‘ใครไม่นินทาออกจากแก๊งเราไป’ 6 วิธีรับมือแก๊งสเตอร์ในองค์กร โดยไม่ต้องเสียพนักงานดีๆ ไป





 

     ไม่ใช่ทุกองค์กรที่จะมีแก๊งสเตอร์ หลายออฟฟิศต่างมีบรรยากาศในการทำงานที่ค่อนข้างรีแล็กซ์ เป็นกันเอง พนักงานส่วนใหญ่รักใคร่กลมเกลียวกัน แต่ก็มีอีกหลายองค์กรที่ต้องยอมรับว่า ‘อยู่ยาก’ โดยเฉพาะองค์กรที่ Turnover rate ต่ำ พนักงานเก่าๆ ไม่ค่อยลาออก ส่วนใหญ่ก็จะอยู่กันเป็นกลุ่ม เป็นแก๊ง และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีพนักงานสาวสวยเข้ามาทำงานใหม่ อาจจะเสี่ยงต่อการโดนเพื่อนร่วมงานเขม่นไม่มากก็น้อย นอกจากนี้ คนที่มักจะโดนไม่ชอบหน้าบ่อยๆ คือคนที่ขยัน ตั้งใจทำงาน ไม่ว่าร้าย ไม่รวมกลุ่มนินทา จนกลายเป็นโดนนินทาเสียเอง
 

     ปัญหาเหล่านี้มีให้พบเห็นบ่อยมากในองค์กร ถ้าหากคุณคิดว่านี่เป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไป อาจจะลองเสิร์ช Pantip เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในองค์กรและคุณจะได้พบกับกระทู้เหล่านี้ ‘[สาวออฟฟิต] เคยโดนสาวๆ เขม่นหรืออิจฉาในที่ทำงานกันมั๊ยคะ’ ‘ตัวประหลาดในออฟฟิศ’ ‘เวลาโดนคนที่ทำงานเกลียด มีวิธีรับมือยังไง’ เป็นต้น
 




     และในฐานะที่คุณเป็นผู้บังคับบัญชา เป็นเจ้าของธุรกิจ ปัญหาเหล่านี้อาจจะเดินทางมาไม่ถึงหูคุณ แต่เชื่อเถอะว่าพนักงานที่ดีๆ เมื่อมีปัญหาร้อนใจแบบนี้อาจจะทำให้เขาตัดสินใจลาออกโดยที่คุณไม่ทราบสาเหตุก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น คุณจึงต้องหันมาแก้ไขปัญหาแก๊งสเตอร์ในองค์กรให้จบสิ้น ก่อนที่ลูกน้องฝีมือดีจะลาออกไปจนหมด
 

1.ทำตัวเป็นกลาง


     
บางทีปัญหาการจับกลุ่มในองค์กรก็อาจจะมาจากตัวบอสเองที่จุดประกายการนินทาให้เกิดขึ้น เช่น คุณมีลูกน้องคนโปรด ทำให้เหล่าแก๊งไม่พอใจและนินทาคุณเอง รวมถึงร่วมกันแบนลูกน้องคนโปรดของคุณด้วย คุณอาจจะต้องเริ่มต้นด้วยตัวคุณเองก่อนว่าคุณเป็นเจ้านายที่เป็นกลางหรือยังก่อนที่จะเริ่มแก้ไขปัญหาแก๊งสเตอร์ในองค์กร
 

2.สำรวจว่ามีการบูลลี่จริงหรือไม่


     
คุณจะรู้ได้อย่างไรว่ามีปัญหาแก๊งสเตอร์และการบูลลี่เกิดขึ้นในองค์กร ความจริงแล้วปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาระดับพนักงานเองโดยที่คุณอาจจะไม่รู้มาก่อน ทางที่ดีคือการสังเกตระหว่างการทำงานว่าพนักงานพูดคุยกันอย่างไร มีใครที่มักจะอยู่คนเดียว กินข้าวคนเดียวและไม่ค่อยมีใครคุยด้วยหรือไม่ อาจจะลองสอบถามพนักงานคนนั้นเป็นการส่วนตัวว่าเขาทำงานเป็นอย่างไรบ้าง มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ โดยที่คุณต้องไม่คุยด้วยท่าทีจริงจังมากเกินไปเพื่อทำให้พนักงานเปิดใจกับคุณมากขึ้น
 

3.เข้าใจและยอมรับว่ามีปัญหา


     
ผู้บริหารหลายคนอาจจะไม่ยอมรับว่ามีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจริงๆ กับองค์กรของเขาเอง บางคนมองโลกในแง่ดีเกินไปโดยไม่มองโลกในแง่จริง สุดท้ายมารู้ตัวอีกที พนักงานดีๆ ลาออกกันหมดเพราะทนมลพิษในออฟฟิศไม่ไหว อย่าลืมเปิดใจ เข้าใจและยอมรับว่าองค์กรของคุณมีปัญหาเกิดขึ้นจริงๆ เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
 


Cr: unsplash


4.หากิจกรรมที่ผูกสัมพันธ์พนักงานมากขึ้น


     
หลายครั้งที่คนเราไม่ชอบหน้ากันทั้งที่ไม่ได้รู้จักกันดีพอ ดังนั้นในองค์กรควรที่จะเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีโอกาสในการสื่อสารกันมากขึ้นเพื่อทำความรู้จักตัวตนของแต่ละคนมากขึ้น ไม่ปล่อยให้พนักงานต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างจับกลุ่ม เช่น มีการพาพนักงานไป Outing บ้าง จัดงานเลี้ยงประจำเดือนบ้าง เลี้ยงอาหารกลางวันอาทิตย์ละหนึ่งครั้งในออฟฟิศ เปิดพื้นที่ให้พนักงานได้แชร์ปัญหา เปิดใจคุยกันมากขึ้น บางครั้งปัญหาเล็กๆ ก็แก้ได้ด้วยการสื่อสาร
 

5.มีคนกลางเชื่อมสัมพันธ์


     
ในขณะที่คุณเป็นหัวเรือใหญ่ คุณเองคงมองเห็นภาพรวมคร่าวๆ ได้ว่าพนักงานคนไหนเป็นอย่างไร มีใครจับกลุ่มอยู่กลุ่มไหนบ้าง ใครบ้างที่เป็นคนที่เชื่อมสัมพันธ์ได้ โดยลักษณะของคนที่เป็นตัวกลางคือคนที่เป็นที่รักของคนอื่น เข้ากับคนง่าย มองโลกในแง่ดี ไม่นินทาใคร ไม่ได้เข้าแก๊งไหนเป็นพิเศษ อยู่กับใครก็ได้ ลองให้คนแบบนี้ทำให้หน้าที่ประสานความสัมพันธ์ระหว่างแก๊งเดิมกับเด็กใหม่ เช่น มอบหมายให้คนนี้ดูแลพนักงานใหม่ในช่วงแรกเพื่อให้เข้ากับคนที่ทำงานได้

 
6.ถ้าแก๊งยังแรง อาจต้องเรียกคุย


     
องค์กรที่ดีและใส่ใจลูกน้องจะไม่ยอมปล่อยให้ปัญหาการนินทาและการบูลลี่ทำให้เสียพนักงานดีๆ ไป เพราะฉะนั้นเมื่อแก๊งสเตอร์ในองค์กรยังมีท่าทีแข็งกร้าว ไม่ลดราวาศอกให้กับพนักงานใหม่ๆ หรือพนักงานดีๆ จนบรรยากาศในองค์กรมาคุ มี 2 วิธีคือขั้นแรก ต้องให้ฝ่ายบุคคลเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย เข้าไปดูปัญหาว่าต้นตอที่แท้จริงแล้วคืออะไร สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไรเพื่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด หากว่ามันเกินกำลังและยังมีปัญหาแบบนี้อยู่ คุณอาจจะต้องออกโรงพูดคุยกับแก๊งด้วยตัวเอง ใช้คำพูดที่เข้าใจแต่เด็ดขาด เพื่อทำความเข้าใจว่าพวกเขามีปัญหาอะไรในองค์กรรึเปล่า เพราะถ้าพนักงานมีความสุขกับการทำงาน ปัญหาเหล่านี้จะเกิดได้ยากเพราะทุกคนจะใช้เวลาไปกับการพัฒนางานของตัวเอง มีความคิดสร้างสรรค์ในการแทนที่จะมาใช้เวลาไปกับการจับกลุ่มนินทา
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

Quiet Quitting เวอร์ชั่นใหม่จากจีน! ประท้วงแบบใหม่ แบบสับ แห่แต่งชุดไม่เหมาะสมไปทำงาน เรียกร้องสวัสดิภาพที่ดี

“Quiet Quitting” หรือ “การลาออกเงียบ” เทรนด์การทำงานของคนยุคนี้ที่มีการพูดถึงกันมากเมื่อช่วง 2 ปีก่อน ล่าสุดคนรุ่นใหม่ หรือ คน Gen Z ต่างหันมาแต่งตัวไปทำงานด้วยชุดที่ไม่เหมาะสม เช่น การสวมชุดที่ดูคล้ายชุดนอนมาทำงาน, การแต่งกายด้วยชุดเวอร์วัง อย่างเสื้อคลุมขนสัตว์ที่ดูรุ่มร่าม เป็นต้น โดยมองว่าไม่ได้ทำผิดกฎอะไร แค่อยากแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์เฉยๆ

ไม่อยากเจ๊งต้องอ่าน รวมทางออกให้ธุรกิจไปต่อ ยามเจอวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้าย

ความท้าทายไม่เคยขาดหายไปสำหรับผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจถดถอย แต่ทุกปัญหาล้วนมีทางออกเสมอสำหรับผู้ที่มีวิสัยทัศน์และยืนหยัดด้วยปรัชญาที่ถูกต้อง

5 หนังครอบครัวฟีลกู้ด ที่คนทำธุรกิจควรดู

เพราะครอบครัว คือ รากฐานสำคัญของทุกอย่าง หลายธุรกิจแจ้งเกิดเติบโตประสบความสำเร็จได้  เนื่องในวันครอบครัว 14 เมษายนนี้ เลยอยากชวนมาดู 5 หนังเรื่องราวธุรกิจที่มีความอบอุ่นของครอบครัวเป็นแรงผลักดันจนสำเร็จมาฝากกัน