หมดยุคอาบน้ำร้อนมาก่อน Reverse Mentoring พี่เลี้ยงกลับด้าน กลยุทธ์สอนงานที่ไม่ขึ้นกับอายุ

TEXT: อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

Main Idea

  • สมัยก่อน Mentor (พี่เลี้ยง) หมายถึงคนที่โตกว่า มีความอาวุโสสูงกว่า หรือมีประสบการณ์มากกว่า คอยทำหน้าที่สั่งสอนและให้คำแนะนำคนที่เด็กกว่า

 

  • แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้การเรียนรู้ไม่มีขีดจำกัด พ่อแม่สามารถเรียนรู้จากลูกได้ ครูอาจารย์สามารถเรียนรู้จากศิษย์ และผู้ใหญ่ก็เรียนรู้จากเด็กได้ ฯลฯ

 

  • ในหลายๆ องค์กร จึงมีโปรแกรม “พี่เลี้ยงกลับด้าน” (Reverse Mentoring) ในขณะเดียวกัน หลายๆ องค์กรก็ริเริ่มให้มี Peer Mentoring คือ โครงการเพื่อนสอนเพื่อน

 

     ตอนเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ หัวหน้าคนแรกสอนผมว่า “เมื่อศิษย์พร้อม ครูจะมา…ศิษย์ไม่พร้อม ครูไม่มี” ฟังแล้วงงเป็นไก่ตาแตก สุดท้ายแกคงทนนั่งคนดูอยู่เฉยๆ ไม่ไหว เลยเฉลยว่า

     “เมื่อเราพร้อมที่จะเรียนรู้ ครูก็จะปรากฏตัวขึ้น หมายความว่า ใครๆ ก็เป็นครูให้เราเรียนรู้ได้ทั้งนั้น ในทางกลับกันหากเราไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ แม้คนที่เก่งที่สุดยืนอยู่ต่อหน้า เราก็ไม่ได้เรียนรู้อะไร ครูจึงไม่มี”

     เป็นปรัชญาที่ลึกซึ้งมาก ใช้เวลาขบคิดอยู่หลายเพลาว่ากว่าจะเข้าใจแบบแจ่มแจ้ง

     ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคน คงเคยได้ยินคำว่า Mentor (พี่เลี้ยง) กันบ่อยๆ สมัยก่อนพี่เลี้ยงหมายถึงคนที่โตกว่า มีความอาวุโสสูงกว่า หรือมีประสบการณ์มากกว่า คอยทำหน้าที่สั่งสอนและให้คำแนะนำคนที่เด็กกว่า

     แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลง

     ทุกวันนี้ การเรียนรู้ไม่มีขีดจำกัด พ่อแม่สามารถเรียนรู้จากลูกได้ ครูอาจารย์สามารถเรียนรู้จากศิษย์ และผู้ใหญ่ก็เรียนรู้จากเด็กได้ ฯลฯ

     ดังนั้น Mentor จึงเป็นใครก็ได้ เมื่อเราเปิดใจและพร้อมที่จะเรียนรู้ ทุกคนก็เป็นครูเราได้หมด

Mentor ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ

     ในหลายๆ องค์กร จึงมีโปรแกรม “พี่เลี้ยงกลับด้าน” (Reverse Mentoring) ให้พี่ๆ ที่อาวุโสกว่า มีน้องๆ เด็กรุ่นใหม่เป็น “พี่เลี้ยง”​ คอยสอน คอยแนะนำ ในเรื่องต่างๆ ที่พี่ๆ ไม่คุ้นชิน เช่น การใช้เทคโนโลยี การตัดสินใจด้วยข้อมูล การซื้อขายและการสื่อสารออนไลน์ เป็นต้น ไอเดียใหม่ๆ หลายอย่าง ก็มักมาจากคนรุ่นใหม่หรือคนที่ไม่มีประสบการณ์ เพราะพวกเขาไม่มี “กรอบ” ที่คอยจำกัดความคิด

     ในขณะเดียวกัน หลายๆ องค์กรก็ริเริ่มให้มี Peer Mentoring คือโครงการเพื่อนสอนเพื่อน ไม่มีใครเก่งทุกเรื่อง เราทุกคนเก่งบางเรื่อง การ “สอน” สิ่งที่ตัวเองเก่งให้กับเพื่อน และ “เรียน” จากเพื่อนในสิ่งที่เขาเก่ง เป็นการเสริมสร้างศักยภาพแบบ Win-Win

     หากองค์กรใดต้องการจะทำให้ Mentoring Program เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ต้องเริ่มต้นจากการมีข้อตกลงร่วมกันที่ชัดเจนและมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น อาทิตย์ละครั้ง เป็นระยะเวลา 2 เดือน เป็นต้น

     อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักไว้ว่า Mentor คือผู้ให้คำแนะนำจากมุมมองของเขา ไม่ใช่คนที่ตัดสินใจแทนเรา ไม่ว่าเขาจะแนะนำอะไร สุดท้ายตัวเรานี่แหละที่ต้อง Make Decision

     พี่เลี้ยงจึงเป็นใครก็ได้ที่ช่วยให้เราได้เรียนรู้ และนี่ละมังคือสิ่งที่หัวหน้าคนแรกของผมเคยสอนไว้ “เมื่อศิษย์พร้อมครูจะมา ศิษย์ไม่พร้อมครูไม่มี”

     เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้…

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

ป้องกันแรงงานขาดลาออกไปเลี้ยงลูก SME สหรัฐ ผุดไอเดียยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เปิดที่เลี้ยงเด็กคู่กับธุรกิจเดิม

เพราะค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งทุกวันนี้ ไม่ถูกเลย หลายบริษัท ร้านค้าต้องเสียพนักงานดีๆ ไป ก็เพราะด้วยเหตุผลว่า “ต้องออกไปดูแลลูก ไม่มีคนเลี้ยงลูกให้”

Quiet Quitting เวอร์ชั่นใหม่จากจีน! ประท้วงแบบใหม่ แบบสับ แห่แต่งชุดไม่เหมาะสมไปทำงาน เรียกร้องสวัสดิภาพที่ดี

“Quiet Quitting” หรือ “การลาออกเงียบ” เทรนด์การทำงานของคนยุคนี้ที่มีการพูดถึงกันมากเมื่อช่วง 2 ปีก่อน ล่าสุดคนรุ่นใหม่ หรือ คน Gen Z ต่างหันมาแต่งตัวไปทำงานด้วยชุดที่ไม่เหมาะสม เช่น การสวมชุดที่ดูคล้ายชุดนอนมาทำงาน, การแต่งกายด้วยชุดเวอร์วัง อย่างเสื้อคลุมขนสัตว์ที่ดูรุ่มร่าม เป็นต้น โดยมองว่าไม่ได้ทำผิดกฎอะไร แค่อยากแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์เฉยๆ