อย่ามองข้าม! การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

Text : กิติเมธี  มนต์เสรีนุสรณ์
 
 



Main Idea
 
  • ในโลกการทำงานทุกวันนี้เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยด้านการสื่อสารได้ หากแต่ในบางครั้งเราใช้มันมากจนเกินไป จนลืมความสำคัญของคำว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล อาจส่งผลต่อธุรกิจของคุณได้
 
  • หากพนักงานได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ของคนต่างวัยจะถูกหล่อหลอมและซึมซับซึ่งกันและกัน กลายเป็นความเข้มแข็งขององค์กร ช่วยสร้างแต้มต่อในธุรกิจได้
 
 
 

     การทำงานในทุกวันนี้เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยด้านการสื่อสาร จะเรียกว่าเป็นส่วนใหญ่คงไม่ผิดนัก หากแต่ในบางครั้งเราใช้มันมากจนเกินไป จนลืมความสำคัญของคำว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล


     ทั้งที่ในความจริงแล้ว การสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กรในหลายๆ ครั้ง เราต้องการการตอบโต้ ชี้แจ้ง และอธิบายในลักษณะที่ต้องมานั่งคุยกัน ถกเถียงกัน ไม่ใช่เพียงแค่ส่งอีเมล หรือข้อความถึงกัน เพราะอาจนำมาซึ่งปัญหาในการสื่อสารที่ผิดพลาด และทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการทำงานหรือสร้างความขัดแย้งระหว่างบุคคลได้





     โดยเฉพาะองค์กรที่มีคนหลากหลาย Gen ทำงานร่วมกัน ความแตกต่างระหว่างวัยย่อมทำให้ความเข้าใจ และวิธีการทำงานมีความแตกต่างกันอย่างแน่นอน ผู้ใหญ่ที่มีอายุงานมาก มักจะใช้ความรู้เดิมที่มีอยู่กับประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานในแต่ละวัน แต่เด็กรุ่นใหม่ใช้ความรู้ใหม่ๆ บวกกับความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องพลิกแพลงเนื่องจากการขาดประสบการณ์ มาใช้ในการทำงานและแก้ไขปัญหา แต่ถ้าพวกเขาได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ของคนต่างวัยจะถูกหล่อหลอมและซึมซับซึ่งกันและกัน


     ในส่วนของการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า หากเราสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์ โดยขาดการเข้าไปเยี่ยมเยียน ก็เหมือนปิดหูปิดตาตัวเอง โดยไม่สามารถบอกได้เลยว่า ณ ขณะนั้น ธุรกิจของลูกค้าเป็นอย่างไร เพราะเพียงแค่คำพูดทางโทรศัพท์คงไม่สามารถบอกอะไรได้มากไปกว่าการสั่งสินค้าเดิมๆ หรือติดตามการจัดส่งเท่านั้น


     แต่หากเข้าไปพบ ไปเยี่ยมเยียน สิ่งที่ได้เพิ่มขึ้นคือ ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น การสังเกตการณ์บริเวณโรงงานว่ามีสินค้าคู่แข่งเข้าไปขายหรือเปล่า การที่ลูกค้าสั่งเพิ่มขึ้นหรือลดลงจริงๆ เกิดจากอะไร หรือแม้กระทั่งโอกาสทางธุรกิจที่มากขึ้นจากปัญหาที่ลูกค้ากำลังเผชิญอยู่ ในตลาดที่แข่งขันสูงการห้ำหั่นกันที่ราคาเพียงอย่างเดียวคงเป็นเรื่องที่ลำบากสำหรับทุกองค์กร แต่ถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดี ตรงนั้นจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้มากกว่าแค่ราคาถูกกว่า


     องค์กรควรมีส่วนในการผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดี หลายๆ องค์กรได้มีการทำอยู่แล้ว เช่น การประชุม Training หรือ Coaching แต่สิ่งที่ต้องคำนึงเพิ่มเติมน่าจะเป็นความสมดุลและความสม่ำเสมอในการสร้างวัฒนธรรมนี้มากกว่า





     การประชุมที่มากเกินไปย่อมส่งผลต่อเวลาในการทำงานประจำที่ลดลง หรือการ Coaching ที่ไม่ปล่อยให้พนักงานใหม่ได้ลองทำผิดถูกเอง (บนพื้นฐานความเสี่ยงที่องค์กรยอมรับได้) ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของบุคคลเหล่านั้น การออกเยี่ยมเยียนลูกค้าก็เช่นกัน ควรมีการจัดลำดับความสำคัญให้ดีว่ารายไหนควรเข้าเยี่ยมเยียนบ่อยแค่ไหน จุดประสงค์ในการเข้าเยี่ยมเยียนนั้นเพื่ออะไร และควรไปหาลูกค้ารายไหนก่อน


     ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่องค์กรควรคำนึงถึง ให้ความสำคัญ และมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างวัฒนธรรมของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ดี ที่จะนำมาซึ่งประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้น บรรยากาศการทำงานที่ผู้ใหญ่และรุ่นหลังรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน รวมถึงเป็นการสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กรอีกด้วย


     อย่างผมเองก็จะแนะนำพนักงานใหม่ในหลายๆ ตำแหน่ง เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่เราต้องการและสิ่งที่เขาจะต้องส่งมอบนั้นตรงกัน โดยในช่วงแรกจะทำเป็นตัวอย่างให้เขาดูเลย หรือบางกรณีอาจจะทำเป็นแบบฟอร์มขึ้นมาเผื่อให้เขาเอาไปใช้ต่อได้ แล้วแนะนำว่าต้องเอาข้อมูลอะไรมาจากไหน หลังจากนั้นเราก็คอยสอบทานอย่างใกล้ชิดในช่วงแรกเพื่อให้เขาได้ลองทำ พอทำได้แล้วเราก็ค่อยปล่อยให้เขารับผิดชอบไป


     เช่นกันกับการจัดประชุม ผมมักจะถามให้ที่ประชุมเสนอความคิดเห็นโดยรับฟังทุกความคิดเห็นทุกมุมมองแล้วเอาตรงนั้นมาพิจารณา โดยให้ทุกคนมีสิทธิ์เสนอความคิดเห็น ถกเถียงกันได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตของหัวข้อนั้นๆ โดยสิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ ซึมซับเป็นวัฒนธรรมในพนักงานทุกๆ คนว่า ทุกคนมีสิทธิ์พูด มีสิทธิ์แย้ง และทุกคนต้องรับฟังเพื่อพิจารณาหาคำตอบร่วมกัน ในส่วนลูกค้า หรือคู่ค้า ผมต้องรู้จักและเข้าเยี่ยมเยียนทุกคน ถี่บ้างห่างบ้างแต่ยังคงต้องทำ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกค้าหรือคู่ค้าเห็นว่า ผมเข้าถึงได้ มีปัญหาอะไรโทรศัพท์หาได้ทันที


     นี่จึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาว และหลายๆ ครั้ง ก็ทำให้ได้เห็นโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกด้วย
 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

Quiet Quitting เวอร์ชั่นใหม่จากจีน! ประท้วงแบบใหม่ แบบสับ แห่แต่งชุดไม่เหมาะสมไปทำงาน เรียกร้องสวัสดิภาพที่ดี

“Quiet Quitting” หรือ “การลาออกเงียบ” เทรนด์การทำงานของคนยุคนี้ที่มีการพูดถึงกันมากเมื่อช่วง 2 ปีก่อน ล่าสุดคนรุ่นใหม่ หรือ คน Gen Z ต่างหันมาแต่งตัวไปทำงานด้วยชุดที่ไม่เหมาะสม เช่น การสวมชุดที่ดูคล้ายชุดนอนมาทำงาน, การแต่งกายด้วยชุดเวอร์วัง อย่างเสื้อคลุมขนสัตว์ที่ดูรุ่มร่าม เป็นต้น โดยมองว่าไม่ได้ทำผิดกฎอะไร แค่อยากแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์เฉยๆ

ไม่อยากเจ๊งต้องอ่าน รวมทางออกให้ธุรกิจไปต่อ ยามเจอวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้าย

ความท้าทายไม่เคยขาดหายไปสำหรับผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจถดถอย แต่ทุกปัญหาล้วนมีทางออกเสมอสำหรับผู้ที่มีวิสัยทัศน์และยืนหยัดด้วยปรัชญาที่ถูกต้อง

5 หนังครอบครัวฟีลกู้ด ที่คนทำธุรกิจควรดู

เพราะครอบครัว คือ รากฐานสำคัญของทุกอย่าง หลายธุรกิจแจ้งเกิดเติบโตประสบความสำเร็จได้  เนื่องในวันครอบครัว 14 เมษายนนี้ เลยอยากชวนมาดู 5 หนังเรื่องราวธุรกิจที่มีความอบอุ่นของครอบครัวเป็นแรงผลักดันจนสำเร็จมาฝากกัน