เทคนิคลับกว่า 2,500 ปี วิธีปั้นลูกน้องเก่งเหมือนเจ้าของธุรกิจ สูตรพัฒนาทีมงานแบบ Socrates

TEXT : ภัทร เถื่อนศิริ

Main Idea

  • ปัญหาใหญ่ของการทำให้ธุรกิจเจริญเติบโตเรื่องหนึ่งคือ ปัญหาเรื่อง “คน” เพราะว่าช่วงแรกเราสามารถ ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยตัวเราได้ แต่เมื่อถึงจุดๆ นึง ต้องมีทีมเข้ามาเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตมากยิ่งขึ้น

 

  • เรื่อง “คน” จึงเข้ามามีความสำคัญอย่างมากให้ช่วงการขยับขยายและเติบโตของธุรกิจ ถ้าเราสามารถโคลนนิ่งตัวเจ้าของธุรกิจออกมาได้เลยจะดีมากเป็น Ideal ที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว ยังไม่รวมถึงปัญหาความคิดเถ้าแก่ที่กลัวว่าสอนลูกน้องเก่งแล้วจะไปทำแข่งอีกต่างหาก

 

  • ดังนั้นวันนี้ผมจึงอยากหยิบยก เรื่องการพัฒนาคน มาแชร์กันในวันนี้ครับ

 

 

     คำที่ผมได้ยินเจ้าของกิจการโดยเฉพาะ SME บ่นอยู่บ่อยๆ คือ เราไม่เคยมีลูกน้องเก่งเลย คนเก่งๆ ไม่มาอยู่บริษัทเล็กๆ หรอก, ลูกน้องเก่งๆ หายากเหลือเกิน และอีกมากมายที่ได้ยินมา ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า แล้วทำไมเราไม่สร้างคนเก่งขึ้นมาแทนละครับ

     ลูกน้องเก่งนั้นมีอยู่ 2 องค์ประกอบหลักคือ การได้คนเก่ง กับ การสอนให้เก่ง ในความเป็นจริงนั้นอันที่ 2 อาจจะสำคัญมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะคนเก่งนั้นหายากแล้วหาได้ก็แพง และบางครั้งถึงยอมจ่ายแพงเขาก็ไม่มา เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากทำ และถึงแม้ได้คนเก่งมาแต่ใช้เขาไม่ถูก คนที่เก่งก็อาจจะหมดความเก่งไปได้เหมือนกัน หรือเมื่อเก่งแล้วก็โยกย้ายงานออกไป แต่ถ้าเราสามารถปั้นคนเก่งสร้างคนเก่งได้ตลอดเวลาเราก็ไม่จำเป็นต้องกลัวและกังวลกับปัญหาเหล่านั้นเลย ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการ “ปั้นคนพัฒนาทีม” ของเราครับ

     การ “ปั้นคนพัฒนาทีม” นั้นมีความใกล้เคียงการสอนค่อนข้างมาก ผมจึงอยากอธิบายในมุมของการศึกษาประกอบด้วยครับโดย

     “การศึกษา” ตามรากศัพท์เดิม ตรงกับคําภาษาอังกฤษคือ “Education” มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน 3 คําคือ “Educere” หมายถึง “to bring up” หรือ “to nourish” แปลว่า การเลี้ยงดู ดังนั้น การศึกษา หมายถึง การได้รับการเลี้ยงดูทำให้เกิดความเจริญเติบโต สำหรับคําว่า “Educare” ความหมายถึง “to lead out” หรือ “to draw” แปลวา ชักนํา ดึงออกมา หมายถึงนําสิ่งที่มีอยูในตัวผู้เรียนให้ปรากฏออกมา และคําว่า “Educatum” หมายถึง “teaching” หรือ “training” แปลว่า การสอนหรือ การฝึกอบรม และความหมายจากคําหลังนี้เป็นที่นิยมใช้กันมากทำให้เกิดความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

     สิ่งสำคัญคือ การชักนํา ดึงออกมา หมายถึงนําสิ่งที่มีอยูในตัวผู้เรียนให้ปรากฏออกมา จึงมิใช่มีเพียงการรับเข้า Put in ข้อมูลให้แก่ผู้เรียนแต่อย่างใด (ในประเทศไทยเราจะคุ้นชินกับการเรียนแบบนี้กันนะครับ) คำถามคือ แล้วเราจะชักนำ ดึงศักยภาพ เพื่อพัฒนาคน/ทีมงานได้อย่างไร คำตอบคือ “การตั้งคำถาม” ครับ ซึ่งเมื่อศึกษาให้ดีจะเห็นได้ว่ามีนักปราชญ์ใช้วิธีการตั้งคำถามในการสอนและพัฒนาคนมาตั้งแต่ 470 ปีก่อน คริสตกาลหรือกว่า 2500 ปีก่อนหน้าปัจจุบันนั้นคือ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งปราชญ์ตะวันตก ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีบันทึก ตำราหรืองานเขียนของตนเองเลยแม้แต่ชิ้นเดียว และยังได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ผู้ไม่รู้อะไรเลย จากพฤติกรรมการสอนและการถ่ายทอดความรู้ รวมทั้งการเสาะแสวงหาความรู้และข้อเท็จจริงผ่านเทคนิคการถามคำถามมากมาย

