4 วิธี ปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจปี 2559




 



เรื่อง เจษฎา ปุรินทวรกุล


    หลังจากเข้าสู่ปีใหม่ ผู้ประกอบการหลายๆ ราย โดยเฉพาะร้านค้ารายเล็กมักมองหาตัวช่วยหรือหนทางต่างๆ ในการทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและมีกำไรมากยิ่งขึ้น ลดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ มีส่วนแบ่งในตลาดสูงขึ้น มีเงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจดีขึ้น และอีกหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งในช่วงต้นปี 2559 นับเป็นโอกาสดีที่เราจะเริ่มต้นทบทวนเป้าหมายขององค์กรรวมถึงวัตถุประสงค์ ว่าที่ผ่านมาธุรกิจของเราเดินไปได้ตามที่วางแผนเอาไว้หรือไม่ และควรพัฒนาตัวเองต่อไปอย่างไร และนี่คือวิธีการเริ่มต้นวางแผนทำธุรกิจในปีใหม่ เพื่อให้เรามีความพร้อมที่จะแข่งขันกับคู่แข่งในท้องตลาด

1. วางแผนล่วงหน้า

    ก่อนที่จะกระโจนเข้าสู่สมรภูมิด้านการแข่งขันทางธุรกิจในปี 2559 เราจำเป็นต้องมีการวางแผนล่วงหน้า หากมีแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์อยู่ในมือเรียบร้อยแล้ว นี่คือเวลาที่เราต้องทบทวนแผนด้วยการอ่านซ้ำ และพยายามปรับปรุงให้แผนธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการและเป้าหมายทางธุรกิจได้ แต่ถ้าใครยังไม่มีแผนธุรกิจ แนะนำได้แค่เพียงว่า ควรหาเวลาเขียนขึ้นมาก่อน
การเขียนแผนธุรกิจจะทำให้เราสามารถจัดลำดับความสำคัญในเรื่องต่างๆ ได้ เช่นต้องทำอะไรก่อน เงินก้อนแรกควรลงทุนกับอะไร ใช้เงินไปกับเรื่องไหนจึงจะเหมาะสม ช่วยในการระบุอุปสรรคซึ่งจะทำให้เราหาทางรับมือหรือหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต นอกจากนี้แผนธุรกิจยังช่วยให้เรากู้เงินกับธนาคารได้ง่ายขึ้นด้วย ทั้งหมดนี้คือประโยชน์จากการเขียนแผนธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เราสามารถวางแผนในการทำธุรกิจล่วงหน้าได้

2. วิจัยตลาดเพื่อก้าวเข้าสู่สมรภูมิทางการแข่งขัน  

    คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจทุกคนต้องก้าวเข้าสู่สมรภูมิทางการแข่งขันกับคู่แข่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ต้องพยายามใช้เวลาทำความเข้าใจโดยการวิจัยตลาด คือ การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล เช่น ร้านขายกาแฟร้านหนึ่ง อาจรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ลูกค้าเพศชาย หญิง อายุเท่าไหร่ ก้าวเข้ามาในร้านแล้วทำอะไรเป็นอย่างแรก สั่งเมนูอะไร ต้องการอะไรเพิ่มเติม เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์และพัฒนาธุรกิจให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อให้รู้ถึงแนวทางการแข่งขันและหัวใจสำคัญของคู่แข่ง ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจกลุ่มลูกค้า รวมถึงสามารถกำหนดแคมเปญหรือโฆษณาที่จะใช้ส่งสารไปในโลกออนไลน์ได้ด้วย

3. คิดเรื่องรูปแบบการชำระเงินอีกครั้ง

    นี่คือช่วงเวลาที่ดีในการวิเคราะห์เรื่องตัวเลือกในการชำระเงินว่าควรต้องปรับปรุงเพิ่มเติมหรือไม่ หากร้านค้าของคุณรับแต่เงินสด หรือร้านค้าออนไลน์รับเฉพาะการโอนเงิน ลองคิดดูว่า ถึงเวลาหรือยังที่จะเพิ่มช่องทางการชำระเงินในรูปแบบอื่นๆ เช่น การชำระเงินผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต เพย์แพล (PayPal) ซึ่งถ้าบัตรเครดิตมีชิป EMV (หรือ EMV Chip Card) ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกโจรกรรมข้อมูล นั่นหมายความว่าจะเป็นการสร้างโอกาสและความมั่นใจด้านการชำระเงินสำหรับลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น และสุดท้ายยอดขายก็จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

4. บริหารจัดการกระแสเงินสดให้ดี

    แม้ว่าเราจะขายสินค้าหรือบริการได้ดีจนมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราก็ต้องไม่ลืมวางแผนการใช้เงินในแต่ละเดือน เพื่อให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเงินสูงสุด เงินไม่ฝืด ในขณะเดียวกันต้องไม่ลืมมองหาวิธีลดค่าใช้จ่าย และหารายได้เพิ่มขึ้นในโอกาสปีใหม่ เช่น ติดต่อสอบถามซัพพลายเออร์กับผู้ค้าส่งต้องการสินค้าเพิ่มหรือไม่ อาจเสนอราคาพิเศษให้กับเขาในช่วงปีใหม่ เพื่อให้ธุรกิจมีเงินสดอยู่กับตัวเพิ่มขึ้นและบริหารการใช้จ่ายให้มีความลงตัวมากยิ่งขึ้น 
 
    สิ่งที่เราต้องทำอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร แต่นี่คือสิ่งที่มีค่าซึ่งมีความสำคัญกับผู้ประกอบการและธุรกิจของคุณในปี 2559 อย่างแน่นอน

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)


   

RECCOMMEND: MANAGEMENT

Sequence quotient รู้ว่าต้องทำอะไรก่อน-หลัง เทคนิคผู้บริหารต้องรู้อยากให้ธุรกิจโต

ในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดกระแสดราม่าที่ร้อนแรงขึ้นกับคอนเทนต์ของคุณ CK Cheong (ซีเค เจิง) CEO ของ FASTWORK เรื่อง “มุมมองการบริหารเวลา แนะ ต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน แต่ทุกคนมีเวลาเท่ากัน”

มัดรวม 5 ไอเดียประหยัดต้นทุนธุรกิจโรงแรมไซส์เล็ก

ฤดูร้อนมาเยือนแล้ว เป็นอีกหนึ่งไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวฟากฝั่งทะเล จะทำยังไงให้มีรายได้เยอะขึ้น นอกจากการหาลูกค้าเพิ่ม การช่วยลดต้นทุนก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่ไม่ได้มีเงินทุนมากมาย วันนี้เลยอยากชวนมาลดต้นทุนธุรกิจกับ 5 ไอเดียประหยัดต้นทุนโรงแรมไซส์เล็กกัน

รู้ก่อนเจ๊ง ความปลอดภัยทางไซเบอร์กับอนาคตธุรกิจ 40% ของเป้าหมายอาชญากรรมไซเบอร์ คือ SME

จากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย พบว่า การโจมตีทางไซเบอร์ต่อ SME เพิ่มขึ้น 35% โดยที่ 40% ของเป้าหมายอาชญากรรมไซเบอร์ทั้งหมดในประเทศคือ SME