10 วิธีสร้าง “ความน่าเชื่อถือให้ผู้นำ” ทำให้ลูกน้องเชื่อใจ






 
     เคยสังเกตไหมว่า หลายครั้งหลายคราวปัญหาระหว่างพนักงานหรือบรรยากาศมาคุในบริษัทนั้นเกิดขึ้นมาจากตัวผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นการมีวิสัยทัศน์ที่ไม่ชัดเจน สั่งงานไม่ถูกคน หรือเข้าข้างแต่พนักงานที่ถูกใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือหรือไม่น่าเชื่อใจต่อเสาหลักขององค์กร และอาจลุกลามไปถึงการสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพซึ่งเลือกที่จะหันหลังและออกจากบริษัทได้ ดังนั้น การสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับพนักงานจึงเป็นเรื่องสำคัญของการบริหารองค์กร แต่จะทำยังไง ลองมาดู 10 วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้การเป็นผู้นำของคุณนั้นดูน่าเชื่อถือและน่าเชื่อใจกัน
 

1. แสดงให้เห็นถึงทิศทางการทำงานในภาพรวม


     การที่ผู้นำสามารถแสดงทิศทางการทำงานในภาพรวมให้เห็นได้ จะทำให้เกิดพื้นที่ของการพูดคุยสื่อสารและการเปิดใจระหว่างคนทำงานด้วยกัน ยิ่งพนักงานเข้าใจทิศทางการทำงานของบริษัทมากเท่าไร พวกเขาจะยิ่งรู้ว่าต้องทำตัวยังไง พยายามมากแค่ไหนและเห็นว่าตัวเองนั้นสำคัญยังไงกับองค์กร ดังนั้น การที่ความน่าเชื่อถือจะเกิดขึ้นได้ ผู้นำต้องแนะนำเป้าหมายของบริษัท วิธีการทำงานและความคาดหวังต่อหน้าที่ของพนักงานที่ได้รับในแต่ละคนได้
 
  • ข้อควรระวัง: การที่องค์กรมีทิศทางที่ไม่แน่นอนสามารถนำไปสู่ปัญหาเรื้อรังและทำลายความเป็นทีมเวิร์กของคนทำงานได้
 

2. ตั้งความคาดหวังให้ชัดเจน


     ประเด็นนี้อาจจะดูคล้ายๆกับข้อแรกที่กล่าวมา แต่จะลงลึกไปที่การบอกถึงความต้องการและความคาดหวังที่ผู้นำมีต่อพนักงานให้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งความชัดเจนนี้จะช่วยให้บรรดาลูกน้องสามารถที่จะมุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่หัวหน้าปรารถนาและทำให้พวกเขาเกิดความเชื่อมั่นเชื่อถือในสิ่งที่ทำอยู่ว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับความตั้งใจและพยายาม เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่มีการมอบหมายงาน ผู้นำที่ดีต้องรู้จักถามพนักงานว่าเข้าใจในสิ่งที่ได้สื่อสารกันมากน้อยแค่ไหน คิดว่าความคาดหวังที่บอกไปนั้นสามารถบรรลุผลได้จริงหรือไม่ รวมไปถึงให้มีการทำตารางเช็กรายสัปดาห์ว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้างและมีวิธีแก้ไขอย่างไร
 
  • ข้อควรระวัง: การไร้ซึ่งความชัดเจนว่าอยากได้อะไรจากสมาชิกในทีมสามารถนำไปสู่ความสับสนที่จะกัดเซาะความเชื่อมั่นในตัวผู้นำได้

 
3. ตั้งใจฟัง


     การตั้งใจฟังเป็นอีกวิธีของการสร้างความน่าเชื่อถือและน่าเคารพ เพราะแสดงให้เห็นว่าผู้นำนั้นมีความใส่ใจในสิ่งที่พนักงานได้พูดหรือไอเดียต่างๆที่ได้แสดงออก ซึ่งสามารถทำได้โดยการถามคำถามปลายเปิดเพื่อให้พนักงานมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น เช่น โปรเจกต์ที่ทำอยู่นั้นเป็นยังไงบ้าง คิดว่ามันจะออกมาเวิร์กไหม หรือ มีอะไรที่อยากจะเพิ่มเติมและทำให้งานดูแตกต่างหรือเปล่า
 
  • ข้อควรระวัง: การที่ผู้นำปิดหูไม่รับฟังเสียงพนักงาน ก็เท่ากับเป็นการปิดใจและมองข้ามความคิดของคนเหล่านั้น ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดช่องว่างระหว่างกันมากขึ้น
 

4. รู้จักมอบหมายงานที่มีความเสี่ยงต่ำให้ทำแทน


     เมื่อมีการมอบหมายงานเกิดขึ้นจะทำให้ทั้งผู้นำและพนักงานต้องมีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ซึ่งสามารถช่วยสร้างวงจรแห่งความเชื่อถือได้ โดยผู้นำควรเลือกงานที่จะมอบหมายให้กับคนที่เหมาะสมเริ่มจากโปรเจกต์ที่มีความเสี่ยงน้อยพร้อมกับกำหนดเดดไลน์ พูดคุยสื่อสารให้เข้าใจถึงรายละเอียดต่างๆว่างานชิ้นนี้ต้องการอะไร แล้วปล่อยให้พนักงานได้ทำงาน ถ้าสามารถทำได้สำเร็จ ก็มอบหมายงานชิ้นใหม่ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นให้ต่อไป
 
  • ข้อควรระวัง: การเก็บงานไว้ทำคนเดียว จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าผู้นำไม่เชื่อใจในความสามารถของพวกเขา ซึ่งจะส่งผลสะท้อนของความไม่เชื่อใจกลับไปยังตัวผู้นำได้

 
5. จัดการประชุมรายสัปดาห์


     เพราะการฟีดแบคแบบประปรายหรือนานๆครั้งนั้นไม่ช่วยให้งานมีประสิทธิภาพดีขึ้นได้เท่าที่ควร ดังนั้น การจัดให้มีการประชุมเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อพูดคุยถึงการทำงานในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามีเรื่องดีๆอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีอะไรต้องแก้ไข และอาทิตย์หน้าจะทำอะไร จะช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความน่าเชื่อถือและน่าเชื่อใจให้เกิดขึ้นระหว่างคนที่เข้าประชุมในการให้และรับฟีดแบคหรือคำแนะนำต่างๆได้
 
  • ข้อควรระวัง: การละเลยที่จะให้ฟีดแบคในการทำงาน อาจทำให้พนักงานทำงานได้ไม่ตรงจุด หลงทิศทาง และคิดว่าผู้นำไม่เห็นผลงานที่ทำไป ซึ่งส่งผลต่อการเชื่อใจได้
 

6. มีความซื่อสัตย์ เปิดรับคำติชม


     การเป็นคนเปิดเผย ซื่อสัตย์และจริงใจแม้ในยามที่เจอกับอุปสรรค เป็นทางเดียวที่ผู้นำจะสร้างความเชื่อใจและน่าเชื่อถืออย่างลึกซึ้งให้เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังควรเปิดโอกาสให้เหล่าพนักงานได้พูดในสิ่งที่คิด ปัญหาหรือสิ่งที่รบกวนอยู่ในใจออกมาได้ เพื่อหาวิธีแก้ไขหรือรับมือให้ไม่เกิดขึ้นซ้ำ
 
  • ข้อควรระวัง: การที่ผู้นำไม่เปิดใจรับฟังหรือไม่ยอมรับในเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จะทำให้พนักงานไม่กล้าแสดงออกในสิ่งที่คิดได้ เพราะไม่เชื่อใจว่าหากพูดออกไปแล้วจะมีผลกระทบอะไรตามมาหรือไม่
 

7. รับผิดชอบในคำพูดของตัวเอง


     เพราะว่าความน่าเชื่อถือและน่าเขื่อใจนั้นขึ้นอยู่กับคำพูดและการกระทำที่ตรงไปตรงมา ซึ่งการที่ผู้นำมีพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบและสามารถคาดเดาได้จะซื้อใจพนักงานได้ ตรงกันข้ามหากผู้นำเป็นคนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ พูดอย่างทำอย่าง ย่อมทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือไป ดังนั้น ควรรับปากทำในสิ่งที่คิดว่าทำได้และต้องการที่จะทำเท่านั้น และถ้าทำอะไรผิดพลาดไป ควรยอมรับ เรียนรู้และหาวิธีแก้ไข
 
  • ข้อควรระวัง: การไม่รับผิดชอบในคำพูดที่ได้กล่าวออกไป ย่อมส่งผลถึงความแคลงใจของเหล่าพนักงานได้  

