“บ้านการ์ตูน” แฟรนไชส์หนังสือเช่าที่ไม่เก่าตามกาลเวลา

 

เรื่อง : enayble 

ภาพ : ชาคริต ยศสุวรรณ์
 
 
     ปัจจุบันการเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นง่ายแสนง่าย เพียงแค่มีทุนก็สามารถซื้อซอฟต์แวร์มาบริหารจัดการได้โดยที่ไม่ต้องมีความรู้มากมาย แต่การจะให้กิจการคงอยู่ได้ต้องมีปัจจัยหลากหลายมากกว่าแค่เงินกับเทคโนโลยี ยิ่งจะต่อยอดให้เกิดการพัฒนาด้วยแล้ว ความยากย่อมเพิ่มระดับขึ้นไปอีก 

 
 
     ไชยพิพัฒน์ มนประดิษฐ์ ยืนยันถึงความจริงข้อนี้ได้เป็นอย่างดีจากการล้มลุกคลุกคลานอยู่กับธุรกิจร้านเช่าหนังสือมาตั้งแต่เริ่มต้นจนสามารถขยายเป็นแฟรนไชส์ได้ถึง 180 กว่าสาขาในเวลาเกือบ 10 ปี

      ซึ่งเจ้าของแฟรนไชส์ร้านเช่าหนังสือบ้านการ์ตูนคนนี้เปิดใจว่าธุรกิจของเขาเป็นงานบริการที่ต้องดูแลลูกค้า ต้องเป็นคนคิดบวก รู้จักประนีประนอม

     การเปิด-ปิดร้านต้องเป็นไปตามเวลา ไม่มีวันหยุด...แค่คุณสมบัติเบื้องต้นเพียงไม่กี่ข้อนี้ก็ทำให้เข้าใจได้ทันทีเลยว่าทำไมกิจการร้านเช่าหนังสือที่เปิดมานานหลายปีจึงมีจำนวนแทบจะนับนิ้วได้

     แต่สำหรับบ้านการ์ตูนนั้นต่างออกไปเพราะบริหารจัดการภายใต้การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง จึงทำให้ได้รับความนิยมจากคนที่อยากเป็นผู้ประกอบการเรื่อยมา
 
     “ช่วงที่กิจการได้รับความสนใจมากคือ 3-4 ปีแรกที่เริ่มมีสาขาแฟรนไชส์บ้างแล้ว เมื่อคนเห็น กอปรกับการได้ออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์จึงเกิดการบอกต่อ

    แต่ช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ผู้ติดต่อขอเป็นแฟรนไชซีเริ่มซาลงเหลือประมาณเดือนละ 1 ราย และส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการจากต่างจังหวัด เนื่องจากในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแฟรนไชส์บ้านการ์ตูนอยู่เกือบร้อยสาขาแล้ว”



 
 
     ปัจจุบันแฟรนไชซีของบ้านการ์ตูนกระจายอยู่เกือบครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งชลบุรีถือเป็นเขตต่างจังหวัดที่มีสาขามากที่สุด โดยกลุ่มลูกค้านอกเหนือจากในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลนี้เกิดจากการบอกต่อกัน ทั้งจากผู้ประกอบการเอง และจากผู้ที่เข้ามาใช้บริการ โดยเมื่อมีการติดต่อเข้ามาไชยพิพัฒน์จะเข้าไปดูทำเลก่อนเป็นอันดับแรก 
 
     “ที่ผ่านมามีเยอะมากที่ทำเลไม่ดี ทำแล้วไม่คุ้มค่า เราก็ช่วยตระเวนหาพื้นที่ใหม่ในจังหวัด เพราะไม่อยากให้เขาเสียโอกาส หลังจากนั้นเราก็จะวัดขนาดของร้าน และใช้เวลาเตรียมหนังสือ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ประมาณ 1 เดือน แล้วนัดกันว่าต้องการเปิดร้านวันไหน ซึ่งในฐานะที่มีประสบการณ์มาพอสมควรผมจะแนะนำให้เขาเปิดร้านในวันศุกร์ และเสาร์ เนื่องจากเป็นวันพักผ่อนของลูกค้า จากนั้นทีมงานของเราก็จะเข้าไปติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ ลงหนังสือ และตกแต่งร้านให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 1 วัน รวมถึงอยู่ช่วยให้คำแนะนำด้านการใช้โปรแกรม และการดูแลลูกค้าด้วย”
 
 
สำหรับแฟรนไชซีกลุ่มหลักของบ้านการ์ตูนยังคงเป็นคนรุ่นใหม่อายุ 20-30 ปี บ้างก็เพิ่งเรียนจบ บ้างก็เบนเข็มออกมาจากงานประจำที่ทำอยู่ ไปจนถึงคนที่เปลี่ยนสถานภาพจากผู้เช่ามาเป็นแฟรนไชซีด้วยเพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพของธุรกิจ รองลงมาคือ กลุ่มคนทำงานวัยใกล้เกษียณที่อยากหาธุรกิจส่วนตัวทำ ซึ่งไชยพิพัฒน์บอกว่าคนที่อ่านหนังสืออยู่แล้วจะได้เปรียบในการแนะนำลูกค้า ทั้งนี้คนที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับหนังสือเลยก็สามารถทำได้ แต่ต้องขยันหาข้อมูล อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการร้านเช่าหนังสือในแบบบ้านการ์ตูนก็ช่วยให้อะไรๆ ง่ายขึ้นเยอะ
 
 
     “บ้านการ์ตูนจะดูแลแฟรนไชซีไปจนตลอดอายุขัยของกิจการ โดยมีระบบจัดส่งหนังสือให้แก่ร้านสาขาทั่วประเทศสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ซึ่งเจ้าของร้านแต่ละแห่งสามารถสั่งหนังสือที่ลูกค้าต้องการเป็นพิเศษได้ หากแฟรนไชซีท่านใดสะดวกก็จะเดินทางไปซื้อหนังสือด้วยกัน จนทุกวันนี้ผู้ประกอบการของสาขาที่เปิดมานานสามารถจัดการทุกอย่างเองได้เป็นอย่างดี”
 
 
     นอกจากนี้ ทางร้านยังมีการจัดโปรโมชั่นตามช่วงเทศกาลต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังมีสมนาคุณพิเศษในวันเกิดของลูกค้าแต่ละคน ล่าสุดได้จับมือกับบริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำตัวละครในเกมออนไลน์มาใส่ลงในบัตรสมาชิกเป็นคอลเลกชั่น สนนราคาค่าบัตรปีละ 50 บาท ซึ่งเป็นกุศโลบายจูงใจให้คนเข้ามาเช่าหนังสือได้เป็นอย่างดี 
 
 
ทิศทางในอนาคต
 
     สำหรับแผนในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางพายุเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามา และกระแส e-book กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ไชยพิพัฒน์เปิดเผยว่า แม้ต้นทุนจะแพงขึ้น แต่หนังสือการ์ตูนก็ยังผลิตออกมาเป็นปกติ เนื่องจากมีคนอ่านรุ่นสู่รุ่น แม้สมัยนี้จะมีให้โหลดเอาไว้ดูตามอินเทอร์เน็ตแบบฟรีๆ แต่สาวกการ์ตูนต่างการันตีว่าความสนุกนั้นเทียบกันไม่ได้ เพราะเป็นคนละอารมณ์กัน
 
 
     “คนที่ชอบอ่านการ์ตูนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ยังคงอ่านกันอยู่ นอกจากนี้ ร้านของเรายังมีหนังสือหลากหลาย อาทิ นิยาย เรื่องสั้น เรื่องแปล นิตยสารต่างๆ ทุกอย่างที่ดังในตลาดเรามีหมด อย่าง สตีฟ จ็อบส์ เล่มละเกือบ 600 บาทเราก็มี ถือเป็นกลยุทธ์ในการเลือกหนังสือเข้าร้านอีกวิธีหนึ่ง

     เพราะเรามองว่าหากผู้เช่าอ่านเล่มนั้นๆ แล้วจะมีโอกาสหยิบเล่มต่อๆ ไป หนังสือธรรมะเราก็มี แม้บางทีจะไม่ทำกำไรแต่ก็ถือเป็นวิทยาทาน สำหรับช่วงนี้กระแสนิยายแรง ละครที่ออกอากาศมีผลต่อคนเช่ามาก เพราะเขาอยากจะรู้ตอนจบ อยากรู้รายละเอียดของเรื่องมากขึ้น แต่ทั้งนี้ลักษณะหนังสือก็จะแตกต่างไปตามกลุ่มลูกค้าในแต่ละพื้นที่ด้วย”
 
 
     นั่นคือจุดเด่นที่ทำให้บ้านการ์ตูนมีความแตกต่างจากร้านหนังสือเช่าทั่วไปที่มักเลือกซื้อแต่หนังสือที่ทำกำไรได้เป็นหลัก ปัจจุบันไชยพิพัฒน์ปรับสัดส่วนหนังสือการ์ตูนในร้านให้ลดลงจากเมื่อก่อนที่มีมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 60-70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เข้ากับความนิยมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป และมั่นใจว่าธุรกิจบ้านการ์ตูนจะยังยืนหยัดได้อย่างมั่นคงแน่นอน

     เพราะเขาเองให้ความสำคัญกับการปรับปรุงร้านให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังเน้นการลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้จากการจัดระบบหนังสือเก่า ที่สำคัญคือ ตอนนี้เขามองตลาดต่างจังหวัดเป็นหลัก เพราะอยากมอบโอกาสในการอ่านหนังสือดีๆ แก่เด็กๆ ตามอำเภอ เพราะหากเด็กๆ คือ อนาคตของชาติ บ้านการ์ตูนขอเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มอบทั้งจินตนาการ และความรู้ไปพร้อมๆ กัน
 
 
 
รายละเอียดแฟรนไชส์
 
•เงินลงทุนขั้นต่ำ 360,000 บาท 
•มีพื้นที่อยู่ในแหล่งชุมชน มีที่พักอาศัย อิงร้านสะดวกซื้อ ขนาดไม่ต่ำกว่า 24 ตารางเมตร   
•ทำเลทองคือ แหล่งที่กลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา คนวัยทำงาน และแม่บ้าน ต้องผ่านไปมาเป็นประจำ
•ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 1 ปี/รายได้เฉลี่ยวันละพันกว่าบาท 
(สถิติสูงสุดอยู่ที่ 8 พันบาทต่อวัน แฟรนไชซีบางรายเป็นเจ้าของร้านเช่าหนังสือบ้านการ์ตูนหลายสาขา เพราะถือว่าทำงานเหนื่อยครั้งเดียวแต่ได้กำไรคูณไปหลายเท่า) 
หมายเหตุ : รายได้จากธุรกิจเช่าหนังสือนั้นคงที่ ไม่ขึ้นลงตามปัจจัยใดๆ แฟรนไชซีจึงสามารถคาดการณ์อนาคตของกิจการได้ตั้งแต่วันแรกๆ ที่เริ่มดำเนินการ
 

RECCOMMEND: FRANCHISE

3 แฟรนไชส์ ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดัง น่าลงทุน ปี 2023

หนึ่งในร้านอาหารที่ติด Top 3 ที่คนค้นหามากที่สุด คือ ก๋วยเตี๋ยว วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 3 แฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดังที่น่าลงทุน ปี 2023 พร้อมราคาแฟรนไชส์มาฝากกัน

3 ไอเดียทำร้านแฟรนไชส์ 5 ปี ขยายกว่า 750 สาขา สไตล์ Otteri ร้านที่เป็นมากกว่าแค่ที่ซักผ้า

ในสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย กลยุทธ์หนึ่งของการทำธุรกิจที่ใช้มัดใจลูกค้าได้ดี ก็คือ ให้มากกว่าที่ลูกค้าคิดว่าจะได้รับ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปไหน เหมือนกับคอนเซปต์ของแบรนด์ Otteri Wash & Dry แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก 24 ชั่วโมงที่เปิดดำเนินธุรกิจมาได้ 5 ปี มีสาขาแล้วกว่า 750 แห่งทั่วประเทศ

อยากต่อยอดธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ขยายกิจการให้โต SME ต้องทำอย่างไร?

หนึ่งในโมเดลที่หลายคนให้ความสนใจในการขยายธุรกิจคือ การแปลงธุรกิจของตัวเองให้กลายเป็น “แฟรนไชส์” แต่หลายคนอาจสงสัยว่า การทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ต้องทำอย่างไร?