ศรศิลป์ไม่กินกัน



 


 เรื่อง : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
           กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป




    เคยไหม บางครั้งเจอใครสักคนแล้วรู้สึกไม่ชอบขี้หน้าขึ้นมาเฉยโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่เคยทำอะไรที่ไม่ดีกับเรา แต่คุยกันแค่ 5 นาที รู้สึกได้ถึงความไม่ถูกชะตาซะแล้ว อาการแบบนี้ โบราณเรียก “ศรศิลป์ไม่กินกัน” หากเป็นคนที่เจอแป๊บๆ แล้วก็จากกันไป หรือนานๆ เจอกันที คงไม่มีปัญหาอะไรให้หนักอกหนักใจมากนัก แต่ถ้าเป็นคนที่ต้องอยู่ด้วยกัน เจอกัน หรือทำงานกันบ่อยๆ คงเหนื่อยใจพิลึก ส่วนมากที่มาของความรู้สึกไม่ถูกโฉลกแบบนี้ เกิดจากความไม่ตรงกัน (Mismatched) ของประเด็นต่างๆ ได้แก่


    สัญญาณไม่ตรงกัน (Mismatched Signal)-บางครั้งสิ่งที่ฝ่ายหนึ่งตั้งใจให้กับสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งรับไป อาจเข้าใจไม่ตรงกัน ตัวอย่างเช่น คนหนึ่งต้องการสร้างความสนิทสนมกับอีกคนหนึ่ง จึงเอ่ยปากทักทายและสอบถามเรื่องราวส่วนตัว รวมถึงครอบครัว เพราะเชื่อว่าการได้รู้จักกันมากขึ้น น่าจะทำให้สนิทกันได้เร็วขึ้น แต่อีกฝ่ายกลับมีความรู้สึกว่าถูกละลาบละล้วงในเรื่องที่ละเอียดอ่อนทั้งๆ ที่เพิ่งรู้จักกัน จึงรู้สึกไม่พอใจและไม่อยากสนทนาด้วย


ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้ากับลูกน้อง เพื่อนกับเพื่อน พ่อแม่กับลูก เป็นต้น ยกตัวอย่าง ผมมีลูกสาวอยู่ในช่วงวัยรุ่น เวลาเธอจะไปเที่ยวไหนกับเพื่อนๆ ด้วยความเป็นห่วงจึงถามมากหน่อย ทันทีที่ถาม ลูกสาวก็แสดงอาการไม่พอใจ ชักสีหน้าทำท่าฟึดฟัดแล้วหาว่า “พ่อไม่ไว้ใจ ชอบซักไซ้ไล่เรียงเหมือนไม่อยากให้ไป”


    อ้าว…ไหงเป็นอย่างนั้นไปได้? เมื่อทำใจให้เย็นๆ แล้วกลับมาลองพิจารณาดู พบว่าอาจเป็นเพราะ “สัญญาณ” ที่ส่งออกไปไม่ชัดเจน น้ำเสียงอาจไม่ดี ท่าทีอาจไม่เหมาะสม หรือจังหวะเวลาอาจไม่พอดี ฯลฯ


    วิธีแก้ไขเลยลองใหม่อีกที คราวนี้อธิบายให้ยาวขึ้น แทนที่จะสนใจแค่ What, Where และ When เหมือนเมื่อก่อน โดยไม่ได้อธิบาย Why ว่าเหตุใดจึงอยากรู้ เพราะทึกทักเอาเองว่าอีกฝ่ายคงเข้าใจในความตั้งใจของเรา โดยเปลี่ยนเป็นพูดให้ฟังก่อนว่า เวลาลูกไปเที่ยว พ่อแม่ก็เป็นห่วง อยากรู้ว่าไปกับใคร ไปยังไง ไปที่ไหน กลับกี่โมง เพราะหากมีอะไรเกิดขึ้นระหว่างที่ลูกกำลังไปเที่ยว เช่น พ่อแม่ไม่สบายจะได้ติดต่อได้ ที่ถามก็เพื่อประโยชน์ของตัวลูกเอง ไม่ใช่เพราะพ่อไม่ไว้ใจจึงถามจุกจิกเกินไป ปรากฏว่าดีขึ้น เธอเข้าใจความตั้งใจและให้ความร่วมมือมากกว่าเดิม


    ภาษาที่ใช้ไม่ตรงกัน (Mismatched Languages)-คนเราถูกเลี้ยงดูและเติบโตมาแตกต่างกัน บางครั้งภาษาหรือคำพูดที่ใช้ ก็อาจมีความหมาย ให้ความรู้สึกและถูกตีความต่างกัน ลูกน้องของผมคนหนึ่งเป็นเด็กต่างจังหวัด ที่บ้านมีความเชื่อว่าเด็กเกิดใหม่ ถ้าใครทักว่า “น่ารัก” ผีบ้านผีเรือนจะเอาไปอยู่ด้วยเพราะอิจฉา ดังนั้น เวลาบ้านไหนคลอดลูกใหม่ๆ ต้องบอกว่าเด็กคนนั้น “ช่างน่าเกลียดน่าชังเหลือเกิน” ผีจะได้ไม่อยากพาไปอยู่ด้วย


   วันหนึ่งพนักงานที่บริษัทคลอดลูก พวกเราพากันไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล พอคุณแม่หมาดๆ อุ้มลูกสาวตัวน้อยมาอวด ลูกน้องผมคนนี้ก็เอ่ยปากขึ้นทันทีว่า “โอ้ย ทำไมหน้าตาน่าเกลียดน่าชังขนาดนี้” ปรากฏว่าบรรยากาศอึมครึมลงทันที สามีของคุณแม่มือใหม่ดูท่าทางไม่พอใจ จนพวกเราต้องขอตัวกลับก่อนเพราะเกรงว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงกว่านี้


    หัวหน้างานบางคนไม่ถือสากับการใช้ภาษาสมัยพ่อขุน เพราะเติบโตมาในโรงงานที่หัวหน้าใช้ภาษาแบบนั้นกับลูกน้องเลยติดมา แต่พอพูดแบบเดียวกันกับเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งย้ายมาทำงาน ปรากฏว่าเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต ถูกร้องเรียนหลายเพลา จนถูกเรียกไปตักเตือนและขอร้องให้ปรับเปลี่ยนวิธีการพูดให้เหมาะสมขึ้น  อันที่จริงเรื่องการใช้ภาษา ฟังดูไม่น่าซีเรียสมากนัก แต่เชื่อผม ประเด็นนี้สร้างปัญหามามากแล้ว ทางออกที่ดีที่สุดคือเลือกภาษาให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและกลุ่มผู้ฟัง อย่าใช้เพียงเพราะความเคยชินหรือประสบการณ์ส่วนตัวที่ผ่านมาเท่านั้น


    สไตล์การทำงานที่ไม่ตรงกัน (Mismatched Working Styles)-ต้องยอมรับว่าเราทุกคนมีสไตล์การทำงานของตนเอง และมักไม่ค่อยถูกใจกับคนที่มีสไตล์แตกต่างออกไป สไตล์การทำงานโดยทั่วๆ ไปสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 แนวทาง


•    บางคนใจร้อน ให้ความสำคัญกับผลสำเร็จของงานมากกว่าวิธีการที่ได้มา สนใจภาพใหญ่มากกว่ารายละเอียด ตัดสินใจเร็ว กล้าได้กล้าเสีย


•    บางคนให้ความสำคัญกับความรู้สึกของคนอื่น ค่อนข้างประนีประนอม ไม่ชอบความขัดแย้ง เชื่อว่าตัวเลขมีความสำคัญน้อยกว่าทีมเวิร์ก


•    บางคนใจเย็น ทำงานเป็นขั้นเป็นตอน มีการวางแผนล่วงหน้า ไม่ชอบเสี่ยงโดยไม่จำเป็น ให้ความสำคัญกับความถูกต้องครบถ้วนมากกว่าความรวดเร็วในการทำงาน


•    บางคนให้ความสำคัญกับรายละเอียดและข้อมูล ยึดมั่นในกฎกติกา ทุกอย่างที่ทำต้องอธิบายได้ด้วยเหตุผลหรือตรรกะที่ชัดเจน ใส่ใจวิธีการทำงานมากกว่าผลลัพธ์ที่ได้ เพราะเชื่อว่าการกระทำที่เหมาะสมจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ

ความขัดแย้งมักเกิดขึ้นเมื่อคนที่มีสไตล์การทำงานต่างกันต้องทำงานด้วยกัน เช่น ลูกน้องมีสไตล์การทำงานแบบสนใจภาพใหญ่ไม่ค่อยลงรายละเอียด ในขณะที่หัวหน้าต้องการข้อมูลและเป็นคนลงรายละเอียด เป็นต้น ปัญหาอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น หากต่างฝ่ายต่างยึดสไตล์การทำงานของตนเองเป็นที่ตั้ง แนวทางแก้ไขคือ ให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการทำงานกับคนหลากหลายสไตล์ และปรับวิธีการทำงานให้เหมาะสมกับแต่ละสไตล์ จะช่วยลดความขัดแย้งลงได้มาก


    ความสำคัญและเร่งด่วนที่ไม่ตรงกัน (Mismatched Priorities)-เราแต่ละคนอาจให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ ไม่เหมือนกัน ความขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยมักเกิดขึ้นเมื่อเรื่องที่สำคัญสำหรับคนหนึ่งกลายเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญสำหรับอีกคน ตัวอย่างเช่น เพื่อนคนหนึ่งอาจหงุดหงิดมากเมื่อเพื่อนอีกคนมาไม่ตรงเวลา ในขณะที่เพื่อนที่มาไม่ตรงเวลา คิดว่าแค่สายนิดหน่อยไม่เห็นต้องโวยวายอะไรเลย ยังไงก็ได้ไปอยู่ดี จะหงุดหงิดไปทำไมกัน เป็นต้น ปัญหาคือสองคนนี้ให้ความสำคัญกับ “เวลา” ไม่เหมือนกัน ถ้านานๆ เจอกันทีคงไม่เท่าไร แต่ถ้าต้องเจอกันบ่อยๆ มีหวังความสัมพันธ์พังทลาย


    นอกจากนั้น ความรู้สึกว่า “เร่งด่วน” ที่แตกต่างกัน ก็อาจทำให้เกิดความไม่ชอบขี้หน้ากันได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ ผมเจอลูกน้องคนหนึ่งที่รู้สึกหงุดหงิดเจ้านายของเขาอย่างมาก เพราะรู้สึกว่าหัวหน้าเป็นคนใจร้อนโดยไม่มีเหตุผล สั่งงานปุ๊บจะเอาปั๊บ ในขณะเดียวกันเจ้านายคนนี้ก็ไม่ชอบ ขี้หน้าลูกน้องเหมือนกัน เพราะรู้สึกว่าทำงานช้า เอื่อยเฉื่อย ไม่ทันใจ พอทั้งสองทำงานกันได้สักพัก ก็เกิดความขัดแย้งขึ้น จนสุดท้ายต่างฝ่ายต่างขอแยกทางจากกัน วิธีการแก้ไขเรื่องนี้ค่อนข้างยาก เพราะต้องอาศัยการเปิดใจพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาถึงสิ่งที่แต่ละฝ่ายให้ความสำคัญและเห็นว่าเร่งด่วน จากนั้นอาจจำเป็นต้องถอยกันคนละก้าวเพื่อหาจุดเจอกันที่เหมาะสม


    ความขัดแย้งส่วนใหญ่ในโลกนี้มีสาเหตุและที่มาที่ไป หากต้องการแก้ไขความขัดแย้งให้ได้ผล จำเป็นต้องเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงแล้วจึงมาค้นคิดหาทางออก และความรู้สึก “ศรศิลป์ไม่กินกัน” นี้ ถือได้ว่าเป็นความขัดแย้งประเภทหนึ่ง ดังนั้น การเข้าใจต้นตอที่ก่อให้เกิดความรู้สึกแบบนี้ ย่อมจะช่วยให้สามารถทางออกได้ง่ายขึ้น


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

ไม่อยากเจ๊งต้องอ่าน รวมทางออกให้ธุรกิจไปต่อ ยามเจอวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้าย

ความท้าทายไม่เคยขาดหายไปสำหรับผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจถดถอย แต่ทุกปัญหาล้วนมีทางออกเสมอสำหรับผู้ที่มีวิสัยทัศน์และยืนหยัดด้วยปรัชญาที่ถูกต้อง

5 หนังครอบครัวฟีลกู้ด ที่คนทำธุรกิจควรดู

เพราะครอบครัว คือ รากฐานสำคัญของทุกอย่าง หลายธุรกิจแจ้งเกิดเติบโตประสบความสำเร็จได้  เนื่องในวันครอบครัว 14 เมษายนนี้ เลยอยากชวนมาดู 5 หนังเรื่องราวธุรกิจที่มีความอบอุ่นของครอบครัวเป็นแรงผลักดันจนสำเร็จมาฝากกัน

5 พิกัด มูรับสงกรานต์ ฉบับเร่งยอด สาดเงิน สาดทอง ไหลมาเทมา

ว่ากันว่าชีวิตคนเรา หรือ การทำธุรกิจก็ตาม 30 ลิขิตฟ้า 70 ต้องฝ่าฟัน สงกรานต์ปีนี้ เลยอยากชวนไปไหว้ขอพร 5 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากเสริมความเป็นสิริมงคลแล้ว ก็สาดเงิน สาดทอง ให้ไหลมาเทมาด้วย