 
8. เห็นความดีของลูกน้อง


     การได้รับการยอมรับในความสามารถเป็นสิ่งที่พนักงานต่างต้องการ เพราะฉะนั้นหากเห็นใครทำงานดี ทำงานสำเร็จและบรรลุเป้าหมาย ผู้นำที่ดีก็ไม่ควรมองข้ามและละเลยที่จะให้คำชมไม่ว่าจะเป็นแบบส่วนตัวหรือบอกให้ผู้ร่วมงานคนอื่นได้รับรู้ ที่สำคัญไม่ควรปล่อยให้เนิ่นนานจนเกินไปถึงจะกล่าวชมได้
 
  • ข้อควรระวัง: การไม่เห็นถึงความสามารถหรือความดีที่พนักงานทำ หรือยกความดีความชอบให้ไม่ถูกคน จะทำให้ลูกน้องคิดว่าผู้นำเป็นคนเลือกที่รักมักที่ชังได้
 

9. แชร์เรื่องราวส่วนตัวบ้าง


     การแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัวเล็กๆน้อยๆกับผู้คนในที่ทำงาน จะช่วยให้เป็นผู้นำที่ดูไม่ห่างเหินจนเกินไป อีกทั้งการพูดคุยแบบนี้จะช่วยให้เข้าถึงและเข้าใจในตัวลูกน้องแต่ละคนได้อีกทางหนึ่ง และช่วยสร้างความน่าเชื่อใจระหว่างกันให้เกิดขึ้นได้ หรืออาจจะทำออกมาในรูปแบบของการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การเล่นเกมหาความเหมือนร่วม 10 อย่างระหว่างคนในองค์กร เดาว่าเรื่องที่บอกอันไหนจริง อันไหนหลอก หรือให้เดาว่าใครกันที่น่าจะเป็นคนทำพฤติกรรมที่เขียนไว้ เป็นต้น
 
  • ข้อควรระวัง: การปิดกั้นตัวเองจนเกินไป นอกจากจะทำให้เป็นผู้นำที่เข้าถึงยากแล้ว ยังทำให้ลูกน้องไม่กล้าที่จะเอ่ยปากพูดคุยด้วย
 

10. ให้ลูกน้องได้ทำงานที่เขาชอบ


     เมื่อผู้นำให้อิสระลูกน้องในการเลือกทำโปรเจกต์ที่ชอบ จะทำให้พวกเขาทำงานด้วยความสนุกและทุ่มเทความสามารถที่มีให้กับงานชิ้นนั้นๆ โดยวิธีนี้จะทำให้พนักงานเห็นว่าผู้นำเป็นคนเปิดกว้าง ให้โอกาสและเห็นถึงความสามารถของพวกเขา เป็นอีกทางในการสร้างความเชื่อถือและน่าเคารพให้เกิดขึ้นได้
 
  • ข้อควรระวัง: การเลือกคนไม่ตรงงาน และงานไม่ตรงคน นอกจากจะทำให้งานออกมาไม่ดีแล้ว ยังทำให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขามีผู้นำที่ไม่เก่งพอและดูคนไม่เป็น นำไปสู่การไม่ไว้ใจในความสามารถของการเลือกใช้คนของผู้นำองค์กรได้     


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

Sequence quotient รู้ว่าต้องทำอะไรก่อน-หลัง เทคนิคผู้บริหารต้องรู้อยากให้ธุรกิจโต

ในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดกระแสดราม่าที่ร้อนแรงขึ้นกับคอนเทนต์ของคุณ CK Cheong (ซีเค เจิง) CEO ของ FASTWORK เรื่อง “มุมมองการบริหารเวลา แนะ ต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน แต่ทุกคนมีเวลาเท่ากัน”

มัดรวม 5 ไอเดียประหยัดต้นทุนธุรกิจโรงแรมไซส์เล็ก

ฤดูร้อนมาเยือนแล้ว เป็นอีกหนึ่งไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวฟากฝั่งทะเล จะทำยังไงให้มีรายได้เยอะขึ้น นอกจากการหาลูกค้าเพิ่ม การช่วยลดต้นทุนก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่ไม่ได้มีเงินทุนมากมาย วันนี้เลยอยากชวนมาลดต้นทุนธุรกิจกับ 5 ไอเดียประหยัดต้นทุนโรงแรมไซส์เล็กกัน

รู้ก่อนเจ๊ง ความปลอดภัยทางไซเบอร์กับอนาคตธุรกิจ 40% ของเป้าหมายอาชญากรรมไซเบอร์ คือ SME

จากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย พบว่า การโจมตีทางไซเบอร์ต่อ SME เพิ่มขึ้น 35% โดยที่ 40% ของเป้าหมายอาชญากรรมไซเบอร์ทั้งหมดในประเทศคือ SME