Text: VaViz
“ช่างน่าภูมิใจอะไรอย่างนี้ มีลูกน้องดีๆ ขยันทำงานทั้งวัน”
ถ้าผลลัพธ์จากประโยคนี้คือผลงานที่ดีและมีประสิทธิภาพคงไม่ใช่ปัญหาหรือเรื่องใหญ่อะไร แต่ถ้าสิ่งที่เห็นกลับไม่ใช่อย่างที่คิด หรือเป็นเพียงละครฉากหนึ่ง ที่มีลูกน้องรับบทแสดงนำแสร้งทำเป็นขยันล่ะ คุณจะว่ายังไง?
รู้จัก “Fauxductivity” หลอกว่ายุ่ง แต่ใจไม่ได้มุ่งทำงาน
พฤติกรรม “ทำตัวยุ่งหรือวุ่นกับงานเข้าไว้ โดยไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน” นั้น เรียกว่า “Fauxductivity” ซึ่งมาจากคำว่า Faux + Productivity ใช้อธิบายอาการของคนที่แกล้งทำงานอยู่ตลอดเวลา ดูเผินๆ แล้วเป็นคนขยันเกินล้าน แต่งานจริงๆ กลับไม่เดิน ซึ่งกำลังแพร่กระจายอย่างหนักในโลกการทำงานปัจจุบัน
ช้าก่อน อย่าเพิ่งแปะป้ายไปว่า ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะพนักงานคนนั้นขี้เกียจหรือเป็นจอมอู้ไง เพราะถ้ามาพิจารณาให้ลึกลงไป การที่ลูกน้องคนหนึ่งต้องแกล้งทำงานแบบปลอมๆ นั้น อาจสะท้อนตัวผู้นำหรือวัฒนธรรมองค์กรที่มีปัญหาอะไรแอบซ่อนอยู่ก็เป็นได้ เช่น
- อวยคนทำงานหนัก กดดันคนทำงานน้อย คนที่ดูขยันเท่านั้นถึงจะได้รับการชื่นชม ผลงานเป็นยังไงเอาไว้ก่อน ส่วนคนที่ดูชิลล์ๆ แต่ผลงานดีกลับถูกมองว่าขี้เกียจหรือยังดีไม่พอ
- ปั้นวัฒนธรรม “Always-on” ต้องพร้อม 24/7 คาดหวังให้ลูกน้องต้องพร้อมทำงานตลอดเวลา ต้อง Productive อยู่เสมอ พร้อมสแตนบายไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่ เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ
- บริหารจัดการงานไม่สมดุล บางคนต้องทำหลายอย่างพร้อมกัน จนขาดประสิทธิภาพ ในขณะที่คนงานน้อยต้องหาอะไรทำ เพื่อฆ่าเวลา จะได้ไม่ถูกมองว่าว่าง รวมถึงคนที่ทำงานเสร็จเร็วและมีประสิทธิภาพก็ต้องหางานมาเพิ่ม เพื่อให้ดูเหมือนยุ่งตลอดเวลาแบบเดียวกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ
จะรู้ได้ยังไงว่า ใคร “ยุ่งจริง” หรือ “ยุ่งปลอม”
การจะรู้ว่าพนักงานกำลัง “Fauxductivity” หรือ “ยุ่งจริง” หรือไม่นั้น ต้องดูกันมากกว่าแค่ภายนอก เช่น ความขยัน หรือการตอบแชทเร็ว โดยสามารถเช็กได้จากพฤติกรรมและสิ่งที่เขาคิดหรือทำ ดังนี้
- ชอบอยู่ในที่ประชุมทั้งวัน แต่ Output จริงๆ แทบไม่มี
- ตอบอีเมล-แชทตลอด แต่ไม่มีงานชิ้นสำคัญที่เสร็จ
- บ่นว่ายุ่งตลอดเวลา แต่ไม่มีอะไรจับต้องได้ว่า “เสร็จ” หรือ “สำเร็จ”
- บอกเสมอว่าทำชิ้นนี้อยู่ แต่กลับส่งงานไม่ได้ภายในเวลาที่กำหนด
- อธิบายชัดเจนไม่ได้ว่า อาทิตย์นี้มีอะไรสำคัญที่สุดที่ต้องทำ
- แยกแยะงานที่ไม่จำเป็น ไม่สำคัญ หรือไม่ด่วนไม่ได้
- ปรับตัวหรือยอมรับความคิดใหม่ๆ ไม่เป็น
หมดเวลาแกล้งยุ่ง แล้วมาทำงานจริงๆ ให้รุ่งกันดีกว่า
เพื่อไม่ให้พนักงานต้องสวมบทหนักจนเกินไป ถึงเวลาที่ผู้นำหรือหัวหน้าต้องย้อนมองกลับมาที่ตัวเองและวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นอยู่ตอนนี้ เพื่อแก้ปัญหาการทำงานแบบ Fauxductivity ให้อยู่หมัด ตามเคล็ดลับดังต่อไปนี้
- ให้ความสำคัญกับ “ผลลัพธ์ > การแสดง” สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นผลงานไม่ใช่ความยุ่ง ชื่นชมผลลัพธ์ไม่ใช่ชั่วโมงทำงาน
- ส่งเสริมการทำงานที่ยืดหยุ่น สร้างมาตรฐานการตอบสนองที่สมเหตุสมผล ทำให้การพักหรือมีเวลาได้หยุดคิดกลายเป็นสิ่งปกติ ไม่ต้องเร่งทำทุกอย่างให้ยุ่งอยู่ตลอดเวลา
- สร้างความไว้วางใจและให้อิสระในการทำงาน ฝึกให้พนักงานกล้าบอกว่า “อันนี้ไม่ใช่งานสำคัญ” โดยไม่รู้สึกผิดและไม่ต้องกังวลว่า จะมีผลกระทบลบๆ ตามมา
- ลดเรื่องยุ่งที่ไม่คุ้มค่า เช่น ลดการประชุมที่ไม่จำเป็นลงหรือมีหัวข้อที่ไม่ชัดเจน กำหนดตอบอีเมล-แชทเป็นรอบๆ ไม่ต้องทำตลอดเวลา ฝึกให้ลูกน้องจัดลำดับความสำคัญของงานเป็น
- ไม่มองข้ามเรื่องสุขภาพจิต ให้ความสำคัญกับ Mental Health เพราะการทำตัวให้ยุ่งและต้องกดดันอยู่ตลอดเวลาสามารถนำไปสู่ภาวะหมดไฟ หรือ Burnout และการตัดสินใจหันหลังให้องค์กรได้
ทั้งหมดทั้งมวล การเกิดขึ้นของ Fauxductivity อาจอยู่ที่การขาดซึ่งความไว้วางใจและความปลอดภัยทางจิตใจในที่ทำงาน ที่ทำให้พนักงานต้องมานั่งกังวลในเรื่องของ Productivity ที่ไม่ว่าจะทุ่มเทแค่ไหนก็ยังอาจจะดูไม่ดีพอ เลยต้องแสร้งทำกันสักหน่อย ซึ่งถ้าปล่อยไว้ต่อไปคงไม่ดีแน่ๆ ดังนั้น ใครจับสัญญาณได้ก่อนและแก้ไขได้เร็ว จะยิ่งเพิ่มโอกาสพาให้ทุกคนในองค์กรทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผลที่แท้จริง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี