ซูโมต้า รุกตลาดแฟรนไชส์ เปิดมิติใหม่รถ 3 ล้อบรรทุก





เขียน ธีรนาฎ มีนุ่น
ภาพ กฤษฎา ศิลปไชย 


    “ระบบแฟรนไชส์ อาจไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุด แต่เป็นระบบที่ตอบโจทย์เราได้มากที่สุด” 

    พสุสันต์ วัฒนบุญญา รองประธานบริหาร บริษัท กุศมัยมอเตอร์ จำกัด กล่าวถึงแนวคิดการเปิดมิติใหม่ของรถ 3 ล้อบรรทุกภายใต้แบรนด์ “ซูโมต้า” ต่อการเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ พร้อมขยายความต่อไปว่า นับจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักในเมืองไทยเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจก็ประสบกับอุปสรรคในเรื่องการทำตลาดมาโดยตลอด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว รถประเภทนี้มีศักยภาพสูงมากที่จะเติบโตในตลาดเมืองไทย 

    อุปสรรคเรื่องการทำตลาดที่รองประธานบริหารกล่าวถึงนั้น คือการที่กุศมัยมอเตอร์ดำเนินธุรกิจในรูปแบบดีลเลอร์เช่นเดียวกับธุรกิจการจำหน่ายรถทั่วๆ ไป ทว่าด้วยข้อจำกัดของรถ 3 ล้อบรรทุกที่เป็นรถสำหรับใช้งานจริง จึงไม่ได้เป็นความต้องการของคนในวงกว้างอย่างเช่น รถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซต์ ส่งผลให้ตัวแทนจำหน่ายไม่ได้ให้ความสนใจในการทำตลาดอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาซูโมต้าจึงเป็นเพียงสินค้าเสริมเท่านั้น และเมื่อรถไม่มีการใช้งาน ก็จะเกิดการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา นอกจากนี้ บริษัทยังดำเนินงานภายใต้ระบบเงินสด โดยไม่มีระบบเงินผ่อน อันเป็นหัวใจหลักของธุรกิจรถมารองรับ ทำให้รถ 3 ล้อบรรทุกซูโมต้า พลาดโอกาสหลายๆ อย่างไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจ เนื่องจากหลายๆ รายไม่มีกำลังซื้อที่เป็นเงินสดในขณะนั้น
 


    “ไม่ว่าในประเทศญี่ปุ่นหรือในประเทศจีน พบว่ามีการใช้รถแบบนี้เป็นจำนวนมาก เราก็มองว่าค่อนข้างเหมาะสมกับประเทศไทย เนื่องจากเรายังคงมีภาคเกษตรกรรมเป็นภาคส่วนหลัก อีกทั้งยังสามารถใช้งานในภาคอุตสาหกรรมได้เช่นกัน และด้วยความที่เป็นรถบรรทุกเอนกประสงค์ ลูกค้าจึงเป็นผู้ใช้งานจริงๆ รถ 3 ล้อบรรทุกจึงมีศักยภาพในการขยายตัวอย่างมาก ทว่า 3-4 ปีที่ผ่านมา คล้ายกับว่าเรากำลังขับรถไปบนถนนที่มีรถติด และมีไฟแดงจำนวนมาก การเคลื่อนตัวจึงเป็นไปอย่างช้าๆ

     แต่ ณ วันนี้เมื่อเราแก้ปัญหาจนเกิดความพร้อมในหลายๆ ด้าน รวมไปถึงเรื่องระบบเงินผ่อน ที่มีการจับมือกับศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ เราจึงตัดสินใจใช้การตลาดแบบใหม่ นำธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ เพื่อสร้างความแตกต่าง และส่วนหนึ่งก็เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความตั้งใจ พร้อมลงมือทำเต็มกำลัง และให้ความสำคัญกับแบรนด์ซูโมต้าจริงๆ” 

    สำหรับการดำเนินงานในรูปแบบแฟรนไชส์นั้น พสุสันต์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีการกำหนดรูปแบบการลงทุนระบบแฟรนไชส์ ไว้ 3 ระดับคือ 1.ระดับตำบล 2.ระดับอำเภอ และ 3.ระดับจังหวัด ขึ้นอยู่กับความพร้อมของงบประมาณ และความสามารถในการทำตลาดของผู้ลงทุน อย่างไรก็ตาม ซูโมต้าได้ให้ความสำคัญและอภิสิทธิ์ในเบื้องต้นกับผู้ลงทุนในระดับจังหวัดมากที่สุด เพราะนอกจากจะได้รับสิทธิพิเศษในการทำตลาด และจัดจำหน่าย รถ 3 ล้อ ซูโมต้า แบบครอบคลุมทั้งจังหวัด โดยไม่มีคู่แข่ง ที่สำคัญคือ ยังสามารถเรียกเก็บค่าแฟรนไชส์จากผู้ลงทุนในระดับอำเภอ และระดับตำบลได้ด้วย โดยไม่ต้องแบ่งคืนให้ทางแฟรนไชส์ซอร์ บวกกับผลกำไรที่ได้จากการจำหน่ายรถ จึงช่วยย่นระยะเวลาในการคืนทุนได้เร็วขึ้น 

 

    “ตอนนี้เรามีรถ 4 ขนาด แต่สองรุ่นที่ได้รับความนิยมมาก คือ 110 CC และ 175 CC เพราะเหมาะกับงานในภาคเกษตรกรรม โดยรถเล็กสุดสามารถบรรทุกได้ถึง 1 ตัน จึงถือว่ารองรับน้ำหนักได้ค่อนข้างมาก และด้วยขนาดที่เล็ก ทำให้มีความคล่องตัวสูง สำคัญคือราคาไม่สูงจนเกินไป แต่การใช้งานครอบคลุมได้หมดในภาคเกษตรกรรม ซูโมต้าจึงเข้ามาตอบทุกโจทย์ความต้องการของเกษตรกร นอกจากนี้ยังมีอีก 2 รุ่น ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น บรรทุกได้ตั้งแต่ 1 ตันครึ่ง ไปจนถึง 2 ตัน สองรุ่นนี้จึงเหมาะกับงานอุตสาหกรรมต่างๆ” 

     จะเห็นได้ว่า ความได้เปรียบเหนือคู่แข่งของซูโมต้า คือการมีขนาดรถครอบคลุมการใช้งานทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม จึงสนองความต้องการของลูกค้าทุกประเภท และจากการใช้ทีมวิศวกรรมจากญี่ปุ่นมาช่วยออกแบบรถ จึงสามารถมั่นใจในคุณภาพ และความคงทนได้ ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคในเรื่องรถ 3 ล้อคุณภาพสูงที่มีรูปแบบและดีไซน์โดดเด่น    .
 



    ทั้งนี้ รองประธานบริหารกล่าวว่า แฟรนไชส์ซีทุกระดับจะได้รับการอบรมด้านการทำตลาดอย่างเข้มข้น ก่อนการเปิดโชว์รูม รวมถึงเทคนิคการทำตลาดอย่างต่อเนื่องหลังจากเปิดตัว โดยใน 3 เดือนแรก บริษัทจะทำหน้าที่เป็นเสมือนพี่เลี้ยง ที่คอยดูแลเรื่องต่าง ให้คำปรึกษาในทุกปัญหา นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ และสื่อการขายต่างๆให้ เช่น ป้ายผ้า ตู้ไฟ โรลอัพ โบว์ชัวร์ และเสื้อพนักงาน เพื่อความพร้อมในการทำตลาด

    “ในอนาคต เราคิดว่าจะสร้างศูนย์กระจายสินค้าและโลจิสติกส์ตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือแฟรนไชส์ซีเรื่องค่าใช้จ่ายและเวลาในการขนส่งได้  ส่วนในเวลานี้ เรากำลังสร้างรถต้นแบบสำหรับนำมาใช้เป็นร้านค้าเคลื่อนที่ เพื่อเพิ่มโอกาสของแฟรนไชส์ซี ในเข้าถึงฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น”  
เรียกว่าการเปิดมิติใหม่ครั้งนี้ สามารถสร้างโอกาสให้กับแฟรนไชส์ซีได้เป็นอย่างดี !!!


คุณสมบัติผู้ลงทุน 

    1. มีสภาพคล่องทางการเงิน
    2. มีความตั้งใจจริง
    3. มีความสามารถในการจัดสินเชื่อด้วยตัวเอง 

รูปแบบ A (ระดับตำบล):  

งบลงทุนเบื้องต้น 455,000 บาท 
ค่าแฟรนไชส์ 50,000 บาท 
รถจำนวน 5 คัน 

รูปแบบ B (ระดับอำเภอ):  

งบลงทุนเบื้องต้น 992,500 บาท 
ค่าแฟรนไชส์ 100,000 บาท 
รถจำนวน 10 คัน 

รูปแบบ C (ระดับจังหวัด): 

งบลงทุนเบื้องต้น 1,985,000 บาท 
ค่าแฟรนไชส์ 200,000 บาท 
รถจำนวน 20 คัน 

สนใจแฟรนไชส์ซูโมต้า
ติดต่อ: 02-416-5700 และ 089-178-6867
หรือ www.kusamaimotor.com

Create by smethailandclub.com
 

RECCOMMEND: FRANCHISE

3 แฟรนไชส์ ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดัง น่าลงทุน ปี 2023

หนึ่งในร้านอาหารที่ติด Top 3 ที่คนค้นหามากที่สุด คือ ก๋วยเตี๋ยว วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 3 แฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดังที่น่าลงทุน ปี 2023 พร้อมราคาแฟรนไชส์มาฝากกัน

3 ไอเดียทำร้านแฟรนไชส์ 5 ปี ขยายกว่า 750 สาขา สไตล์ Otteri ร้านที่เป็นมากกว่าแค่ที่ซักผ้า

ในสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย กลยุทธ์หนึ่งของการทำธุรกิจที่ใช้มัดใจลูกค้าได้ดี ก็คือ ให้มากกว่าที่ลูกค้าคิดว่าจะได้รับ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปไหน เหมือนกับคอนเซปต์ของแบรนด์ Otteri Wash & Dry แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก 24 ชั่วโมงที่เปิดดำเนินธุรกิจมาได้ 5 ปี มีสาขาแล้วกว่า 750 แห่งทั่วประเทศ

อยากต่อยอดธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ขยายกิจการให้โต SME ต้องทำอย่างไร?

หนึ่งในโมเดลที่หลายคนให้ความสนใจในการขยายธุรกิจคือ การแปลงธุรกิจของตัวเองให้กลายเป็น “แฟรนไชส์” แต่หลายคนอาจสงสัยว่า การทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ต้องทำอย่างไร?