เป็นเจ้าของธุรกิจซักอบรีดง่ายๆ แค่มีมือถือกับที่1ตร.ม.

Text : พิชชานันท์ สุโกมล


 
Cr: WashBox24


    ลืมภาพธุรกิจแฟรนไชส์ซักอบรีดแบบเดิมๆ ไปได้เลย ที่ต้องมีหน้าร้าน มีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีพนักงาน มีรถรับส่งผ้า ฯลฯ รวมไปถึงปัญหาจิปาถะอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ผ้าหาย ผ้าสีตก ผ้าชำรุด ซึ่งบางครั้งหาคนรับผิดชอบไม่ได้ ทำให้แฟรนไชส์ซีที่บริหารจัดการไม่ดีทุนหาย กำไรหด หรือล้มหายตายจากไปก็มาก 


     ยุคดิจิทัลแบบนี้ แค่มีมือถือกับพื้นที่ 1 ตารางเมตร ก็เป็นเจ้าของธุรกิจซักอบรีดได้แล้ว เพราะ WashBox24 ธุรกิจบริการซักอบรีดของคนรุ่นใหม่อย่าง นิธิพนธ์ ไทยานุรักษ์ ซีอีโอบริษัท วอชบ๊อกซ์24 (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการนำระบบล็อกซ์เกอร์เข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจซักอบรีด โดยผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนที่สะดวกสุดๆ สำหรับชีวิตคนเมือง โดยขยายเป็นโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ที่สนใจลงทุนทำธุรกิจซักอบรีด


 
Cr: WashBox24


     “ลักษณะแฟรนไชส์ที่เขาทำกันก่อนหน้านี้ จะเป็นลักษณะที่ต้องมีร้าน คือไปซื้อแฟรนไชส์เขามา แล้วก็หาเด็กมาอยู่ประจำร้าน ต้องเป็นร้านที่ใช้พื้นที่ 20 – 30 ตารางเมตร แล้วก็ไม่ได้ให้บริการ 24 ชั่วโมง แต่สิ่งที่ WashBox24 ทำก็คือ แทนที่จะให้คนมาเสียค่าแฟรนไชส์ 4 – 5 แสนบาทเหมือนแฟรนไชส์ซักอบรีดทั่วๆ ไป ก็เลือกมาซื้อตู้ล็อกซ์เกอร์เรา 120,000 บาท ซึ่งใช้พื้นที่แค่ 1 ตารางเมตร เพราะขนาดของตู้ล็อกซ์เกอร์เราคือหน้ากว้าง 2 เมตร ลึก 50 เซนติเมตร ความสูงก็ประมาณ 1.9 เมตร และด้วยความที่ใช้พื้นที่น้อย ไม่ต้องใช้พนักงาน ประกอบกับตัวตู้ให้บริการ 24 ชั่วโมง ก็เลยเป็นอะไรที่แตกต่างจากร้านซักอบรีดทั่วไป ราคาก็ถูกกว่า ต้นทุนเงินเดือนพนักงานก็ไม่มี”


     นี่คือแนวคิดที่ นิธิพนธ์บอกถึงลักษณะการให้บริการของแบรนด์ซักอบรีด WashBox24 ซึ่งหากดูตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันแล้ว ก็น่าจะเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่มองหาธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนน้อย และไม่ต้องปวดหัวกับการหาพนักงานมาดูแล


     “ความสำเร็จของธุรกิจนี้ขึ้นอยู่กับการหาโลเกชั่นซึ่งสำคัญมาก เรามีวิธีการอยู่ 2 ประเภท อย่างแรกคือแฟรนไชส์ซีหาพื้นที่มาเอง อย่างที่สองคือ เรามีทีมงานหาพื้นที่ไว้อยู่แล้ว ฉะนั้นเราก็จะมานั่งคุยกันว่า คุณมีโลเกชั่นไหน แล้วคิดว่าโลเกชั่นไหนดีที่สุด ก็ให้คำปรึกษากับลูกค้าที่เป็นแฟรนไชส์ซีด้วย ทั้งนี้ เราจะตั้งกฎกติกาอยู่ 3 ข้อ ซึ่งสำคัญมาก คือ ข้อแรก ตู้ที่จะไปตั้งต้องอยู่ในคอนโดมิเนียมที่มีลักษณะจำนวนห้องอย่างน้อย 200 ห้อง เพราะถ้าน้อยกว่า 200 ห้องก็จะเล็กไป ข้อที่สอง คือต้องเป็นคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้า เพราะกลุ่มเป้าหมายเราคือคนเมืองเป็นหลัก ข้อสาม ต้องเป็นคอนโดมิเนียมในเกรด B ขึ้นไป เพราะถ้าเกรดต่ำกว่านี้จะไม่โอเคเท่าไหร่ ส่วนลูกค้าที่จะมาใช้บริการสามารถขอรหัสเปิดตู้ผ่านแอปพลิเคชั่นได้เลย เพราะเราเป็นลักษณะของ Self Service คือบริการตัวเอง”


 
Cr: WashBox24


    ทางด้านรายรับของแฟรนไชส์ซี นิธิพนธ์บอกว่า แฟรนไชส์ซีจะได้ส่วนแบ่งรายได้จากธุรกิจ 30 เปอร์เซ็นต์ ของผ้าซักแห้ง 15 เปอร์เซ็นต์ของผ้าซัก อบ รีด แล้วก็อีก 15 เปอร์เซ็นต์ของบริการอื่นที่ WashBox24 มี ไม่ว่าจะเป็นการรับส่งพัสดุ บริการซื้อของออนไลน์ โดยคิดจากยอดขายทั้งหมด เช่น ขายได้เท่าไหร่คูณไปเลยกับตัวเลขข้างต้น ซึ่งจะเป็นส่วนของรายรับ ส่วนรายจ่ายที่แฟรนไชส์ซีจะต้องเสีย จะมีเพียงค่าเช่าสถานที่ ค่าไฟ และค่าอินเทอร์เน็ตเท่านั้น 
    

    “นอกจากตู้ล็อกซ์เกอร์ซักอบรีดแล้ว ก็ยังให้บริการอย่างอื่นได้ด้วย เพราะเราก็มีการพัฒนาตู้รุ่นใหม่ๆ ที่เรียกว่าตู้สำหรับส่งพัสดุ ตู้นี้จะมีลักษณะพิเศษคือจะมีจำนวนช่องเยอะ เป็นช่องเล็กๆ ไม่เหมือนกับตู้ใหญ่ๆ โดยเราจะมีการขยายตู้ล็อกซ์เกอร์เวอร์ชั่นต่อไป แล้วก็จะไปตั้งตามรถไฟฟ้ามากขึ้น ฉะนั้นแฟรนไชส์ซีของเราจะไม่ได้มีแต่กลุ่มคอนโดมิเนียมแล้ว แต่จะเป็นออฟฟิศบิวดิ้งบ้าง เป็นร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ระบบขนส่งมวลชน แหล่งชุมชน ซึ่งจะมีตัวเลือกเยอะขึ้น ส่วนมากตู้ที่เราตั้งในคอนโดมิเนียมจะเป็นบริการซักอบรีด แต่ถ้าเป็นตู้ในออฟฟิศก็จะเป็นตู้ส่งพัสดุมากกว่า คือเราจะสร้างความหลากหลายของประเภทผลิตภัณฑ์บริการ แล้วก็จะมีความหลากหลายของโลเกชั่นมากขึ้น คือบางคนเขามีออฟฟิศเขาก็ถามทำไมเราไม่ไป เราก็บอกว่าเราก็ต้องใช้ตู้รุ่นใหม่ เพราะตู้รุ่นเดิมมีแค่ 8 ช่อง ของใหม่มี 53 ช่อง มันก็จะดีกว่า เราก็กำลังพัฒนาให้เหมาะสมกับลูกค้ามากขึ้น”


