ึ7 เคล็ดลับพลิกธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์






       หากมีเงินสักก้อนอยากลงทุนทำธุรกิจ และเห็นว่า "แฟรนไชส์" ดูจะน่าสนใจที่สุด แต่ก็ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เรานำ 7 ขั้นตอนเพิ่งเริ่มต้นแฟรนไชส์มาให้ดูกันแล้ว

1.หาความรู้อย่างรู้ลึก รู้จริง

    แน่นอนว่า ถ้าคุณทำแฟรนไชส์โดยไม่มีความรู้จริง ก็ย่อมไม่สำเร็จ ดังนั้นหากคุณต้องขยายธุรกิจด้วยแฟรนไชส์ ขั้นตอนแรกต้องมีความรู้เรื่องระบบแฟรนไชส์เสียก่อน  ซึ่งทางสมาคมแฟรนไชส์ไทย มีเปิดอบรมเรื่องการสร้างระบบแฟรนไชส์ 30 ชั่วโมง ทุกปี จัดเป็นประจำ ปีละ 1-2 ครั้ง ที่สามารถหาความรู้ได้จากการเข้าอบรมในโปรแกรมนี้
นอกจากนี้แล้วยังมีหนังสือ คู่มือการสร้างระบบแฟรนไชส์ ของสมาคมแฟรนไชส์ไทย สามารถหาซื้อมาอ่านได้ จากเวป  www.franchisefocus.co.th , หรืออาจจะหาผู้รู้ ที่มีประสบการณ์มาก่อนให้คำแนะนำ หรือ เข้าหาความรู้จากหน่วยงานของสมาคม และหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

2.ประเมินความเป็นไปได้

    ไม่ใช่ว่าทุกกิจการคิดจะขายแฟรนไชส์ก็ขายได้ทันที กิจการที่จะขายแฟรนไชส์ได้นั้น ต้องมีความพร้อมในระดับหนึ่ง คือต้องเป็นกิจการที่มีกำไรมาแล้ว มีร้านสาขาอยู่บ้าง และมีอายุธุรกิจนานพอที่จะเอาประสบการณ์มาถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้ ดังนั้น ก่อนที่กิจการใดก็ตามที่คิดจะขายแฟรนไชส์ต้องมีการวิเคราะห์ความเป็นไปในธุรกิจของตัวเองว่า พร้อมหรือยังและอยู่ในระดับใด ซึ่งการขายแฟรนไชส์โดยที่ยังไม่พร้อม จะไม่สำเร็จ และจะเกิดปัญหามากมายตามมา จนต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่ หรือเลิกไปเลย อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับหลายกิจการมาแล้ว
 


3.จัดระเบียบธุรกิจใหม่ หรือ ทำร้านต้นแบบ

    ทุกกิจการย่อมต้องพัฒนาตลอดเวลา ดังนั้นก่อนการขายแฟรนไชส์ จะต้องมีการจัดระเบียบการดำเนินงานร้านเสียก่อน ส่วนที่ดีอยู่แล้ว ก็กำหนดขึ้นเป็นมาตรฐานการทำงาน สิ่งที่ยังไม่ดีก็จัดระเบียบใหม่ เพื่อสร้างความเป็นมาตรฐาน เพื่อให้ร้านต่อไปได้ปฏิบัติตาม อย่างเป็นรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้ได้คุณภาพสินค้า การบริการ และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้เหมือนกันทุกร้าน ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า ทำเป็นร้านต้นแบบ หรือสร้างเป็นร้านตัวอย่างในแบบที่ต้องการขายแฟรนไชส์ เพื่อศึกษารายละเอียดและผลตอบรับในทุกแง่มุม ถ้าจะให้ดีให้ร้านต้นแบบนั้นอาจบริหารจัดการโดยผู้อื่น ที่ไม่ใช่คุณเป็นเจ้าของร้าน เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าถ้ามีการขายแฟรนไชส์ และดำเนินกิจการตามรูปแบบที่วางไว้ จะมีโอกาสสร้างกำไรให้กับกิจการได้อย่างต่อเนื่องในร้านต่อๆไป 

4.ประมาณการ โครงสร้างทางการเงิน

    ที่สำคัญยิ่ง  ร้านต้นแบบนี้  จะนำมาใช้วางโครงสร้างทางการเงิน เช่น ถ้าการเปิดแฟรนไชส์ 1 แห่ง จะมีรายละเอียดในการลงทุนอย่างไร มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง จุดคุ้มทุนจะอยู่ลูกค้ากี่คน ยอดขายที่จะคุ้มค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ตัวเลขประมาณเท่าไหร่  และเป้าหมายควรมีลูกค้าขั้นต่ำเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้เงินลงทุนคืนประมาณกี่ปี  และคุ้มไหม ที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะมาลงทุนทำธุรกิจนี้  ร้านต้นแบบจะทำให้ได้ภาพที่ชัดขึ้น และมีตัวเลขที่เข้าใกล้ความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งส่วนนี้ จะมีความสำคัญต่อการกำหนด การเก็บค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (Franchise Fee)  และ ค่าธรรมเนียมรายเดือน (Royalty Fee) ด้วย

5.สร้างแบรนด์ สร้างชื่อให้เป็นที่รู้จัก

    หน้าที่สำคัญของผู้ขายแฟรนไชส์ ก็คือการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งก็เท่ากับเป็นการสร้างรายได้เข้าให้กับบริษัทแม่เอง หลายคนเดินผิดทาง มีจุดหมายขายแฟรนไชส์ เพื่อหวังค่าธรรมเนียมแรกเข้าอย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยไม่ได้เอาใจใส่ในการทุ่มทุน ทุมแรงในการสร้างแบรนด์ และทำการตลาดให้สินค้า-บริการ ของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้าในวงกว้าง  ซึ่งจะนำมาสู่ยอดขายที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ ให้กับร้านแฟรนไชซี่  และเป็น Key Success ที่จะย้อนกลับมาที่บริษัทแม่อย่างมั่นคงกว่า ในรูปของค่าธรรมเนียมรายเดือน ซึ่งรายได้ที่แท้จริงจากการทำระบบแฟรนไชส์   บริษัทผู้ขาย แฟรนไชส์ส่วนมาก ที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะขาดทักษะในการสร้างแบรนด์  หรือการทำการตลาดเพื่อสร้างเม็ดเงินเข้าร้านอย่างต่อเนื่อง

 



6.วางโรดเมฟ ในการขยายธุรกิจ

    ผู้ที่ขายแฟรนไชส์ จะต้องมีแผนการอยู่ในใจว่าต้องการขยายธุรกิจอย่างไร เช่น เปิดเพิ่มในปีหน้า 100 สาขา หรือ ออกตัวแบบนิ่มๆไปก่อน 2 สาขา จะเห็นว่า การตั้งเป้าหมายทั้ง 2 แบบนี้ต่างกันสุดขั้ว การวางเป้าหมายมีความสำคัญ สำหรับกำหนดทิศทาง ว่ากิจการจะเดินไปอย่างไร   จะทำอะไรบ้าง แค่ไหน อย่างไร  เช่น การใช้งบการตลาด การเตรียมสรรหาพื้นที่ การจัดเตรียมบุคลากร การหาเงินทุน การทำการตลาดเพื่อขายแฟรนไชส์ เป็นต้น เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

7.การจัดทำคู่มือ การอบรม และระบบตรวจสอบ เพื่อสร้างมาตรฐานธุรกิจ

    คู่มือการดำเนินธุรกิจ คือ หัวใจของแฟรนไชส์  และเป็นกระบวนการที่ต้องมี ในการทำระบบแฟรนไชส์  คุณจะถ่ายทอดประสบการณ์ทางธุรกิจที่มีมานานนับสิบปีให้แก่ผู้อื่นได้อย่างไร และจะควบคุมการทำงานให้ราบรื่น มีมาตรฐานเดียวกันทุกแห่งได้อย่างไร  จัดทำคู่มือดำเนินงาน งานอบรม  การสร้างระบบการอบรม ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ ตามคู่มือที่กำหนดไว้  รวมไปถึงการสร้างระบบตรวจสอบ คือคำตอบ
นอกจากการจัดเตรียม ความพร้อมแล้ว ก่อนการขายแฟรนไชส์ ที่กล่าวมาแล้ว  สิ่งที่ต้องทำอีกเมื่อจะขายแฟรนไชส์ ก็คือ การทำสัญญาแฟรนไชส์  การทำเอกสารและสื่อเพื่อแนะนำธุรกิจแฟรนไชส์   การทำการตลาดสรรหาแฟรนไชซี่ การคัดเลือกแฟรนไชส์ การสรรหาทำเลเปิดร้าน การสร้างร้าน และการอบรม 

     และเมื่อมีการขายแฟรนไชส์ไปแล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือ  การเปิดร้าน  การ เป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินงานช่วงเริ่มต้น  และสร้างระบบการสนับสนุนที่ต่อเนื่อง   รวมไปถึง พัฒนาสิ่งใหม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า อย่างไม่หยุดยั้ง


Create by smethailandclub.com

 

RECCOMMEND: FRANCHISE

3 แฟรนไชส์ ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดัง น่าลงทุน ปี 2023

หนึ่งในร้านอาหารที่ติด Top 3 ที่คนค้นหามากที่สุด คือ ก๋วยเตี๋ยว วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 3 แฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดังที่น่าลงทุน ปี 2023 พร้อมราคาแฟรนไชส์มาฝากกัน

3 ไอเดียทำร้านแฟรนไชส์ 5 ปี ขยายกว่า 750 สาขา สไตล์ Otteri ร้านที่เป็นมากกว่าแค่ที่ซักผ้า

ในสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย กลยุทธ์หนึ่งของการทำธุรกิจที่ใช้มัดใจลูกค้าได้ดี ก็คือ ให้มากกว่าที่ลูกค้าคิดว่าจะได้รับ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปไหน เหมือนกับคอนเซปต์ของแบรนด์ Otteri Wash & Dry แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก 24 ชั่วโมงที่เปิดดำเนินธุรกิจมาได้ 5 ปี มีสาขาแล้วกว่า 750 แห่งทั่วประเทศ

อยากต่อยอดธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ขยายกิจการให้โต SME ต้องทำอย่างไร?

หนึ่งในโมเดลที่หลายคนให้ความสนใจในการขยายธุรกิจคือ การแปลงธุรกิจของตัวเองให้กลายเป็น “แฟรนไชส์” แต่หลายคนอาจสงสัยว่า การทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ต้องทำอย่างไร?