เลือกใช้โลจิสติกส์ยังไงดี ให้เหมาะกับธุรกิจ แก้ปัญหาขนส่งไม่สะดุด

 

     เคยเป็นไหม? ขายของดีมาก แต่กลับมาติดปัญหาที่การขนส่ง เพราะเลือกบริษัท 

     เชื่อแน่ว่าเจ้าของผลิตภัณฑ์หลายคนย่อมต้องเคยตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้อย่างแน่นอน คือ ขายสินค้าดี แต่พอถึงขั้นตอนการจัดส่งแล้วกลับเลือกใช้บริษัทขนส่งที่ขาดประสบการณ์ หรือมีการบริหารจัดการที่ไม่ดีพอ ทำงานไม่เป็นระบบ จนส่งผลให้เกิดความล่าช้า หรือข้อผิดพลาดในการจัดส่งสินค้าตามมาได้ วันนี้ วรินทร สีสุขดี ผู้อำนวยการส่วนผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ บริษัท จีไอเอส จำกัด แห่ง NOSTRA LOGISTICS แพลตฟอร์มสำหรับการบริหารงานขนส่งและโลจิสติกส์แบบครบวงจรจะมาสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นของบริษัทขนส่งในไทย พร้อมแนะแนวทางการเลือกใช้บริษัทโลจิสติกส์ให้ฟังกัน

3 ปัญหาคลาสสิกของบริษัทขนส่งไทย

     โดยเปิดเผยว่ากว่า 10 ปีที่ได้คลุกคลีกับผู้ประกอบการบริษัทขนส่งของไทย พบว่ามี 3 ข้อหลักๆ คือ

     1. ใช้ระบบที่แตกต่างกัน ไม่เชื่อมโยงกัน ทำให้ไม่สามารถทำงานเชื่อมต่อร่วมกันได้ เมื่อข้อมูลไม่เชื่อมโยง หรือได้ข้อมูลไม่ตรงกันในแต่ละระบบ สุดท้ายก็จะส่งผลทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลตลอดทุกกิจกรรมได้ เพื่อทำการตรวจสอบหรือวางแผนได้

     2. ไม่สามารถเชื่อมโยงระบบจากบริษัทคู่ค้าต่างบริษัทได้ โดยเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน ผู้ประกอบการมักนิยมการเอาท์ซอร์สด้านโลจิสติกส์ และต้องการข้อมูลภาพรวมงานขนส่งทั้งหมด แต่บริษัทเอาท์ซอร์สต่างๆ อาจใช้ระบบสารสนเทศที่แตกต่างกัน จนทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก ต้องอาศัยการว่าจ้างผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์มาช่วยดูแลแต่ละระบบให้ ทำให้เกิดความยุ่งยากเพิ่มมากขึ้น

     3. ระบบช่วยบริหารจัดการด้านต้นทุนการขนส่ง ซึ่งเป็นต้นทุนที่มีสัดส่วนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะต้นทุนค่าขนส่งที่มีเงื่อนไขต่างๆ มาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้การใช้วิธีคิดต้นทุนตามความชำนาญของบุคคลอาจเกิดข้อผิดพลาดที่เป็น Human error ได้ง่าย และการพึ่งพาคนในการทำงาน ทำให้ไม่สะดวกและไม่ยั่งยืนในระยะยาว

 

     โดยในส่วนของต้นทุนการขนส่งนั้น พบว่าสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ได้ คือ ต้นทุนคงที่ (Fixed cost) เป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามปริมาณการขนส่ง เช่น ค่าเช่าที่จอดรถ ค่าทะเบียนยานพาหนะ ค่าเสื่อมราคา เงินเดือนประจำ เป็นต้น และ ต้นทุนผันแปร (Variable cost) เป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายเปลี่ยนแปลงตามปริมาณการบริการขนส่ง เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมแซมบำรุงรักษารถ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงกว่าร้อยละ 50 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ควบคุมยาก มีรายละเอียดเงื่อนไขมากมาย เช่น อัตราการใช้น้ำมัน ขึ้นอยู่กับการวิ่งระยะใกล้ไกล ช่วงความเร็วในการวิ่งรถ พฤติกรรมการขับรถ และสภาพปัจจัยภายนอก ฯลฯ ธุรกิจขนส่งจำเป็นต้องบริหารและวางแผนในส่วนนี้เพื่อลดต้นทุนให้ได้มากที่สุดและเพิ่มกำไรในการวิ่งรถในแต่ละเที่ยว การวางแผนต้นทุนขนส่งจึงเป็นงานที่ต้องใช้เวลาและความชำนาญ ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการธุรกิจจึงต้องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อความรวดเร็วและทันต่อการทำงานในการแข่งขันในปัจจุบัน

