​ เมื่อความจริงสวนทางกับสิ่งที่ผู้นำคิด



เรื่อง กองบรรณาธิการ


    แม้ว่าในปัจจุบัน หลายองค์กรจะหันมาใส่ใจในเรื่องของการดูแลพนักงานเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีช่องว่างอีกหลายอย่างในเรื่องของการดูแลทรัพยากรบุคคลภายในองค์กร โดยข้อมูลที่ได้จาก เอออนฮิววิท บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารงานบุคคล ที่ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการค้นหาสุดยอดนายจ้างดีเด่นเป็นปีที่ 8 พร้อมกับทำการศึกษาและค้นหาเบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรที่เข้าร่วมโครงการจาก 12 ประเทศ รวมแล้วกว่า 700 องค์กร และมีพนักงานเข้าร่วมสำรวจเกือบหนึ่งล้านคน พบว่า ช่องว่างระหว่างสิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงคิดในเรื่องของการบริการคนกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในองค์กรไม่สอดคล้องกัน 


    ส่วนหนึ่งของการสำรวจจะมีการให้ผู้บริหารจะดับสูงได้แสดงความคิดเห็นในคำถามปลายเปิดว่า งานบริหารทรัพยากรบุคคลมีส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนองค์กรได้อย่างไรบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้บริหารส่วนใหญ่รู้สึกว่า การบริหารทรัพยากรบุคคลมีความสำคัญต่อองค์กรอย่างมากและช่วยสนับสนุนในเรื่องของธุรกิจ กลยุทธ์ เรื่องการจัดการต่างๆ แต่เมื่อลองถามผู้บริหารระดับสูงต่อว่า พวกเขามีการให้ความสำคัญในส่วนของการบริหารงานบุคคลเป็นลำดับที่เท่าไหร่ ผลออกมาอยู่ที่ลำดับที่ 9 เท่านั้น โดยลำดับต้นๆ ที่ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ให้ความสำคัญนั้น คือเรื่องของการเงิน การตลาด และสิ่งที่ทำเงินให้แก่องค์กรมากกว่าการให้ความสำคัญในเรื่องของคนอย่างจริงจัง 


    ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกข้อมูลลงไปก็ได้พบกับความแตกต่างระหว่างองค์กรทั่วไปกับองค์กรนายจ้างดีเด่นในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล โดยองค์กรทั่วไปมักจะมีการแยกส่วนของ HR ออกจากการกำหนดกลยุทธ์หรือทิศทางการเติบโตขององค์กร

   แต่องค์กรนายจ้างดีเด่นกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ HR ขององค์กรนายจ้างดีเด่นได้นำตนเองออกจากการเป็นเพียง Business Support แต่กลายเป็น Strategic Partnership ที่มีความสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนองค์กรและผูกนโยบาย กลยุทธ์ต่างๆ ขององค์กรเข้ากับการพัฒนาคนในองค์กรไปพร้อมกัน 


    นอกจากนี้ ผู้บริหารทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พนักงานคือส่วนสำคัญในองค์กร แต่กลับมีผู้บริหารจำนวนน้อยมากที่นำสิ่งที่ตนเองพูดมาปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะคำสัญญาต่างๆ ที่ให้ไว้แก่พนักงาน เช่น การเพิ่มผลตอบแทน การให้รางวัล การได้เลื่อนตำแหน่ง รวมไปถึงฝ่าย HR องค์กรส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าจุดแข็งของตนเองคือการสร้างความผูกพันของพนักงาน แต่เมื่อได้สำรวจความคิดเห็นของพนักงานแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะพวกเขามีความรู้สึกผูกพันต่อองค์กรน้อยกว่าสิ่งที่ผู้บริหารและฝ่าย HR คาดหวังไว้ 

   ดูจากผลสำรวจที่ได้แล้ว พออย่างน้อยก็พอจะบอกได้ว่า บางครั้งผู้นำมักคิดว่าตัวเองสนใจและใส่ใจในตัวพนักงานมากพอแล้ว แต่คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่า พนักงานคิดเช่นเดียวกับคุณ

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

นายจ๋ารู้ยัง? ทำไมพนักงานถึงเปลี่ยนงานกันบ่อย!

สังเกตกันไหม ทำไมช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา เราถึงได้ยินข่าวการลาออก หรือการเปลี่ยนงานของพนักงานกันบ่อยมากขึ้น ยกตัวอย่างในปี 2021 มีสถิติรายงานว่าประชากรในสหรัฐอเมริการาว 47.4 ล้านคน (จากประชากรทั้งหมด 159 ล้านคน) ตัดสินใจลาออกจากงาน

DNA หรือ สภาพแวดล้อม อะไรมีผลต่อความสำเร็จทางธุรกิจมากกว่ากัน

ประเด็นถกเถียงเรื่องปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสำเร็จในชีวิตของบุคคลนั้นเป็นหัวข้อที่น่าสนใจมาช้านาน ในขณะที่บางคนเชื่อว่าความสำเร็จขึ้นอยู่กับพันธุกรรมหรือลักษณะทางพันธุกรรม (DNA) ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด อีกกลุ่มกลับมีความเห็นว่าสภาพแวดล้อมต่างหาก