5 พฤติกรรมของคนมี EQ ต่ำ ที่อาจทำให้ผู้นำ “ตกม้าตาย” โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา




     การเติบโตทางอารมณ์ เป็นทักษะสำคัญที่ต้องฝึกฝน หลายคนมี IQ สูงแต่ EQ ต่ำ เลยตกม้าตายอย่างน่าเสียดาย ไปไม่ถึงฝั่ง ก้าวไม่ถึงฝัน
                 

     คนที่ EQ สูง ไม่ใช่คนที่เก็บอารมณ์ได้ดี ไม่แสดงออกให้คนอื่นรู้เลย แต่หมายถึงคนที่แสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม โกรธก็ให้รู้ว่าโกรธ แต่ไม่ใช่เอะอะโวยวายคล้ายคนบ้า เสียสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ ในทางกลับกันหากดีใจ ก็แสดงออกให้เห็นว่าดีใจ แต่ไม่ใช่วี้ดว้ายกระตู้วู้จนคนรอบข้างตระหนกตกใจ



                 

     หลักในการบริหารจัดการอารมณ์ให้เหมาะสม มีองค์ประกอบง่ายๆ 5  ประการ ได้แก่
               

     1. รู้ตัวเอง (Self Awareness) - หมายถึงการตระหนักรู้ว่าตัวเองเป็นคนจัดการอารมณ์ได้ไม่ค่อยดี เช่นขี้เหวี่ยง ขี้วีน เป็นต้น และอยากปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น
                 

     2. บริหารอารมณ์ของตัวเองได้ (Self Management) - หมายถึงความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตัวเองได้อย่างเหมาะสม สติมาทันอารมณ์ ไม่ใช่พูดไปแล้ว ค่อยมานึกเสียใจภายหลัง ทำไปแล้ว ค่อยตามมาขอโทษ เป็นต้น
                 

     3. รู้จักอารมณ์ของผู้อื่น (Others Awareness) - หมายถึงการมีความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่นได้รวดเร็ว ระหว่างสนทนากันอยู่ เมื่ออีกฝ่ายเริ่มรู้สึกไม่พอใจ ก็พอจับอาการได้ ไม่ใช่เขาโกรธจนหัวฟัดหัวเหวี่ยง ยังไม่รู้เรื่องเลย แบบนี้ใช้ไม่ได้
                 

     4. บริหารอารมณ์ของคนอื่นได้ (Othes Management) - หมายถึงความสามารถในการรับมือกับคนที่มีอารมณ์ได้ดี เมื่อโกรธมาก็ไม่โกรธตอบ เมื่อด่ามาก็ไม่ด่าตอบ ถูกขับรถปาดก็ไม่หาทางเอาคืน เป็นต้น รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา รู้จักกาลเทศะว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนควรเงียบ และถ้าจะพูด ควรพูดอย่างไรไม่ให้แรงเกินไป จนมีปัญหากัน
                 

     5. สร้างแรงจูงใจให้ตัวเองได้ (Self Motivation) - หมายถึงความสามารถในการกระตุ้นพลังและความกระตือรือร้นของตนเองได้ ไม่ต้องรอให้คนอื่นมาช่วยกระตุ้น ไม่นั่งรอสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศเอื้ออำนวย เมื่อรู้สึกผิดหวังเสียใจ หรือไม่สบายใจ ก็ใช้เวลาไม่นานในการปล่อยวางและกลับมาเหมือนเดิม





     อย่างไรก็ตาม หากอยากรู้ว่าเราเป็นคนมีความเติบโตทางอารมณ์หรือไม่ สังเกตได้ไม่ยาก นี่คือพฤติกรรมบ่งชี้ 5 ประการว่าเป็นคนมี EQ ต่ำหรือเปล่า
                 

     1. ผิดไม่เป็น - เป็นพวกที่ชอบโทษนั่นโทษนี่ เอาความดีใส่ตัวเอาความชั่วให้คนอื่น เพราะกลัวว่าถ้าคนอื่นรู้ว่าตัวเองผิด จะเสียเครดิตและดูไม่ดี คนพวกนี้ มีปัญหาเรื่อง “อัตตา” (Ego) ของตนเองที่เกินขนาด
                 

     2. เน้นบริวาร - เป็นพวกที่ชอบให้คนล้อมหน้าล้อมหลัง ผลัดกันสรรเสริญเยินยอ คนรอบตัวจึงประกอบไปด้วยมนุษย์ประเภท “เห็นด้วยครับพี่-ดีครับนาย-ได้ครับท่าน”
                 

     3. เชี่ยวชาญไปหมด - เป็นพวกที่รอบรู้ไปซะทุกอย่าง อยากแสดงความฉลาดให้คนอื่นเห็น เป็นพวกโง่ไม่เป็น มีความเห็นทุกเรื่อง
                 

     4. ชอบกดขี่ - เป็นพวกที่ชอบยกตนข่มท่าน ใช้คำพูดดูถูกเหยียดหยาม และจิกกัดทุกขณะที่สามารถทำได้
                 

     5. ขี้โวยวาย -  เป็นพวกที่ชอบเอะอะโวยวาย แสดงความก้าวร้าวเพื่อข่มขู่คนอื่น ต้องการแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฎิหารของตัวเองให้คนอื่นดูว่า “ตูแน่”
                 

      ลองหาเวลาแอบดูตัวเองสักนิด เราเป็นคนแบบที่ว่านี่ไหม ถ้าเป็น ให้รีบแก้ไข





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เหนื่อยยังไง...ให้ไปต่อได้ 4 หลักคิดญี่ปุ่น ที่คนทำธุรกิจยุคไม่แน่นอนต้องรู้

ถ้าเป้าหมายการทำธุรกิจของคุณ ไม่ใช่แค่ “อยู่รอด” แต่คือ “อยู่ให้ได้อย่างยั่งยืนและมีคุณค่า”ลองดู 4 หลักคิดญี่ปุ่น ที่ช่วยให้ธุรกิจไปต่อได้ในวันที่เหนื่อยแทบขาดใจ

ลงทุนในคน ยังไงไม่ให้คนเก่งหนี  บทเรียนจากองค์กรชั้นนำ ยุคที่คนเปลี่ยนงานไวกว่าเปลี่ยนมือถือ

หากองค์กรจะลงทุนเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การพัฒนาคน” ทั้งในแง่ของทักษะ มุมมอง และการสร้างระบบที่หล่อเลี้ยงการเติบโตของคนกับองค์กรไปพร้อมกัน

ล้มไม่ใช่แพ้ ถ้ารู้จักลุกอย่างมีกลยุทธ์ “Resilience” ทักษะที่ SME ควรมี

ล้มแค่ไหนก็ไม่พัง ถ้าเราล้มเร็วลุกเร็ว มาเรียนรู้ 10 วิธีฟื้นใจและปรับตัวไว ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของความอดทน แต่คือศิลปะของการลุกขึ้นใหม่