เลือกใช้โลจิสติกส์แบบไหนดี

     จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัทขนส่งในไทย เพื่อช่วยให้การขนส่งสินค้าเป็นไปอย่างราบรื่น วรินทรจึงได้แนะนำเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ควรเลือกใช้ขนส่งที่ได้มาตรฐานและมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

     1. มีฟังก์ชันครอบคลุมทุกกระบวนการจัดส่ง ตั้งแต่การจัดการใบส่งสินค้า การเลือกเส้นทางที่ประหยัดที่สุด การใช้รถอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดตารางเดินรถ การจัดสินค้าขึ้นรถแต่ละคัน การจัดการด้านบัญชีและการเงิน และการจัดการด้านการซ่อมบำรุง ตลอดจนการเชื่อมต่อกับระบบติดตามยานพาหนะ เพื่อตรวจสอบและป้องกันความปลอดภัยในการขับขี่พร้อมตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถ

     2. สามารถทำงานบนสมาร์ทโฟน มีโมดูลสนับสนุนการทำงานในกิจกรรมการขนส่งต่างๆ ผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เช่น Electronic Proof of Delivery (ePOD) ระบบติดตามงานขนส่ง, Cash Van & COD ระบบจัดการการขายบนหน่วยรถเคลื่อนที่, Maintenance Management System (MMS) ระบบจัดการงานซ่อมบำรุง และ My Queues (Smart Gate) ระบบจัดการคิวงานในพื้นที่รับ-ส่งสินค้า

     3. มีศูนย์กลางการติดต่อ (Connector) สำหรับการเชื่อมต่อข้อมูลจากระบบติดตามการขนส่งจากบริษัทรับจ้างขนส่งอื่นๆ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ประมวลผล สะดวก รวดเร็วได้ในแพลตฟอร์มเดียว

     “กว่า 10 ปีที่เราได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาพัฒนาใช้ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ในรูปแบบ e-Logistics ในไทย เพื่อช่วยบริหารจัดการงานให้มีประสิทธิภาพ สะดวก ประหยัดค่าใช้จ่าย เราได้เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นของผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ในไทย 3 ข้อหลักๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว เราจึงพยายามพัฒนาระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรถขนส่งสินค้าให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ต่างๆ เพื่อให้สามารถบริหารต้นทุนได้ต่ำ ควบคู่กับการทำงานที่รวดเร็ว และมีข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจอย่างแม่นยำ เพราะสุดท้ายก็จะส่งผลดีย้อนกลับมายังเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นลูกค้าของบริษัทขนส่งเหล่านั้น โดยที่ผ่านมาเราสามารถช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของบริษัทขนส่งต่างๆ ลงได้ถึง 15% อนาคตต่อไปเราตั้งเป้าขยายการบริการไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลกมากขึ้น เพื่อสร้างระบบบริหารจัดการงานขนส่งที่ดีที่สุด โดยตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าเพิ่ม 100% ภายใน 2 ปีนี้” วรินทรกล่าวทิ้งท้าย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เขียนสัญญาเช่ายังไงให้รัดกุม ธุรกิจไม่เสียเปรียบ

สัญญาเช่า เรื่องใกล้ตัวผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้ไหมการมีสัญญาเช่าที่ดีและรัดกุม สามารถป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย

ทำงานให้ได้งาน 4 เทคนิคบริหารเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทำไมบางคนงานท่วมหัว ทำงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่งานกลับไม่หมดซะที แถมยังส่งงานไม่ทันกำหนด เราเลยมีเทคนิค เช่น Eisenhower Matrix, Eat that frog, Pomodoro และ กฎ 80/20  ซึ่งจะช่วยให้บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและชีวิตการทำงานไม่เครียดอีกต่อไป