N&B เปลี่ยนเครปเป็นเงินล้าน

 

 

เรื่อง    เจษฎา ปุรินทวรกุล
ภาพ    ปิยชาติ ไตรถาวร

       ใครล่ะจะไปคาดคิดว่าสินค้าที่ดูเหมือนสินค้าอาหารแฟชั่น อย่าง ‘เครปญี่ปุ่น’ ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมจนหารับประทานได้ง่ายเอามากๆ จะมีผู้ที่สนใจนำไปพัฒนา ปรับปรุงให้เหนือกว่าของคู่แข่งรายอื่นๆ ตามท้องตลาด จนตัวเครปมีความโดดเด่นและกลายเป็นแบรนด์ที่มีแฟรนไชส์สูงถึง 130 สาขา นอกจากนั้น ยังสร้างเงินได้มากถึงปีละ 60 ล้านบาท

       หากย้อนไปเมื่อประมาณ 14 ก่อน บุญประเสริฐ พู่พันธ์ เจ้าของแฟรนไชส์ เอ็น แอนด์ บี (N&B) เริ่มต้นเส้นทางธุรกิจจากการสังเกตเห็นร้านเครปธรรมดาๆ แห่งหนึ่งมีลูกค้ารุมล้อมอยู่เต็มไปหมด จึงเกิดความคิด เห็นช่องทางและความเป็นไปได้ที่จะเปิดร้านเครปขึ้นมาบ้าง ยิ่งเป็นเรื่องบังเอิญเข้าไปกันใหญ่ เมื่อเขามีเพื่อนที่ขายเครปญี่ปุ่นอยู่แล้วจึงไปเรียนรู้สูตร วิธีทำ ก่อนจะดัดแปลงให้กลายเป็นแบบฉบับของตัวเองพร้อมตั้งชื่อว่า N&B ซึ่งมาจากชื่อย่อตัวหน้าของแฟนและเขาเอง โดยคีออสแห่งแรกได้เปิดตัวขึ้นที่อิมพีเรียลสำโรง

       “จุดเด่นที่ทำให้สินค้าของเรามีความแตกต่างกับคู่แข่งในยุคนั้นเลยก็คือ รสชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเป็นเรื่องของวัตถุดิบ เพราะผมใช้แฮมกับไส้กรอกอย่างดี เวลาทำจะคิดเสมอว่าเราทำให้ตัวเองรับประทาน จึงไม่หวงไส้ สิ่งนี้ทำให้เราค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง”

       แม้ว่าธุรกิจจะเดินหน้าไปได้ด้วยดี แต่การสังเกตก็ได้ช่วยเปิดช่องทางการขายครั้งมโหฬารให้กับบุญประเสริฐอีกครั้ง เมื่อเขาพบว่าร้านโดนัทที่อยู่ใกล้ๆ มีลูกค้าใกล้เคียงกับร้านของตัวเอง แต่ปริมาณการขายกลับต่างกันเกือบ 4 เท่า เมื่อมานั่งวิเคราะห์จึงพบว่า เครปเป็นสินค้า Made to Order ส่วนโดนัทเป็นสินค้าหยิบขาย ไม่ว่าจะขายดียังไงก็ขายเร็วสู้โดนัทที่ผลิตเอาไว้แล้วไม่ได้ เขาจึงผลิต มินิเครป เครปสำเร็จรูปที่มีไส้ต่างๆ ขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้าที่ไม่ต้องการรอได้เลือกซื้อมินิเครปไปรับประทานแทนได้

       การแตกไลน์สินค้าครั้งนั้นทำให้ยอดขายเติบโตจนเขามั่นใจว่าสินค้าของเขาไม่ใช่สินค้าแฟชั่น หากแต่เป็นสินค้าที่สามารถทำเป็นธุรกิจได้อย่างจริงจัง และนั่นจึงนำมาสู่การพัฒนาธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ตอนปี 2552

       “เมื่อคิดจะทำแฟรนไชส์แล้ว ต้องมีความซื่อสัตย์ ไม่หลอกลวงผู้บริโภค เช่น วัตถุดิบของเราที่บอกเสมอว่าเป็นเกรด A ก็เป็นเกรด A ทั้งหมด เพราะผมเชื่อว่าลูกค้าในปัจจุบันสามารถแบ่งแยกสินค้าเกรด A กับเกรด B ออก นอกจากนั้น ก็ต้องมีความแตกต่างที่จะทำให้ลูกค้าชื่นชอบเราด้วย อย่าง มินิเครปของเราใส่อยู่ในถุงพิเศษที่สามารถนำเข้าไปอบในไมโครเวฟได้เลย นี่คือสิ่งที่เราทำออกมาเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายให้กับลูกค้า โดยเวลาเราคิดหรือจะทำอะไรซักอย่าง เช่น โลโก้ แพ็กเกจจิ้ง ฯลฯ เราจะถามลูกค้าก่อนด้วยว่าชอบไหม ถูกใจหรือเปล่า จากนั้นค่อยตัดสินใจทำ”

       ถึงแม้ว่าแฟรนไชส์จะเป็นทางลัดให้กับผู้ที่สนใจจะทำธุรกิจ แต่ก่อนตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ บุญประเสริฐแนะนำว่า ผู้ลงทุนควรต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ต่อไปนี้ให้ดีก่อน ได้แก่ ความชอบ ต้องถามตัวเองก่อนว่าชอบธุรกิจที่จะทำหรือเปล่า ยกตัวอย่าง ธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร ต้องลองชิมก่อนว่าอร่อยไหม ถ้าไม่อร่อยอย่าทำ จากนั้นให้ดูความพร้อมของตัวเอง การซื้อแฟรนไชส์ คือการเริ่มต้นที่ 50-60 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเราไม่พร้อมจะสานต่อให้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ทำอย่างไรก็คงไปไม่รอด

        สิ่งต่อมา คือ ต้องมีเงินทุนและเงินหมุนเวียนทางธุรกิจ และสุดท้ายคือ ดูว่าแฟรนไชส์ที่จะซื้อนั้นเปิดดำเนินงานมานานเพียงใด เพราะยิ่งเปิดนาน แปลว่าเขาผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ฉะนั้นเวลามีปัญหาย่อมช่วยเหลือเราได้ แต่ถ้าประสบการณ์ 1-2 ปีอาจต้องระมัดระวังให้มากขึ้น เพราะเขาอาจช่วยเราแก้ปัญหาในบางเรื่องไม่ได้

       ทุกวันนี้ถือเป็นโอกาสทองในการขยายธุรกิจของเครปสัญชาติไทย N&B เพราะเทสโก้โลตัสและบิ๊กซีกำลังแข่งกันขยายสาขาอย่างรวดเร็ว ซึ่ง N&B เป็นพันธมิตรกับ 2 ดิสเคานต์สโตร์นี้อยู่แล้วจึงมีช่องทางและโอกาสค่อนข้างมาก

       “ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ขยายสาขาเร็วๆ มักมีปัญหาเรื่องคุณภาพ แต่เรามีทีมงานตรวจสอบคุณภาพโดยเฉพาะ โดยทีมงานของเราจะเข้าไปสุ่มตรวจคุณภาพเดือนละ 1 ครั้ง เริ่มจากความสะอาดภายนอกและรอบๆ ร้านหรือคีออส จากนั้นค่อยสุ่มตรวจสินค้าดู 3 ชิ้นว่ารสชาติ ความฟู การใส่ไส้ วัตถุดิบ ได้คุณภาพคงเดิมหรือเปล่า ถ้าไม่ผ่านเราจะแจ้งเตือนก่อนว่าต้องแก้ไขอะไรบ้าง แล้วขอเข้าไปตรวจซ้ำ ถ้ายังไม่ผ่านอีกเราจะให้โอกาสครั้งสุดท้าย หากไม่ผ่านจริงๆ ก็ต้องขอยึดคืนตามที่คุยกันไว้"

       “ส่วนใหญ่เราจะคุยกับผู้ซื้อแฟรนไชส์ก่อนว่าแบรนด์ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ เพราะคุณภาพก็เป็นสิ่งสำคัญมากๆ เช่นกัน ยกตัวอย่างต่อให้แบรนด์ดีแค่ไหน แต่ถ้าลูกค้ารับประทานแล้วไม่ชอบ รู้ทันทีว่าวัตถุดิบไม่ได้มาตรฐาน ลูกค้ารับประทานแล้วไม่กลับมารับประทานอีก ธุรกิจจะอยู่รอดได้ยังไง ดังนั้น ถ้าเราเอาไส้กรอกเกรด B มาสวมรอยขาย ลูกค้าก็หนีหมด เราจึงต้องคุยกับลูกค้าให้ชัดเจนก่อนตกลงทำธุรกิจร่วมกัน”

       ถือเป็นเส้นทางความสำเร็จที่น่าศึกษาไว้เป็นแบบอย่างจริงๆ เพราะนอกจากการช่างสังเกตจะทำให้มีธุรกิจหลักล้านเป็นของตัวเองได้แล้ว ความซื่อสัตย์ และการใช้ลูกค้าเป็นตัวตั้ง ยังทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จจนได้รับความนิยมมากขึ้นๆ ตลอดระยะเวลา 14 ปี

 

 

 


 

รูปแบบการลงทุน N&B

สำหรับการลงทุนแฟรนไชส์ N&B นั้น มีให้เลือกด้วยกัน 2 รูปแบบ

 1. คีออส (Kiosk Shop) ราคา 69,000 บาท จะได้รับอุปกรณ์ครบเซตพร้อมขาย อบรม 1 วัน และแถมวัตถุดิบในการขายอีกประมาณ 500 ชิ้น


 2. ร้านใหญ่ (Premium Shop) ราคา 800,000 -1.2 ล้านบาท (ราคาขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ และราคานี้รวมค่าธรรมเนียมแรกเข้าแล้ว) ร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีสินค้าครบครัน ทั้งเครป มินิเครป และเครื่องดื่มต่างๆ โดย N&B จะเป็นผู้หาทำเลให้ก่อนที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อ
 

สำหรับร้านใหญ่จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้

ค่าธรรมเนียมแรกเข้า (แฟรนไชส์ฟี) 150,000 บาท 
ค่า Royalty Fee เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย 
ค่า Marketing Fee เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย 
อายุสัญญา 10 ปี (5+5)   
 

RECCOMMEND: FRANCHISE

3 แฟรนไชส์ ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดัง น่าลงทุน ปี 2023

หนึ่งในร้านอาหารที่ติด Top 3 ที่คนค้นหามากที่สุด คือ ก๋วยเตี๋ยว วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 3 แฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดังที่น่าลงทุน ปี 2023 พร้อมราคาแฟรนไชส์มาฝากกัน

3 ไอเดียทำร้านแฟรนไชส์ 5 ปี ขยายกว่า 750 สาขา สไตล์ Otteri ร้านที่เป็นมากกว่าแค่ที่ซักผ้า

ในสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย กลยุทธ์หนึ่งของการทำธุรกิจที่ใช้มัดใจลูกค้าได้ดี ก็คือ ให้มากกว่าที่ลูกค้าคิดว่าจะได้รับ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปไหน เหมือนกับคอนเซปต์ของแบรนด์ Otteri Wash & Dry แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก 24 ชั่วโมงที่เปิดดำเนินธุรกิจมาได้ 5 ปี มีสาขาแล้วกว่า 750 แห่งทั่วประเทศ

อยากต่อยอดธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ขยายกิจการให้โต SME ต้องทำอย่างไร?

หนึ่งในโมเดลที่หลายคนให้ความสนใจในการขยายธุรกิจคือ การแปลงธุรกิจของตัวเองให้กลายเป็น “แฟรนไชส์” แต่หลายคนอาจสงสัยว่า การทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ต้องทำอย่างไร?