บริษัทของคุณเป็นแบบไหน?

 


 เรื่อง : เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว 
     

“การถูกห้อมล้อมด้วยคนไม่ดี ย่อมทำให้ตัวเราแปดเปื้อนไปด้วย”
มีแนนเดอร์ นักแต่งบทละครของกรีซ

    บริษัทแต่ละแห่งมีบรรยากาศในการทำงานแตกต่างกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกัน ความแตกต่างนี้เกิดจากสาเหตุหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระว่างบุคลากรในระดับต่างๆ วัฒนธรรมของบริษัท กฎระเบียบและนโยบายที่วางไว้ ตลอดจนถึงวิธีการบริหารจัดการองค์กร 


    สิ่งเหล่านี้ทำให้บุคลากรมีโอกาสในการคิด ตัดสินใจ แสดงความสามารถ และพัฒนาความสามารถในการตัดสินใจในงานที่ตนเองรับผิดชอบได้ไม่เท่าเทียมกัน และผลรวมของความไม่เท่าเทียมนี้เองที่ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทแตกต่างกันด้วย ยิ่งถ้าบริษัทขายสินค้าที่มีคู่แข่งมากด้วยแล้ว ปัจจัยภายในเหล่านี้ถือเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายที่สำคัญไม่แพ้ปัจจัยภายนอกเลย 


ด้วยเหตุนี้ แนวคิดด้านการจัดการสมัยใหม่จึงไม่เน้นเรื่องการควบคุมสั่งการ หรือการออกแบบโครงสร้างองค์กรตามลำดับการบังคับบัญชา โจทย์ของการจัดการสมัยใหม่คือ ทำอย่างไรองค์กรจึงจะสามารถรักษาและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันไว้ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งถึงแม้นักวิชาการจะมีความเห็นแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นร่วมกันก็คือ จุดสำคัญของการจัดการสมัยใหม่ไม่ใช่การพัฒนา “ระบบ” แต่เป็นการพัฒนาความสามารถของ “คน” 

    หากเราใช้หลักเกณฑ์ใหม่นี้ในการแบ่งประเภทของบริษัท ก็สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทด้วยกัน



ประเภทที่ 1 : บริษัทที่เต็มไปด้วยผู้คล้อยตาม (Compliant Company)

    สำหรับบริษัทประเภทนี้ บุคลากรไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้บริหารให้รับผิดชอบในงานที่สำคัญๆ ไม่มีโอกาสในการตัดสินใจในขอบเขตงานของตน ได้แต่รอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาว่าต้องทำอะไรบ้าง บุคลากรจึงไม่ต่างอะไรกับชิ้นส่วนชิ้นหนึ่งของเครื่องจักรเท่านั้น  


    ระบบการประเมินผลการทำงานของบริษัท เน้นการทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเป็นหลัก ซึ่งระบบการประเมินแบบนี้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน การใช้ความคิดสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้บุคลากรของบริษัทมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ เพราะบรรยากาศในการทำงานจะเต็มไปด้วยความหวาดกลัวการทำผิดพลาด ความไว้เนื้อเชื่อใจกันของบุคลากรจึงมีอยู่ต่ำ เนื่องจากต้องคอยระแวงว่า มีใครมาจับผิดอยู่หรือเปล่า จึงไม่ค่อยอยากทำงานร่วมกันเป็นทีม และไม่มีการปรึกษาหารือกันในเรื่องต่างๆ


    บุคลากรที่ทำงานในบริษัทประเภทนี้มีความเคารพนับถือตัวเองต่ำ มีแนวโน้มจะเปลี่ยนงานเมื่อมีโอกาส จึงยากที่จะรักษาคนเก่งเอาไว้ได้ พอลูกน้องมือดีออกไปก็ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่กันร่ำไป


    บริษัทประเภทนี้สามารถอยู่ได้เฉพาะสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันน้อยมาก เพราะในสภาพแวดล้อมแบบนี้ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า วิธีการที่เคยใช้ได้ในอดีตก็สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาได้อีกในปัจจุบัน ความคิดและประสบการณ์ของผู้บริหารเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะรับมือกับสิ่งต่างๆ ได้    



ประเภทที่ 2 : บริษัทที่มีการบริหารแบบราชการ (Bureaucratic Company)

    การทำงานในบริษัทที่มีการบริหารแบบราชการ บุคลากรได้รับอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานที่รับผิดชอบ แต่การทำงานต้องเป็นไปตามกฎระเบียบขั้นตอนที่ซับซ้อน หากเป็นปัญหาซึ่งผู้รับผิดชอบไม่สามารถแก้ไขได้โดยตรงก็จะผลักภาระในการตัดสินใจไปให้แก่ผู้บริหารระดับสูงขึ้นไป เพื่อเป็นการปกป้องตัวเองจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด ด้วยเหตุนี้การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ จึงล่าช้า 


    บริษัทประเภทนี้เหมาะกับผู้ที่ต้องการความมั่นคงในอาชีพ เพราะตราบใดที่บุคลากรทำงานในขอบเขตความรับผิดชอบของตน ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะโดนลงโทษ บ่อยครั้งที่ความก้าวหน้าในชีวิตการงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่อาจขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้บังคับบัญชาด้วยเช่นกัน


    ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ บุคลากรจึงขาดแรงจูงใจในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา และการพัฒนาตนเอง มีแนวโน้มจะทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม บริษัทแบบนี้จึงมีความคล่องตัวต่ำ โดยเฉพาะความคล่องตัวในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับบริษัทแบบแรกที่มีแต่ผู้คล้อยตาม เมื่อใดก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บุคลากรจะไม่สามารถและไม่กล้าตัดสินใจด้วยตนเอง เอาแต่ผลักภาระไปให้กับผู้บริหารระดับสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นการปกป้องตัวเอง จนอาจทำให้ผู้บริหารระดับสูงที่ต้องรับมือกับภาวะปัญหาล้นมือ สามารถตัดสินใจผิดพลาดได้เช่นกัน 



ประเภทที่ 3 : บริษัทที่มีแต่ความสับสนอลหม่าน (Chaotic Company)

    บริษัทประเภทที่ 3 นี้ประกอบไปด้วยบุคลากรซึ่งมีความกล้าและความกระตือรือร้นในการทำงาน กล้าจะตัดสินใจ แต่ไม่ได้มีความรู้ความสามารถเพียงพอในการตัดสินใจเรื่องนั้นๆ ได้ ขอบเขตการทำงานของแต่ละคนไม่ชัดเจน มีการก้าวก่ายงานกันโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ทำให้เกิดความสับสนและตัดสินใจผิดพลาดบ่อยครั้ง และความผิดพลาดที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่านี้เองที่ทำให้เกิดความสับสนอลหม่านขึ้นในบริษัท 


    ผลที่ตามมาก็คือ ต่างคนต่างก็ชี้นิ้วกล่าวหากันและกันเพื่อหาผู้รับผิดชอบ กว่าจะหาข้อตกลงได้ก็ต้องใช้เวลานาน ถ้าเกิดปัญหาเร่งด่วนขึ้นกับบริษัทแบบนี้ โอกาสที่บริษัทจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมีค่อนข้างสูง ยิ่งถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นบ่อยครั้ง ความพลาดคือความสูญเสีย ความสูญเสียสะท้อนประสิทธิภาพ การขาดประสิทธิภาพย่อมบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของบริษัท ความเสียหายสะสมจากความสับสนอลหม่านนี้อาจทำให้บริษัทต้องพบจุดจบได้



ประเภทที่ 4 : บริษัทที่มีการมอบอำนาจให้กับบุคลากร (Empowered Company)

    บริษัทประเภทสุดท้ายนี้ เป็นบริษัทที่ส่งเสริมให้บุคลากรมีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามระดับความสามารถ เพื่อให้มีการพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์และการตัดสินใจ เมื่อเจอกับปัญหาหนักหนาสาหัสเกินกว่าความสามารถ พวกเขาจะได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนในด้านต่างๆ จากผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานอย่างเต็มที่ หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ทุกคนไม่ว่าร้ายชี้นิ้วหาคนผิด แต่จะร่วมกันเรียนรู้จากความผิดพลาดนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก 


    วิธีการบริหารแบบนี้เปรียบได้กับการฝึกบิน ในตอนเริ่มต้นมีนักบินพี่เลี้ยงคอยสอน คอยให้คำแนะนำ ร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จนกระทั่งนักบินที่เข้ารับการฝึกมีความรู้ความชำนาญมากพอ นักบินพี่เลี้ยงจะปล่อยให้ผู้ฝึกบังคับเครื่องบินด้วยตนเอง ซึ่งการจะพัฒนาบุคลากรของบริษัทให้ไปถึงจุดนี้ได้นั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าท้ายเป็นอย่างยิ่ง เพราะบุคลากรมักกลัวว่าการมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสทำผิดพลาดสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อความก้าวหน้าในชีวิตการงานของตนต่อไป 


    การปรับตัวควรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยการเพิ่มขอบเขตความรับผิดชอบให้ทีละน้อย เพื่อเปิดให้บุคลากรได้เรียนรู้ หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็ไม่ควรจะไปลงโทษ แต่เป็นการให้กำลังใจและคอยให้การช่วยเหลือสนับสนุน เพื่อลดโอกาสในการทำผิดพลาดเช่นเดิมมิให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่า บริษัทที่มีการมอบอำนาจในการตัดสินใจให้กับบุคลากรของบริษัทอย่างเหมาะสม เป็นบริษัทที่มีผลประกอบการสูงกว่าบริษัทที่ทำธุรกิจเดียวกันแต่ไม่ได้มีการมอบอำนาจในการตัดสินใจให้กับบุคลากร


    จริงอยู่ บริษัทประเภทนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก แต่ประโยชน์สำคัญที่จะได้รับก็คือ ความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับภาวะการแข่งขันในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คนเพียงกลุ่มเดียวในบริษัทจะสามารถรับมือได้ นอกจากนี้แล้ว การให้อำนาจในการตัดสินใจ ยังทำให้บุคลากรของบริษัทตระหนักว่า ตนเองเป็นผู้มีความสำคัญ งานที่ตนทำมีความหมายต่อบริษัท เป็นการสร้างความเคารพนับถือตนเองให้เกิดขึ้นกับบุคลากรพร้อมๆ ไปกับการสร้างความผูกพันกับบริษัท ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียบุคลากรได้อีกทางหนึ่งด้วย 


    ลองย้อนกลับไปดูซิว่า ที่ผ่านมาเราบริหารบริษัทของเราแบบไหน แนวทางที่ใช้ดีที่สุดหรือยัง ถ้ายัง น่าจะถึงเวลาที่ต้องหันกลับมาคิดใหม่แล้วว่า ทำอย่างไรคนของเราจึงจะอยู่อย่างมีความสุข มีความเก่ง และมีความต้องการจะอยู่กับเราไปนานๆ
    
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

Sequence quotient รู้ว่าต้องทำอะไรก่อน-หลัง เทคนิคผู้บริหารต้องรู้อยากให้ธุรกิจโต

ในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดกระแสดราม่าที่ร้อนแรงขึ้นกับคอนเทนต์ของคุณ CK Cheong (ซีเค เจิง) CEO ของ FASTWORK เรื่อง “มุมมองการบริหารเวลา แนะ ต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน แต่ทุกคนมีเวลาเท่ากัน”

มัดรวม 5 ไอเดียประหยัดต้นทุนธุรกิจโรงแรมไซส์เล็ก

ฤดูร้อนมาเยือนแล้ว เป็นอีกหนึ่งไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวฟากฝั่งทะเล จะทำยังไงให้มีรายได้เยอะขึ้น นอกจากการหาลูกค้าเพิ่ม การช่วยลดต้นทุนก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่ไม่ได้มีเงินทุนมากมาย วันนี้เลยอยากชวนมาลดต้นทุนธุรกิจกับ 5 ไอเดียประหยัดต้นทุนโรงแรมไซส์เล็กกัน

รู้ก่อนเจ๊ง ความปลอดภัยทางไซเบอร์กับอนาคตธุรกิจ 40% ของเป้าหมายอาชญากรรมไซเบอร์ คือ SME

จากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย พบว่า การโจมตีทางไซเบอร์ต่อ SME เพิ่มขึ้น 35% โดยที่ 40% ของเป้าหมายอาชญากรรมไซเบอร์ทั้งหมดในประเทศคือ SME