Teddy House การเดินทางของแฟรนไชส์บ้านตุ๊กตาหมี







เรื่อง : ยุวดี ศรีภุมมา
ภาพ : กฤษฎา ศิลปไชย



    กว่า 17 ปีมาแล้วที่คนไทยได้เริ่มรู้จักกับ Teddy House แบรนด์ที่เข้ามาทำให้ตุ๊กตาหมีมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากเปิดตัวได้ไม่นาน Teddy House ก็ได้รับความสนใจจากลูกค้าคนไทยมากมาย พร้อมๆ กับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ จนถึงวันนี้สามารถขยายสาขาได้ทั้งในและต่างประเทศ


    จากการเปิดเผยของ ปิตุภูมิ หิรัณยพิชญ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เท็ดดี้ เฮ้าส์ จำกัด ได้ย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นและการเดินทางของธุรกิจตุ๊กตาหมี โดยบอกว่า จากเดิมในยุคคุณแม่ซึ่งทำโรงงานผลิตตุ๊กตาผ้าขน ทำในรูปแบบของการรับจ้างผลิต หรือ OEM เมื่อเวลาผ่านไป จีนเริ่มเข้ามาเป็นคู่แข่งและเกิดเป็นสงครามราคาขึ้นมา ซึ่งในเวลานั้นบริษัทไม่ต้องการที่จะแข่งขันด้วยเรื่องของราคา เพราะด้วยสินค้าที่เน้นความมีคุณภาพและผ่านมาตรฐานของยุโรป จึงมองถึงการสร้างแบรนด์ของตัวเอง และโดยส่วนตัวของคุณแม่ซึ่งชื่นชอบตุ๊กตาหมีเป็นทุนเดิม ฉะนั้นเวลาที่ผลิตตุ๊กตาหมีออกมา ผลงานจะดูดีกว่าแบบอื่นๆ และนั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการทำแบรนด์ Teddy House ขึ้นมาเมื่อ 17 ปีที่แล้ว



 

    จนกระทั่งเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ปิตุภูมิ ในฐานะทายาทธุรกิจได้ก้าวเข้ามารับช่วงบริหาร Teddy House พร้อมทั้งนำเอารูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์เข้ามาจับกับธุรกิจตุ๊กตาหมีที่มีอยู่ จนทำให้แบรนด์ Teddy House ขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศไทย รวมถึงต่างประเทศ


    “เราไม่ได้เติบโตมาจากเงินถุงเงินถัง แทบจะไม่มีเงินทุนเลย เพราะฉะนั้นการที่จะขยายเองเป็นสิบๆ สาขาคงเป็นไปไม่ได้ เรามองว่าการที่นำรูปแบบแฟรนไชส์เข้ามาจะทำให้เราขยายได้รวดเร็วมากขึ้น และจะสามารถขยายไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย จะเห็นได้ว่า 8 ปีที่ผ่านมา เราสามารถขยายแฟรนไชส์ได้ถึง 3 ประเทศ นั่นคือ ไทย อินโดนีเซีย และจีน สำหรับแฟรนไชส์ในประเทศไทย เราจะเน้นที่หัวเมืองต่างจังหวัด ตามภูมิภาคต่างๆ ส่วนในกรุงเทพฯ เราขยายด้วยตัวบริษัทเอง เราเริ่มพัฒนาธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์มาตั้งแต่ตอนนั้น คนจะชอบคิดว่าแฟรนไชส์จะต้องใหญ่ ลงทุนเป็นสิบล้าน แต่ความจริงแล้วแฟรนไชส์ คือ การ Set Up ความรู้ของคุณขึ้นมา เหมือนการเขียนตำราหนึ่งเล่ม แล้วมีคนสนใจ คุณก็ขายให้เขา เทรนนิ่งให้เขาแค่นั้นเอง”


 

    สำหรับปัจจุบัน Teddy House มีแฟรนไชส์ในประเทศไทยทั้งหมดถึง 30 สาขา และที่ประเทศอินโดนีเซีย 14 สาขา ประเทศจีนอีก 2 ขาสา โดยปิตุภูมิได้เล่าถึงเส้นทางของการขยายแฟรนไชส์ไปในต่างประเทศ เริ่มต้นประเทศแรกคือ เวียดนาม แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี 

 


    “หลังจากที่เราเริ่มขยายแฟรนไชส์ในประเทศไทยได้ไม่นาน เราก็เริ่มเข้าสู่ตลาดเวียดนาม ตอนนั้นมีด้วยกันถึง 4-5 สาขา แต่ด้วยอุตสาหกรรมค้าปลีกของเวียดนามแตกต่างจากบ้านเราพอสมควรเลยทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ และด้วยไลฟ์สไตล์ของคนเวียดนามยังแตกต่างจากเราพอสมควร เวลาซื้ออะไรสักอย่าง เขาจะคิดก่อนแล้วค่อยตรงไปร้านนั้น จะไม่ใช่การเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าเหมือนคนไทย จากนั้น 2 ปีต่อมา เราจึงเข้าตลาดอินโดนีเซียและประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะพฤติกรรมเขาใกล้เคียงกับคนไทย โดยเฉพาะในจาการ์ตา ที่เรียกได้ว่าเป็นเมืองแห่ง Shopping Mall ซึ่งมีเป็นร้อยๆ แห่ง ตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับบน ทุกคนใช้ชีวิตตั้งแต่เช้าจนถึงตี 2 อยู่ในห้างสรรพสินค้า ขนาดผับยังอยู่ในนั้น ทำให้เราไปได้ดีในอินโดนีเซีย”
 


    นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจสำหรับ Teddy House ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีอยู่ในแผนมาก่อน นั่นคือประเทศจีน ปิตุภูมิยอมรับในเรื่องนี้ว่า เมื่อก่อนค่อนข้างกังวลในเรื่องของ Trademark และการก๊อบปี้ 


    “เราไม่เคยมีแผนในการขยายแฟรนไชส์เข้าประเทศจีนมาก่อน แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งคือ เราได้รับฟังมุมมองจากนักธุรกิจคนจีนรุ่นใหม่ เขารู้ว่าเราค่อนข้างกังวลในเรื่องนี้ เขาแสดงมุมมองว่า เวลาที่คนจีนจะก๊อบปี้สินค้า จะก๊อบปี้สินค้าระดับ Hi-Ended ที่มีราคาแพง จากกระเป๋าราคาเป็นแสน พอก๊อบปี้แล้วเหลือแค่หลักพัน แต่ถ้าสินค้าอย่างตุ๊กตาหมี ราคาไม่แพงมาก ผู้บริโภคก็มองว่าสินค้าราคาแค่นี้ ซื้อของแท้ ฉันซื้อได้ และถ้าเขาจะก๊อบปี้ก็ไม่คุ้ม เพราะ Margin ไม่ได้ห่างกันมากมาย อีกอย่างคือ ในช่วงนั้นมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาซื้อของร้านเราค่อนข้างเยอะ อย่าง ภูเก็ต เชียงใหม่ มีแต่ลูกค้าจีน ทำให้เราตัดสินใจเปิดสาขาแรกที่จีนเมื่อปีที่แล้วและปีนี้อีกหนึ่งสาขา ตอนนี้เราก็ดีใจมากสำหรับการขยายแฟรนไชส์ที่จีน”

 