วิธีสอนแบบ Socrates (โสเครติส)

     เป็นการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนใช้เหตุผลในการสืบค้นร่วมกันโดยการสนทนา และใช้คําถามแบบต่อเนื่องเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อเข้าถึงความจริง แล้วเราจะนำวิธีการของเขามาใช้ได้อย่างไร ก่อนอื่นเราอาจต้องมองวิธีการของโสเครติสไปให้ไกลกว่าแง่มุมเทคนิคการตั้งคำถามเสียก่อน นั่นคือ เขามองความรู้อย่างไร?

     โสเครติสมองว่า ‘ความรู้คือการรู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลย’

     มุมมองความรู้ของเขาในแง่นี้ จึงเป็นมุมมองความรู้ที่ไม่ได้มีเส้นขอบเขตอย่างชัดเจนว่าสิ้นสุดเมื่อไหร่ แต่สังคมที่เราดำรงอยู่มักขีดเส้นตายตัวขอบเขตความรู้ให้เรารับรู้และเข้าใจเอาไว้เสมอ ดังที่เราเห็นจากชาวเอเธนส์ที่มีการขีดเส้นความรู้ความเข้าใจว่าการแพ้ชนะสงครามขึ้นอยู่กับเทพเจ้าเท่านั้น

5 ขั้นการเรียนรู้ การตั้งคำถามแบบโสเครติส

     การตั้งคำถามแบบโสเครติส ช่วยกระตุ้นให้ทีมเกิดทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) เพราะเป็นการเปิดให้ทีมคิดเกี่ยวกับมโนทัศน์สำคัญที่ปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวันด้วยในมุมมองที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดเป็นความเข้าใจใหม่ของทีมขึ้นมา ดังตัวอย่างของ Bogohossian เขาเห็นว่าการสอนเช่นนี้ เราจะเป็นผู้สังเกต เป็นผู้ช่วยเหลือแนะนำ ไม่ใช่เจ้าของความรู้ ที่สำคัญคือการพาทีมแบ่งปันความคิดผ่านการสนทนาด้วยคำถามกับเพื่อนร่วมทีม โดยสรุปหลักการออกมาเป็น 5 ขั้นการเรียนรู้ ดังนี้

     1. ความสงสัย (Wonder) การสร้างคำถามให้เกิดความสงสัยขึ้นมา เช่น ความกล้าหาญคืออะไร คุณธรรมคืออะไร

     2. สมมติฐาน (Hypothesis) เป็นการตอบคำถามจากความสงสัย ซึ่งจะเป็นการให้ความเห็นหรือกล่าวอ้างเกี่ยวกับคำถามนั้น ซึ่งสุดท้ายจะมาเป็นข้อสมมติฐานของการสนทนา

     3. การพิสูจน์ (Elenchus) ช่วงนี้เป็นขั้นตอนสำคัญมากที่จะเป็นการพิสูจน์ โต้แย้ง หรือหักล้าง เกี่ยวกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ว่าเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งจะมีการใช้คำถามและการให้ตัวอย่างย้อนกลับที่ค้านกลับสิ่งที่ตั้งไว้

     4. การยอมรับหรือปฏิเสธของสมมติฐาน (acceptance/rejection of hypothesis) หลังจากที่มีการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น สิ่งที่มีการโต้แย้ง ยกตัวอย่าง เรายังเห็นด้วยกับสมมติฐานของเราอยู่หรือไม่

     5. ปฏิบัติการ (action) การนำเอาสิ่งที่ค้นพบที่เกิดจากขั้นตอนที่ผ่านมาไปสู่การปฏิบัติ

     การจะทำให้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนได้นั้น คำถามที่เรานำมาใช้ต้องมีความน่าสนใจ มีการให้เวลาทีมในการคิดคำตอบ ที่สำคัญต้องมีการวางแผนการใช้คำถามอย่างเป็นระบบ ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้ว่าทีมมีความคิดความเชื่ออย่างไรบ้างในเรื่องที่จะสนทนา เพื่อให้การสนทนาไม่ไปสู่ทางตันของการแลกเปลี่ยน แต่กระตุ้นให้ทีมได้ดึงเหตุผลออกมาคิดแลกเปลี่ยน ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนได้นำบทความทั้งสองมาสรุปประเภทการใช้คำถาม ตัวอย่างของคำถาม รวมถึงแนวทางการใช้ ดังนี้

