คุยกับกูรู “เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์” หาคำตอบ ทำแฟรนไชส์อย่างไรให้รอดในยุคโควิด

TEXT: วันวิสา งามแสงชัยกิจ





Main idea
 
 
  • โมเดลธุรกิจอย่างการทำแฟรนไชส์ มักถูกใช้เป็นไม้ตายของคนที่อยากลงทุนทำกิจการแต่ไม่กล้าเสี่ยงแบบเต็มตัว โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่หากธุรกิจไหนได้รับผลกระทบ ดำเนินกิจการไม่ได้ คนก็เริ่มมองหาธุรกิจใหม่ที่สามารถทดแทนรายได้ที่สูญเสียไป และหนึ่งในนั้นก็คือ “แฟรนไชส์”
 
  • แต่ภายใต้สถานการณ์ที่จะขยับตัวไปทางไหนก็ดูจะลำบากเช่นนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ยังคงน่าสนใจอยู่หรือไม่ ทิศทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญจะอยู่รอดได้อย่างไรในวันที่อะไรๆ ก็ดูต่างไปจากเดิม มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน




     ทางลัดอย่างหนึ่งของการชิมลางเดินในเส้นทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการมักใช้คือ การลงทุนทำแฟรนไชส์ ซึ่งเปรียบได้กับการซื้อความสำเร็จจากคนอื่นที่ได้รับการการันตีมาแล้ว ดังนั้นความเสี่ยงที่จะต้องออกสตาร์ทเป็นเจ้าของกิจการตั้งแต่ก้าวแรกด้วยตัวเอง จึงลดน้อยลงไปด้วย แต่ในสถานการณ์ของวิกฤตไวรัสเช่นนี้ เส้นทางที่เคยเดินอาจจะไม่ง่ายและราบเรียบเหมือนแต่ก่อน แล้วต้องทำอย่างไรที่จะทำแฟรนไชส์ให้รอดได้ในยุคโควิด-19


     มาร่วมหาคำตอบนี้ไปกับ “เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีโนซิส จำกัด ผู้ให้คำปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์ การเงินธุรกิจและแฟรนไชส์
 




     SME Thailand : การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ส่งผลกระทบอย่างไรต่อธุรกิจแฟรนไชส์ในบ้านเรา
 

     เศรษฐพงศ์ : แน่นอนว่าทุกธุรกิจต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้ แฟรนไชส์เองก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะถือเป็นส่วนต่อขยายของธุรกิจอื่น โดยเฉพาะธุรกิจด้านค้าปลีก ร้านค้า ร้านอาหาร ซึ่งตัวของบริษัทแม่เองอย่าง “แฟรนไชส์ซอร์” (Franchisor) ที่เป็นเจ้าของธุรกิจเหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ และ “แฟรนไชส์ซี” (Franchisee) หรือ ผู้รับสิทธิในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์อื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องของการที่ต้องหยุดดำเนินงานตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พรก.ฉุกเฉิน 
 

     SME Thailand :  สถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลต่อมูลค่าตลาดและผู้เล่นในวงการอย่างไร
 

     เศรษฐพงศ์ : คาดว่ามูลค่าของรายได้จะต้องลดลงอย่างแน่นอน แต่ว่ายังไม่สามารถประเมินค่าได้ ณ ตอนนี้ โดยปกติมูลค่าตลาดโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 300,000 ล้านบาท (ไม่รวมแฟรนไชส์ในร้านสะดวกซื้อรายใหญ่) ซึ่งในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา มูลค่าตลาดโดยรวมน่าจะลดลง คนที่ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์และร้านค้ารายได้อาจจะลดลง แต่ในขณะที่เรามองแบบนี้ คนกลับสนใจที่จะซื้อแฟรนไชส์เพิ่มขึ้น เหตุผลคือ ผู้คนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่ถูกเลิกจ้าง (Lay Off) และถูกพักงาน ซึ่งมองหาธุรกิจที่สามารถจะช่วยเขาในช่วงเวลาที่เขาทำงานไม่ได้ แฟรนไชส์จึงเข้ามาเป็นตัวตอบโจทย์ กลุ่มคนเหล่านี้จะมีการตัดสินใจซื้อที่ง่ายขึ้น เพราะมีเงินสะสมอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่เคยมีโอกาสคิดจริงจังในการที่จะเป็นเจ้าของกิจการเอง จากการได้พูดคุยกับบรรดาแฟรนไชส์ซอร์หลายรายในบ้านเราพบว่า มีผู้สนใจมาซื้อแฟรนไชส์ติดต่อขอข้อมูลเยอะมากกว่าช่วงเวลาปกติด้วยซ้ำ หรือในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาก็มียอดคนเปิดแฟรนไชส์เยอะขึ้นในภาวะแบบนี้เช่นกัน
 

     SME Thailand :  แล้วแฟรนไชส์จากต่างประเทศจะเข้ามาในไทยยากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ในขณะเดียวกัน แฟรนไชส์ไทยจะออกไปต่างประเทศนั้นยากขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า
 

     เศรษฐพงศ์ : ทั้งสองอย่างยากขึ้นมาก อย่างในกรณีของแฟรนไชส์ไทยไปต่างประเทศ แค่งานแฟรนไชส์ใหญ่ๆ ที่จัดในต่างประเทศในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นที่ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือฟิลิปปินส์ ต่างก็ถูกเลื่อน อีกทั้งแบรนด์ไทยที่ตั้งเป้าจะขยายในต่างประเทศก็ทำไม่ได้เลย สำหรับแฟรนไชส์จากต่างประเทศที่เข้ามาในไทยช่วงนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือที่เขาตั้งใจและคุยกันเรียบร้อยแล้วว่าจะเข้ามาเปิด แต่ตอนนี้การดำเนินธุรกิจถูกเลื่อนออกไปก่อน เพราะว่าสถานที่ที่จะเปิดนั้นอยู่ในห้าง แต่การเตรียมการต่างๆ ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการฝึกอบรม (Training) เรื่องของการวางแผน และมีการประชุมออนไลน์กันอยู่เรื่อยๆ และในส่วนที่สองคือแฟรนไชส์ใหม่ๆ ที่จะเข้ามายังคงต้องรอช่วงเวลาที่เหมาะสม แม้ว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ทางบริษัทมีการจัด Business Matching จะมีแบรนด์ต่างประเทศเข้ามาและมีนักลงทุนคนไทยยังสนใจอยู่ แต่ตอนนี้ด้วยความยากที่ทางเจ้าของต้องดูแลแฟรนไชส์ตัวเองในประเทศของตัวเองก่อน การจะเปิดจึงต้องดูจังหวะเวลาให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ความสนใจยังมีอยู่ เนื่องจากว่าถ้าธุรกิจไหนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงส่งผลให้ดำเนินธุรกิจไม่ได้ คนจะเริ่มมองหาธุรกิจที่สามารถจะทดแทนรายได้ของเขา และหนึ่งในนั้นก็คือแฟรนไชส์  
 

     SME Thailand : ทิศทางของธุรกิจแฟรนไชส์จะเป็นอย่างไรต่อไปหลังจากนี้
 

     เศรษฐพงศ์ : มองว่าโอกาสในการเติบโตของการขยายแฟรนไชส์ขนาดเล็กและกลางจะไปได้ดี โดยแฟรนไชส์ขนาดเล็กที่มีการลงทุนไม่เกิน 3 หมื่นบาท จะขยายได้เยอะแต่เป็นในช่วงระยะสั้นๆ ส่วนแฟรนไชส์ขนาดกลางที่มีการลงทุนประมาณ 350,000 บาท และไม่เกิน 1 ล้านบาท น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างดี แต่ถ้าเป็นแฟรนไชส์ที่มีการลงทุนมากๆ 2 – 3 ล้านบาท น่าจะต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง โดยเฉพาะแฟรนไชส์ที่ต้องอาศัยทำเลและที่ตั้ง พวกนี้จะลำบากในการขยาย นอกจากนี้ หากมองในแง่ของการทำธุรกิจคาดว่า สถานการณ์จะซบเซาไปอีกครึ่งปี โดยปีหน้าน่าจะฟื้นตัว เนื่องจากกำลังซื้อได้รับผลกระทบ ผู้บริโภคระวังตัวในการใช้จ่ายพอสมควร เพราะฉะนั้น ราคาสินค้าที่สูงๆอย่างธุรกิจไหนที่ต้องใช้เงินลงทุนมากๆก็จะอยู่ในช่วงของการพิจารณาถึงปัจจัยตรงนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีความโชคดีอยู่ท่ามกลางการเกิดวิกฤต สำหรับคนที่อยากจะเป็นผู้ประกอบการ อยากซื้อแฟรนไชส์เป็นของตัวเองช่วงนี้ ควรพิจารณาแฟรนไชส์ที่เป็นแบรนด์ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคาร เพราะจะได้ดอกเบี้ยค่อนข้างดี เนื่องจากแฟรนไชส์แบรนด์ใหญ่ๆเหล่านี้จะได้มาตรการสนับสนุนจากสินเชื่อเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสินเชื่อแฟรนไชส์จากธนาคาร
 