    สำหรับการขยายธุรกิจ Teddy House ในรูปแบบของแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศ หรือต่างประเทศ จะทำในลักษณะที่เรียกว่า Single Unit กล่าวคือ จะไม่ได้ขายในรูปแบบมาสเตอร์แฟรนไชส์ที่ให้สิทธิคนใดคนหนึ่งในการขยายสาขา แต่จะเป็นในลักษณะให้สิทธิ 1 คนต่อ 1 สัญญา หมายถึงว่า ถ้านักลงทุนเดิมที่ลงทุนแฟรนไชส์ไปแล้ว อยากที่จะขยายสาขาเพิ่ม ก็ต้องทำสัญญาใหม่ทุกครั้ง โดยเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 1,000,000-1,500,00 บาท อีกทั้งไม่ได้จำกัดพื้นที่จะต้องเป็นในห้างสรรพสินค้าเท่านั้น แต่สามารถตั้งอยู่แบบ Stand Alone ก็ได้ โดยจะมีทีมเข้าไปดูสถานที่ตั้งว่าเหมาะสมหรือไม่ และแฟรนไชซีจะได้รับการเทรนนิ่งเรื่องของกลยุทธ์การขาย การจัดร้าน มีการช่วยเหลือในเรื่องของภาพรวมด้านMarketing และมีการแนะนำเรื่องของ Local Marketing อีกด้วย สำหรับแฟรนไชซีที่จะเข้ามาร่วมลงทุนกับ Teddy House นั้น จะต้องเป็นคนที่สามารถลงมือทำได้จริงไม่ใช่มีเพียงแค่เงินลงทุนอย่างเดียว แต่ต้องมีใจรักด้วย 

 


    อย่างไรก็ดี สำหรับทิศทางในอนาคตนั้น การขยายแฟรนไชส์จะเน้นไปที่ตลาดต่างประเทศมากกว่า เนื่องจากมองว่า ยังมีโอกาสอีกมากที่จะทำให้ Teddy House เติบโต ส่วนตลาดในประเทศ ปิตุภูมิกล่าวว่า จะมุ่งเน้นในเรื่องของการขาย Licensing หรือคาแร็กเตอร์ของหมี Teddy House ให้กับแบรนด์ต่างๆ เพื่อนำไปอยู่บนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ อีกทั้งจะมีการทำ Show Exhibition, Museum ไปจนถึง Theme Park โดยหวังว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะสะท้อนกลับมาช่วยกระตุ้น Retail ได้อีกทางหนึ่ง

 

รายละเอียดแฟรนไชส์

ขนาดพื้นที่ : 25-45 ตารางเมตร
Franchise Fee : 300,000 บาท 
เงินลงทุนเบื้องต้น : 1,000,000-1,500,000 บาท
Royalty Fee : 3 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย 
Marketing Fee : 2 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย 
ระยะสัญญา : 5 ปี 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FRANCHISE

3 แฟรนไชส์ ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดัง น่าลงทุน ปี 2023

หนึ่งในร้านอาหารที่ติด Top 3 ที่คนค้นหามากที่สุด คือ ก๋วยเตี๋ยว วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 3 แฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดังที่น่าลงทุน ปี 2023 พร้อมราคาแฟรนไชส์มาฝากกัน

3 ไอเดียทำร้านแฟรนไชส์ 5 ปี ขยายกว่า 750 สาขา สไตล์ Otteri ร้านที่เป็นมากกว่าแค่ที่ซักผ้า

ในสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย กลยุทธ์หนึ่งของการทำธุรกิจที่ใช้มัดใจลูกค้าได้ดี ก็คือ ให้มากกว่าที่ลูกค้าคิดว่าจะได้รับ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปไหน เหมือนกับคอนเซปต์ของแบรนด์ Otteri Wash & Dry แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก 24 ชั่วโมงที่เปิดดำเนินธุรกิจมาได้ 5 ปี มีสาขาแล้วกว่า 750 แห่งทั่วประเทศ

อยากต่อยอดธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ขยายกิจการให้โต SME ต้องทำอย่างไร?

หนึ่งในโมเดลที่หลายคนให้ความสนใจในการขยายธุรกิจคือ การแปลงธุรกิจของตัวเองให้กลายเป็น “แฟรนไชส์” แต่หลายคนอาจสงสัยว่า การทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ต้องทำอย่างไร?