง
5. กลุ่มธุรกิจการผลิตภาพยนตร์
กลุ่มธุรกิจการผลิตภาพยนตร์เป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจ มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล 242 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จำนวน 22 ราย
5 ธุรกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย
จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าในปี 2567 มีธุรกิจหลายประเภทที่ประสบปัญหาการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 5 ธุรกิจต่อไปนี้
1. ธุรกิจการผลิตเหล็ก โลหะมีค่า และอัญมณี ดูเหมือนจะแผ่วลง เมื่อจำนวนการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ลดลงถึง 18 รายในปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความผันผวนของตลาดโลกและการแข่งขันที่สูงขึ้น
2. ธุรกิจร้านค้าส่งค้าปลีกแบบออฟไลน์ เผชิญหน้ากับคู่แข่งรายใหญ่จากอีคอมเมิร์ซ ทำให้จำนวนการจดทะเบียนใหม่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
3. ธุรกิจสื่อและการประชาสัมพันธ์แบบออฟไลน์ "ยุคดิจิทัลเข้ามาดิสรัปต์วงการสื่ออย่างหนัก ทำให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และโฆษณาแบบดั้งเดิมต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัว
4. ธุรกิจแปรรูปสินค้าทางการเกษตร: "แม้ว่าภาคการเกษตรจะเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ แต่ธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตรกลับเผชิญกับปัญหาการแข่งขันและมาตรฐานที่สูงขึ้น"
5. ธุรกิจตัวแทนและนายหน้า: "การเติบโตของเทคโนโลยีทำให้ธุรกิจตัวแทนและนายหน้าหลายประเภทค่อยๆ หายไป โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขายประกันและอสังหาริมทรัพย์"
3 พันธกิจ
เสริมแกร่งผู้ประกอบการไทย
อย่างไรก็ดีเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้มแข็งขึ้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มุ่งตอบสนองผู้ประกอบการธุรกิจใน 3 ด้านดังนี้
1. เน้นการจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจดทะเบียนใหม่ แก้ไขข้อมูล หรือยกเลิกระบบบริษัท ได้อย่างสะดวกสบายผ่านระบบออนไลน์
นอกจากนี้ กรมฯ ยังให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานราชการอื่นๆ เพื่อลดภาระของผู้ ประกอบการที่ต้องเดินทางไปขอเอกสารหลายแห่ง ตัวอย่างเช่น กรมฯ ได้เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอย่าง อย. และกรมที่ดิน ทำให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องนำเอกสารจากกรมฯ ไปยื่นซ้ำอีกต่อไป
ผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดคือ ปัจจุบันมีหน่วยงานราชการกว่า 22 แห่ง จากทั้งหมด 74 แห่ง ที่ประกาศยกเลิกการเรียกรับเอกสารนิติบุคคลจากประชาชน ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการอย่างมาก
2. ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ เร่งพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจไทยให้แข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ใช้องค์ความรู้ที่เป็นเทรนด์การตลาดโลกมาส่งต่อให้กับผู้ประกอบการได้ใช้ปรับตัว อาทิ เช่น แนวคิด ESG และโมเดลเศรษฐกิจ BCG พร้อมต่อยอดโครงการพัฒนาธุรกิจให้เข้มแข็ง อาทิ e-Learning โดย DBD Academy, Digital Village, Smart โชห่วย Plus และ Local มีดี
3. สร้างธรรมาภิบาลธุรกิจ ให้ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจสีขาวตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธรรมาภิบาลธุรกิจ ที่สำคัญคือการกำกับดูแลธุรกิจให้ดำเนินการภายใต้กฎหมายอย่างถูกต้อง และทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างใกล้ชิดเพื่อการป้องปรามพฤติกรรมนอมินิหรือธุรกิจอำพราง ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้มอบหมายให้กรมฯ เร่งแก้ไข
“ปี 2568 กรมพัฒนาธุรกิจเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอการพยายามสรรหาโครงการดีๆ มาช่วยเหลือ SME อาทิ เปิดสอนวิชาใหม่เกี่ยวกับการนำ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างไร น่าจะเปิดช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 หรือการสอน SME ให้เป็น อินฟลูเอ็นเซอร์ ขณะเดียวกันพยายามหาตลาดให้ SME พาออกงานแฟร์ จับคู่ธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตอย่างแข็งแรกร่ง” อรมน กล่าวทิ้งท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี