2557 ยุคเปลี่ยนผ่านของธุรกิจแฟรนไชส์


เรื่อง : ธีรนาฎ มีนุ่น

    หากมองภาพรวมธุรกิจแฟรนไชส์ตลอดปี 2556 จะพบว่าทิศทางที่เริ่มปรากฏชัดเจนคือ ผู้คนมีความเข้าใจต่อระบบแฟรนไชส์มากขึ้น ด้วยมองเห็นว่าแฟรนไชส์ไม่ใช่รูปแบบของความสำเร็จเสมอไป ฉะนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงหรือความล้มเหลว หลายคนจะพิจารณาตัดสินใจเลือกแฟรนไชส์อย่างรอบคอบ พร้อมการศึกษาความรู้เกี่ยวกับธุรกิจที่พวกเขาต้องการลงทุนอย่างละเอียดวิเคราะห์มากขึ้น ขณะเดียวกัน แฟรนไชส์ขนาดเล็กต้นทุนต่ำจะค่อยๆ หายไปจากตลาด เนื่องจากผู้ลงทุนนิยมหันมาเลือกขนาดการลงทุนระดับกลางจนถึงระดับสูงที่มีผลประกอบการดีกว่า

 
    ลักษณะเช่นนี้จะยิ่งเป็นรูปร่างอย่างเด่นชัดในปี 2557 โดยเรื่องนี้ ชญานิธิ แบร์ดี้ ผู้ก่อตั้งแฟรนไชส์ Quality kids และ Brain fitness กล่าวว่า ในปีหน้า 2557 ถือว่าเป็นก้าวใหม่ของธุรกิจแฟรนไชส์ อันเป็นการข้ามผ่านยุคแห่งการก่อร่างสร้างตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สู่ยุคแห่งการ “สร้างมาตรฐาน” 

    “ปี 2557 ภาพรวมแฟรนไชส์ในประเทศจะมีการพัฒนามากขึ้น เพราะภาครัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาแฟรนไชส์ อีกทั้งภาคเอกชนก็จะมีความเข้าใจในระบบแฟรนไชส์มากขึ้น อย่างเมื่อก่อน ถ้าพูดถึงแฟรนไชส์ คนจะเข้าใจว่าเป็นแค่ว่าคือการซื้อโลโก้มาติดร้าน ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะแฟรนไชส์จะต้องมีระบบเข้ามารองรับต้องมีการพัฒนา หรือทำ R&D และผู้คนเริ่มเข้าใจว่าความเป็นแฟรนไชส์ต้องมีพันธะผูกพัน คือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พร้อมเติบโตไปด้วยกัน”  

    ในมุมมองแฟรนไชส์การศึกษา ชญานิธิบอกกับเราว่า จะเป็นปีแห่งการสร้าง “มาตรฐาน” เพราะนอกเหนือจากความเข้าใจของผู้คนแล้ว ยังเป็นผลมาจากความตื่นตัวในเรื่องของ AEC ฉะนั้นในภาพรวมของปี 2557 ผู้ประกอบการแฟรนไชส์จะต้องพัฒนาทั้งคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตนเอง คุณภาพของการให้บริการ ขณะเดียวกัน ต้องพัฒนาในเรื่องของการสื่อสารออกไปว่าตนเองได้มีการพัฒนาหรือทำอะไรไปแล้วบ้าง เนื่องจากในไม่ช้าจะมีคู่แข่งใหม่เข้ามา ในช่วงนี้จึงต้องเร่งพัฒนาเพื่อการเติบโตในก้าวต่อไป      

    “ในฐานะที่เราเป็นผู้ประกอบการด้านแฟรนไชส์ จำเป็นต้องเข้าใจกระแส ความเป็นไปโดยรอบ ซึ่งในปัจจุบันนี้สิ่งที่มาแรงคือ AEC ผู้ประกอบการทุกคนต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับสังคมยุคใหม่ สำหรับแฟรนไชส์ที่โตมาแล้วในระดับหนึ่ง ต้องพัฒนาเพื่อตั้งรับกับจากกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อจะก้าวกระโดดให้ทันคู่แข่ง แม้กระทั่งแฟรนไชส์การศึกษา เราก็มีการพัฒนาปรับหลักสูตรใหม่ๆ เพื่อที่จะพัฒนาเด็กไทยได้มากขึ้น ที่สำคัญคือเปิดสอน Quality kids Inter รองรับเด็กที่สื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ยังพัฒนาหลักสูตรรองรับการเปิดสาขาในต่างประเทศอีกด้วย”  


 

 

    ในขณะที่ตัวแทนธุรกิจแฟรนไชส์ด้านบริการ อย่าง พีรวศิน วันเฟื่องฟู เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ฟองแฟ้บ laundry & dryclean มีมุมมองไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ การเข้ามาของ AEC จะทำให้แบรนด์และความน่าเชื่อถือยิ่งมีความสำคัญ ซึ่งหากมีการสร้างสองปัจจัยให้เกิดขึ้นได้ แม้จะมีแฟรนไชส์ต่างชาติเข้ามาก็จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะลักษณะเฉพาะของธุรกิจบริการคือ ถ้าเชื่อมั่นในมาตรฐานและคุณภาพแล้ว การเปลี่ยนแบรนด์จะเกิดขึ้นได้ยาก 

    “แน่นอนว่าจะมีแบรนด์ต่างชาติเข้ามาบุกตลาดไทยเป็นจำนวนมาก แต่ในส่วนธุรกิจบริการ อย่างซักอบรีด หากสามารถทำให้ลูกค้าไว้ใจได้แล้ว ส่วนมากจะไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแบรนด์ บวกกับความที่เราเป็น Local Brand จะได้เปรียบแบรนด์ใหญ่และแบรนด์ต่างชาติในเรื่องความใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากกว่า ฉะนั้นในปีหน้าจึงเป็นช่วงที่ต้องเร่งสร้างแบรนด์และความน่าเชื่อถือ ที่สำคัญคือต้อง Keep Connection กับลูกค้าให้ยาว รักษาฐานลูกค้าเดิมให้ได้ และถ้ารักษามาตรฐานได้ เขาก็จะอยู่กับเราตลอดไป”  

    อีกประเด็นคือ ต้องพัฒนาช่องทางสื่อสารทางออนไลน์ให้มากขึ้น เพราะพีรวศินมองว่า Social Network ทำให้สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรง ทว่าสิ่งสำคัญคือต้องมีการสื่อสารทั้ง 2 ทาง นั่นคือสิ่งที่ผู้ประกอบการอยากบอก เป็นต้นว่า การเปิดสาขาใหม่ กิจกรรมการจัดอบรม สองคือสิ่งที่ผู้บริโภคอยากรู้ เช่น การเพิ่มเกร็ดความรู้เรื่องซักอบรีดลงไป   

    นอกจากความท้าทายในการเข้ามาของธุรกิจชาติอาเซียน  พัชราวดี หมื่นนิกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแฟรนไชส์ บริษัท อีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ EZ’S Kitchen และ Morgen by EZ’S ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ยังมีสภาพเศรษฐกิจและการเมืองเข้ามาเป็นความเสี่ยงสำคัญ 

     “คาดการณ์ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองยังไม่ดีนัก ภาพรวมธุรกิจส่วนใหญ่แล้วจะชะลอตัวในด้านการเติบโต เพราะว่าเศรษฐกิจไม่ดี คนก็จับจ่ายน้อยลง ทว่าแฟรนไชส์หมวดอาหารน่าจะมีผลกระทบน้อยกว่าหมวดอื่นๆ ในเรื่องเศรษฐกิจ ด้วยเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 สำหรับด้านการเมือง ถ้าอยู่ไกลตัวคนก็ยังไม่ส่งผลมากนัก แต่เมื่อไหร่ที่เกิดการชุมนุมหรือการปะทะ ผู้บริโภคจะไม่ออกมาจับจ่ายด้วยอารมณ์และความกลัว แฟรนไชส์อาหารจึงกลัวความยืดเยื้อทางการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจภาพใหญ่”

    อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องเศรษฐกิจมากนัก แต่จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัว ซึ่งในมุมมองของแฟรนไชส์อาหาร พัชราวดีชี้แนะว่า การขยายตัวของแฟรนไชส์ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดสาขาของแฟรนไชซอร์เอง หรือในส่วนของแฟรนไชซี  

    “สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องควบคุมเรื่องต้นทุน เพราะว่าเศรษฐกิจยังผันผวน การเมืองยังไม่นิ่ง จึงต้องคุมต้นทุนภายในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นค่าสินค้า ค่าแรง หรืออะไรก็ตาม หมายความว่าต้องบริหารอย่างจริงจังให้ธุรกิจยังคงได้กำไร มากกว่านั้น ยังต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค คือต้องมีความหลากหลายให้ลูกค้าเลือกในราคาที่เหมาะสม ให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่ามีความพึงพอใจกับอาหาร ที่เรียกว่า Value for money ในภาวะเช่นนี้เราจึงต้องทำทั้งสองอย่างควบคู่กัน”  

    ด้วยสภาวะทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้จะมาเป็นแฟรนไชซีคิดมากขึ้นในการเลือกลงทุนให้เหมาะสม ซึ่งปัจจัยสำคัญในการพิจารณาคือ โครงสร้างการบริหาร โดยจะมองดูผลประกอบการและกำไรเป็นหลัก เพื่อไม่ให้ระยะเวลาคืนทุนยาวเกินไปเมื่อเทียบกับอายุสัญญา พร้อมทั้งต้องมีช่วงเวลาแห่งกำไรในอายุสัญญาที่เหลือ เมื่อทิศทางแฟรนไชส์ไทยถึงยุคเปลี่ยนผ่าน ผู้ประกอบการย่อมต้องเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน 

Create by smethailandclub.com


 

RECCOMMEND: FRANCHISE

3 แฟรนไชส์ ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดัง น่าลงทุน ปี 2023

หนึ่งในร้านอาหารที่ติด Top 3 ที่คนค้นหามากที่สุด คือ ก๋วยเตี๋ยว วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 3 แฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดังที่น่าลงทุน ปี 2023 พร้อมราคาแฟรนไชส์มาฝากกัน

3 ไอเดียทำร้านแฟรนไชส์ 5 ปี ขยายกว่า 750 สาขา สไตล์ Otteri ร้านที่เป็นมากกว่าแค่ที่ซักผ้า

ในสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย กลยุทธ์หนึ่งของการทำธุรกิจที่ใช้มัดใจลูกค้าได้ดี ก็คือ ให้มากกว่าที่ลูกค้าคิดว่าจะได้รับ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปไหน เหมือนกับคอนเซปต์ของแบรนด์ Otteri Wash & Dry แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก 24 ชั่วโมงที่เปิดดำเนินธุรกิจมาได้ 5 ปี มีสาขาแล้วกว่า 750 แห่งทั่วประเทศ

อยากต่อยอดธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ขยายกิจการให้โต SME ต้องทำอย่างไร?

หนึ่งในโมเดลที่หลายคนให้ความสนใจในการขยายธุรกิจคือ การแปลงธุรกิจของตัวเองให้กลายเป็น “แฟรนไชส์” แต่หลายคนอาจสงสัยว่า การทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ต้องทำอย่างไร?