     SME Thailand : โอกาสของการเกิดธุรกิจแฟรนไชส์ใหม่ๆ ธุรกิจไหนน่าสนใจ และธุรกิจไหนต้องรีบปรับตัว
 

     เศรษฐพงศ์ :  ธุรกิจที่มาแรง ณ ตอนนี้จะเป็นธุรกิจบริการต่างๆ ที่เห็นได้ชัดเลยคือ ธุรกิจบริการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค ซึ่งเดิมทีธุรกิจทำความสะอาดมีเยอะ แต่ทำความสะอาดที่ฆ่าเชื้อโรคนั้นยังมีผู้เล่นไม่มาก และตอนนี้ก็มีเพิ่มมากขึ้นจากวิกฤตไวรัสที่เกิดขึ้น อย่างในกรณีที่คนไทยซื้อแฟรนไชส์ฆ่าเชื้อโรคมาจากต่างประเทศตั้งแต่ปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีความนิยมมากเท่าไร แต่ในช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายของเขาก็ดีขึ้นมากจนต้องขยายเร็วมาก และเริ่มมีคนสนใจเรื่องของธุรกิจนี้เพิ่มมากขึ้น


     นอกจากนี้ เรื่องของการศึกษาออนไลน์ยังคงมาแรงเช่นกัน ตอนนี้โรงเรียนกวดวิชาและโรงเรียนทั่วไปไม่สามารถเปิดทำการได้ จึงต้องปรับตัวเข้าสู่การสอนสดออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่คนที่ทำธุรกิจสอนสดออนไลน์อยู่แล้ว อย่างพวกกวดวิชาออนไลน์ก็สามารถทำธุรกิจได้ง่ายมากขึ้น และสามารถขายคอร์สล่วงหน้าได้หลายเดือน  


     สำหรับธุรกิจที่ต้องรีบปรับตัวคือ ธุรกิจร้านอาหารที่ยังไม่เคยขายแบบเดลิเวอรี ซึ่งตอนนี้การจัดส่งแบบเดลิเวอรีมีเพิ่มมากขึ้น ในกรุงเทพอาจจะเห็นแบรนด์เดลิเวอรี่อยู่ไม่กี่แบรนด์ แต่ในต่างจังหวัดมีเยอะมาก เขาขายเป็นแพลตฟอร์ม ซึ่งอาจจะไม่เชิงว่าเป็นแฟรนไชส์โดยตรง จะเป็นลักษณะของการขาย License ในการทำเดลิเวอรี่ ซึ่งเริ่มเห็นแพลตฟอร์มที่มีชื่อใหม่ๆ มากขึ้น โดยผู้ประกอบการจะซื้อ License และจ่ายค่าธรรมเนียม โดยภาพรวมรูปแบบดูคล้ายแฟรนไชส์ ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นแฟรนไชส์เดลิเวอรีก็ได้ อย่างไรก็ตาม ทุกธุรกิจควรมีการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านค้า ธุรกิจค้าปลีก ที่ควรเน้นการทำออนไลน์มากขึ้น แต่สำหรับธุรกิจที่ให้บริการอย่างด้านสปา ด้านนวด พวกนี้ติดปัญหาหมดเลย และปรับตัวค่อนข้างยาก
 

     SME Thailand :  ในส่วนของพฤติกรรมของลูกค้า จะมีผลต่อการสร้างธุรกิจแฟรนไชส์อย่างไรหลังจากเกิดวิกฤตไวรัสครั้งนี้
 

