Caffe Pralet คาเฟ่ที่เปลี่ยนมือจากแม่สู่ลูก Success เพราะยกเลิกเมนูเก่า เหลือ 2 เมนูเด็ด

เรียบเรียง : Phan P.  


     หากกิจวัตรประจำวันของคุณคือการเลื่อนดู TikTok เป็นเวลานานหลายชั่วโมง นั่นหมายความว่าคุณน่าจะเคยพบกับโดนัทรูปสี่เหลี่ยมของ Caffe Pralet บนฟีดบ้างอย่างแน่นอน

    โดนัทของ Caffe Pralet เปิดตัวครั้งแรกในปี 2023 แต่เป็นที่รู้จักและโด่งดังมากจากวิดีโอ TikTok ของลูกค้ารายหนึ่ง จนทำให้เกิดกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม ลูกค้าต้องรอนานถึง 2 วันเมื่อสั่งบนออนไลน์ แถมยังมีคนเข้าคิวยาวเหยียดอยู่นอกร้านกาแฟแห่งนี้อีกด้วย

     นอกจากโดนัทสุดฮิตแล้ว ร้านนี้ยังดึงดูดลูกค้าด้วยแซนด์วิช ที่ว่ากันว่าเป็น 2 เมนูเด็ดของที่นี่ แต่กระนั้น หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ Caffe Pralet ก็เป็นที่รู้จักในเรื่องขนมอบ เค้ก และอาหารจานต่างๆ ด้วยเป็นร้านกาแฟซึ่งเปิดมานานกว่า 19 ปี แต่เมื่อทิมโมธี เจีย ผู้เป็นลูกชายตัดสินใจเข้ามารับไม้ต่อ Caffe Pralet ก็กลายมาเป็นสถานที่แฮงเอาท์ยอดนิยมของเหล่าฮิปสเตอร์ในสิงคโปร์นับแต่นั้นเป็นต้นมา

จากไม่เคยมีจุดขายจริงๆ สู่จุดเปลี่ยนความเรียบง่าย

     Caffe Pralet เปิดเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดย จูดี้ โคห์ แม่ของทิมโมธี โดยทำธุรกิจที่หลากหลายมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น เค้กสำหรับงานแต่งงาน การจัดเลี้ยง เบอเกอรี่ หรือแม้แต่แกงไก่ ข้าวหน้าต่างๆ และอีกมากมาย ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า Caffe Pralet มีปัญหาในการสร้างจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์ (Unique Selling Point-USP) และโดดเด่นท่ามกลางร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีการแข่งขันสูงของสิงคโปร์

     ขณะเดียวกัน ทิมโมธี ที่ใช้ชีวิตด้วยการสอนทำอาหาร และทำ Private Dining อยู่ที่เม็กซิโก ต้องเดินทางกลับสิงคโปร์เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 และเมื่อเห็นแม่ของเขาต้องดิ้นรนเพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ จึงตัดสินใจก้าวเข้ามารับไม้ต่อในธุรกิจนี้ โดยเขาเสนอไอเดียและกำหนดทิศทางของ Caffe Pralet ใหม่ 

     “ที่เม็กซิโก ร้านทาโก้หลายแห่งมักจะมีลูกค้าแน่นเสมอ นอกจากความจริงที่ว่าชาวเม็กซิกันชื่นชอบทาโก้แล้ว ก็เข้าใจชัดเจนอีกว่าการที่มีคนมาทานมากมายตลอดเวลาก็เพราะมีตัวเลือกให้เลือกไม่มากนัก ถ้าเป็นร้านขายหมู พวกเขาจะขายหมูทุกอย่าง ถ้าเป็นร้านขายไก่ พวกเขาจะขายไก่ทุกอย่าง และถ้าเป็นร้านขายเนื้อวัว… คุณคงเดาได้ว่าพวกเขาขายอะไร”

     นอกจากนี้ จากการศึกษาร้านอาหารจานด่วนที่ประสบความสำเร็จในสิงคโปร์ เช่น Subway, Guzman Y Gomez และ McDonald's ทำให้เขาตระหนักว่า แนวทางการทำงานที่ถูกกำหนดขึ้นให้เป็นมาตรฐานในกระบวนการต่างๆ นั้น (Standard Operating Procedure-SOP) มีความสำคัญต่อความสามารถในการเติบโตและขยายตัวไปทั่วประเทศ

