มัดรวม 5 ไอเดียประหยัดต้นทุนธุรกิจโรงแรมไซส์เล็ก

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • ทำธุรกิจนอกจากการคิดหาช่องทางสร้างรายได้และทำกำไรเพิ่มแล้ว การลดต้นทุนก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าให้มากขึ้น เรียกว่าถึงไม่มีรายได้เพิ่ม แต่หากช่วยลดรายจ่ายลงได้ คุณก็มีเงินได้มากขึ้นนั่นเอง

 

     ฤดูร้อนมาเยือนแล้ว เป็นอีกหนึ่งไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวฟากฝั่งทะเล จะทำยังไงให้มีรายได้เยอะขึ้น นอกจากการหาลูกค้าเพิ่ม การช่วยลดต้นทุนก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่ไม่ได้มีเงินทุนมากมาย วันนี้เลยอยากชวนมาลดต้นทุนธุรกิจกับ 5 ไอเดียประหยัดต้นทุนโรงแรมไซส์เล็กกัน

  • ทำล็อบบี้แบบ Open Air

             

     อากาศยิ่งร้อนเท่าไหร่ แอร์ของคุณก็จะยิ่งกินไฟมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งแน่นอนในห้องพักไม่ว่าลูกค้าคนไหนๆ ก็ต้องอยากเปิดแอร์เย็นฉ่ำแบบเต็มที่ แต่มีอยู่พื้นที่หนึ่งที่อาจไม่จำเป็นต้องติดตั้งทำเป็นแอร์ นั่นก็คือ “ล็อบบี้” เหตุผลเพราะ 1.ลูกค้าไม่ได้ใช้เวลาอยู่ตรงนี้นานนัก แค่เช็คอิน-เช็คเอาท์เสร็จก็เข้าห้องพัก 2.เสน่ห์ของการทำพื้นที่แบบ Open Air อย่างหนึ่ง คือ ทำให้ลูกค้าได้รู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติกับอากาศภายนอก จากจะช่วยประหยัดค่าไฟ ก็อาจทำให้กลายเป็นจุดเด่นแบบเก๋ๆ น่าสนใจให้กับธุรกิจได้ด้วย ซึ่งหากออกแบบได้ดีตามหลักสถาปัตยกรรม อาจช่วยให้ลมผ่านไปมาอย่างเย็นสบายได้ด้วย จึงเป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ

        

  • สร้างระบบ Self Service ให้ลูกค้าบริการตัวเอง

             

     ตั้งแต่ยุคโควิด-19 เป็นต้นมา การหันมาใช้รูปแบบ Self Service ให้ลูกค้าบริการตัวเอง เช่น การเช็คอิน-เช็คเอาท์ หรืออื่นๆ เพื่อลดการแพร่ระบาดเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนลูกค้าหลายคนเริ่มคุ้นชินและเข้าใจเหตุผล ดังนั้นผู้ประกอบการควรใช้โอกาสตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ ในการปรับระบบง่ายๆ อะไรที่ลูกค้าสามารถดูแลตัวเองได้ ก็ให้ทดลองทำเอง วิธีนี้นอกจากช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการ, การจ้างแรงงานคน ก็อาจช่วยให้ลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นได้ด้วย เหมือนกับโฮสเทลหลายๆ ที่ในต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน ที่ให้ลูกค้าเช่าผ้าเช็ดตัว, ผ้าปูที่นอน, ปลอกหมอน ฯลฯ และนำไปบริการตัวเอง อะไรไม่ใช้ก็ไม่ต้องจ่าย ก็เรียกว่าวินๆ ด้วยกันทั้งคู่

  • ใช้ร้านค้าชุมชน แทนห้องอาหารตัวเอง

             

     การทำที่พักและเปิดห้องอาหารของตัวเอง โดยเฉพาะการให้บริการอาหารเช้าแก่ลูกค้าไปด้วย อาจดูเหมือนช่วยอำนวนความสะดวกให้กับลูกค้า และที่พักเองก็มีรายได้เพิ่มเข้ามาอีกนิดหน่อย แต่รู้ไหมว่าจริงๆ แล้วอาจสร้างความยุ่งยากให้คุณในอีกหลายด้านทีเดียว ไหนจะต้องลงทุนทั้งวัตถุดิบ, จ้างแรงงานคนเพิ่มเพื่อมาทำอาหารให้กับลูกค้า การเก็บล้างต่างๆ ฯลฯ แถมบางช่วงลูกค้ามีไม่เยอะ ก็อาจไม่คุ้มค่า ลองเปลี่ยนวิธีคิดจากต้องทำเอง มาใช้ร้านค้าชุมชนรอบข้างดูสิ นอกจากเป็นการลดภาระหน้าที่ตรงนี้แล้ว 1.คุณยังได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น 2.ยังได้ผูกมิตรกับผู้คนและธุรกิจรอบข้าง เผื่อวันหน้ามีอะไรก็ช่วยเหลือกัน แถมเขายังช่วยดูแลลูกค้าให้กับเราด้วย เรียกว่าได้ด้วยกันทุกส่วน ทั้งลูกค้านักท่องเที่ยว, โรงแรม และร้านค้ารอบข้างเอง