     เศรษฐพงศ์ : ลูกค้ามีส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะว่าพฤติกรรมของเขามีการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เรื่องของการซื้อของ ซื้ออาหาร หรือว่าการใช้บริการต่างๆ ดังนั้น แฟรนไชส์เองจะต้องปรับตามพฤติกรรมใหม่หมด หรือที่เรียกว่า New Normal ที่สำคัญ ศาสตร์เดิมอย่าง Operation Manual หรือคู่มือปฏิบัติงานที่ร้านแฟรนไชส์ ร้านค้าปลีกทั่วไป หรือร้านที่ให้บริการทั่วไปเคยมีอยู่ต้องปรับใหม่หมด รวมถึงวิธีการขายและวิธีการนำเสนอจากเดิมก็ต้องเปลี่ยนหมดเลย เมื่อก่อนในคู่มือปฏิบัติงาน เราไม่ได้ใส่เรื่องของเดลิเวอรี่มากขนาดนี้ เพราะฉะนั้น ต้องมีการเปลี่ยนฟังก์ชั่นการทำงาน และเปลี่ยนมาตรฐานการให้บริการ เนื่องจากคนมีความคุ้นเคยและคุ้นชินในการใช้ออนไลน์และการสั่งเดลิเวอรี่มากขึ้น เพราะไม่ว่าจะสั่งอะไร สั่งจากไหน ต้องการเมื่อไร ก็สามารถเลือกได้นั่นเอง   
 

     SME Thailand : ข้อควรระวังหรือปัจจัยสำคัญสำหรับคนที่อยากซื้อแฟรนไชส์ที่ต้องให้ความใส่ใจมากขึ้น ในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ภายใต้บริบทสังคมและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
 

     เศรษฐพงศ์ : สิ่งที่ต้องระวังและต้องเตือนตัวเองก่อนตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์คือ ต้องมองหาแฟรนไชส์ที่รู้จักปรับตัว พูดง่ายๆ ว่า ต้องดูก่อนว่า ธุรกิจที่ขายแฟรนไชส์เหล่านั้น เขาปรับตัวในภาวะวิกฤตนี้อย่างไรบ้าง เขาดูแล เอาใจใส่แฟรนไชส์ซีอย่างไร เพราะหากในภาวะแบบนี้ แฟรนไชส์ซอร์ยังเก็บค่า Royalty Fee หรือค่าตอบแทน ค่าธรรมเนียมการจัดการเป็นปกติอยู่ก็ถือว่าไม่ค่อยดีสักเท่าไร หรือแม้กระทั่งไม่ได้มีการโปรโมท ช่วยเหลือ หรือทำการตลาดส่งเสริมให้กับทางด้านแฟรนไชส์ซีเลยก็น่าจะมีปัญหาเหมือนกัน ดังนั้น ผู้ที่สนใจจึงต้องทำการสแกนและพิจารณาให้ดี โดยเฉพาะในสถานการณ์เช่นนี้ที่เรา สามารถเลือกซื้อแฟรนไชส์ได้ง่ายขึ้น เพราะจะเห็นได้ว่า แฟรนไชส์แบรนด์ไหนทำอย่างไรต่อสังคมบ้าง มีการให้การตอบรับกับบรรดาลูกค้าอย่างไรบ้าง ตอนนี้จะเห็นได้ง่าย ซึ่งถ้าแบรนด์ไหนไม่เข้มแข็งคือไม่ทำอะไรเลย คิดจะขายแฟรนไชส์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
 





     SME Thailand :  คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการในการปรับตัวและรับมือกับวิกฤตในครั้งนี้ ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอดได้ในยุคโควิด-19
 


     เศรษฐพงศ์ : ต้องมองข้ามช็อต อยากให้คิดว่า จะเตรียมตัวอย่างไร มีแผนพัฒนาแบบไหน มีแผนที่จะต่อยอดหลังจากที่วิกฤตนี้ผ่านไปแล้วอย่างไรบ้าง ข้อนี้สำคัญคือต้องมองข้ามแล้ว อย่ามองแค่ ณ ปัจจุบัน ต้องมองไปล่วงหน้า เตรียมตัวให้ได้ก่อน และเตรียมแผนในการที่จะดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องให้ได้ เช่น จะต้องวิเคราะห์เรื่องของซัพพลายเชนว่า ซัพพลายเออร์ของเรามีความพร้อมหรือเปล่า โอกาสในการเปิดร้านของเราจะเป็นอย่างไร การเตรียมการเปิดร้านตามกฎกระทรวงสาธารณสุขต้องทำอย่างไรบ้าง รวมถึงการดูแลบุคลากรของเราจะเป็นแบบไหน ต้องดูเรื่อง Resource ทรัพยากรทางการเงินของเราด้วยว่า ตอนนี้เราอยู่ได้ถึงเท่าไร อย่างไรบ้าง และต้องการ Resource เท่าไรบ้าง และต้องเตรียมมองภาพว่า เราจะวางแผนการตลาด โปรโมท และช่วยเหลือลูกค้าอย่างไรหลังจากนี้