 

เทคนิค Feedback ที่ดี

     นอกจากการตั้งคำถามที่ดีแล้ว ยังมีอีกทักษะสำคัญอีกอย่างที่เราควรจะมีในการพัฒนาคนพัฒนาทีม คือ การ Feedback ซึ่งเป็นสกิลขั้นเทพที่หัวหน้าที่ดีควรมีในการปั้นทีมงาน โดยที่การ Feedback ที่ดีจะประกอบไปด้วย

     1. ต้องรู้จักการเคลียร์ความคิด ให้เปิดใจก่อน เพราะถ้าไม่เปิดใจ พูดอะไรไปก็ไม่เข้า

     2. พูดถึงประเด็นที่เกิดขึ้นเจาะจงที่พฤติกรรม ไม่ใช่ประเด็นส่วนบุคคล แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ดีของเรา

     3. ต้องตั้งคำถามกับผู้ถูกฟีดแบคว่าเค้าคิดยังไงกับสิ่งที่เค้าทำ (สร้างทางเลือก)

     4. ให้ทางออก Solution ด้วย ไม่ใช่เป็นแค่การบ่นถึงแต่ปัญหาแต่เราต้องสามารถแนะนำวิธีแก้ปัญหาได้ด้วย

     5. ถามกลับผู้ถูก Feedback ว่าเค้าเป็นอย่างไรบ้าง โอเคไหม เค้าเก่งขึ้น พัฒนาขึ้น จะเกิดผลลัพธ์อย่างไร

     6. สุดท้ายยังไงควรจะชมและให้กำลังใจเค้าเสมอ

     ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามและ Feedback ก็เป็นกระบวนการที่มุ่งจะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน ความรู้ความสามารถ ทักษะและทัศนคติของบุคลากรให้เป็นไปทางที่ดีขึ้นเพื่อให้บุคลากรที่ได้รับการพัฒนาแล้วนั้นปฏิบัติงานได้ผลตามวัตถุประสงค์ ของธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ หวังว่าทุกท่านจะสามารถนำไปปรับใช้กับองค์กรให้เกิดประโยชน์ครับ

Ref : https://en.m.wikipedia.org

https://en.m.wikipedia.org

http://edu.psu.ac.th

https://www.baanjomyut.com

https://reder.red/socratic-questions-20-05-2020/

https://www.gotoknow.org/posts/329604

https://www.ignitethailand.org/content/5756/ignite

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

ป้องกันแรงงานขาดลาออกไปเลี้ยงลูก SME สหรัฐ ผุดไอเดียยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เปิดที่เลี้ยงเด็กคู่กับธุรกิจเดิม

เพราะค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งทุกวันนี้ ไม่ถูกเลย หลายบริษัท ร้านค้าต้องเสียพนักงานดีๆ ไป ก็เพราะด้วยเหตุผลว่า “ต้องออกไปดูแลลูก ไม่มีคนเลี้ยงลูกให้”

Quiet Quitting เวอร์ชั่นใหม่จากจีน! ประท้วงแบบใหม่ แบบสับ แห่แต่งชุดไม่เหมาะสมไปทำงาน เรียกร้องสวัสดิภาพที่ดี

“Quiet Quitting” หรือ “การลาออกเงียบ” เทรนด์การทำงานของคนยุคนี้ที่มีการพูดถึงกันมากเมื่อช่วง 2 ปีก่อน ล่าสุดคนรุ่นใหม่ หรือ คน Gen Z ต่างหันมาแต่งตัวไปทำงานด้วยชุดที่ไม่เหมาะสม เช่น การสวมชุดที่ดูคล้ายชุดนอนมาทำงาน, การแต่งกายด้วยชุดเวอร์วัง อย่างเสื้อคลุมขนสัตว์ที่ดูรุ่มร่าม เป็นต้น โดยมองว่าไม่ได้ทำผิดกฎอะไร แค่อยากแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์เฉยๆ

ไม่อยากเจ๊งต้องอ่าน รวมทางออกให้ธุรกิจไปต่อ ยามเจอวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้าย

ความท้าทายไม่เคยขาดหายไปสำหรับผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจถดถอย แต่ทุกปัญหาล้วนมีทางออกเสมอสำหรับผู้ที่มีวิสัยทัศน์และยืนหยัดด้วยปรัชญาที่ถูกต้อง