Break Away ไขปริศนาห้องลับ เพื่อคนรักความตื่นเต้น

 





เรื่อง : ยุวดี ศรีภุมมา
ภาพ : กฤษฎา ศิลปไชย



    ถ้าหากจะพูดถึงแฟรนไชส์ที่นิยมกันอยู่ในขณะนี้ หลายคนคงนึกถึงแฟรนไชส์ร้านอาหาร คีออสร้านค้า ร้านขายเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเทรนด์ร้านกาแฟที่กำลังมาแรง รวมไปถึงโรงเรียนกวดวิชาต่างๆ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันนี้ได้มีอีกหนึ่งแฟรนไชส์รูปแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย นั่นคือ “Break Away” 

    “Break Away” เป็นสถานที่เล่นเกมไขปริศนาในห้องลับที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเกมสุดฮิตที่กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก ซึ่งมีแหล่งกำเนิดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้ก่อตั้งหนุ่มสาวไฟแรงทั้งสองของ Break Away นั่นคือ “นี้” หรือ “ดวงดี หงรัตนากร” ที่ได้ร่วมก่อตั้งกับเพื่อนชาวฮ่องกง “ทักกี้ เลา” ได้บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของไอเดียในการนำเอาเกมไขปริศนาห้องลับดังกล่าวเข้าสู่ประเทศไทยว่า เริ่มจากทักกี้ได้ชวนให้เธอลองเล่นเกมไขปริศนาห้องลับที่ฮ่องกง ผลปรากฏว่า นี้เกิดความชื่นชอบในเกมเป็นอย่างมาก จนได้เริ่มพูดคุยกับทักกี้ในการเริ่มต้นธุรกิจที่ประเทศไทยร่วมกัน

 



    “ตอนนั้นได้เล่นเกมที่เป็นด่านเกี่ยวกับรถไฟใต้ดินในฮ่องกง พอเราเล่นแล้วรู้สึกว่าเจ๋งมาก และเกมแบบนี้ยังไม่เคยมีที่ประเทศไทย เลยมาคุยกันว่า อยากให้คนไทยได้รู้จัก มีโอกาสเล่นเกมประเภทนี้ โดยปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวัฒนธรรม และสังคมไทยเพื่อให้คนไทยรู้สึกอิน ซึ่งน่าจะเหมาะกับคนไทยที่ชอบความตื่นเต้นและความแปลกใหม่”

 



    จากปี 2556 ที่เริ่มต้นด้วยไอเดียเล็กๆ นี้ ทักกี้ใช้เวลาประมาณครึ่งปีในการสร้างสรรค์และปลุกปั้นให้ Break Away ออกมาเป็นรูปร่าง ด้วยพื้นที่กว่า 180 ตารางเมตรที่ลิโด้ ย่านศูนย์รวมแหล่งวัยรุ่นอย่างสยามสแควร์ โดยมีห้องปริศนา 4 ห้อง และจะปรับเปลี่ยน Theme ของห้องทุกๆ 1-2 เดือน เพื่อความสดใหม่อยู่เสมอ มีจำนวนห้องที่เคยสร้างมาแล้วทั้งหมด 12 ห้อง 3 Season เช่น ห้องบ้านแม่มด ห้องฆาตกรคือใคร ห้องผจญเพลิง ห้องกองกอย เป็นต้น ในแต่ละห้องล้วนเต็มไปด้วยปริศนาที่ผู้เล่นต้องเข้ามาแก้ไข ทั้งยังถูกกดดันจากบรรยากาศ แสงสีเสียงที่ล้อมรอบ จนลูกค้าที่เข้ามาเล่นเกมต่างติดใจไปตามๆ กัน ซึ่งเกมไขปริศนาห้องลับนี้ จะมีหลักการเล่นที่ไม่ซับซ้อน นั่นคือ ผู้เล่นจะถูกขังอยู่ในห้องเป็นเวลา 45 นาที โดยภายใน 45 นาทีนั้น ผู้เล่นจะต้องไขปริศนาเพื่อออกจากห้องขัง ไม่ว่าจะเป็นการหาทริกที่ซ่อนไว้ตามรูปภาพ หากุญแจ หารหัส ซึ่งทุกอย่างในห้องอาจเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่จะพาคุณออกไปจากห้องก็เป็นได้ 

 


    แต่ด้วยความที่ทางทีมงานมีจำนวนจำกัด และ Break Away ยังสามารถสร้างห้องได้เพียงครั้งละ 4 ห้องเท่านั้น และด้วยความที่ทักกี้หนึ่งในผู้ก่อตั้งเป็นชาวฮ่องกงจึงอาจมีขีดจำกัดบางประการในการเข้าถึงวัฒนธรรมบางอย่างของคนไทยและอาจไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียในการทำให้ Break Away กลายเป็นธุรกิจแบบ
แฟรนไชส์ เพราะคนไทยน่าจะมีความเข้าใจถึงความชอบของคนในท้องถิ่นและทำให้ถูกใจคนไทยด้วยกันเองได้มากกว่า
 




    “ผมคิดว่า Break Away น่าจะเป็นความแตกต่างของแฟรนไชส์ที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งปกติจะเป็นร้านอาหาร หรือเครื่องดื่ม แต่ Break Away จะต่างออกไป โดยเหตุผลสำคัญที่อยากทำให้ Break Away กลายเป็นแฟรนไชส์ เพราะผมคิดว่าคนไทยชอบความแปลกใหม่ ตื่นเต้น ท้าทาย ซึ่งหากแฟรนไชซีเป็นคนไทยน่าจะสามารถเข้าถึงวัฒนธรรมไทยว่าทำอย่างไรคนไทยจึงจะชอบ หรืออินกับเกมได้ดีกว่าผมซึ่งเป็นคนฮ่องกง อีกประการหนึ่งคือ การมีแฟรนไชส์จะสามารถทำให้ห้องปริศนามีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพราะสาขาของเราเองทำได้มากสุดเพียงแค่ 4 ห้องเท่านั้น” ทักกี้กล่าว

