TEXT : อัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พาณิชย์ธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย
ท่ามกลางอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทุกปี คาดว่าปี 2567 จะร้อนยิ่งกว่าปี 2566 ประเทศไทยของเราต้องเผชิญกับทั้งอากาศร้อนจัดและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
แต่ท่ามกลางวิกฤต ยังมีโอกาส! เมื่อเศรษฐกิจสีเขียว กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเห็นได้จากธุรกิจ เมื่อนักท่องเที่ยวที่มีอายุระหว่าง 26 ถึง 35 ปี มองหาตัวเลือกการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น เกือบ 2 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ชื่นชอบที่พักที่ได้รับการรับรองความยั่งยืน และร้อยละ 59 มองหาที่พักในลักษณะนี้สำหรับการจองในอนาคต รวมทั้งโอกาสบุกตลาดใหม่ๆ อย่าง รถยนต์ไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์สีเขียว
ธุรกิจใดที่ปรับตัวทัน จะคว้าโอกาสนี้ไปครอง
ทำไม SME ต้องเตรียมพร้อมกับเศรษฐกิจสีเขียว?
1.การค้าระหว่างประเทศที่เข้มงวดขึ้น
เพราะเรื่องโลกร้อนที่ส่งผลกระทบไปทั่ว ดังนั้นในภาคธุรกิจเองก็มีการตื่นัตัวเรื่องนี้ เริ่มมีกฎหมายที่ออกมาสำหรับการทำธุรกิจ เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ SMEs ไทย โดยเฉพาะหลังจากที่สหภาพยุโรปได้ประกาศให้บริษัทผู้นำเข้าสัญชาติยุโรปใน 6 อุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง ได้แก่ อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย ไฮโดรเจน และเหล็กและเหล็กกล้า ต้องรายงานตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ภายในสิ้นปี 2568 หน่วยงานกำกับดูแลของยุโรปอาจประกาศเพิ่มผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นเข้าในมาตรการนี้ และภายในปี 2569 บริษัทที่ได้รับผลกระทบจะต้องเริ่มจ่ายภาษีคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนตามราคาสิทธิของระบบการซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป ด้วยความที่สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 4 ของไทยและคาดว่าการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีจะเสร็จสิ้นในปีหน้า
ธุรกิจ SME ไทยในฐานะที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานย่อมต้องได้รับผลกระทบจากมาตรการ CBAM นี้ ซึ่งมีเวลา 2 ปีในการต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรการนี้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญเนื่องจากมาตรการนี้เป็นการบูรณาการที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งภายในประเทศและทั่วโลก
2.ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลามีอิทธิพลอย่างมากต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมสีเขียวในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การขนส่ง และสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์
รายงานการวิจัยการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนปี 2566 โดย Booking.com ระบุว่านักท่องเที่ยวที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุระหว่าง 26 ถึง 35 ปี มองหาตัวเลือกการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น เกือบ 2 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ชื่นชอบที่พักที่ได้รับการรับรองความยั่งยืน และร้อยละ 59 มองหาที่พักในลักษณะนี้สำหรับการจองในอนาคต
3.โอกาสตลาดใหม่
การเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องกับความต้องการยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก กระตุ้นให้รัฐบาลกำหนดจุดยืนเชิงยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถบรรทุก และรถบัส ตลอดจนให้คำมั่นที่จะผลิตยานยนต์ไร้มลพิษให้ได้ร้อยละ 30 ของปริมาณยานยนต์ที่ผลิตทั้งหมดภายในปี 2573 การมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีประโยชน์อย่างมาก ค่ายยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีนหลายค่าย ไม่ว่าจะเป็น เกรท วอลล์ มอเตอร์, บีวายดี และโฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล ต่างดำเนินการจัดตั้งฐานการผลิตในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกรท วอลล์ มอเตอร์ ที่เริ่มผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรุ่น Ora Good Cat ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ
อีกหนึ่งภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว คือ อสังหาริมทรัพย์สีเขียว รายงานการสำรวจล่าสุดโดย JLL Research ระบุว่ากว่าร้อยละ 95 ของผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในอินเดีย มาเลเซีย และไทย ตั้งเป้าให้อสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดที่ถือครองได้รับการรับรองด้านสีเขียว อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าปริมาณของอุปทานยังคงมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยมีพื้นที่คาร์บอนต่ำที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพียง 2 ใน 5 ตารางฟุตของความต้องการทั้งหมด โครงการ One Bangkok ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สินของภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นโครงการชั้นนำที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED ระดับแพลตตินัม โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่กำหนดมาตรฐานระดับสูงสำหรับการออกแบบเชิงนิเวศในระดับสากล นอกจากนี้ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด นับเป็นผู้บุกเบิกการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาและสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านพักอาศัย ซึ่งช่วยผลักดันการพัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์สีเขียวให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น
4.กฎระเบียบในประเทศเริ่มจริงจังกับสิ่งแวดล้อม
นอกเหนือจากความต้องการของผู้บริโภคและห่วงโซ่อุปทานที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแล้ว SMEs ไทยก็ควรเตรียมพร้อมรับมือมาตรการทางกฎหมายในประเทศที่คาดว่าจะเข้มงวดขึ้น เนื่องจากรัฐบาลปรับลดความสนใจในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงลง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
ในปี 2565 ประเทศไทยได้ยื่นเอกสารการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC ฉบับที่ 2 โดยให้คำมั่นว่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 30 ถึง 40 ภายในปี 2573 และจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์สุทธิภายในปี 2608
ปัจจุบัน ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับแรกของประเทศอยู่ระหว่างการดำเนินการและอภิปราย หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ บริษัทต่างๆ จะต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนไปยังฐานข้อมูลกลาง นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังเสนอให้มีการนำเครื่องมือทางเศรษฐกิจ 3 ประการมาใช้ ได้แก่ ระบบการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกในประเทศ ภาษีคาร์บอน และการสร้างคาร์บอนเครดิต
อีกหนึ่งพัฒนาการด้านกฎระเบียบที่สำคัญ คือ แผนพลังงานชาติของไทย ซึ่งตั้งเป้าสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านการผลิตไฟฟ้าของประเทศเป็นพลังงานหมุนเวียนและลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ในการประชุม COP28 ครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 68 ภายในปี 2583 และร้อยละ 74 ภายในปี 2593