เจาะลึก Grey Rock Method วิธีรับมือ Toxic People ในที่ทำงาน นิ่งสงบ สยบ ทุกพลังลบ !!

Text : Wipawan In.


     ในบรรยากาศการทำงานที่เร่งเร้า แข่งขัน และต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่ายในที่ทำงาน ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการทำงานเป็นทีม แต่ไม่ใช่ทุกคนจะพร้อมให้ความร่วมมือ บางคนกลับกลายเป็น “Toxic People” ที่สร้างความอึดอัด กดดัน บั่นทอนพลังใจของทีมอย่างเงียบ ๆ จากการศึกษาของ Harvard Business School ระบุว่า พนักงานที่ Toxic สามารถลดประสิทธิภาพทีมลงได้ถึง 30–40% และหากองค์กรไม่รับมืออย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่การลาออกโดยสมัครใจของคนเก่ง (High Performers) ถึง 47%

     Toxic People ไม่ได้หมายถึงคนที่ "นิสัยไม่ดี" เสมอไป แต่คือคนที่แสดงพฤติกรรมที่ไม่เคารพขอบเขตผู้อื่น ขาดการรับฟัง สร้างดรามา หรือแม้แต่ปล่อยพลังงานลบจนส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนรอบข้าง การรับมือคนประเภทนี้จึงไม่ใช่แค่ “ใจแข็ง” หรือ “อดทน” แต่ต้องอาศัยความเข้าใจเชิงจิตวิทยา และรู้จักการป้องกันตัวเองจากพลังงานลบๆ

     วันนี้เราจะพาไป เจาะลึกวิธีที่ช่วยให้คุณรับมือกับ Toxic People ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่าง Grey Rock Method เทคนิคสงบศึกแบบไร้อารมณ์ ป้องกันการถูกดูดพลัง วิธีนี้ไม่เพียงช่วยให้ “อยู่รอด” แต่ยัง “อยู่เหนือ” Toxic People ได้อย่างไม่สูญเสียพลังงานดีๆ

ทำความรู้จัก Grey Rock Method

     Grey Rock Method คือเทคนิคทางจิตวิทยาที่ใช้สำหรับการ “ตัดพลังงานการตอบโต้” กับบุคคลที่มีพฤติกรรมเป็นพิษ (Toxic People) โดยตั้งอยู่บนหลักการสำคัญว่า คนที่ชอบสร้างปัญหา ยั่วยุ หรือควบคุมผู้อื่น มักต้องการ “แรงตอบสนองทางอารมณ์” เช่น ความโกรธ ความเครียด หรือการโต้กลับ เพราะสิ่งเหล่านี้ให้ความรู้สึกว่าพวกเขามีอำนาจเหนือสถานการณ์ เทคนิคนี้จึงใช้แนวคิด “ทำตัวเป็นก้อนหินสีเทา” นิ่งเฉย ไม่โต้ตอบ ไม่เปิดพื้นที่ให้ยั่วโมโห และไม่เปิดเผยจุดอ่อนใด ๆ คือวิธีการตอบโต้แบบคนฉลาดทางอารมณ์

     Grey Rock Method สามารถนำมาปรับใช้ในองค์กรได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีเพื่อนร่วมงานพฤติกรรมชวนทะเลาะ ขี้บ่น ดูดพลังงาน เทคนิคนี้ช่วยให้พนักงานมีแนวทางป้องกันตัวเองจากพฤติกรรมเชิงลบโดยไม่ต้องเผชิญหน้าตรง ๆ หรือสร้างความขัดแย้ง องค์กรสามารถส่งเสริมเทคนิคนี้ผ่านการอบรม “การตั้งขอบเขตในที่ทำงาน” หรือการสร้างวัฒนธรรมการสื่อสารอย่างมืออาชีพ

     การใช้ Grey Rock อย่างเหมาะสมจะช่วยลดบรรยากาศดรามาในองค์กร ปกป้องสุขภาพจิตของพนักงาน และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนทำงานได้อย่างยั่งยืน

 5 วิธีใช้ Grey Rock Method

     1. ตอบสั้น ชัด ไม่เติมอารมณ์ ไม่แสดงความรู้สึกในบทสนทนา หรือสถานการณ์ ลดการเปิดช่องให้การสนทนาลุกลามสู่การโต้แย้ง ไม่ถามกลับด้วยอารมณ์ ใช้การตอบแบบนิ่ง ๆ ไม่ยืนยันหรือปฏิเสธมากเกินไป

          ตัวอย่าง:

          ❌ “ทำไมต้อง พูด/คิด แบบนี้?”

          ✅ “ขอบคุณสำหรับความคิดเห็น”

     2. จำกัดการเปิดเผยเรื่องส่วนตัว Toxic People มักใช้ข้อมูลส่วนตัวในการปลุกปั่น พูดลับหลัง หรือจับมาเป็นจุดอ่อนเพื่อโจมตี ควรจำกัดการเปิดเผยการใช้ชีวิตหรือความรู้สึกส่วนตัว ไม่จำเป็นต้องโกหก แต่สามารถให้การเล่าแบบกลาง ๆ ที่ไม่ชวนขยายบทสนทนา

          ตัวอย่าง:

          ❌ “เมื่อคืนไปเที่ยวกับเพื่อนแล้วเจอเรื่องแย่มาก”

          ✅ “เมื่อคืนไปเที่ยวกับเพื่อนมาสนุกดี”

     3. ใช้ภาษากายนิ่งเฉย Grey Rock Method ไม่ใช่แค่คำพูด แต่รวมถึง สีหน้า น้ำเสียง และท่าทาง ทั้งหมดควร “นิ่ง” และ “เป็นกลาง” เพื่อลดแรงกระตุ้นทางอารมณ์ ภาษากายที่นิ่งจะช่วยให้ การจับสัญญาณอารมณ์เป็นไปได้ยาก

          ตัวอย่าง:

          ❌ ใช้เสียงดัง พูดเร็ว แสดงอาการหงุดหงิด

          ✅ ใช้น้ำเสียงราบเรียบ ไม่สูงหรือต่ำเกิน ไม่แสดงความรู้สึกผ่านใบหน้าและแววตา

     4. เปลี่ยนหัวข้อ หรือยุติการสนทนาอย่างสุภาพ เมื่อรู้สึกถึงการสนทนาเริ่มเบี่ยงเบนไปในทางที่ทำให้รู้สึกอึดอัดและก่อให้เกิดการโต้เถียง ควร “ปิดฉาก” อย่างสุภาพ โดยไม่ทำให้อีกฝ่ายเสียหน้า

          ตัวอย่าง:

          ❌ ขอไม่ตอบนะ มีงานด่วนต้องทำ

          ✅ เดี๋ยวขอกลับมาตอบทีหลังนะ พอดีมีงานด่วนเข้ามา

     5. จำกัดพื้นที่ส่วนตัว Grey Rock Method ไม่ได้แปลว่าตัดขาดจากทุกคน แต่คือการ “ลดการเปิดพื้นที่ส่วนตัว” โดยยังทำงานร่วมกันได้อย่างมืออาชีพ

          ตัวอย่าง:

          ❌ พูดคุยเผชิญหน้าส่วนตัว อยู่ในทุกวงสนทนา

          ✅ ใช้ช่องทางที่เป็นทางการ เช่น อีเมล ไม่อยู่ในวงสนทนาที่ไม่เกี่ยวกับงาน

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

ปรับโหมดลูกน้อง “Fauxductivity” ขยันทำงานแบบการละคร สู่โหมดจริงจังและได้ผลงานจริง

รู้จัก “Fauxductivity” หลอกว่ายุ่ง แต่ใจไม่ได้มุ่งทำงาน แล้วผู้นำหรือหัวหน้าต้องทำอย่างไร จึงจะแก้ปัญหาการทำงานแบบ Fauxductivity ได้อยู่หมัด

เหนื่อยยังไง...ให้ไปต่อได้ 4 หลักคิดญี่ปุ่น ที่คนทำธุรกิจยุคไม่แน่นอนต้องรู้

ถ้าเป้าหมายการทำธุรกิจของคุณ ไม่ใช่แค่ “อยู่รอด” แต่คือ “อยู่ให้ได้อย่างยั่งยืนและมีคุณค่า”ลองดู 4 หลักคิดญี่ปุ่น ที่ช่วยให้ธุรกิจไปต่อได้ในวันที่เหนื่อยแทบขาดใจ

ลงทุนในคน ยังไงไม่ให้คนเก่งหนี  บทเรียนจากองค์กรชั้นนำ ยุคที่คนเปลี่ยนงานไวกว่าเปลี่ยนมือถือ

หากองค์กรจะลงทุนเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การพัฒนาคน” ทั้งในแง่ของทักษะ มุมมอง และการสร้างระบบที่หล่อเลี้ยงการเติบโตของคนกับองค์กรไปพร้อมกัน