หยุดให้เป็น หมัดเด็ดเมื่อธุรกิจมีปัญหา กล้าจบก่อนที่จะเจ็บเพื่อให้องค์กรไปต่อ

 

 

       ในทุกจังหวะก้าวและจังหวะลุย ที่เป็นขาขึ้นของธุรกิจ เราสามารถใช้สัญชาติญาณ ในการตัดสินใจ และลุยไปข้างหน้าได้ แต่เมื่อมีปัญหา สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การหยุดให้เป็น!

       หยุดในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าหยุดหรือเลิกทำธุรกิจ แต่คือการนิ่งเพื่อมองให้เห็นถึงปัญหา และ ‘หยุด’ ให้เป็นท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้น

       สมัยที่ผู้เขียนทำธุรกิจ Brand Communication Service ใหม่ๆ ช่วงที่พีคมากๆ งานเยอะจนล้นมือ ล้นไปทุกแผนก ต้องซับงานออกเป็นว่าเล่น ไหนจะบริหารงานหน้าตักตัวเอง ไหนจะต้องไปคุมงานกับ ซัพพลายเออร์ แถมต้องหมุนเงินมือเป็นระวิงอีก แทบอยากจะมีสักสิบหน้าสิบมืออย่างทศกัณฑ์

      เหมือนทุกอย่างจะดี แต่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น นั่นก็คือ Cash Flow หลังบ้านพัง เพราะหมุนเงิน ไม่ทัน เหตุมาจากลูกค้ารายใหญ่ จ่ายมัดจำเลท และไม่ได้เลทธรรมดา แต่จ่ายหลังจากจบงาน Event ไปแล้ว 3 เดือน เรียกได้ว่าทั้งมัดจำและงวดที่สองทบกันทีเดียว ในขณะที่รายจ่ายที่เกิดขึ้น ทั้งก่อนงาน หน้างาน และหลังงาน บริษัทแอดวานซ์ไปก่อนแล้วทั้งหมด ถ้าไม่แจ้งความก็อาจจะไม่ได้เงิน งานนี้ Cash Flow หลังบ้าน พังพินาศจริงๆ

      ความโชคดีของผู้เขียนคือ มีกุนซือในทุกสายงานให้คำปรึกษา สำหรับเคสนี้กุนซือเตรียมเงินไว้ให้ยืม มาหมุน พร้อมกับรอสอนงานและให้คำแนะนำ

      คำสอนแรกคือ ต้องทำ Cash Flow ให้ละเอียด ล่วงหน้า ให้เห็นภาพรวมว่า เดือนไหน จะต้องจ่าย ค่าอะไรเท่าไร และเดือนไหนมีเงินเข้าเท่าไร (ธุรกิจของผู้เขียน มีทั้งงาน Brand communication และงาน Event​ ซึ่งค่อนข้างต้องวางแผนเงินอย่างเป็นระบบ)

      คำสอนถัดมาที่ผู้เขียนจำไม่ลืม ก็คือ

      สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่การวิ่งลุยไปข้างหน้าในยามที่ธุรกิจขาขึ้น แต่คือการ “หยุดให้เป็น”

      อันดับแรก ในที่นี้ หมายถึงการหยุดรับงานให้เป็น และการเลือกลูกค้า อย่าเห็นแก่เงินก้อนใหญ่ แต่จงกลั่นกรองคุณภาพของลูกค้า แล้วเลือกที่จะรับงาน

      ประเด็นต่อมาก็คือ การหยุดรับงานให้เป็น เพราะมันส่งผลต่อระบบการบริหารจัดการ ทั้งเรื่อง รายละเอียดหน้างานที่ต้องทำ รวมถึงรายละเอียดหลังบ้านที่ต้องบริหารคนและบริหารทีม การรับงานเกินตัว มีโอกาสสูงมากที่คุณภาพงานจะลดลง สู้เปลี่ยนมารับลูกค้าจำนวนน้อยราย แต่หาวิธีขายงานให้ได้ ก้อนใหญ่ มากขึ้นจะดีกว่า เพราะยังสามารถคุมคุณภาพให้ดีที่สุดได้ นี่คือสิ่งสำคัญของธุรกิจการให้บริการ

      นอกจากฝั่งลูกค้าแล้ว ฝั่งซัพพลายเออร์หรือเว็นเดอร์ หากมีปัญหา ก็ต้อง “หยุดให้เป็น” เช่นกัน

      งานใดๆ ก็ตาม การได้ซัพพลายเออร์ หรือโรงงานผู้ผลิตที่ดี นับเป็นความโชคดีอย่างสูงสุด เพราะ เราไม่ควร จ่ายเงินจ้างซัพพลายเออร์ เพื่อมาสร้างปัญหาให้เราปวดหัว (เอาหัวไปปวดกับลูกค้าก็หนักหนา พอแล้ว)

     จากการเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดและสื่อสารแบรนด์ให้ลูกค้า มีหลายเคสที่ซัพพลายเออร์มักจะ สร้างปัญหาให้ลูกค้า (เป็นซัพพลายเออร์ที่ติดตัวมากับลูกค้า ไม่ใช่ซัพฯ ที่เราหาให้) โดยมากมักจะเกิดกับลูกค้า ที่ไม่มีตัวเลือก ซัพพลายเออร์ก็เลยทำงานแบบถือไพ่เหนือกว่า เพราะคิดว่าต้องง้อ

       ผู้เขียนเองก็เจอปัญนี้บ่อยๆ โดยเฉพาะซัพพลายเออร์งานโครงสร้าง Event ซึ่งคนพวกนี้ มักจะคิดว่า เราไม่กล้าเปลี่ยนม้าศึกหน้างาน ซึ่งจริงๆ แล้วก็ต้องอดทนง้อนั่นแหละ เพราะการเริ่มต้นกับเจ้าใหม่ จะต้องมีราย ละเอียดวุ่นวายตามมาอีกเยอะ

       แต่เชื่อเถอะ ไม่ว่าการเปลี่ยนซัพฯ​ หน้างานจะวุ่นวายมากแค่ไหน การตัดสินใจ “หยุดให้เป็น”  นั้นสำคัญกว่า เมื่อนึกถึงความพังพินาศของงานที่อยู่ตรงหน้าหากยังทนใช้ซัพฯ ที่สร้างปัญหาต่อไป

      ผู้เขียนเคยไล่ซัพฯ ที่สร้างโครงสร้างบูธ เสร็จไปแล้ว 40% ออกไป แล้วยอมปวดหัวกับการเริ่มต้นใหม่ กับเจ้าใหม่ที่ไว้ใจได้มากกว่า ใช่! มันเหนื่อยมาก แต่มันสบายใจและได้งานที่ดีกว่ามาก แน่นอน มีค่าใช้จ่าย ตามมาอีกเยอะ แต่...เราจะเสียหน้ากับลูกค้าไม่ได้ และเราต้องสั่งสอนซัพฯ ให้รู้ว่า “อย่าคิดว่าจะทำงานชุ่ย แค่ไหนก็ได้ เพราะคิดว่ายังไงก็ไม่กล้าเปลี่ยนเจ้า”

     ลำดับถัดมาของการ หยุดให้เป็นคือ “หยุดจ้างลูกน้องให้เป็น”

      ลูกน้องดีเปรียบเหมือนอภิชาติบุตร เพราะเราจะมีคนทำงานแทนเรา ในขณะที่เราจะสามารถ วางแผน บริหารจัดการงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้งานเดินเร็วขึ้น ในขณะที่ หน่วยงานและบริษัทก็โตเร็วขึ้น ด้วยเช่นกัน

      คนไม่ใช่ ทำอะไรก็ผิด ลูกน้องที่ไม่ใช่ ทำงานไม่ได้ตาม Job Description ต้องรีบตัดสินใจที่จะหยุด ให้เร็ว ก่อนที่จะสร้างปัญหาลามไปยังเรื่องอื่น คุณควรเสียเวลาและใช้สมองไปกับการทำงาน ไม่ใช่เสียเวลา กับการนั่งแก้งานของลูกน้อง

