รวมเทคนิคปรับตัวให้รอด! Mango Mania และ D’ORO นำทัพธุรกิจแฟรนไชส์พ้นภัยวิกฤต

TEXT : กองบรรณาธิการ 
               




       ในการขับเคลื่อนธุรกิจท่ามกลางวิกฤต มีทั้งความยากและท้าทายที่ผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมกำลังเผชิญอยู่ สำหรับผู้เล่นในสนามแฟรนไชส์ สงครามไวรัสครั้งนี้ก็โหดหินสำหรับพวกเขา ทำอย่างไรถึงจะเอาตัวรอด และข้ามผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ และอยู่รอดได้ในยุคดิจิทัล มาฟังตัวอย่างการปรับตัวจากแฟรนไชส์เจ้าดังระดับเจ้าของรางวัลสุดยอดแฟรนไชส์ไทยอย่าง  “Mango Mania”  และ “D’ORO” กัน
 
 
ปรับขนาดและช่องทางขายรับตลาดเปลี่ยน


      หนึ่งในแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมในทุกยุคทุกสมัย ก็คือแฟรนไชส์ร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายแบรนด์ที่มีจุดขายและจุดเด่นแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับ  “Mango Mania” แฟรนไชส์ร้านสมูทตี้ จากมะม่วง ภายใต้บริษัท พี.โอ.พี.สยามโกลเด้น ฟรุ๊ต จำกัด ที่เคยคว้ารางวัลสุดยอดแฟรนไชส์ไทยโกอินเตอร์ยอดเยี่ยม (BEST EXPORT FRANCHISE) ประจำปี 2563 มาแล้ว


          ปัจจุบัน Mango Mania มีอยู่ 80 สาขาทั่วประเทศ เดิมเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชาวต่างชาติ ในจังหวัดท่องเที่ยวหลักๆ เช่น เชียงใหม่ พัทยา สมุย ภูเก็ต เป็นตัน จนเมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจที่เคยหอมหวานกลับต้องได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้


         “หลังเกิดวิกฤตโควิค-19 เราเจอผลกระทบเต็มๆ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าหายไปเลย 70 เปอร์เซ็นต์  ทำให้เราต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยปรับบริการเป็นเดลิเวอรีมากขึ้น และเพิ่มเมนูให้หลากหลายขึ้น มีการปรับขนาดของเครื่องดื่มให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น”


         “การัญญา จารุธาณินทร์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.โอ.พี.สยามโกลเด้น ฟรุ๊ต จำกัด บอกสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด




 
พัฒนาผลิตภัณฑ์-ใช้เทคโนโลยีจัดการธุรกิจ


         ผู้บริหาร Mango Mania  บอกอีกว่า ในสถานการณ์โควิดพวกเขาใช้เวลาไปกับการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์มากขึ้น เช่น การทำ R&D เพื่อยืดอายุวัตถุดิบ และการเก็บรักษาในรูปแช่แข็ง เพราะวัตถุดิบส่วนใหญ่เป็นผลไม้สดเป็นหลัก มีการปรับปรุงด้านบริหารจัดการ โดยนำเอาเทคโนโลยี และระบบต่างๆ เข้ามาใช้ทั้งด้านการเก็บข้อมูล การจัดการด้านต้นทุน ระบบ Inventory  แรงงาน การตลาด การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค


          “ระบบเทคโนโลยีที่เรานำมาใช้ช่วยเราได้มาก เช่น ช่วงที่ไปเปิดสาขาที่เวียดนาม ระบบที่เราพัฒนาขึ้นนั้นช่วยให้สามารถเช็คและตรวจสอบยอดขาย เก็บข้อมูลลูกค้าในพื้นที่ที่เราไม่ค่อยคุ้นเคย เมื่อเอามาวิเคราะห์ ทำให้เราสามารถตอบสนองความต้องการและจัดการได้อย่างตรงจุดและทันต่อสถานการณ์มากขึ้น โดยปัจจุบันเรายังปรับตัวมามุ่งการทำตลาดไปต่างประเทศเป็นหลัก  เพราะจุดแข็งของเราคือลูกค้าชาวต่างชาติ ที่รู้จักสินค้าเราอย่างดีอยู่แล้ว ซึ่งวิกฤตโควิดก็ช่วยให้เรามีโฟกัสมากขึ้นที่จะเน้นการทำการตลาดส่งออก เป้าหมายคือ ฮ่องกง อินเดีย แคนาดา บาฮามัส โดยใช้กลยุทธ์ไปจับมือกับพันธมิตรในพื้นที่เป็น Master Franchise ที่จะช่วยเรากระจายช่องทางการจำหน่ายได้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น” การัญญา บอกการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสและมีแผนไปเติบใหญ่ในต่างประเทศอีกด้วย



 
 
บริหารจัดการด้วยความระมัดระวัง สื่อสารให้มากขึ้น


        ด้าน D’ORO แบรนด์กาแฟที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 30 ปี ตั้งแต่รุ่นบุกเบิกในฐานะผู้ผลิตและส่งออกเมล็ดกาแฟ จัดจำหน่ายเครื่องชงกาแฟ  พัฒนาจนมาเป็นแฟรนไชส์ร้านกาแฟที่วางตำแหน่งตนเองว่า “Everyday Coffee” ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 100 สาขา ในทำเลที่หลากหลาย อาทิ สถานีบริการน้ำมัน โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารสำนักงาน เป็นต้น ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของ “ภคมน สมบูรณ์เวชชการ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลเด้นครีม จำกัด


        หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจของพวกเขาก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน จึงต้องใช้การบริการงานแบบระมัดระวัง และสื่อสารให้มากขึ้น


        “จนถึงปัจจุบันเรายังไม่ได้มีการปิดสาขา เพราะว่าเราเป็นร้านกาแฟขนาดเล็กและไม่มีสาขาในห้างสรรพสินค้า เพียงแต่เราต้องบริหารงานด้วยความระมัดระวังมากขึ้น และใช้การสื่อสารให้เป็นประโยชน์มากขึ้น ทั้งกับผู้บริโภค และ พันธมิตรของเราเอง  เช่น การให้ความรู้กับพนักงานในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยในสุขภาพและสุขอนามัยในร้าน ซึ่งมันจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงลูกค้าของเราที่จะได้รับบริการอย่างถูกสุขลักษณะ  นอกจากนี้ยังมีการสื่อสารไปยังแฟรนไชซี เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันมากขึ้น หลังร้านก็ต้องทำการควบคุมสต็อก ต้นทุนค่าใช้จ่าย และแรงงาน เราอัพเกรดระบบการจัดการคลังสินค้า การจัดการวัตถุดิบ ทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งในด้านการจัดส่งและจัดเก็บเพื่อควบคุมปริมาณให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม” ผู้บริหารบอก   



 

พัฒนาระบบ CRM รักษาลูกค้าไม่ให้เลือนหาย


        ภคมน บอกอีกว่า ในช่วงโควิดทำให้บริษัทฯ ได้มีเวลาพัฒนาระบบ CRM เพื่อให้การสื่อสารกับลูกค้าในระบบสมาชิกทำได้ดีมากขึ้น ช่วยให้สามารถวางแผนการส่งเสริมการขายให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น


        “เรามาคิดว่าจะรักษากลุ่มลูกค้าอื่นๆ เพื่อให้อยู่กับร้านอย่างไร จะต้องคิดสินค้าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม  โดยเรามีการทำโปรโมชั่นเครื่องดื่มอื่นๆ อย่าง โกโก้ สำหรับกลุ่มคนที่ไม่ดื่มกาแฟขึ้นมา  มีการแบ่งกลุ่มผู้บริโภคตามพฤติกรรม เช่น ลูกค้ากลุ่มอาคารสำนักงานจะมาทุกวัน ซื้อไม่เยอะ แต่กลุ่มโรงพยาบาลที่มาเยี่ยมคนไข้จะซื้อเยอะ โดยฉพาะขนม และเบเกอรี เพราะซื้อไปฝากกัน เป็นต้น นอกจากนี้ก็ต้องมาคิดเรื่องการบริหารจัดการ มีการปรับขนาดแพ็กเกจจิ้งให้เหมาะสม เน้นการทำเดลิเวอรี มากขึ้นและมีแพลตฟอร์มในช้อปปี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าอีกช่องทางด้วย”


        จากการปรับตัวอย่างไม่หยุดนิ่ง ทำให้แม้หลายธุรกิจประสบปัญหาจากวิกฤตโควิด แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา D’ORO ขยายสาขาไปได้ถึง 10 สาขา ในสถานีบริการน้ำมัน โดยพวกเขาย้ำว่ายังเน้นการทำธุรกิจให้มีกำไรและยั่งยืน
 
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอ

RECCOMMEND: FRANCHISE

3 แฟรนไชส์ ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดัง น่าลงทุน ปี 2023

หนึ่งในร้านอาหารที่ติด Top 3 ที่คนค้นหามากที่สุด คือ ก๋วยเตี๋ยว วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 3 แฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดังที่น่าลงทุน ปี 2023 พร้อมราคาแฟรนไชส์มาฝากกัน

3 ไอเดียทำร้านแฟรนไชส์ 5 ปี ขยายกว่า 750 สาขา สไตล์ Otteri ร้านที่เป็นมากกว่าแค่ที่ซักผ้า

ในสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย กลยุทธ์หนึ่งของการทำธุรกิจที่ใช้มัดใจลูกค้าได้ดี ก็คือ ให้มากกว่าที่ลูกค้าคิดว่าจะได้รับ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปไหน เหมือนกับคอนเซปต์ของแบรนด์ Otteri Wash & Dry แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก 24 ชั่วโมงที่เปิดดำเนินธุรกิจมาได้ 5 ปี มีสาขาแล้วกว่า 750 แห่งทั่วประเทศ

อยากต่อยอดธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ขยายกิจการให้โต SME ต้องทำอย่างไร?

หนึ่งในโมเดลที่หลายคนให้ความสนใจในการขยายธุรกิจคือ การแปลงธุรกิจของตัวเองให้กลายเป็น “แฟรนไชส์” แต่หลายคนอาจสงสัยว่า การทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ต้องทำอย่างไร?