  • ชวนลูกค้ารักษ์โลก ไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องใช้ใหม่ทุกวัน

             

     เทรนด์รักษ์โลกกำลังมาอย่างต่อเนื่อง ไม่แปลกอะไรหากเราจะใช้เหตุผลนี้รณรงค์ชวนลูกค้าให้มาร่วมรักษ์โลกด้วยกัน เช่น การไม่เปลี่ยนผ้าปู ปลอกหมอน และผ้าเช็ดตัวทุกวัน หากลูกค้าเข้าพักหลายวัน ไปจนถึงการรณรงค์ปิดไฟ ปิดน้ำก่อนออกจากห้องพัก การแยกขยะ เป็นต้น แน่นอนนอกจากเป็นการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ยังเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับธุรกิจได้ด้วย ซึ่งในส่วนนี้เพื่อดูไม่เป็นการเอาเปรียบให้ลูกค้าต้องเสียสละอยู่ฝ่ายเดียวเราอาจมีการมอบสิ่งตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ เช่น ชุดผลไม้ หรือขนมจากในท้องถิ่นตอบแทนลูกค้าที่ช่วยกันรักษ์โลกด้วยก็ได้ เป็นอีกข้อที่วินๆ ทุกฝ่ายเหมือนกัน

  • หันมาใช้ผลิตภัณฑ์แบบ Refill เช่น สบู่ แชมพู

 

     เพื่อความสะดวกสบาย และง่ายในการบริหารจัดการ โรงแรมที่พักหลายแห่งอาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ แชมพู ครีมทาผิว ให้กับลูกค้าในรูปแบบของชิ้นเล็กสำเร็จรูป เพราะง่าย สะดวกต่อการจัดการ ไม่ต้องใช้เวลานาน แต่จริงๆ แล้วหากลองเทียบในปริมาณกับการซื้อขวดใหญ่, หรือเครื่องกดสบู่-แชมพูแบบติดผนังมา Refill เติมเอง อาจเสียเวลาเพิ่มขึ้นนิดหน่อย แต่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้เยอะเลย แค่ลงทุนซื้อขวดมาใส่ก็ใช้ซ้ำได้หลายครั้ง

     ยกตัวอย่างเช่น โรงแรม A มีห้องพักทั้งหมด 20 ห้อง ใช้สบู่และแชมพู ไซส์ 30 มล. ต้นทุนจะอยู่ที่ขวดละ 4 บาท ใน 1 เดือน (30 วัน) มีลูกค้าเข้าพักเฉลี่ยประมาณ 80% หรือ 480 ห้อง เท่ากับว่าต้องใช้แชมพูและสบู่ 960 ขวดต่อเดือน คิดเป็นเงิน = 960 x 4 = 3,840 บาทต่อเดือน ในขณะที่ราคาสบู่และแชมพูแบบเติมขนาด 5 ลิตร (5,000 มล.) จะอยู่ที่ราคา 250 บาท/แกลลอน โดยหากลองนำมาคิดเฉลี่ยแล้ว 1 แกลลอนจะเติมแชมพูหรือสบู่ได้ 167 ขวด ดังนั้นใน 1 เดือนต้องซื้อแชมพูและสบู่ประมาณ 960/167 = 5.7 หรือ 6 แกลลอน คิดเป็นเงินเท่ากับ 250 x 6 = 1,500 บาทเท่านั้น เรียกว่าเกินครึ่งเลยด้วยซ้ำ

     อีกอย่างนอกจากค่าใช้จ่ายต่อชิ้นจะราคาแพงกว่าแล้ว บางครั้งต่อให้ลูกค้าไม่ได้นำมาใช้ แต่ก็จะหยิบกลับบ้านไปด้วยก็มี นอกจากต้นทุนแพงกว่า ยังทำให้เกิดขยะนำทรัพยากรมาใช้สินเปลืองกว่าด้วย

     และนี่คือ 5 เคล็ดลับช่วยประหยัดต้นทุนธุรกิจโรงแรมไซส์เล็ก ที่หากลองนำไปใช้น่าจะช่วยลดต้นทุนได้ไม่มากก็น้อยทีเดียว

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

4 เครื่องมือช่วย “ตัดสินใจ” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า

หากมีทางเลือกอยู่หลายทาง แล้วทางไหนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ และข้อผิดพลาดน้อยที่สุด SME Thailand เลยอยากจะแนะนำเครื่องมือที่ช่วยให้การตัดสินใจที่มีความรอบคอบและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

เขียนสัญญาเช่ายังไงให้รัดกุม ธุรกิจไม่เสียเปรียบ

สัญญาเช่า เรื่องใกล้ตัวผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้ไหมการมีสัญญาเช่าที่ดีและรัดกุม สามารถป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย