‘ไหมซ่า’ ปั่นง่าย ขายคล่อง

 

เรื่อง: enayble
ภาพ : ปิยชาติ ไตรถาวร, พิทักษ์พงศ์ เพริดพริ้ง

       สินค้าเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย แปลกใหม่ ไร้คู่แข่ง วัตถุดิบสามารถเก็บไว้ได้นาน กำไรสูง เพราะต้นทุนการผลิตต่ำ สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาอันสั้น” หากประโยคด้านบนไม่ใช่เพียงโฆษณาชวนเชื่อ แต่เป็นคุณสมบัติจริงๆ ของแฟรนไชส์สายไหม ขนมหวานที่ทำจากน้ำตาล ซึ่งคนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี คนที่กำลังมองหาแฟรนไชส์ไว้ลงทุนอย่างคุณจะยอมทุ่มเงินหลักหมื่นเพื่อพิสูจน์กันไหม?
         
       ระหว่างที่คุณยังชั่งใจ ไม่รู้จะตอบยังไงดี แฟรนไชซีคนแรกๆ ของ ‘ไหมซ่า’ อย่าง ชนกนันท์ หินแก้ว กำลังนับเงินที่ได้จากการขายซึ่งกำลังจะถึงจุดคุ้มทุนเร็วๆ นี้แล้ว เพราะหลังจากเริ่มปั่นสายไหมขายที่เซ็นทรัลพระราม 2 ได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ แม่ค้าคน
นี้ก็มองเห็นกำไร และช่องทางการขายได้อย่างชัดเจน

       “หลังจากที่เริ่มขายก็ได้ผลตอบรับที่ดีจากทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ เพราะเขาติดใจรสชาติเปรี้ยวซ่าที่ไม่ซ้ำใคร และมีให้เลือกหลากหลายทั้งสตรอเบอร์รี่ โคล่า มะขาม น้ำผึ้งผสมมะนาว แอปเปิ้ล เมนทอล-มิ้นต์ และแบล็กเคอร์แรนต์ ซึ่งก็ได้ไปออกตามงานต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานสังสรรค์ตามโรงแรม งานวันเด็ก ฯลฯ เป็นรายได้ที่เพิ่มเข้ามาโดยที่บางส่วนก็ได้เจ้าของแฟรนไชส์เป็นคนช่วยแนะนำด้วย หากสาขานี้อยู่ตัวก็มองว่าจะเปิดอีกสาขาหนึ่ง”

       ชนกนันท์ที่ผันตัวเองจากธุรกิจแฟรนไชส์เฉาก๊วยนมสดธัญพืชมาปั่นไหมซ่า บอกเล่าถึงผลตอบรับที่เกินคาดกว่าธุรกิจครั้งก่อนที่เธอยอมแพ้กับความเหน็ดเหนื่อยในการเตรียมวัตถุดิบซึ่งเน่าเสียง่าย และไม่ได้กำไรเลยตลอดระยะเวลา 3 เดือน

       จนวันหนึ่งเธอได้มาพบกับแฟรนไชส์ไหมซ่าของ สุรสิทธิ์ เจนสวัสดิ์พงศ์ ในเว็บไซต์ จึงตัดสินใจลองเริ่มต้นอีกครั้ง แล้วก็สมหวังจริงๆ

      

       สุรสิทธิ์ เจ้าของธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์คนนี้ชอบรับประทานสายไหมเป็นชีวิตจิตใจ จนวันหนึ่งได้ชิมสายไหมของร้านที่บอกว่าสามารถทำเป็นรสชาติต่างๆ ได้ แต่พอรับประทานแล้วก็ยังหวานเหมือนเดิม ไม่มีรสชาติอย่างที่บอก เลยกลายเป็นเป็นจุดเริ่มต้นความคิดที่ว่า ‘สายไหมควรมีรสชาติ และกลิ่นจริงๆ’

      

       ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาเขาก็พยายามศึกษา หาสูตร และค่อยๆ พัฒนาจนได้รสชาติตามที่ต้องการ ซึ่งโจทย์สำคัญอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ปั่นออกมาแล้วยังมีกลิ่น และรสชาติแบบที่ต้องการได้ คำตอบก็คือ วัตถุดิบต้องมีคุณภาพดีมากๆ และลำดับต่อมาคือการปรุงนั่นเอง

       “เราคิดรสชาติเอง ปรุงเอง ลองผิดลองถูกอยู่ประมาณ 30-40 รสชาติ แล้วค่อยๆ ตัดทิ้ง พอได้สูตรที่แน่นอนก็เริ่มเปิดขาย สัก 6–7 เดือนก็มีคนแนะนำให้เปิดสาขา แต่เราไม่มีบุคลากร จึงนึกถึงการขายแฟรนไชส์ว่าจะเหมาะสมที่สุด เพราะคนที่สนใจลงทุนก็จะมีรายได้ และสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้เอง โดยที่เราจะทำหน้าที่ส่งวัตถุดิบให้เขา และมีรายได้จากการขายแฟรนไชส์เป็นเปอร์เซ็นต์นิดหน่อย จึงศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเครื่องทำสายไหม หาแหล่งซื้ออะไหล่ และทำการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์”  .

       สุรสิทธิ์เล่าว่า หลังจากลงประกาศผ่านอินเทอร์เน็ตได้เพียง 6 เดือน มีผู้สนใจจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยจับจองเป็นแฟรนไชซีไหมซ่าถึง 22 สาขา ซึ่งเหตุผลสำคัญของกระแสตอบรับที่มาแรงเกินคาดนี้ก็หนีไม่พ้นเรื่องของรายได้ที่มาแบบเกินคุ้ม  

       “สินค้าของเรามีกำไรสูงมาก เพราะมันเป็นน้ำตาลกับลมเท่านั้น และเราขายวัตถุดิบให้แฟรนไชซีในราคาต่ำ เพราะคิดว่าหากสมาชิกของเราอยู่ได้ยั่งยืน ผมก็อยู่ได้ยั่งยืนเหมือนกัน สำหรับการปั่นสายไหมนั้นไม่ยาก แต่สิ่งที่ต้องใส่ใจคือ วิธีการดูแล และทำความสะอาดเครื่อง ซึ่งเราจะสอนให้ทุกขั้นตอน ระยะเวลาเพียง 3 เดือนก็น่าจะคืนทุนแล้ว อย่างช้าสุดก็ 6 เดือน

       ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทำเลด้วย หากได้ที่ที่มีคนพลุกพล่านก็จะยิ่งคืนทุนได้เร็ว เพราะสายไหมนั้นขายได้ตลอด เพียงแต่ช่วงที่อากาศร้อน และฝนตก การปั่นจะมีปัญหา เพราะความชื้นจะทำให้สายไหมยุบตัว และละลายเร็วมาก แต่เราก็มีบรรจุภัณฑ์น่ารักๆ ที่สามารถเก็บสายไหมได้นานหลายสัปดาห์ไว้เป็นทางเลือกให้กับลูกค้าด้วยเช่นกัน”

       เจ้าของแฟรนไชส์ไหมซ่าอธิบายถึงข้อเด่น และข้อจำกัดของสินค้า พร้อมเพิ่มเติมว่าเป้าหมายต่อไปคือ การขายแฟรนไชส์ให้ครบทุกจังหวัด และแนะนำรสชาติใหม่ๆ เดือนละ 1 ครั้ง พร้อมรักษาคุณภาพ และสร้างแบรนด์ให้โดดเด่น โดยร่วมกับห้างสรรพสินค้า และออร์แกไนเซอร์ออกงานบ่อยๆ เวลามีลูกค้ามาติดต่อก็แนะนำให้กับแฟรนไชซี ซึ่งถือเป็นการมอบรายได้ให้กับสมาชิกอีกด้วย

 

รูปแบบการลงทุน  

                             
แบบประหยัด : 13,000 บาท  

1. เครื่องปั่นสายไหม 1 เครื่อง                  
2. ก้านปั่น 500 ก้าน                           
3. ผงน้ำตาล 8 กิโลกรัม (ราคา 120 บาท/กิโลกรัม)                               
4. อะไหล่เครื่องทำสายไหม 1 ชุด                                          
5. อุปกรณ์ทำความสะอาด 1 ชุด

แบบพร้อมบู๊ธ/คีออส ไหมซ่า : 39,900 บาท

1. บู๊ธ/คีออส ไหมซ่า 1 ชุด                       
2. เครื่องปั่นสายไหม 1 เครื่อง                    
3. โหลบรรจุผงปั่นสายไหมพร้อมช้อนตวง 8 ชุด                 
4. ก้านปั่นสายไหม 1,000 ก้าน                     
5. ผงปั่นสายไหม 10 กิโลกรัม (ราคา 120 บาท/กิโลกรัม)                  
6. อะไหล่เครื่องทำสายไหม 1 ชุด                                    
7. อุปกรณ์ทำความสะอาด 1 ชุด


ประมาณยอดขาย และกำไรต่อ 1 กิโลกรัม                                
ผงปั่นสายไหมซ่า 1 กิโลกรัม (ปั่นได้ขั้นต่ำ 40 ไม้ ไม้ละ 19 บาท) ยอดขาย 760 บาท    
ต้นทุน : ผงปั่นไหมซ่า 1 กิโลกรัม 120 บาท        
กำไรต่อ 1 กิโลกรัม (760-120) = 640 บาท/กิโลกรัม


สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่  081-8584901

ขอขอบคุณไหมซ่า สาขาห้างสรรพสินค้าสุพรีม คอมเพล็กซ์ สามเสน สำหรับความเอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายภาพ

RECCOMMEND: FRANCHISE

3 แฟรนไชส์ ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดัง น่าลงทุน ปี 2023

หนึ่งในร้านอาหารที่ติด Top 3 ที่คนค้นหามากที่สุด คือ ก๋วยเตี๋ยว วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 3 แฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดังที่น่าลงทุน ปี 2023 พร้อมราคาแฟรนไชส์มาฝากกัน

3 ไอเดียทำร้านแฟรนไชส์ 5 ปี ขยายกว่า 750 สาขา สไตล์ Otteri ร้านที่เป็นมากกว่าแค่ที่ซักผ้า

ในสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย กลยุทธ์หนึ่งของการทำธุรกิจที่ใช้มัดใจลูกค้าได้ดี ก็คือ ให้มากกว่าที่ลูกค้าคิดว่าจะได้รับ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปไหน เหมือนกับคอนเซปต์ของแบรนด์ Otteri Wash & Dry แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก 24 ชั่วโมงที่เปิดดำเนินธุรกิจมาได้ 5 ปี มีสาขาแล้วกว่า 750 แห่งทั่วประเทศ

อยากต่อยอดธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ขยายกิจการให้โต SME ต้องทำอย่างไร?

หนึ่งในโมเดลที่หลายคนให้ความสนใจในการขยายธุรกิจคือ การแปลงธุรกิจของตัวเองให้กลายเป็น “แฟรนไชส์” แต่หลายคนอาจสงสัยว่า การทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ต้องทำอย่างไร?