 



    สำหรับรายละเอียดของแฟรนไชส์ Break Away ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนจะต้องมีการชำระค่า Admission Fee จำนวน 500,000 บาท ซึ่งภายในจำนวนนี้แฟรนไชซีจะได้รับสิทธิ์ในการใช้เครื่องหมายการค้าของ Break Away และระบบฐานลูกค้า รวมถึง Software ของระบบบัตรสมาชิก และที่สำคัญคือ ทางทีมงาน Break Away จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาและคอยช่วยเหลือในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเฟ้นหาสถานที่ โลเกชั่น การก่อสร้าง การตกแต่งภายในสถานที่ รวมถึงการออกแบบห้องปริศนา การคิดทริกและปริศนาภายในห้อง อีกทั้งยังมีการเทรนนิ่งพนักงานโดยพนักงานผู้เต็มไปด้วยประสบการณ์ทำงานของ Break Away อีกด้วย 

 




    โดยรูปแบบแฟรนไชส์ของ Break Away ในปัจจุบันยังคงมีรูปแบบเดียว นั่นคือโมเดลที่ 500,000 บาท แต่อาจจะยืดหยุ่นตามแต่ขนาดของสถานที่ที่แฟรนไชซีต้องการก่อสร้าง โดยแฟรนไชซีจะต้องเป็นผู้รองรับค่าใช้จ่ายในส่วนของการก่อสร้างและการตกแต่งด้วยตนเอง ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท เหมือนกับการสร้างบ้านหนึ่งหลัง โดยทาง Break Away ได้แนะนำขนาดของสถานที่ขั้นต่ำคือ 180 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งจะสามารถก่อสร้างห้องปริศนาได้ประมาณ 4 ห้องเช่นเดียวกับ Break Away แต่หากมีขนาดสถานที่มากขึ้น จะได้จำนวนห้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สำหรับโลเกชั่นที่ทาง Break Away แนะนำสำหรับแฟรนไชซี นั่นคือ ย่านลาดพร้าว หรือย่านที่เป็นแหล่งรวมคน รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมือง เช่น หัวหิน พัทยา เชียงใหม่
 




    สำหรับในอนาคตทาง Break Away ยังคงมองว่าการขยายสาขาโดยระบบแฟรนไชส์จะช่วยทำให้ Break Away มีการเติบโตได้มากยิ่งขึ้น และสิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การเฟ้นหาทีมเวิร์กที่จะเข้ามาช่วยกันทำให้ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จและ Win-Win ด้วยกันทั้งในส่วนของ Break Away และแฟรนไชซี


 


    สุดท้าย ผู้บริหารทั้งสองได้แนะนำสำหรับผู้ที่จะเข้ามาลงทุนกับ Break Away ว่า อันดับแรกควรจะต้องเป็นผู้ที่มีความชื่นชอบและสนใจในตัวเกมของ Break Away เพราะจะทำให้การทำธุรกิจเป็นมากกว่าการแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่จะได้ทั้งความสุข ความสนุกสนานที่มาจากตัวเกม อีกทั้งยังได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และไอเดียใหม่ๆ ในการทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ Break Away ของคุณมีความสดใหม่อยู่เสมอ


 



ลงทุนแฟรนไชส์ Break Away

งบการลงทุนรวม : ประมาณ 2 ล้านบาท 

แบ่งเป็น ค่า Admission Fee 500,000 บาท ค่าก่อสร้างตกแต่ง 1.5 ล้านบาท 

เงื่อนไข : แฟรนไชซีต้องมีคุณสมบัติพร้อมที่จะรับผิดชอบในส่วนของการตกแต่งก่อสร้าง และค่าเช่าพื้นที่ 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.breakaway.co.th หรือ www.facebook.com/breakaway.thai
โทร. 08-8497-6185 

    
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี


RECCOMMEND: FRANCHISE

3 แฟรนไชส์ ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดัง น่าลงทุน ปี 2023

หนึ่งในร้านอาหารที่ติด Top 3 ที่คนค้นหามากที่สุด คือ ก๋วยเตี๋ยว วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 3 แฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดังที่น่าลงทุน ปี 2023 พร้อมราคาแฟรนไชส์มาฝากกัน

3 ไอเดียทำร้านแฟรนไชส์ 5 ปี ขยายกว่า 750 สาขา สไตล์ Otteri ร้านที่เป็นมากกว่าแค่ที่ซักผ้า

ในสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย กลยุทธ์หนึ่งของการทำธุรกิจที่ใช้มัดใจลูกค้าได้ดี ก็คือ ให้มากกว่าที่ลูกค้าคิดว่าจะได้รับ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปไหน เหมือนกับคอนเซปต์ของแบรนด์ Otteri Wash & Dry แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก 24 ชั่วโมงที่เปิดดำเนินธุรกิจมาได้ 5 ปี มีสาขาแล้วกว่า 750 แห่งทั่วประเทศ

อยากต่อยอดธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ขยายกิจการให้โต SME ต้องทำอย่างไร?

หนึ่งในโมเดลที่หลายคนให้ความสนใจในการขยายธุรกิจคือ การแปลงธุรกิจของตัวเองให้กลายเป็น “แฟรนไชส์” แต่หลายคนอาจสงสัยว่า การทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ต้องทำอย่างไร?