     ดังนั้น  ทิมโมธีจึงตัดสินใจว่า Caffe Pralet จะกลายมาเป็นร้านที่จำหน่ายเพียง 2 เมนูเท่านั้น นั่นก็คือ โดนัทและแซนด์วิช

ลูกค้าประจำอยากได้เมนูเก่ากลับมา

     ต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เมื่อมองย้อนกลับไป ทิโมธีเล่าว่าการตอบรับในเวลานั้นไม่ค่อยดีนัก ลูกค้าประจำยังต้องการเมนูเก่าอย่างข้าวหน้าต่างๆ และพาสต้า แม้ร้านจะทำโปรโมชันเพื่อกระตุ้นให้ลองเมนูใหม่ๆ ก็ตาม

     อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้าร้านกาแฟแห่งนี้ก็เริ่มดึงดูดลูกค้ากลุ่มอื่นๆ เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือชาวต่างชาติ ด้วยย่าน Tiong Bahru ได้กลายเป็นสถานที่ที่มีชาวต่างชาติมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และคนส่วนใหญ่เป็นก็ชอบกินแซนด์วิช

     “แม้ว่าเราจะสูญเสียลูกค้าที่กินข้าวและพาสต้าไปบางส่วน แต่เราได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ซึ่งถือเป็นเรื่องดีเพราะคนเหล่านี้เป็นเพื่อนบ้านที่อยู่รอบๆ เรา  ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะมาร้านของเราบ่อยขึ้นด้วย”

 โดนัทสี่เหลี่ยมสร้างยอดขายเพิ่มสิบเท่า

     หลังจากกลายเป็นกระแสไวรัลจากโดนัทรูปทรงสี่เหลี่ยม Caffe Pralet ก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างมาก จากเดิมที่สามารถขายโดนัทได้ไม่ถึง 40 ชิ้นต่อวัน แต่จู่ๆ ก็เพิ่มเป็นสิบเท่า

     เพื่อรับมือกับออร์เดอร์ที่ล้นหลามนี้ Caffe Pralet จึงขอให้ลูกค้าสั่งโดนัทล่วงหน้า เพื่อจะได้ผิดหวังกลับไป นอกจากนี้ ยังประกาศเวลาทอดโดนัทที่ชัดเจน 2 เวลา ดังนั้นลูกค้าจะรู้ล่วงหน้าว่าโดนัทชุดต่อไปจะออกเมื่อใด  

     แต่เนื่องจากความต้องการยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง Caffe Pralet จึงได้เพิ่มจำนวนพนักงาน และขยายกำลังการผลิตเพื่อให้ทันต่อความต้องการมากขึ้น 

     ทิโมธียังเปิดเผยด้วยว่าร้านกาแฟแห่งนี้เตรียมที่จะได้รับเครื่องทอดโดนัทอัตโนมัติ ซึ่งเป็นเป้าหมายในการเพิ่มผลผลิตและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ไม่อยากให้ Caffe Pralet เป็นเพียงกระแสไวรัล

     ปัจจุบัน ธุรกิจนี้อยู่ภายใต้การนำของ ทิมโมธี และ เจเรมี ผู้เป็นพี่เขย โดยทิโมธีเปิดเผยว่าในปัจจุบัน Caffe Pralet มีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่วิสัยทัศน์ของเขาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความสำเร็จในระยะสั้นเท่านั้น

     เขาไม่ต้องการให้ Caffe Pralet เป็นเพียงกระแสไวรัลเท่านั้น แต่ต้องการให้แบรนด์นี้คงอยู่ยาวนาน เป็นแบรนด์ที่ผู้คนคุ้นเคย และเป็นแบรนด์ที่รักษาคุณภาพและมาตรฐานไว้ได้เสมอ

     ที่สำคัญ Caffe Pralet ยังมีเป้าหมายที่จะขยายกิจการไปยังต่างประเทศ แม้ว่าก่อนหน้านี้ Caffe Pralet เคยเปิดสาขาในจาการ์ตา แต่จำเป็นต้องปิดตัวลงหลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของ COVID-19  ก็ตาม

ที่มา : https://vulcanpost.com

Photo Credit : Facebook caffepralet

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน