เหนื่อยใจก็ไหวอยู่! ภารกิจกอบกู้ใจพนักงาน ช่วยองค์กรก้าวข้ามวิกฤต

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย

 

 

Main Idea
 
  • การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการทำงาน บางคนต้องกักตัวอยู่บ้าน และ Work from home ไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตเหมือนที่เคยเป็น ทำให้เหล่าพนักงานเกิดความกังวลและเครียดจนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
 
  • ผู้ประกอบการและหัวหน้างานมีส่วนสำคัญที่จะช่วยทำให้สุขภาพจิตของเหล่าพนักงานดีขึ้นได้ ด้วยการสื่อสารและใช้เวลาร่วมกันให้มากขึ้น
 




     การระบาดของ Covid-19 นอกจากจะเป็นวิกฤตทางด้านสุขภาพกายแล้ว ยังก่อให้เกิดวิกฤตสุขภาพจิตอีกด้วย เพราะการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตอย่างกะทันหัน บางคนต้องกักตัวและทำงานอยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตในแบบที่เคยเป็น Qualtrics และ SAP ทำการสำรวจพนักงาน 2,700 คนใน 10 อุตสาหกรรมทั่วโลก พบว่านับตั้งแต่มีการระบาดและการล็อกดาวน์เมืองในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ผู้คนถึง 75 เปอร์เซ็นต์รู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคมมากขึ้น 67 เปอร์เซ็นต์ เครียดมากขึ้น  อีก 57 เปอร์เซ็นต์รู้สึกวิตกกังวล และมีคนถึง 53 เปอร์เซ็นต์ ที่รู้สึกอ่อนล้าทางอารมณ์มากขึ้น แน่นอนว่าปัญหาสุขภาพใจเช่นนี้ ย่อมส่งผลถึงการทำงานของเหล่าพนักงานอย่างเลี่ยงไม่ได้
               

     เรื่องนี้มีทางออก ถ้าได้รู้จักกับ 5 ขั้นตอน ที่ผู้ประกอบการทำได้เพื่อกอบกู้สภาพจิตใจของเหล่าพนักงานในองค์กร
 



 
  1. เปิดประตู

     ไม่ได้หมายถึงการเปิดประตูบ้านหรือประตูออฟฟิศ แต่เรากำลังหมายถึงประตูใจต่างหาก โดยพนักงานเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า บริษัทไม่ถามพวกเขาเลยว่า กำลังทำอะไรอยู่ หรือ ยังโอเคอยู่ไหม หลายองค์กรให้ความสำคัญกับการเคารพความเป็นส่วนตัว แต่จากสถิติแล้วพบว่า พนักงานจะดีใจมากกว่าถ้าหัวหน้างานใส่ใจถามถึงสุขภาพจิตของพวกเขา ดังนั้น คำถามว่า “เป็นอย่างไรบ้าง” ก็คือการเปิดประตูการสนทนาให้พนักงานได้เปิดใจบอกเล่าความเครียดหรือความกังวล ซึ่งผลการสำรวจพบว่า พนักงานยินดีที่จะเปิดใจพูดคุยเรื่องพวกนี้กับหัวหน้างานและพนักงานมากกว่าจะคุยกับฝ่ายบุคคล แต่ถ้าพนักงานคนไหนไม่สะดวกใจที่จะพูดคุยเรื่องสุขภาพจิต สุขภาพใจก็ไม่ว่ากัน เราเปิดทางให้เขาแล้วนี่นา
 



 
  1. แสดงออกว่ายินดีรับฟัง

     สำหรับพนักงานที่อยากพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิต หัวหน้างานจะต้องฝึกการรับฟังพวกเขาด้วย โดยไม่ต้องพยายามแก้ไขทุกอย่าง เพียงแค่รับฟังและทำความเข้าใจ และอย่ากลัวที่จะเปิดใจตัวเอง เพราะการฟังเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการสร้างความไว้วางใจ โดยจากข้อมูลพบว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ของพนักงานทุกระดับในบริษัทมีสุขภาพใจที่แย่ลง นั่นหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้จัดการ หัวหน้างาน หรือพนักงานก็ตามมีแนวโน้มที่จะทุกข์หรือเครียดได้เหมือนกัน ยิ่งพวกเขาได้รู้ว่าไม่ได้อยู่คนเดียวเร็วแค่ไหน ก็เป็นการดีกว่าที่เราจะให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน
 



 
  1. สื่อสารกันสม่ำเสมอ

     ไม่ใช่ว่าได้พูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพใจแล้วจะจบลงแค่นั้น วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้คนจัดการกับจิตใจได้ดีขึ้นนั่นคือการให้ความรู้สึกมั่นคง  โดยคนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า ต้องการการสื่อสารอย่างน้อยทุกสัปดาห์จากองค์กร มี 29 เปอร์เซ็นต์ที่ชอบให้มีการสื่อสารกันทุกวัน ซึ่งการสื่อสารเกี่ยวกับสุขภาพจิตในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการโทรศัพท์จากผู้จัดการหรือหัวหน้างานโดยตรง การสื่อสารอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้พนักงานรู้สึกว่าเขายังมีคนที่คอยสนับสนุนอยู่
 