     อีกอย่างที่จะให้มองคือเรื่องของการให้ ในช่วงเวลานี้เราต้องรู้จักเป็นผู้ให้ ถือเป็นช่วงเวลาของการแบ่งปัน ในฐานะที่เป็นแฟรนไชส์ซอร์ เรามีโอกาสที่จะให้แฟรนไชส์ซีได้ ให้ลูกค้าได้ในแบบที่เราไม่เจ็บตัว โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่ผู้คนจะจดจำว่า แบรนด์ไหนช่วยเหลือสังคม ใส่ใจสังคม ให้คืนสังคม และดูแลสังคม เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่เราจะทำแบรนด์ตัวเองให้ดูเข้าถึงลูกค้าได้ เช่น แฟรนไชส์ในต่างประเทศที่นำเอาเครื่องมือทำความสะอาดของแบรนด์ไปทำความสะอาดในสถานที่ราชการฟรี ส่งผลให้ยอดขายกลับมาดีสุดๆ และลูกค้าให้การสนับสนุน ส่งผลให้บรรดาแฟรนไชส์ซีต่างๆได้รับอานิสงส์ไปด้วย


     ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการต้องรู้จักจับมือร่วมกับคนอื่น สร้างการ Collaboration กับแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยไม่จำเป็นจะต้องสร้างแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง เพราะการทำธุรกิจตอนนี้ให้อยู่รอดได้ ผู้ประกอบการต้องไป Collab หรือไป X กับคนอื่น หาความร่วมมือ โดยไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในการสร้างแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง ควรรวมตัวกับคนอื่นๆ ให้ได้ เพื่อที่จะไปต่อรองราคาการหักเปอร์เซ็นต์กับแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ที่มีอยู่แล้ว ยิ่งถ้าแฟรนไชส์มีสาขาจำนวนมากๆ ก็จะต่อรองกับเจ้าของแพลตฟอร์มได้ง่ายกว่า เช่น ถ้าเป็นร้านเดียวสาขาเดี่ยวๆ แล้วไปคุยกับแพลตฟอร์มการจัดส่ง เพื่อขอลดการหักเปอร์เซ็นต์ลงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าบอกว่า มี 200 สาขา แล้วจะเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มนี้ โอกาสต่อรองจะมีมากขึ้น แต่ถ้าเกิดเราคนเดียวไม่ไหวก็ต้องไปร่วมกับแฟรนไชส์เจ้าอื่นๆ แล้วขอต่อรอง ซึ่งจะช่วยให้เสียงต่อรองดังกว่าที่เราบุกไปคนเดียว เพราะฉะนั้น การร่วมมือกันของแฟรนไชส์ควรเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นได้แล้ว   
 


     และนี่คือสิ่งที่คนทำธุรกิจและ (ว่าที่) ผู้ประกอบการในธุรกิจแฟรนไชส์ต้องรู้ เพื่อเติมพลังให้กับการเดินหน้าสู้อีกครั้ง….      
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: FRANCHISE

3 แฟรนไชส์ ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดัง น่าลงทุน ปี 2023

หนึ่งในร้านอาหารที่ติด Top 3 ที่คนค้นหามากที่สุด คือ ก๋วยเตี๋ยว วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 3 แฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดังที่น่าลงทุน ปี 2023 พร้อมราคาแฟรนไชส์มาฝากกัน

3 ไอเดียทำร้านแฟรนไชส์ 5 ปี ขยายกว่า 750 สาขา สไตล์ Otteri ร้านที่เป็นมากกว่าแค่ที่ซักผ้า

ในสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย กลยุทธ์หนึ่งของการทำธุรกิจที่ใช้มัดใจลูกค้าได้ดี ก็คือ ให้มากกว่าที่ลูกค้าคิดว่าจะได้รับ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปไหน เหมือนกับคอนเซปต์ของแบรนด์ Otteri Wash & Dry แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก 24 ชั่วโมงที่เปิดดำเนินธุรกิจมาได้ 5 ปี มีสาขาแล้วกว่า 750 แห่งทั่วประเทศ

อยากต่อยอดธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ขยายกิจการให้โต SME ต้องทำอย่างไร?

หนึ่งในโมเดลที่หลายคนให้ความสนใจในการขยายธุรกิจคือ การแปลงธุรกิจของตัวเองให้กลายเป็น “แฟรนไชส์” แต่หลายคนอาจสงสัยว่า การทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ต้องทำอย่างไร?