       ในที่นี้อยากให้มองเรื่องของความ “ใช่” และ ไม่ใช่ ระหว่างคนกับงาน มากกว่าความใจร้ายหรือใจดี บางคนอาจจะไม่ได้มีความถนัดในส่วนงานที่ได้รับมอบหมาย แต่ถ้าพิจารณาดูแล้วผิดที่คุณจ่ายงานผิดคน ก็ต้องให้โอกาสเด็ก และกลับไปที่ Put the right man to the right job. แทน

        สุดท้ายการหยุดให้เป็นสำคัญที่สุดคือ Direction และ Strategy ขององค์กร หรือแม้แต่งานที่ดำเนินไป หากมีการทบทวนประสิทธิภาพ การประเมินผลอย่างละเอียด ตลอดจนมีความพยายามในการแก้ปัญหา อย่างดีที่สุดใน Direction ที่ตัดสินใจแล้ว ผลลัพธ์ยังไม่ดีพอ หรือไม่ตรงกับที่คาดการณ์ไว้

       ต้องหยุดให้เป็น

       ถนนไม่ได้มีสายเดียว การทำงานและกำหนดกลยุทธ์ของงาน ก็เช่นกัน วิธีการไปถึงเป้าหมายไม่ได้มี วิธีเดียว การหยุดให้เป็น หยุดให้เร็ว จึงเป็นคำตอบ

       ประเด็นนี้ รวมไปถึงเรื่องการลงทุนขยายกิจการ หรือแตกไลน์ธุรกิจด้วยเช่นกัน ถ้าคิดว่าทำดีที่สุดแล้ว มันไม่เวิร์ก ต้องรีบหยุดให้เป็น ก่อนที่เงินทุนทั้งหมดจะจมไปกับธุรกิจดังกล่าวมากไปกว่านี้

        บางอย่าง ยอมทิ้งเงินลงทุนเบื้องต้น อาจจะดีกว่าต้องลงเงินเพิ่มเข้าไปโดยที่ไม่เห็นจุดคุ้มทุนก็ได้  

        หยุดให้เป็น เย็นให้ได้...

        ท่องไว้ค่ะ

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

Quiet Quitting เวอร์ชั่นใหม่จากจีน! ประท้วงแบบใหม่ แบบสับ แห่แต่งชุดไม่เหมาะสมไปทำงาน เรียกร้องสวัสดิภาพที่ดี

“Quiet Quitting” หรือ “การลาออกเงียบ” เทรนด์การทำงานของคนยุคนี้ที่มีการพูดถึงกันมากเมื่อช่วง 2 ปีก่อน ล่าสุดคนรุ่นใหม่ หรือ คน Gen Z ต่างหันมาแต่งตัวไปทำงานด้วยชุดที่ไม่เหมาะสม เช่น การสวมชุดที่ดูคล้ายชุดนอนมาทำงาน, การแต่งกายด้วยชุดเวอร์วัง อย่างเสื้อคลุมขนสัตว์ที่ดูรุ่มร่าม เป็นต้น โดยมองว่าไม่ได้ทำผิดกฎอะไร แค่อยากแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์เฉยๆ

ไม่อยากเจ๊งต้องอ่าน รวมทางออกให้ธุรกิจไปต่อ ยามเจอวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้าย

ความท้าทายไม่เคยขาดหายไปสำหรับผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจถดถอย แต่ทุกปัญหาล้วนมีทางออกเสมอสำหรับผู้ที่มีวิสัยทัศน์และยืนหยัดด้วยปรัชญาที่ถูกต้อง

5 หนังครอบครัวฟีลกู้ด ที่คนทำธุรกิจควรดู

เพราะครอบครัว คือ รากฐานสำคัญของทุกอย่าง หลายธุรกิจแจ้งเกิดเติบโตประสบความสำเร็จได้  เนื่องในวันครอบครัว 14 เมษายนนี้ เลยอยากชวนมาดู 5 หนังเรื่องราวธุรกิจที่มีความอบอุ่นของครอบครัวเป็นแรงผลักดันจนสำเร็จมาฝากกัน