ภารกิจกำจัด E-waste เคลียร์ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในออฟฟิศยังไง ให้โลกไม่ร้อน




          ธุรกิจส่วนใหญ่ในปัจจุบันพึ่งพาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการทำงาน และต้องหมั่นอัปเดตทั้งอุปกรณ์และซอฟท์แวร์อยู่เสมอเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดและฉลาดกว่าเดิม แน่นอนว่าคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ไม่เร็วพอก็จำเป็นต้องเลิกใช้


         แต่ละปีในแต่ละธุรกิจจะมีคอมพิวเตอร์ หน้าจอโปรเจกเตอร์ หรือเครื่องถ่ายเอกสาร หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่าที่ชำรุด ใช้ไม่ได้แล้วต้องโละทิ้งไปกี่เครื่อง แล้วเครื่องพวกนั้นยังตั้งกองอยู่ในออฟฟิศเพราะไม่รู้จะกำจัดมันอย่างไร วันนี้เรามีวิธีจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์มาฝาก





4 วิธีที่ธุรกิจสามารถจัดการ E-Waste

 

          1. ซ่อมแซม บางครั้งอุปกรณ์จำนวนมากยังสามารถซ่อมแซมได้ง่าย แต่การตลาดปัจจุบันมักจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าต้องการรุ่นใหม่กว่า แทนที่จะคิดว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะล้าสมัยหลังจากผ่านไปแค่ 2-3 ปี บริษัทควรลงทุนในอุปกรณ์ที่มีอายุการใช้งานยาวนานมากกว่าอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องอัปเดตเป็นรุ่นใหม่ทุกปี
 

         ซึ่งการซ่อมอุปกรณ์สำนักงานและอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้เป็นแค่วิธีแก้ปัญหาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ในแง่การเงิน นี่เป็นวิธีประหยัดเงินของธุรกิจได้อีก เพราะการซ่อมมักจะราคาถูกกว่าเปลี่ยนใหม่มากนั่นเอง





           2. หาแหล่งรีไซเคิล ขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ลงเอยด้วยการฝังกลบ และมักทำให้ดินปนเปื้อนสารพิษจากอุปกรณ์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ปรอทหรือตะกั่ว อย่างไรก็ตามการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่เรื่องง่ายและแตกต่างจากการรีไซเคิลขยะทั่วไป มักต้องรีไซเคิลด้วยวิธีการพิเศษ


          การรีไซเคิลที่ไม่มีประสิทธิภาพไม่ใช่แค่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงสังคมด้วย มีกรณีตัวอย่างที่เมืองกุ้ยหยู ประเทศจีน ซึ่งเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประชาชนที่นั่นทำงานแยกชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อเอาชิ้นส่วนภายในมาใช้ วิธีนี้ส่งผลร้ายต่อสุขภาพของพวกเขา
 

           3. บริจาค วิธีนี้อาจจะง่ายที่สุด ติดต่อโรงเรียนหรือองค์กรการกุศล เพราะนอกจากจะได้ส่งต่ออุปกรณ์ที่ยังพอใช้ต่อได้แล้ว บางที่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ด้วย



 

          4. ลดการซื้อที่ไม่จำเป็นให้น้อยที่สุด ขั้นตอนแรกสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืนคือการสร้างขยะให้น้อยลงตั้งแต่แรก หากธุรกิจมุ่งเน้นไปที่การลดการซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่จำเป็นตั้งแต่ต้น ปริมาณของเสียที่เหลือก็จะลดลงไปด้วย เพราะฉะนั้น ต้องวางแผนให้ดีว่าจำเป็นต้องซื้อจริงหรือไม่ และซื้อมาใช้แล้วคุ้มหรือเปล่า ที่สำคัญก่อนจะตัดสินใจซื้อไม่ควรพิจารณาแค่ราคาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงการใช้งานระยะยาว และสามารถอัปเดตได้ โดยหาข้อมูลด้วย 2 คีย์เวิร์ดสำคัญอย่าง “แบรนด์ใดมีอัตราการเปลี่ยนอุปกรณ์ต่ำที่สุด” และ “รุ่นไหนที่ต้องซ่อมน้อยที่สุด”
 

            การให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจซื้ออาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เช่น หากทำงานด้านการออกแบบภายในอาจต้องการแล็ปท็อปแบบพกพาที่มีคุณสมบัติการวาดภาพหรือออกแบบที่เต็มประสิทธิภาพ หากซื้อโดยที่เครื่องไม่สามารถรองรับความสามารถเหล่านี้ ซื้อมาก็อาจจะกลายเป็นขยะในแทบจะทันที หรือใช้ได้ไม่นานก็ต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ ผู้ประกอบการสามารถลดของเสียได้โดยการทำให้แน่ใจว่าอุปกรณ์นั้นๆ ตอบสนองการใช้งานของพนักงานได้ตั้งแต่แรก



