9 กลยุทธ์ดึงคนให้อยู่กับองค์กร เรื่องด่วนๆที่ Boss ต้องรู้!






     เพราะทุกธุรกิจต้องอาศัยคนในการทำงาน ผู้บริหารจึงต้องอาศัยทั้งศาสตร์ นั่นคือเรื่องของการทำงานอย่างมีระบบ (Science) และศิลปะในการเข้าใจถึงพื้นฐานของมนุษย์ (Art) ในการบริหารงาน โดยไม่สามารถขาดอย่างใดอย่างหนึ่งได้ แล้วกลยุทธ์แบบไหนกันที่เรียกว่าแข็งแกร่งและสามารถดึงคนที่ทั้งเก่งและดีให้อยู่กับองค์กรได้ ลองมาฟังคำแนะนำจาก เนตรา เทวบัญชาชัย อาจารย์ประจำสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงเรื่องนี้กันดีกว่า
 

1. คิดบวก

     คนที่ทำธุรกิจ ก่อนอื่นต้องเป็นคนคิดบวกหรือมี positive thinking กับคนก่อน เพราะทุกธุรกิจ คือธุรกิจคน ดังนั้น ผู้บริหารต้องมีความเชื่อมั่นว่าคนทุกคนต้องการเป็นคนเก่ง ต้องการเป็นคนดี และเชื่อมั่นว่าพนักงานทุกคนต้องการที่จะได้รับการยอมรับ โดยต้องการเงินเดือนในระดับหนึ่ง และมีเป้าหมายในชีวิตส่วนตัว
 

2. มีภาวะผู้นำ

     แน่นอนว่าการบริหารงานและบริหารคนต้องอาศัยความเป็นผู้นำ ผู้บริหารที่ดีต้องกล้าที่จะตัดสินคน กล้าที่จะบอกถูกผิดในเรื่องงาน กล้าที่จะฟีดแบคทุกวันและต้องไม่เหนื่อยเกินไปที่จะพูด นอกจากนี้ คนเป็นผู้นำต้องยิ้มเก่ง ยิ้มได้กับทุกคนแม้ไม่รู้จัก คนเป็นผู้นำต้องแสดงความมั่นใจ แต่งตัวดีไม่ใช่แต่งตัวแพง เป็นผู้นำอย่าลากรองเท้าแตะมาทำงาน เพราะพนักงานจะเลียนแบบ อย่าแต่งตัวสบายเกินไป ทำตัวสบายเกินไป อย่าเข้างาน 11 โมงแล้วให้พนักงานเข้า 8 โมง ต้องบาลานซ์ตรงนี้ให้ได้แล้วการทำงานจะมีความราบรื่นและบริหารคนได้ดี
 




3. มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจน


     การบริหารบุคลากรเหมือนการบริหารคนในครอบครัว ครอบครัวใดที่ไม่เคยพูดถึงเป้าหมายเลย ครอบครัวนั้นจะมีความมุ่งมั่นทั่วๆไป ทำไปเรื่อยๆตามความรู้ความสามารถ แต่หากเราเป็นพ่อแม่ที่มีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ส่วนใหญ่ลูกก็จะเดินรอยตามได้ค่อนข้างดี เพราะฉะนั้นการจะทำอะไรต้องมีเป้าหมาย โดยเป้าหมายต้องเป็นอะไรที่ดีและคนอยากเดินตาม ดังนั้น ผู้บริหารต้องสามารถบอกได้ว่าเป้าหมายขององค์กรคืออะไร จะเดินไปทิศทางไหน เพราะไม่มีพนักงานคนไหนอยากทำงานร่วมกับองค์กรที่ไร้ทิศทางในการทำงาน
 

4. มีการทำงานอย่างเป็นระบบ

     พนักงานส่วนใหญ่ของ SME ชอบลาออกเพราะองค์กรไม่มีระบบ เพราะเขาไม่รู้ว่าจะอยู่องค์กรนี้ไปทำไม ดังนั้นทุกองค์กรต้องมีเป้าหมายและการทำงานที่เป็นระบบ (Systematic) แผนผังการทำงานและสายบังคับบัญชาต้องชัดเจนเพราะมันคือแผนที่ชีวิตของพนักงาน โดยการสั่งงานให้พนักงานทำต้องมีการสื่อสารที่ชัดเจน เช่น ให้ทำอะไร รายละเอียดของงานคืออะไร ส่งงานวันไหน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานที่ผิดพลาด ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายและผลกระทบทั้งต่อตัวพนักงานและองค์กร
 

5. Job Description ต้องมี

     เพราะพนักงานทุกคนที่เข้ามาทำงานกับองค์กรคาดหวังจะรู้ว่าเขาต้องทำอะไร ซึ่ง Job Description ถือว่ามีประโยชน์อย่างมากต่อตัวองค์กรที่สามารถช่วยให้ไม่ต้องจ้างคนมากเกินไป ดังนั้นถ้าธุรกิจเล็กๆ จะทำให้เข้าใจว่าพนักงานที่เราจะจ้างนั้น จ้างมาเพื่อทำอะไร คาดหวังให้เขาทำอะไร โดยเป้าหมายของพนักงานในการทำงานแต่ละวันต้องชัดเจน
 


6. อย่าถามหาเด็กฝาก

     เพราะการคัดสรรเลือกคนเข้ามาทำงานในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ SME ส่วนใหญ่มักถามหาเด็กฝากและเลือกเข้ามาทำงานก่อน เป็นเพราะไม่ทราบหลักการในการเลือกคน ดังนั้นองค์กรต้องมีภาพในหัวว่า เราต้องการใคร มาทำตำแหน่งใด และจะได้รับสวัสดิการแบบไหน เวลาต้องการใครอย่าฝากหรือถามหาว่ามีเด็กคนไหนจะมาทำงานด้วยไหม เพราะคนทุกคนต้องการการยอมรับและการได้รับเกียรติจากองค์กร ถ้าองค์กรไหนสรรหาคนจากเด็กฝากเขาก็จะปฏิบัติกับองค์กรแบบนั้น
 

7. บอกข้อมูลที่ควรรู้ขององค์กร

     การจัดปฐมนิเทศถือเป็นสิ่งที่มีพลังมากในการทำให้พนักงานรู้จักองค์กรและองค์กรรู้จักพนักงาน ผู้บริหารที่ดีไม่ควรกล่าวทักทายแค่เล็กน้อย แต่ต้องให้การต้อนรับพนักงานใหม่อย่างอบอุ่น ให้ข้อมูลที่มีความสำคัญต่อชีวิตของเขาในวันที่เขามาทำงานกับเรารวมถึงเรื่องสวัสดิการและกฎระเบียบ นอกจากนี้ควรมีการบอกถึงวัฒนธรรมและค่านิยมขององค์กรเพื่อให้พนักงานได้รับทราบและนำไปปฏิบัติตาม
 

8. สอนเต็มที่

     ปัญหาหนึ่งของ SME คือไม่อยากเทรนพนักงานมากเพราะกลัวเก่งแล้วลาออก แต่สิ่งที่องค์กรต้องคิดคือถ้าพนักงานไม่เก่งแล้วจะทำงานให้เราได้อย่างไร ดังนั้นองค์กรต้องมีการสอนงานพนักงานอย่างเต็มที่ ผู้บริหารต้องบริหารงานอย่างผู้ใหญ่ (Maturity) คือมีความใจกว้าง เต็มใจและเต็มที่ที่จะสอนให้พนักงานมีความรู้ มีการจัดอบรมและพัฒนามาตรฐานที่มีหลักการ โดยองค์กรต้องทราบว่ามีการจัดการอบรมไปเพื่ออะไร คนที่มานั่งอบรมได้ประโยชน์จริงๆหรือไม่ รวมถึงวิทยากรหรือคนที่มาเทรนต้องเป็นคนที่ไม่น่าเบื่อ พูดแล้วคนต้องอยากฟัง

 
9. เลี่ยงใช้คำว่า “รู้สึก” ในการประเมินงาน

     ในใบประเมินงานหรือการประเมินผลงานใดๆ ไม่ควรใช้คำว่า “รู้สึก” เพราะพนักงานจะมีความรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมโดยทันที ความยากของ SME อย่างหนึ่งคือทำยังไงให้พนักงานรู้สึกว่าองค์กรหรือผู้บริหารมีความยุติธรรม แม้จะมีคนที่สนิทมากและสนิทน้อย แต่พนักงานต้องรู้สึกว่าท่านเป็นคนยุติธรรม เพราะหลายๆครั้งที่การเลือกที่รักมักที่ชังของผู้บริหาร พอรักใครมากก็เห็นใจคนนั้นมากเป็นเหตุให้พนักงานคนอื่นอาจไม่พอใจนำไปสู่ปัญหาและการลาออกของพนักงาน ดังนั้นผู้บริหารต้องมีศิลปะในการทำความเข้าใจและเห็นใจในเรื่องพื้นฐานของความรู้สึกของมนุษย์ (Empathy) นอกจากนี้หากพนักงานอยู่ภายใต้การบริหารงานของใครอย่าไปก้าวก่ายอำนาจกัน ต้องแยกแยะความสนิทออกจากเรื่องการทำงาน นโยบายที่ใช้กับทุกคนต้องใช้กับทุกคน หากมีข้อยกเว้นต้องมีเหตุผลและอธิบายได้     
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

Quiet Quitting เวอร์ชั่นใหม่จากจีน! ประท้วงแบบใหม่ แบบสับ แห่แต่งชุดไม่เหมาะสมไปทำงาน เรียกร้องสวัสดิภาพที่ดี

“Quiet Quitting” หรือ “การลาออกเงียบ” เทรนด์การทำงานของคนยุคนี้ที่มีการพูดถึงกันมากเมื่อช่วง 2 ปีก่อน ล่าสุดคนรุ่นใหม่ หรือ คน Gen Z ต่างหันมาแต่งตัวไปทำงานด้วยชุดที่ไม่เหมาะสม เช่น การสวมชุดที่ดูคล้ายชุดนอนมาทำงาน, การแต่งกายด้วยชุดเวอร์วัง อย่างเสื้อคลุมขนสัตว์ที่ดูรุ่มร่าม เป็นต้น โดยมองว่าไม่ได้ทำผิดกฎอะไร แค่อยากแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์เฉยๆ

ไม่อยากเจ๊งต้องอ่าน รวมทางออกให้ธุรกิจไปต่อ ยามเจอวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้าย

ความท้าทายไม่เคยขาดหายไปสำหรับผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจถดถอย แต่ทุกปัญหาล้วนมีทางออกเสมอสำหรับผู้ที่มีวิสัยทัศน์และยืนหยัดด้วยปรัชญาที่ถูกต้อง

5 หนังครอบครัวฟีลกู้ด ที่คนทำธุรกิจควรดู

เพราะครอบครัว คือ รากฐานสำคัญของทุกอย่าง หลายธุรกิจแจ้งเกิดเติบโตประสบความสำเร็จได้  เนื่องในวันครอบครัว 14 เมษายนนี้ เลยอยากชวนมาดู 5 หนังเรื่องราวธุรกิจที่มีความอบอุ่นของครอบครัวเป็นแรงผลักดันจนสำเร็จมาฝากกัน