     โดยภาพรวมแล้ว จุดเด่นของ WashBox24  มีอยู่ 2 เรื่อง คือความสะดวกสบายและความโปร่งใส ลูกค้าที่มาใช้บริการซักอบรีด สามารถติดตามสถานะของเสื้อผ้าหรือสิ่งของได้บนสมาร์ทโฟนอย่างเป็นปัจจุบัน เพราะมีเทคโนโลยีการถ่ายรูป การติดบาร์โค้ดเสื้อผ้า จะไม่เกิดกรณีผ้าหายแน่นอน เพราะจุดประสงค์หลักๆ ของคนซักผ้าก็คือ ผ้าไม่เสียหายและทำให้ชีวิตง่ายขึ้น เท่านี้ก็ลูกค้าก็มีความสุขแล้ว ซึ่งการใช้ระบบนี้จะมีการเคลมน้อยมาก เพราะการถ่ายรูปทำให้เกิดความโปร่งใสกับผู้ให้และผู้ใช้บริการ เช่น ส่งผ้าไป 10 ตัว ตอนเช้าลูกค้าก็เห็นรูปในสมาร์ทโฟน มี 10 ตัวครบ แต่ละตัวมีรูปถ่าย มีหลักฐานลักษณะของเสื้อผ้าชัดเจน ถ้าเสื้อมีรอยก็ไม่ต้องมานั่งเถียงกันว่าใครทำเพราะเสื้อผ้านั้นมีรอยมาอยู่แล้ว ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ลดปัญหาเรื่องความรับผิดชอบต่อของที่เกิดการชำรุดได้ 

 
Cr: WashBox24

 
    “หลักสำคัญของ WashBox24  คือแฟรนไชส์ซีมีหน้าที่ซื้อตู้เราไปติดตั้ง ส่วนหน้าที่อื่นๆ เป็นของเราหมด ตั้งแต่การรับส่งเสื้อผ้า การขนผ้าจากตู้ไปโรงซัก หรือการบำรุงรักษาตู้ ซึ่งจริงๆ ตัว Business Model เราไม่ใช่เจ้าของโรงซักผ้า เราไม่ใช่เจ้าของคนรับส่งเอง เราไม่ใช่เจ้าของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ แต่เรา out source ไปให้โรงแรมต่างๆ เราเป็นเกรดมาตรฐานโรงแรม กรณีรับส่งพัสดุ ก็จะเป็นบริการที่เราก็ทำกับ Kerry Express หรือบริการอื่นๆ เราก็จะมีพาร์ทเนอร์ในแต่ละบริการอยู่ เราทำเรื่องของการโอเปอร์เรชั่นทั้งหมด หน้าที่ของแฟรนไชส์ซีคือหาพื้นที่อย่างเดียว” นิธิพนธ์ กล่าวทิ้งท้าย


 

RECCOMMEND: FRANCHISE

3 แฟรนไชส์ ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดัง น่าลงทุน ปี 2023

หนึ่งในร้านอาหารที่ติด Top 3 ที่คนค้นหามากที่สุด คือ ก๋วยเตี๋ยว วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 3 แฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดังที่น่าลงทุน ปี 2023 พร้อมราคาแฟรนไชส์มาฝากกัน

3 ไอเดียทำร้านแฟรนไชส์ 5 ปี ขยายกว่า 750 สาขา สไตล์ Otteri ร้านที่เป็นมากกว่าแค่ที่ซักผ้า

ในสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย กลยุทธ์หนึ่งของการทำธุรกิจที่ใช้มัดใจลูกค้าได้ดี ก็คือ ให้มากกว่าที่ลูกค้าคิดว่าจะได้รับ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปไหน เหมือนกับคอนเซปต์ของแบรนด์ Otteri Wash & Dry แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก 24 ชั่วโมงที่เปิดดำเนินธุรกิจมาได้ 5 ปี มีสาขาแล้วกว่า 750 แห่งทั่วประเทศ

อยากต่อยอดธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ขยายกิจการให้โต SME ต้องทำอย่างไร?

หนึ่งในโมเดลที่หลายคนให้ความสนใจในการขยายธุรกิจคือ การแปลงธุรกิจของตัวเองให้กลายเป็น “แฟรนไชส์” แต่หลายคนอาจสงสัยว่า การทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ต้องทำอย่างไร?