 

ไทยรั้งอันดับ 2 ประเทศสร้างขยะในอาเซียน

 
               
           แน่นอนว่าเมื่อมองจากมุมมองของผู้ประกอบการแล้วการกำจัด E-Waste ออกจากธุรกิจเป็นเรื่องจำเป็น แต่อีกประเด็นสำคัญที่ทำให้เราต้องจัดการ E-Waste อย่างถูกวิธี เพราะมันกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกในยุคดิจิทัลแบบนี้
 

            จากรายงาน The Global E-Waste Monitor 2020 ของมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ (United Nation University, UNU) พบแนวโน้มขยะอิเล็กทรอนิกส์เติบโตต่อเนื่อง จาก 53.6 ล้านเมตริกตันในปี 2019 มีโอกาสพุ่งขึ้นเป็น 74.7 ล้านเมตริกตันในปี 2030 โดยทวีปเอเชียเป็นทวีปที่ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงที่สุดกว่า 24.9 ล้านเมตริกตัน แต่พบว่ามีการกำจัดอย่างถูกวิธีเพียง 17.4 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีกกว่า 82.6 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถติดตามได้
 

             ที่สำคัญ 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงสุดนั้นมี “ประเทศไทย” รวมอยู่ด้วย โดยผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 0.6 ล้านเมตริกตัน รองจากอันดับ 1 คือ อินโดนีเซียที่ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1.6 ล้านเมตริกตัน ส่วนอันดับ 3 คือฟิลิปปินส์ ด้วยปริมาณขยะ 0.4 ล้านเมตริกตัน



 
               
             ทั้งที่สิ่งที่ถูกบอกว่าเป็นขยะอิเล็อกทรอนิกส์ส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่ของเสียเลย แต่อุปกรณ์เหล่านั้นหรืออย่างน้อยก็ชิ้นส่วนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ การรีไซเคิลคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อป 1 ล้านเครื่องช่วยประหยัดพลังงานเทียบเท่ากับไฟฟ้าในครัวเรือนมากกว่า 3,500 หลังใน 1 ปี หรือการรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือ 1 ล้านเครื่อง จะได้ทองแดงกลับมาถึง 35,274 ปอนด์ เงิน 772 ปอนด์ และทองคำ 75 บาท เรียกได้ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นอุดมไปด้วยโลหะมีค่ามากกว่าเหมืองถึง 40-50 เท่าเลยทีเดียว
 
               
             หากธุรกิจไม่มีความตระหนักในเรื่องการทิ้ง e-Waste อย่างถูกต้องก็จะทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
 
               
           แอบกระซิบอีกสักนิดว่า การรณรงค์เรื่องการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และสื่อสารออกไปให้ผู้บริโภครับรู้ก็จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจได้ด้วย
 

           แหล่งข้อมูล : www2.calrecycle.ca.gov
                                 www.rubicon.com
                                 eponline.com
                                 
 
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

Quiet Quitting เวอร์ชั่นใหม่จากจีน! ประท้วงแบบใหม่ แบบสับ แห่แต่งชุดไม่เหมาะสมไปทำงาน เรียกร้องสวัสดิภาพที่ดี

“Quiet Quitting” หรือ “การลาออกเงียบ” เทรนด์การทำงานของคนยุคนี้ที่มีการพูดถึงกันมากเมื่อช่วง 2 ปีก่อน ล่าสุดคนรุ่นใหม่ หรือ คน Gen Z ต่างหันมาแต่งตัวไปทำงานด้วยชุดที่ไม่เหมาะสม เช่น การสวมชุดที่ดูคล้ายชุดนอนมาทำงาน, การแต่งกายด้วยชุดเวอร์วัง อย่างเสื้อคลุมขนสัตว์ที่ดูรุ่มร่าม เป็นต้น โดยมองว่าไม่ได้ทำผิดกฎอะไร แค่อยากแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์เฉยๆ

ไม่อยากเจ๊งต้องอ่าน รวมทางออกให้ธุรกิจไปต่อ ยามเจอวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้าย

ความท้าทายไม่เคยขาดหายไปสำหรับผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจถดถอย แต่ทุกปัญหาล้วนมีทางออกเสมอสำหรับผู้ที่มีวิสัยทัศน์และยืนหยัดด้วยปรัชญาที่ถูกต้อง

5 หนังครอบครัวฟีลกู้ด ที่คนทำธุรกิจควรดู

เพราะครอบครัว คือ รากฐานสำคัญของทุกอย่าง หลายธุรกิจแจ้งเกิดเติบโตประสบความสำเร็จได้  เนื่องในวันครอบครัว 14 เมษายนนี้ เลยอยากชวนมาดู 5 หนังเรื่องราวธุรกิจที่มีความอบอุ่นของครอบครัวเป็นแรงผลักดันจนสำเร็จมาฝากกัน