จับตา “Turnover Tsunami” ปรากฏการณ์มนุษย์ออฟฟิศแห่ย้ายงาน ปัญหาที่ SME ต้องเตรียมรับมือหลังโควิดซา

TEXT : กองบรรณาธิการ





        หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จบลง มีการคาดการณ์ว่าอาจทำให้พนักงานประจำทั่วโลกที่ยังทำงานอยู่สมัครใจลาออกจากงานเพื่อไปเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก คล้ายกับคลื่นยักษ์สึนามิที่เข้ามากวาดต้อนผู้คนออกไปจากระบบหรือที่เรียกว่า “Turnover Tsunami” จนอาจกลายเป็นปัญหาให้กับองค์กรต่างๆ หลังการแพร่ระบาดของไวรัสจบลง
               
 
       เหตุผลอาจมาจากการเริ่มคุ้นชินกับรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย มีอิสระมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การเดินทางมาทำงานที่ออฟฟิศเพียงอย่างเดียว จึงทำให้มุมมองการใช้ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไป โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปแบบการทำงานแบบเดิมๆ อีกต่อไป จนเป็นสาเหตุว่าทำไมในขณะที่หลายธุรกิจต้องปิดตัวลงจำนวนมาก ปริมาณพนักงานที่ตกงานก็มีอยู่ไม่น้อย แต่สถิติการลาออกของพนักงานในองค์กรต่างๆ นั้นกลับไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย แถมยังอาจมีเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นปรากฏการณ์คลื่นการย้ายงานที่ส่งผลเสียตามมาให้กับธุรกิจในภายหลังก็ได้



 
 

ตกงานก็เยอะ แต่ทำไมถึงยังมีคนอยากลาออก

 
               
       เหตุผลแรก มีการคาดคะเนว่าอาจเป็นไปได้ว่าท่ามกลางความตื่นตระหนกของเศรษฐกิจตั้งแต่ปีที่แล้วนั้น เหล่าพนักงานไม่ได้พร้อมที่จะสูญเสียรายได้หรือมีรายได้ลดน้อยลงจากการต้องถูกหยุดงาน พักงาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดตามคำสั่งจากรัฐบาลบ้าง หรือสภาวะของธุรกิจเองที่ต้องหยุดชะงักเพราะแทบไม่มีรายได้เข้ามา จึงทำให้พวกเขาไม่อยากจะอยู่รอความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอีกต่อไป
               
 
       อีกปัจจัยต่อมาที่สำคัญ ก็คือ ความเหนื่อยหน่ายจากโรคระบาด การต้องปรับตัวใช้ชีวิตทำงานอยู่กับบ้าน ออกไปข้างนอกน้อยลง ขาดสังคม ซึ่งไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ จนทำให้เกิดภาวะหมดไฟ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนเลือกที่จะกระโดดออกมาจากระบบของการเป็นลูกจ้างประจำ



 
 

พนักงานเข้า-ออกบ่อย ส่งผลเสียต่อธุรกิจอย่างไร

 
               
        แน่นอนว่าการหมุนเวียนเข้าออกงานบ่อยของพนักงานนั้น ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการทำงานของบริษัทอย่างแน่นอน ซึ่งอาจหมายถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ การสูญเสียเวลา สูญเสียโอกาสอื่นที่จะตามมาอีกมากมาย ตั้งแต่การประกาศรับสมัครเพื่อหาคนมาทำงานแทน การฝึกฝนงานใหม่ การหาพนักงานมาทดแทนระหว่างที่ยังหาคนใหม่ไม่ได้ ประสิทธิภาพการทำงานของทีมลดลง ซึ่งสุดท้ายอาจส่งผลให้ธุรกิจต้องสะดุดไปด้วย
 
 

เตรียมตัวรับมือยังไงดี

 
               
        เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียขึ้นนับจากนี้ และป้องกันคลื่นการย้ายงานของพนักงานที่อาจตามมา ผู้ประกอบการธุรกิจควรเตรียมตัวดังนี้
 
 
 

  • ชดเชยสิ่งที่สูญเสียไป
 
 
        เพื่อทำให้พนักงานของคุณไม่เกิดความรู้สึกที่อยากจะลาออกหรือแสวงหารูปแบบการทำงานวิถีใหม่ที่อาจไม่ได้อยู่ในระบบ สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องทำเพื่อช่วยมัดใจพวกเขาเหล่านั้นได้ ก็คือ   การชดเชยรายได้หรือโอกาสที่ต้องสูญเสียไปจากช่วงวิกฤต หากสถานการณ์เริ่มกลับมาคลี่คลายดีขึ้นแล้ว อย่ารอให้พวกเขาเป็นคนเลือกที่จะไปก่อน ควรดับความคิดนั้นลงไปก่อน



 
 
  • ปรับการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
 
 
         แน่นอนว่าโลกการทำงานนับจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในเมื่อเราได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานที่มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น เพื่อปรับตัวเอาตัวรอดจากวิกฤต ดังนั้นแล้วก็ไม่เสียหายอะไรที่เราอาจนำมาลองปรับใช้เป็นแนวทางเพื่อหาจุดสมดุลหรือเหมาะสมกับรูปแบบการทำงานของธุรกิจ หรือการทำงานของพนักงานต่อไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจไม่ได้ส่งผลดีต่อแค่องค์กรเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานด้วย และทำให้พวกเขารู้สึกมีทางเลือกมากขึ้นที่เหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิตของตนเอง สิ่งเหล่านี้จะทำให้ช่วยมัดใจพวกเขาได้ เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำให้ต้องลาออกในเมื่อพวกเขาเองก็สามารถใช้ชีวิตทำงานได้อย่างมีความสุขอยู่แล้ว
 
 
  • จริงใจ บอกข้อมูลเท็จจริง

 
 
        ในสถานการณ์เช่นนี้ความจริงใจ คือ สิ่งที่สำคัญที่สุด ควรคุณบอกพนักงานให้ทราบถึงสถานการณ์ที่เป็นจริงของบริษัท บอกถึงสิ่งที่คุณอยากได้จากพวกเขา และมีอะไรบ้างที่คุณจะมอบให้กับพวกเขาหากคิดจะร่วมหัวจ่มท้ายไปด้วยกันอีกต่อไป เพราะอย่างน้อยๆ สิ่งนี้จะทำให้พวกเขารู้สึกถึงความมีคุณค่าในตัวเอง ไปจนถึงความรู้สึกเป็นคนสำคัญ และบริษัทพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อรักษาพวกเขาไว้



 
 
        นอกจากนี้แม้สถานการณ์จะกลับเข้ามาสู่สภาวะปกติแล้ว พนักงานของคุณเกิดความเข้าใจอันดีต่อองค์กร และไม่ได้คิดอยากจะย้ายไปทำงานที่อื่น ผู้ประกอบการธุรกิจเองก็ควรมีกลยุทธ์มัดใจพนักงานให้อยากอยู่ทำงานร่วมกับองค์กรต่อไปนานๆ ด้วย ดังนี้
 
 
         1. หมั่นเพิ่มพูนทักษะความรู้ใหม่ๆ มอบหมายงานที่ท้าทายให้กับเหล่าพนักงานเสมอ เพราะส่วนหนึ่งของการอยากลาออก คือ การขาดการมีส่วนร่วม การไม่รู้ถึงความสำคัญของตนเองที่มีต่อองค์กร ซึ่งเมื่อหากพวกเขาได้รู้สึกถึงการมีคุณค่าในตัวเอง ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ทำให้รู้สึกอยากอยู่ทำงานด้วยไปนานๆ
 
 
        2. มอบผลตอบแทนที่เหมาะสมให้ตามตำแหน่งหน้าที่ความสามารถ โดยอย่าปล่อยให้คนเก่งคนฝีมือดีต้องหลุดลอยไป เพียงเพราะคุณให้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าหรือน้อยกว่าที่อื่น เพราะคงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะทำให้พวกเขาอยู่ต่อ หากที่นี่ไม่ได้ดีกว่าที่อื่น
               
 
        3. อย่าลืมสำรวจความคิดเห็นจากพนักงานที่มีต่อบริษัท โดยคุณอาจลองหาตัวแทนเป็นบุคคลที่สามเพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการบอกความต้องการที่แท้จริงของพนักงาน หรืออาจใช้แบบสำรวจ แบบแสดงความคิดเห็นแบบไม่ลงชื่อ เพื่อให้พนักงานกล้าเปิดเผยความในใจออกมาได้อย่างสบายใจ ซึ่งเมื่อคุณได้รู้ความในใจที่แท้จริงของพวกเขาแล้ว และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ทัน ก็ไม่ต้องกังวลว่าคุณจะสูญเสียบุคลากรดีๆ ไปนั่นเอง


 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้องมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

Sequence quotient รู้ว่าต้องทำอะไรก่อน-หลัง เทคนิคผู้บริหารต้องรู้อยากให้ธุรกิจโต

ในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดกระแสดราม่าที่ร้อนแรงขึ้นกับคอนเทนต์ของคุณ CK Cheong (ซีเค เจิง) CEO ของ FASTWORK เรื่อง “มุมมองการบริหารเวลา แนะ ต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน แต่ทุกคนมีเวลาเท่ากัน”

มัดรวม 5 ไอเดียประหยัดต้นทุนธุรกิจโรงแรมไซส์เล็ก

ฤดูร้อนมาเยือนแล้ว เป็นอีกหนึ่งไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวฟากฝั่งทะเล จะทำยังไงให้มีรายได้เยอะขึ้น นอกจากการหาลูกค้าเพิ่ม การช่วยลดต้นทุนก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่ไม่ได้มีเงินทุนมากมาย วันนี้เลยอยากชวนมาลดต้นทุนธุรกิจกับ 5 ไอเดียประหยัดต้นทุนโรงแรมไซส์เล็กกัน

รู้ก่อนเจ๊ง ความปลอดภัยทางไซเบอร์กับอนาคตธุรกิจ 40% ของเป้าหมายอาชญากรรมไซเบอร์ คือ SME

จากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย พบว่า การโจมตีทางไซเบอร์ต่อ SME เพิ่มขึ้น 35% โดยที่ 40% ของเป้าหมายอาชญากรรมไซเบอร์ทั้งหมดในประเทศคือ SME