 
  1. รักษาความสัมพันธ์ของคนในทีม

     ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้จัดการหรือหัวหน้างานเท่านั้นที่จะต้องดูแลพนักงาน แต่คนในทีมก็ต้องดูแลหัวหน้างานด้วยเช่นกัน โดยองค์กรควรทำแบบสำรวจการทำงานเป็นประจำเพื่อทำความเข้าใจภาพรวมว่าแต่ละทีมแต่ละแผนกเป็นอย่างไร พวกเขากำลังรู้สึกอย่างไร


     จากผลสำรวจพบว่าพนักงานเกือบ 1 ใน 3 บอกว่า ทีมของพวกเขาไม่ได้ติดต่อพูดคุยกันนอกเหนือจากเรื่องงานเลยในตอนที่ทำงานที่บ้าน (Work from Home) ทำให้สุขภาพใจแย่ลง เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อคนกักตัวอยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้คุยเล่นกับเพื่อนร่วมงานทำให้ไม่มีพลังงานในการทำงานหรือจุดประกายความคิดและความร่วมมือใหม่ๆ เพราะฉะนั้นแล้ว ลองคุยเล่นกันผ่านโลกออนไลน์ในช่วงสุดสัปดาห์ หรือกินอาหารกลางวันด้วยกันผ่านหน้าจอ แชร์เรื่องราวต่างๆ และรักษาความสัมพันธ์ไว้สักหน่อย จะทำให้เราได้สำรวจจิตใจของเพื่อนร่วมทีมและช่วยเขาแก้ปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
 



 
  1. สนับสนุนทรัพยากรและแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพจิต

     ปิดท้ายกับการสร้างความชัดเจนว่าองค์กรหรือบริษัทใส่ใจด้านสุขภาพจิตของพนักงานทุกคนด้วยการสนับสนุนข้อมูลและทรัพยากรที่เอื้อต่อสุขภาพจิตที่ดี ไม่ว่าจะเป็นคอร์สสุขภาพจิตหรือเบอร์โทรของนักจิตบำบัด พนักงานบางคนต้องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้น แต่บางคนก็แค่ต้องการรู้ว่าบริษัทสนับสนุนเรื่องพวกนี้ให้พวกเขามั่นใจได้ว่าเมื่อไรที่เขาต้องการก็สามารถไปใช้ได้จะช่วยบรรเทาความวิตกกังวลและความเครียดได้
 

     ผู้ประกอบการรายใดกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤต และอยากรักษาจิตใจของพนักงานให้แข็งแกร่ง เพื่อมาร่วมฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน ก็ลองนำแนวทางเหล่านี้ไปใช้ดูได้ ไม่แน่ว่าหลังวิกฤตคุณจะได้ใจพนักงาน และมีทีมงานที่แข็งแกร่งพร้อมที่จะทุ่มเทกับองค์กรได้มากกว่าทุกวันนี้ก็ได้ ใครจะไปรู้
 
 
ที่มา : hbr.org
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

Quiet Quitting เวอร์ชั่นใหม่จากจีน! ประท้วงแบบใหม่ แบบสับ แห่แต่งชุดไม่เหมาะสมไปทำงาน เรียกร้องสวัสดิภาพที่ดี

“Quiet Quitting” หรือ “การลาออกเงียบ” เทรนด์การทำงานของคนยุคนี้ที่มีการพูดถึงกันมากเมื่อช่วง 2 ปีก่อน ล่าสุดคนรุ่นใหม่ หรือ คน Gen Z ต่างหันมาแต่งตัวไปทำงานด้วยชุดที่ไม่เหมาะสม เช่น การสวมชุดที่ดูคล้ายชุดนอนมาทำงาน, การแต่งกายด้วยชุดเวอร์วัง อย่างเสื้อคลุมขนสัตว์ที่ดูรุ่มร่าม เป็นต้น โดยมองว่าไม่ได้ทำผิดกฎอะไร แค่อยากแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์เฉยๆ

ไม่อยากเจ๊งต้องอ่าน รวมทางออกให้ธุรกิจไปต่อ ยามเจอวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้าย

ความท้าทายไม่เคยขาดหายไปสำหรับผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจถดถอย แต่ทุกปัญหาล้วนมีทางออกเสมอสำหรับผู้ที่มีวิสัยทัศน์และยืนหยัดด้วยปรัชญาที่ถูกต้อง

5 หนังครอบครัวฟีลกู้ด ที่คนทำธุรกิจควรดู

เพราะครอบครัว คือ รากฐานสำคัญของทุกอย่าง หลายธุรกิจแจ้งเกิดเติบโตประสบความสำเร็จได้  เนื่องในวันครอบครัว 14 เมษายนนี้ เลยอยากชวนมาดู 5 หนังเรื่องราวธุรกิจที่มีความอบอุ่นของครอบครัวเป็นแรงผลักดันจนสำเร็จมาฝากกัน